เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


จากเด็กไร้สัญชาติถึงผู้เฒ่าไร้สัญชาติ

หม่อง ทองดี วัย ๒๑ ปี สอนพับและร่อนเครื่องบินกระดาษให้กับเด็กๆ รุ่นน้องโรงเรียนบ้านห้วยทราย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “โรงเรียนเพื่อทายาทรุ่นสองจากพม่า” นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กไร้สัญชาติ ขณะที่ทั่วประเทศคาดว่ามีเด็กไร้สัญชาติราว ๙๐,๐๐๐ คน (ภาพ : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องราวของ หม่อง ทองดี กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อเขาลงแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทรุ่นทั่วไป ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งชิงแชมป์โลกที่ประเทศญี่ปุ่น ย้อนรอยความสำเร็จที่เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน

หม่องในวันนี้ไม่ใช่ “ด.ช.หม่อง” อีกแล้ว เขาเป็นหนุ่มอายุ ๒๑ ปี ทำงานรับจ้างถ่ายภาพทางอากาศด้วยโดรน รวมทั้งช่วยแม่หารายได้เข้าบ้านด้วยการทำงานก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากความเก่งกล้าด้านการพับและร่อนเครื่องบินกระดาษ สิ่งที่ทำให้หม่องมีชื่อเสียงขึ้นมาในวันวานคือการมีสถานะเป็นบุคคลไร้สัญชาติที่พยายามยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลสัญชาติไทย ด้วยความที่เขาเป็นลูกหรือทายาทรุ่นที่สองของผู้อพยพ (Second Generation of Migrant People)เข้ามาในไทยจากประเทศพม่า และเกิดนอกโรงพยาบาล ทำให้มีสถานะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติมาตั้งแต่เกิด

ผู้ที่อพยพเข้ามาจากพม่าช่วงปี ๒๕๓๐-๒๕๔๐ มักเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ สงครามและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้การจดทะเบียนคนเกิดในทะเบียนราษฎรพม่าเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ

เรื่องราวของหม่องเป็นบทเรียนบทใหญ่ของนักศึกษากฎหมาย หม่องและผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะบางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ดำเนินการเรียกร้องสัญชาติให้หม่องมานาน ผ่านมาสิบปีก็ยังอยู่ในกระบวนการขอสัญชาติไทย ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ พ.ศ.๒๕๕๓ โดยยื่นขอสัญชาติในกรณีทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ

หลังคว้าแชมป์ไม่กี่วัน หม่องเดินทางไปยังศูนย์บริการตรวจสอบประวัติบุคคลเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนตรวจประวัติอาชญากรรม คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน ๖ เดือนในการได้รับสัญชาติไทย ทันเวลาที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งเครื่องบินกระดาษพับที่ญี่ปุ่นในปี ๒๕๖๒ ในฐานะคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ

หม่องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เขาหวังว่าจะได้ใช้สิทธิต่างๆ เหมือนกับคนไทย ทั้งสิทธิประกันสังคม การเดินทางไกลที่จะง่ายขึ้น เวลามีงานเข้ามาเร่งด่วน ก็สามารถเดินทางได้เลย ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่เหมือนที่ผ่านมา

 

mong03

ผังแสดงความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด (ภาพ : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส)

mong01

ผู้เฒ่าไร้สัญชาติบนดอยแม่สลอง เมื่อต้นปี ๒๕๖๑ ทั้งสี่คนเป็น “แม่ม่ายไร้สัญชาติ” ขณะที่ ๕ อำเภอของเชียงราย ได้แก่ แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เชียงของ และเชียงแสน คาดว่ามีผู้เฒ่าไร้สัญชาติอยู่ไม่น้อยกว่า ๖๙๓ คน (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

จากเรื่องราวของ หม่อง ทองดี ข้ามไปที่จังหวัดเชียงราย

เมื่อต้นสัปดาห์เหมือนกัน คือวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ หล่อดา เชอมื่อกู่ และ อาหย่อง เชอมื่อกู่ สองผู้เฒ่าจากอำเภอแม่จัน พร้อมด้วยลูกหลานและเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ลงจากดอยมายังที่ว่าการอำเภอแม่จัน เพื่อยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลสัญชาติไทย

ถึงแม้จะเป็นบุคคลไร้สัญชาติเช่นกัน แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับสองผู้เฒ่าแตกต่างจาก หม่อง ทองดี เมื่อลูกหลานของผู้เฒ่าทั้งสองคนนี้ต่างได้รับสัญชาติไทยแล้ว
หล่อดา อายุ ๗๓ ปี เกิดที่ชายแดนฝั่งพม่า อพยพหลบหนีทหารพม่าซึ่งมักเกณฑ์แรงงานชาวบ้านไปเป็นลูกหาบขนอาวุธ ข้ามมาอยู่ฝั่งไทยตั้งแต่ ๓๓ ปีก่อน ลงหลักปักฐานที่บ้านหล่อโย ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน ยึดอาชีพทำไร่ ทุกวันนี้มีลูก หลาน และเหลนรวมกันถึง ๓๓ คน ทุกคนได้ต่างก็รับสัญชาติไทย มีบัตรประชาชนไทย ขณะที่หล่อดาและภรรยายังไม่ได้รับสัญชาติ

พิทักษ์พงศ์ เชอมือกู่ ลูกชายของหล่อดาให้ข้อมูลว่าตนเองเกิดหลังจากที่พ่ออพยพมาอยู่บ้านหล่อโยแล้ว เมื่ออายุ ๑๕ ปีก็ได้รับบัตรประชาชน ทุกคนในบ้านล้วนมีสัญชาติไทย เหลือเพียงพ่อกับแม่ที่ยังไม่ได้รับ รู้สึกสงสารเพราะเลี้ยงดูพวกตนจนเติบใหญ่ มีงานทำ แต่ตัวเองกลับไม่มีสัญชาติ
หล่อดาเล่าว่าเมื่อช่วง ๒-๓ ปีแรกที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ทางราชการเคยออกสำรวจบุคคลบนพื้นที่สูงและตนได้รับบัตรสีฟ้า แสดงสถานะบุคคลบนพื้นที่สูงหรือชุมชนบนพื้นที่สูงที่มีการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวแล้ว  แต่ต่อมามีเจ้าหน้าที่แนะนำว่าให้ไปขึ้นทะเบียนต่างด้าวโดยบอกว่าอีก ๕ ปีจะได้บัตรประชาชน แต่รอมาเนิ่นนานก็ยังไม่ได้

กลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย จำแนกได้เป็น ๑) ผู้สูงอายุตกหล่นจากระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศไทย (คนไร้รัฐ) ๒) ผู้สูงอายุไร้สัญชาติที่มีข้อเท็จจริงเป็นคนไทยแต่ถูกบันทึกว่าเป็นคนต่างด้าว ๓) ผู้สูงอายุไร้สัญชาติที่เกิดนอกประเทศไทยอพยพเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้ว แต่ยังไม่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทย มีสิทธิขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ๔) ผู้สูงอายุที่เกิดนอกประเทศไทยอพยพเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้ว มีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่สามารถแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ แต่ยังไร้สัญชาติ

ตามมาตรา ๑๐ ของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ กำหนดให้คนต่างด้าวที่ต้องการแปลงสัญชาติเป็นไทยอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ถ้ามีคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ ๑) บรรลุนิติภาวะ ๒) มีความประพฤติดี ๓) มีอาชีพเป็นหลักฐาน ๔) มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี และ ๕) มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

จากการดำเนินงานของ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) พบว่าสภาพปัญหาของกลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติที่พบในแต่ละอำเภอมีความแตกต่างกัน การแก้ไขปัญหาจึงมีแนวทางและระยะเวลาที่ใช้ต่างกัน นอกจากอำเภอแม่จัน อำเภออื่นๆ ที่มีเขตแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านของเชียงราย อาทิ แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เชียงแสน เชียงของ พบผู้สูงอายุไร้สัญชาติ รวมกันไม่น้อยกว่า ๖๙๓ คน

การไร้สัญชาติเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดจากตัวผู้เฒ่าและลูกหลานไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่ได้ให้ความสำคัญ ในอดีตผู้เฒ่าจะคิดว่าตนเองอยู่บ้าน ไม่ได้ไปไหน เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงหลาน เฝ้าบ้าน ลูกหลานที่เป็นคนมีสัญชาติไทยแล้วก็ไม่ได้คิดว่าพ่อแม่ของตนจะต้องมีสถานะทางกฎหมาย แต่เมื่อถึงยุคที่การเดินทางไกลมีความจำเป็น เช่น ลูกหลานออกไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดแล้วผู้เฒ่าอยากจะไปหา หรือออกไปรับการรักษาพยาบาล ถ้าไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทยก็ไม่สามารถเดินทางออกนอกหมู่บ้านนอกจากจะทำเรื่องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่

ที่บ้านกิ่วสะไต ยอดดอยแม่สลองอำเภอแม่ฟ้าหลวง มีเรื่องเล่าชวนฉงนที่น่าสนใจคือผู้เฒ่าไร้สัญชาติส่วนใหญ่เป็น “แม่ม่าย”

ว่ากันว่าสาเหตุที่สามีตายก่อนเป็นเพราะพวกผู้ชายหลังจากการได้รับสัญชาติไทยแล้วก็สามารถเดินทางออกไปไหนต่อไหน ไปไกลๆ นอกพื้นที่ จึงเสี่ยงที่จะมีอายุสั้น

การมีอายุยืนยาวกว่าสามีจึงเป็นตลกร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของผู้เฒ่าบนดอยแม่สลอง

เก็บตกจากลงพื้นที่  : ข่าวโลกใบใหญ่ “แม่ม่ายไร้สัญชาติ” บนดอยแม่สลอง นิตยสารสารคดี ฉบับ ๓๙๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ และงานเสวนา “การจัดการสิทธิอันจำเป็นของทายาทรุ่นสองจากเมียนมา ผ่านกรณีศึกษา หม่อง ทองดี” ห้องประชุมวรรณไวทยากร ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑