ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่องและภาพ : น้ำทิพย์ กิจวิริยะกุล

raikao00

ปลายฝนต้นหนาวของทุกปี เรามักเลือกหนีแดดร้อนและลมมรสุมทางใต้ขึ้นเหนือ

ใช้เวลาตลอดสองสัปดาห์ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมทางสังคม

ปีนี้หลังเสร็จภารกิจช่วยชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ปลูกบ้านดินบนดอยปู่หมื่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่จึงเลือกฝากประสบการณ์ชีวิตในบทถัดไปไว้ที่ “บ้านเเม่เเดดน้อย”

รถประจำทางสายท่าตอน-ฝาง-เชียงใหม่เคลื่อนเข้าเมือง เราลงรถที่หน้าตลาดประจำอำเภอแม่ริมเพื่อต่อรถไปยังจุดหมาย ซึ่งเป็นบ้านพักคนไทยเพียงหลังเดียวที่ปลูกอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ

ท้องนาบริเวณบ้านเเม่เเดดน้อยในอำเภอกัลยานิวัฒนาเต็มไปด้วยสีเหลืองทองของรวงข้าวเเละฟางเเห้ง โดยมีทุ่ง “ดอกบัวตองบาน” อยู่ริมเถียงนาอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่รู้กันว่า “ได้เวลาเกี่ยวข้าวเเล้ว”

raikao01

raikao02

raikao03

ในหนึ่งปีชาวบ้านที่นี่จะปลูกข้าวไร่เพียงหนึ่งครั้งคือช่วงต้นเดือนมิถุนายน พวกเขาประเมินการปลูกจากจำนวนสมาชิกในครอบครัวเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอสำหรับบริโภคตลอดปี

ข้าวของพวกเขาเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น เมล็ดมีลักษณะป้อมสั้นคล้ายข้าวญี่ปุ่น เเต่รสชาติอร่อยกว่า

โชคดีที่เรามาถึงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน-ฤดูกาลเก็บเกี่ยว แม่บ้านชาวปกาเกอะญอที่กรุณาให้เราร่วมอาศัยกิน-อยู่จึงชวนให้ลงแขกเก็บเกี่ยวเเละฟาดข้าวที่ไร่ของญาติๆ ซึ่งห่างจากหมู่บ้านราว ๕ กิโลเมตร

“เคยทำมาก่อนหรือ ท่าทางคล่องเเคล่วจัง”

นอดิริ (ฐานิษชา อาทิตย์อาภา) ช่วยสื่อสารคำถามของคุณยายชาวปกาเกอะญอเป็นภาษาไทย

“มัดข้าวเเบบนี้ไม่เคยทำมาก่อนค่ะ เเต่งานใช้เเรงนี่หนูถนัด”

หลังตอบไปคุณยายซึ่งก่อนหน้านี้ยังทำหน้าสงสัยผ่านล่าม และหมู่ญาติก็พาหัวเราะเสียงดังลั่นทุ่ง

หนึ่งในความน่ารักของชาวปกาเกอะญอคือพวกเขามักมีอารมณ์ขันได้กับเรื่องง่ายๆ แม้บางครั้งจะไม่ได้เข้าใจความหมายทั้งหมดก็ตามที

ผ่านไปครึ่งวันชาวบ้านแบ่งกลุ่มเพื่อไปมัดข้าวที่ตากอยู่ตามท้องไร่ให้เป็นช่อจนแน่น แล้วส่งต่อให้เด็กหนุ่มจนถึงชายวัยกลางคนนำไป “ฟาดข้าว” ต่อจนเสียงดังฟึ่บ! ฟั่บ!

ความเชื่อหนึ่งของชาวปกาเกอะญอในเเถบนี้คือ ข้าวที่เกี่ยวและมัดแล้วจะต้องฟาดให้หมดในคราวเดียว ดึกดื่นค่อนคืนก็ต้องฟาดให้เสร็จสิ้น ไม่อย่างนั้นจะถือเป็นเรื่องไม่มงคลสำหรับคนในครอบครัว

ซึ่งความจริงอาจเป็นเพียงกุศโลบายที่คนเฒ่าคนเเก่ใช้บอกลูกหลานเพื่อป้องกันการขโมยข้าว

raikao04

raikao05

raikao06

หลังได้หัดฟาดข้าวครั้งแรก จึงรู้ซึ้งว่าเป็นงานที่หนักเอาการเพราะต้องยืนตลอดเวลาขณะเดียวกันก็ต้องก้มหน้าออกแรงฟาดเอาๆ ยิ่งเมื่อไม่มีหมวกคลุมหน้าเหมือนคนอื่น ฝุ่นละอองจากเศษเปลือกข้าวและอื่นๆ ในบริเวณนั้นจึงพากันคละคลุ้งเข้าตาเข้าจมูก ยิ่งในวันที่อากาศร้อนด้วยแล้วก็ยิ่งรู้สึกแสบคันใบหน้าไปหมด ฟาดได้เพียง ๕ รวง จึงถูกบังคับให้ต้องยกธงขาวและโดนไล่ให้ไปพัก

หลังจากเหงื่อชุ่มกายกลางเเดดร้อนในไร่ข้าวด้วยกันมาค่อนวันก็ถึงเวลากินข้าวร่วมกัน

มื้ออาหารที่ได้ร่วมวงกับคนเเปลกหน้า สื่อภาษากันไม่ได้ความ กลับเป็นมื้อที่อร่อยมาก

โดยเฉพาะ “ตัวต่อต้มกะทิสไตล์ปกาเกอะญอ” ที่เราตั้งชื่อโดยยึดความเป็นมาจากหน้าตาอาหาร

ต่อบางตัวในน้ำกะทิมีขนาดใหญ่กว่าหัวเเม่โป้งเสียอีก ทีแรกจำใจกินเพราะอยากรักษาน้ำใจเจ้าของที่ตักมาแบ่งปันแก่ทุกคนในวงข้าว หลังจากได้ลิ้มรสปรากฏว่ารสชาติไม่ได้เเย่อย่างที่กังวล และกะทิที่ไม่ค่อยเข้มข้นนั้นเมื่อผสานกับรสเผ็ดนิดๆ จากสมุนไพรบางอย่างก็ถือว่าเป็นเมนูสุดพิเศษเลยทีเดียว

“ถือว่าโชคดีมากที่มาไร่เเล้วได้กินเมนูนี้ เพราะปรกติไม่ได้มีให้กินบ่อยๆ”

หนุ่มปกาเกอะญอคนหนึ่งในวงข้าวอธิบายถึงเมนูเด็ดที่ไม่มีชื่อเรียกนั้น

ในหมู่ปกาเกอะญอมีคำกล่าวว่า…

“ข้าวหนึ่งรวงหลังเก็บเกี่ยว นำไปฟาด เเละนำไปสีแล้ว จะเหลือเข้าปากคนเราเฉลี่ยเเค่ ๓ เมล็ด”

เป็นถ้อยความที่ได้ฟังเเล้วรู้ซึ้งถึงคุณค่าของทั้งเมล็ดข้าวและแรงกายแรงใจของชาวไร่ชาวนา

เป็นมื้อที่กินแล้วอิ่มท้องไปจนถึงหัวใจ เป็นได้ว่าเมื่อกลับบ้านที่ภูเก็ตก็คงไม่ลืมรสชาติข้าวที่นี่

รู้สึกขอบคุณนอดิริที่ทำให้ได้สัมผัสวัฒนธรรมชุมชนอย่างแท้จริง และคิวลงแขกเพื่อเก็บเกี่ยวหลังจากนี้คือไร่ข้าวของเธอนั่นเอง ขอบตัวเองที่เลือกออกเดินทางจึงได้เรียนรู้ว่า “โลกไกลบ้าน” ให้ประสบการณ์มากกว่าการเที่ยวแบบทั่วไป

ปลายฝนต้นหนาวของปีหน้า ตั้งใจแล้วว่าจะหนีแดดร้อนและลมมรสุมทางใต้ขึ้นเหนืออีกครั้ง


namtipน้ำทิพย์ กิจวิริยะกุล
“สาวชาวเกาะ” จากจังหวัด “ภูเก็ต” ใช้เวลาว่างไปกับการเดินทาง ปัจจุบันย้ายขึ้นเหนือเพื่อค้นหาความต่างให้ชีวิต ไล่ตามเก็บทุกความฝันที่เคยลิสต์ว่าอยากทำสมัยเด็กๆ ชอบอ่านงานเขียนทุกรูปเเบบ รักการเดินทาง หลงใหลวิถีของชนเผ่า และเชื่อว่าคนเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่กับทุกประสบการณ์

…….

nadoi02สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน