เรื่อง : วิบูลย์ ลี้สุวรรณ

matisse 01

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มีศิลปินจำนวนหนึ่งที่มิได้เพียงสร้างสรรค์งานของตน ในฐานะศิลปินเท่านั้น หากแต่ยังเป็นนักคิด สามารถอธิบายแนวคิด แนวทางการสร้างสรรค์งาน จนสามารถประกาศอุดมการณ์ (manifesto) ของตนออกมาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทั้งยังเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่วงการศิลปะด้วย ตัวอย่างเช่น วาซิลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky ศิลปินชาวรัสเซีย มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๖-๑๙๔๔) ผู้ริเริ่มสร้างจิตรกรรมนามธรรม, ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso ศิลปินชาวฝรั่งเศสเชื้อสายสเปน มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๗๓) ศิลปินชั้นนำของโลกสมัยใหม่ หนึ่งในผู้ริเริ่มลัทธิศิลปะบาศกนิยม (Cubism) ฯลฯ อองรี มาติส ก็เป็นหนึ่งในบรรดาศิลปินมากความสามารถ ที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้แก่โลกศิลปะ

อองรี มาติส (Henri matisse) เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสที่มีความสามารถหลายด้าน เป็นทั้งจิตรกร ประติมากร ศิลปินภาพพิมพ์ นักออกแบบ นักทฤษฎีศิลป์ และเป็นนักคิดคนสำคัญ ข้อเขียนชื่อ “Notes of the Painter” หรือ “Notes d’un Peintre” ของเขาที่ตีพิมพ์ใน La Grande Revue เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๘ ถือเป็นข้อเขียนชิ้นสำคัญของศิลปินหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ช่วยให้นักวิจารณ์ศิลปะและผู้สนใจได้รับรู้ และเข้าถึงผลงานศิลปะแนวใหม่ในเวลานั้นได้ดียิ่งขึ้น

มาติสเกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๙ ที่ Le Cateau-Cambresis ทางภาคเหนือของฝรั่งเศส ชีวิตวัยเด็กของเขาต่างจากศิลปินอื่น เพราะเขาไม่ได้สนใจศิลปะมาแต่เด็ก มาติสได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่ Lycee de St. Quentin จากนั้นในปี ค.ศ. ๑๘๘๗-๑๘๘๘ ก็เข้าไปศึกษาวิชากฎหมายในกรุงปารีสตามความต้องการของครอบครัว และเมื่อจบแล้วก็ทำงานในสำนักงานกฎหมายที่ St. Quentin กระทั่งในปี ค.ศ. ๑๘๙๐ เมื่ออายุได้ ๒๑ มาติสจึงได้เริ่มหันมาสนใจศิลปะ จนละทิ้งงานด้านกฎหมายมาศึกษาศิลปะอย่างจริงจัง

matisse 03

ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๘๙๒ มาติสเข้าเรียนจิตรกรรมที่ Academie Julian ภายใต้การสอนของ อะดอล์ฟ วิลเลียม บูเกอโร (Adolphe-William Bouguereau ศิลปินชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๙๐๕) ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๙๒-๑๘๙๘ ก็ย้ายไปเรียนกับ กุสตาฟ มอโร (Gustave Moreau ศิลปินชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๖-๑๘๙๘) ที่ Ecole de Beaux-Arts ร่วมรุ่นกับ อัลแบร์ มาร์เก (Albert Marquet ศิลปินชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๕-๑๙๔๗) และ ชอร์ช รูโอ (Georges Rouault ศิลปินชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๕๘) ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๙๖ เขามีโอกาสเข้าร่วมแสดงผลงานจิตรกรรมในหอศิลป์แห่งชาติ (Salon de la Nationale) มาติสได้รับอิทธิพลจากผลงานจิตรกรรมของ ซิเมอง ชาร์แดง (Simeon Chardin จิตรกรชาวฝรั่งเศส ลัทธินีโอคลาสสิก มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๙๙-๑๗๗๙) และ กามีย์ โกโร (Camille Corot จิตรกรชาวฝรั่งเศสแนวจินตนิยม หรือ Romanticism มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๖-๑๘๗๕) มาติสก็เช่นเดียวกับศิลปินคนอื่น ๆ ที่ต้องแสวงหาแนวทางของตนเองจากการศึกษาผลงานศิลปะของศิลปินในอดีต ตั้งแต่งานจิตรกรรมลัทธิประทับใจ (Impressionism) จนถึงลัทธิประทับใจยุคหลัง (Post-Impressionism) ขณะที่ศึกษาแนวทางต่าง ๆ นั้น มาติสได้พบปะสังสรรค์กับศิลปินรุ่นพี่ไปด้วย โดยเฉพาะ ปอล เซซาน (Paul Cezanne จิตรกรชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๙-๑๙๐๖) ผู้เป็นเสมือนวีรบุรุษของเขา

ต่อมาระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๙๕-๑๘๙๗ มาติสได้ปลีกตัวออกจากกรุงปารีสไปวาดรูปกับเพื่อนศิลปินคนหนึ่งชื่อ เอมิล เวรี (Emile Wery) ใน Brittany ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศดี ท้องฟ้าสวย มาติสบันทึกไว้ว่า

“ประมาณ ค.ศ. ๑๘๙๖ ขณะที่อาศัยอยู่ที่ Quai Saint-Michel จิตรกรเวรีพักอยู่ห้องถัดไป เขาได้รับอิทธิพลจากกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ โดยเฉพาะจาก อัลเฟรด ซีสลีย์ ในฤดูร้อนเราไปวาดภาพที่ Brittany ถึง Belle-lle-en-Mer ขณะที่ข้าพเจ้าวาดภาพอยู่ถัดจากเขา สังเกตว่าเขาใช้สีแม่สีมากกว่าแม่สีที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในจานสี ซึ่งเป็นสีที่ศิลปินชั้นครูใช้กัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการทางจิตรกรรมของข้าพเจ้า เมื่อกลับไปกรุงปารีส ข้าพเจ้าจึงเป็นอิสระจากอิทธิพลของลูฟว์ (หมายถึงอิทธิพลของงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ กรุงปารีส-ผู้เขียน) และเข้าถึงสีอย่างแท้จริง…”

จากแนวคิดดังกล่าว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบแนวทางของตนเอง และทำให้มาติสหันมาใช้แม่สีในงานจิตรกรรมแทนการใช้สีที่เกิดจากการผสมกันของแม่สี

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๙๘ มาติสแต่งงานกับ เอมิลี ปาแรร์ (Amelie Parayre) ทั้งคู่เดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตามคำแนะนำของ กามีย์ ปิซาโร (Camille Pissarro จิตรกรชาวฝรั่งเศส มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๙๐๓) เป็นโอกาสให้มาติสได้ชมผลงานจิตรกรรมของ วิลเลียม เทอร์เนอร์ (William Turner จิตรกรชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๗๕-๑๘๕๑) จิตรกรแนวจินตนิยมที่ใช้สภาวะของธรรมชาติมาถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับแสงและบรรยากาศมากกว่าเนื้อหา มาติสชื่นชอบผลงานของเทอร์เนอร์เป็นพิเศษ

สองสามปีถัดมา มาติสและเอมิลีประสบปัญหาค่าครองชีพอย่างมาก มาติสต้องเริ่มจำหน่ายผลงานของตน รับจ้างทาสี และรับงานตกแต่งเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ส่วนภรรยาก็ไปทำงานในโรงงานเล็ก ๆ ทำหมวกสตรีขายที่ถนน Chateaudun ในกรุงปารีส และส่งบุตรทั้งสามคนไปอยู่กับตายาย มาติสต้องต่อสู้กับความยากจนอย่างมาก แต่กระนั้นก็ยังเจียดเงินซื้อผลงานจิตรกรรมของ ปอล เซซาน ชื่อ The Three Bathers มาชื่นชม และนำมาเป็นสิ่งเตือนใจให้ต่อสู้กับความยากจนและสร้างงานศิลปะต่อไป

matisse 02

มาติสใช้เวลาหลายปีในการสมาคมกับเพื่อนศิลปิน และได้แสดงผลงานร่วมกันที่ห้องศิลปะแห่งฤดูใบไม้ร่วง (Salon d’Automne) ในกรุงปารีส ครั้งหนึ่งในการแสดงดังกล่าว นักวิจารณ์ศิลปะชื่อดังชาวฝรั่งเศส ชื่อ ลุย โวแซล (Louis Vauxcelles) ได้เข้าไปชมงานจิตรกรรมของศิลปินหัวก้าวหน้ากลุ่มนี้ และอุทานว่า “โดนาเตลโลท่ามกลางสัตว์ป่า” (“Ah-Donatello au milieu des fauves !”) เพราะในงานนั้นมีผลงานประติมากรรมสำริดรูปเด็กของ อัลแบร์ มาร์เก ที่ทำตามแบบอย่างของประติมากรรมยุคฟื้นฟูของอิตาลี (โดนาเตลโลเป็นประติมากรชาวอิตาเลียน มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๘๖-๑๔๖๖) ตั้งอยู่ท่ามกลางงานจิตรกรรมแนวใหม่สีสันฉูดฉาดตัดกันอย่างรุนแรงและมีรูปทรงพิสดาร ต่อมาจึงเรียกผลงานจิตรกรรมของศิลปินกลุ่มนี้ว่า “Fauvism” หรือ “สัตว์ป่า”

ผลงานจิตรกรรมของกลุ่มโฟวิสม์ แสดงให้เห็นเสรีภาพในการใช้สีของศิลปิน ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นกระบวนการทางจิตรกรรม ที่มีจุดเด่นในการใช้สีสดและรุนแรง ให้ความสำคัญกับสีที่เร้าอารมณ์ ปาดป้ายแปรงอย่างรวดเร็ว ภาพจะมีรูปทรงเรียบง่าย ไม่มีรายละเอียด เนื้อหาของภาพไม่เกี่ยวกับการเมือง อย่างภาพของกลุ่มลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ในเยอรมนี คติโฟวิสม์ก่อให้เกิดหลักสุนทรียภาพแบบใหม่ทางจิตรกรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จุดประกายความคิดของศิลปิน ให้สร้างสรรค์งานศิลปะแนวใหม่ในช่วงเวลาต่อมา

matisse 05

“จิตรกรกลุ่มโฟวิสม์แบ่งออกเป็นสามพวก พวกแรกประกอบด้วยเหล่าศิษย์ของ กุสตาฟ มอโร จิตรกรเอกของกลุ่มสัญลักษณ์นิยม คือ อองรี มาติส, อัลแบร์ มาร์เก, ชอร์ช รูโอ, อองรี ชาร์ล มองแกง, ชาร์ล กามวง และ ชอง ปุย พวกที่ ๒ ได้แก่ โมรีส เดอ วลาแมง และ อองเดร เดอแรง ทั้งสองคนมาจากเมืองชาตูด้วยกัน พวกสุดท้ายล้วนเป็นชาวเมืองเลออาฟวร์ คือ โอตง ฟรีเอส, ชอร์ช บราก และ ราอูล ดูฟี ทั้งสามคนต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างไม่แน่นแฟ้นนัก แต่มีความสนใจและการแสดงออกคล้ายกัน ต่อมาได้มีจิตรกรอีกหลายคนเข้าร่วมสมทบด้วย ที่น่าสนใจได้แก่ เคส ฟาน ดอง เจน จิตรกรชาวดัตช์

“แนวความคิดและกลวิธีการสร้างงานของกลุ่มโฟวิสม์ ได้รับอิทธิพลสืบทอดมาจากจิตรกรเอกในอดีตหลายคนที่สำคัญ ได้แก่ ฟินเซนต์ ฟาน ก็อก, ปอล โกแกง, ปอล เซซาน และกลุ่มลัทธิประทับใจใหม่

“การแสดงผลงานครั้งสำคัญของกลุ่มโฟวิสม์ จัดขึ้นในนิทรรศการศิลปกรรมของซาลงโดตอน ? เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๕ และในนิทรรศการศิลปะอิสระ (Salon des Independents) ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ โดยมีมาติสทำหน้าที่คล้ายหัวหน้ากลุ่ม จากนั้นก็สลายตัวไป สมาชิกแต่ละคนต่างหันเหไปสร้างงานตามความชอบของตน ทำให้ผลงานในระยะหลังของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ไม่ค่อยจะคล้ายคลึงกันเหมือนสมัยแรก…”

ในปี ค.ศ. ๑๙๐๖ มาติสได้พบกับปิกัสโซ แม้เขาจะชื่นชมปิกัสโซและตื่นเต้นกับงานประติมากรรมจากแอฟริกาของปิกัสโซ แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มบาศกนิยม หรือ Cubism แต่อย่างใด แม้ภายหลังมาติสจะได้รับอิทธิพลจากปิกัสโซบ้างในช่วงทศวรรษที่ ๒ ของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐

matisse 04

ผลงานจิตรกรรมที่แสดงแนวทางเฉพาะตนยุคแรก ๆ ของมาติส ได้แก่ ภาพเหมือนภรรยา หรือ The Green Stripe เป็นภาพเหมือนที่วาดขึ้นอย่างง่าย ๆ ป้ายด้วยฝีแปรงหยาบ ๆ ใบหน้าแบ่งเป็นสองซีก ซีกหนึ่งแสงตกกระทบมากกว่า ป้ายด้วยสีชมพู อีกซีกหนึ่งป้ายด้วยสีเหลือง ใช้สีเขียวอ่อนป้ายเป็นเงาช่วยให้เกิดปริมาตร พื้นหลังสีเขียว ม่วง และแสด ภาพนี้แม้จะดูเหมือนศิลปินป้ายด้วยฝีแปรงง่าย ๆ แต่มีชีวิตชีวา มาติสกล่าวว่า “วาดจากลักษณะของใบหน้า ไม่ได้วาดจากรูปทรงซึ่งมีสัดส่วนต่าง ๆ กัน แต่วาดจากจิตวิญญาณของแสงที่สะท้อนอยู่บนใบหน้า…”

ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันยุคแรก ๆ อีกชุดหนึ่ง คือ ชุด “การเต้นรำ” เช่นภาพ Dance (first version) เป็นภาพคนจับมือกันเป็นวง เต้นรำอยู่บนพื้นสีเขียว พื้นหลังเป็นสีฟ้า เป็นการใช้รูปทรงและสีอย่างง่าย ๆ ผลงานจิตรกรรมในชุดนี้ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง เป็นภาพคนสีแดงกำลังจับมือกันเต้นรำบนพื้นหญ้าสีเขียว พื้นหลังสีม่วง เป็นการใช้สีง่าย ๆ เพียงสามสีเท่านั้น

ผลงานจิตรกรรมแนวโฟวิสม์ที่สำคัญอีกชุดหนึ่ง คือชุด “ปลาทอง” (Goldfish) เขียนขึ้นในราวปี ค.ศ. ๑๙๑๑ เป็นผลงานที่มีความรุนแรงน้อยกว่าผลงานยุคแรก ๆ แต่ก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์ยุคนั้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่เคยมีจิตรกรคนใดวาดภาพลักษณะนี้มาก่อน แม้จะเป็นภาพที่ปาดป้ายสีสด ๆ อย่างง่าย ๆ ทว่าปลาทองสีแดงที่แหวกว่ายอยู่ในโหลที่มีน้ำสีเขียวนั้นกลับดูมีชีวิตชีวาอย่างประหลาด ในขณะที่ทุกสิ่งรอบ ๆ ล้วนแบนราบไม่มีปริมาตร มาติสปรับสิ่งที่มองเห็นให้เป็นไปตามความต้องการของเขาจนดูเหมือนเป็นภาพตกแต่ง แต่ก็ยังคงรูปและรักษาความมีชีวิตของสิ่งต่าง ๆ เอาไว้ได้เป็นอย่างดี

matisse 07

ช่วงวัยกลางคน มาติสเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อแสวงหาประสบการณ์ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ผลงานศิลปะของมาติสในยุคหลังนี้ลดความเร่าร้อนลง มีความสุขุมเยือกเย็นมากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเขามีอายุมากขึ้น ประกอบกับประสบการณ์ทางศิลปะที่เปิดกว้าง ผลงานจิตรกรรมชุด “สตรีในฮาเร็ม” (Odalisques) ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดชุดหนึ่งของเขา ได้รับความบันดาลใจมาจากการเดินทางไปเยือนโมร็อกโกในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ จึงมีกลิ่นอายของศิลปะอิสลาม มีลวดลายสีสวย ๆ ที่ได้มาจากพรม และสตรีในภาพก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีลวดลายสดใส ภาพที่น่าสนใจในชุดนี้ ได้แก่ภาพ Odalisques with Red Trousers, Decorative Figure on an Onamental Background

matisse 06

มาติสเป็นศิลปินอายุยืนมากคนหนึ่ง และสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา แม้ช่วงปี ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาจะล้มป่วยจนต้องนั่งรถเข็น แต่ก็ไม่ได้หยุดสร้างสรรค์งานศิลปะ ดังนั้นตลอดชีวิตของมาติสจึงสร้างผลงานศิลปะไว้จำนวนมาก ตั้งแต่งานจิตรกรรม ประติมากรรม งานตกแต่งผนัง โดยเฉพาะการตกแต่งผนังขนาดใหญ่ เช่น The Barnes Mural ที่ Barnes Foundation เมืองเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๒ ไปจนถึงงานตัดกระดาษสี (cut-out coloured papers) ที่เริ่มทำในปี ค.ศ. ๑๙๔๘ ขณะที่มีอายุ ๗๙ ปีแล้ว เขาบันทึกการทำงานกระดาษตัดว่า “เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาที่จะร่างภาพสี มันเป็นเรื่องธรรมดา ๆ สำหรับข้าพเจ้า แทนที่จะร่างภาพแล้วใส่สีลงไปในภาพที่ร่างนั้น มีวิธีที่จะดัดแปลงทำอย่างอื่น คือวาดลงบนสีโดยตรง…” แม้เมื่ออายุ ๘๐ ปีแล้ว เขาก็ยังรับงานตกแต่งโบสถ์ที่เมืองวองซ์ (Vence) ประเทศฝรั่งเศส

matisse 08

มาติสเป็นศิลปินและนักคิดคนสำคัญที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้เกียรติและยกย่องเป็นพิเศษ ถึงกับจัดสร้างพิพิธภัณฑ์มาติส (Musee Matisse) ขึ้นที่ Le Cateau-Cambresis บ้านเกิดของมาติส พิพิธภัณฑ์นี้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๒ ขณะที่มาติสยังมีชีวิตอยู่

มาติสใช้ชีวิตในวัยชราอย่างสงบที่บ้านในเมืองวองซ์ โดยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในสวนเพื่อวาดภาพต้นไม้ใบหญ้าในสวนนั้น มาติสถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๔ ขณะที่มีอายุ ๘๕ ปี นอกจากผลงานศิลปะจำนวนมากที่มาติส สร้างสรรค์ไว้แล้ว ยังมีบทบันทึกของมาติสเกี่ยวกับการสร้างงานศิลปะที่มีผู้นำมาอ้างถึงอยู่เสมอจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะวลีอมตะที่ว่า

“สิ่งที่ข้าพเจ้าฝันถึง คือ ศิลปะที่มีดุลยภาพ มีความบริสุทธิ์ และมีความสงบเยือกเย็น ไกลจากความยุ่งยากหรือสิ่งรบกวนทั้งปวง เฉกเช่นเก้าอี้เท้าแขนให้เราได้นั่งสบาย ๆ ได้พักผ่อนจากความตรากตรำเมื่อยล้าทางกาย…”

หนังสือประกอบการเขียน

  • ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมศัพท์ศิลปะอังกฤษ-ไทย, ๒๕๔๑
  • Ian Chilvers and Harold Osborne, The Oxford Dictionary of Art, Oxford University Press, New york, 1988.
  • Ingo F. Walther, Masterpieces of Western Art, Benedikt Taschen, 1999.
  • Rachel Barnes, Artist by Themselves: Matisse, Australia, 1992.
  • Harold Osborne, The oxford Companion to Twentieth Century Art, Oxford University Press, New york, 1988.