ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


saifon

ปลายเดือนพฤษภาคม หยาดฝนบรรจงโปรยละอองพรมผิวหนัง

เด็กหญิงและเด็กชายตัวน้อยทยอยมาโรงเรียน สวมชุดกันฝนคลุมหมวกบังใบหน้าจนมองเห็นถนัดเพียงลูกตา ปลายแขนเสื้อที่คลุมมือไม่มิดทำให้ผิวพวกเขาสัมผัสหยดน้ำใสเย็นชุ่มและชื้นแฉะในคราเดียว

ฤดูฝนของโรงเรียนบ้านแม่ลิด บนภูเขาในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงก็เช่นนี้

หนึ่งวันของที่นี่อาจมีทั้งสายฝนทักทายยามเช้า พอสายพระอาทิตย์ก็ยิ้มแฉ่งแจกแดดจ้า เผลอแปบเดียวเมฆดำทะมึนก็ออกมาเล่นกลเสกสายฝนรดภูเขาให้สำลักเป็นหมอกขาวห่มยอดดอยแม่ลิดหลวง

ถึงอย่างนั้นก็เป็นสัญญาณว่าฤดูกาลหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวมาถึงแล้ว

ช่วงเวลาเปิดเทอมใหม่ พี่ชั้นประถมหรือมัธยมจะจูงมือน้องวัยอนุบาลมาจากบ้าน บางคนงอแง อิดออดไม่อยากเข้าห้องเรียน พี่ต้องใช้สารพัดวิธีหลอกล่อจนถึงถูลู่ถูกังให้น้องเข้าห้อง เจ้าตัวเล็กบางคนยืนยันไม่ยอมห่างพี่ ไปไหนจะขอตามไปด้วย กลายเป็นเจ้าหนูเหล่านี้ได้อาศัยช่วงเวลาโยเยที่คุณครูอนุบาลมักโอนอ่อนผ่อนระเบียบให้ในช่วงแรกสวมรอยเป็นนักสำรวจและได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั่วโรงเรียนก่อนเพื่อน

saifon01

saifon02

saifon03

 

saifon04

saifon05

saifon06

บรรยากาศของโรงเรียนในรั้วที่โอบล้อมธรรมชาติกลางขุนเขาเวลานี้จะกระจองงอแงเป็นระยะด้วยเสียงที่เปล่งคำเป็นภาษาปกาเกอะญอ “โมะๆ” (แม่ๆ) “เนาะๆ” (พี่สาว) “เจ๊าะๆ” (พี่ชาย) “เอาะนุนุ” (กินนม) แทรกปนเสียงสะอื้นเพื่อแสดงออกถึงบางสิ่งที่หัวใจต้องการในเวลาที่ยังไม่คุ้นกับสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน

หน้าที่ของคุณครูทุกคนนอกจากสอนสิ่งต่างๆ จึงต้องเป็นพ่อแม่คนที่สองให้พวกเขา

ครูหลายคนไม่ใช่ชาวชาติพันธุ์ แต่ภาษาก็ไม่เป็นอุปสรรคการสื่อสาร เพราะหนึ่งในวัฒนธรรมของโรงเรียนคือใช้ภาษากาย “โอบกอด” อย่างอ่อนโยนให้อบอุ่นถึงหัวใจ กระทั่งเด็กน้อยรู้สึกถึงพื้นที่ปลอดภัย จะเปิดรับครูเป็นคนในครอบครัว และรู้สึกว่าห้องเรียนคือบ้านอีกหลังในชีวิต

เด็กๆ อย่างพวกเขาไม่ต่างจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการเริ่มต้นหว่านในฤดูฝน

เมื่อผ่านการฟูมฟักโดยสภาพแวดล้อมแห่งขุนเขา บนผืนดินของโลกที่โคจรผ่านดวงอาทิตย์รอบแล้วรอบเล่า จวบเดือนกรกฎาคมตามนาข้าวขั้นบันไดจึงงอกงามด้วยต้นกล้าระบัดใบเขียวอ่อนเย็นตา เป็นพืชไร่กลางนาที่พร้อมท้าลม ฟ้า แดด ฝน ทั้งที่เมื่อสองเดือนก่อนยังเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็กๆ

หลังผ่านช่วงเวลาแห่งการปรับตัวปรับใจ นักเรียนห้องอนุบาลจะอยู่ร่วมกับเพื่อน พี่ น้อง ครู และโรงเรียนได้โดยไม่แปลกหน้ากันอีก สมองของพวกเขาจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ใช้ชีวิตในโลกกว้างผ่านการศึกษาที่โรงเรียนออกแบบหลักสูตรโดยเน้นให้อิสระทางความคิด เล่นสนุกกับกิจกรรมตามวัย เพื่อเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจให้พวกเขาเติบโตเป็นต้นกล้าแข็งแรง

“ครูครับ ฝนนี่ทำไมถึงตก?”
เด็กชายเอกรัตน์ผู้มีดวงตากลมโต ตั้งคำถามซ้ำๆ จากปรากฏการณ์ธรรมชาติตรงหน้า

“ครูครับ ทำไมฝนถึงตก ฝนนี่ดื้อนะครับ”
หลายครั้งความขี้สงสัยของนักตั้งคำถามก็พาครูเดินทางไปในโลกแห่งจินตนาการ

“พี่สายฝนอาจจะคิดถึงทุ่งนาก็ได้”
“ทำไมเขาคิดถึงทุ่งนาล่ะครับ”
“นั่นสิ พี่สายฝนเขาอาจจะหลงรักพี่ทุ่งนาหรือเปล่านะ”
เด็กน้อยยิ้ม อาจเป็นได้ว่าเขาได้รับคำตอบที่พอใจแล้ว

สำหรับโรงเรียนบนภูเขา ฤดูกาลไหนๆ ก็ไม่ใช่เงื่อนไขของการเรียนรู้ เมื่อเกิดความสงสัยครูจะชวนนักเรียนออกไปค้นหาคำตอบจากธรรมชาติ อย่างเรื่องสายฝนก็เพียงสอนให้พวกเขารู้จักปกป้องตนจากไข้หวัดโดยสวมชุดกันฝนก่อนจูงมือกันออกไปสัมผัสความงามของทุ่งนาเขียวชุ่มชื่นยามฝนโปรยลงกระทบใบไม้ ยอดหญ้า และดอกไม้ จนปรากฏหยดน้ำใสบริสุทธิ์ในความรู้สึก

เมื่อผ่านสัมผัสของความรัก เปิดเทอมครั้งต่อไปจึงไม่มีจอมงอแงให้เกลี้ยกล่อมอีก

มิหนำซ้ำสองเท้าเล็กๆ ยังวิ่งปร๋อเข้าห้องเรียนเอง ไม่รอให้พี่ชายพี่สาวช่วยนำทาง


kwankaeขวัญแข ใครบุตร
ชาวบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เคยเป็นครูอนุบาลที่จังหวัดลพบุรีก่อนย้ายสู่อ้อมกอดขุนเขาแม่ลิดหลวงของอำเภอแม่สะเรียง ความเดียงสาของเด็กน้อยอนุบาลที่โรงเรียนบ้านแม่ลิดนอกจากทำให้ไม่อยากย้ายไปไหนยังอยากเก็บเรื่องราวของพวกเขามาแบ่งปันให้ใครๆ ร่วมเอ็นดูไปด้วยกัน

…….

nadoi02สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน