ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง : แค้จี่
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ และ 123rf

เส้นทางรับน้องของครูดอยคนใหม่

เกือบเที่ยงวันของหมู่บ้านยังปรากฏสายหมอกทอดตัวเป็นริ้วยาว

น้ำค้างเกาะพราวยอดหญ้า เป็นที่ระลึกจากความหนาวเย็นเมื่อคืน

กลางไร่เก่าของหมู่บ้านแม่คะเหนือ ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่กำลังยืนอยู่โอบล้อมด้วยภูเขาและป่าเขียวทึบ มองทางใดก็ไม่พบเส้นทางถนนเข้าออก ชวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อสิบปีก่อน…

ตอนเปิดรับสมัครสอบครู “ศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูง” หรือเดิมเรียกว่า “ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา” (ศศช.) และฉันสอบผ่านจึงต้องเตรียมตัวไปอยู่ที่บ้านจอลือใต้ ซึ่งเคยคิดว่า “ทั้งชีวิตนี้คงไปไม่ถึง”

วันแรกของการเข้าพื้นที่ ฉันเตรียมสัมภาระทั้งเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ผ้าห่ม เท่าที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้ตลอดหนึ่งเดือน แล้วจดจ่อรอเวลาที่ครูนิเทศและครูเจี๊ยบซึ่งเป็นครูประจำศูนย์การเรียนแห่งนั้นมารับ

newteacher01 newteacher02

newteacher03

ภาพจาก 123RF

“เอาอะไรไปเยอะขนาดนั้น” ครูนิเทศมองข้าวของพะรุงพะรัง “ผ้าห่มที่ศศช. ก็มีไม่ต้องเอาไป”

เมื่อผู้อยู่มาก่อนยืนยันฉันจึงรื้อหลายสิ่งออก ก่อนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของครูนิเทศออกเดินทาง

ตลอดเส้นทางเป็นถนนคอนกรีตสลับลูกรัง ยังดีที่เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง ไม่มีดินโคลน แต่ยังทิ้งร่องรอยดินสไลด์และน้ำขังบางจุดให้รู้ว่าไม่นานนี้เคยผ่านฝนตกหนัก กระทั่งถึงทางแยก ถนนดินแคบลง และข้างหน้ายังมีให้ข้ามลำน้ำเชี่ยว น่าจะดีกว่าหากจอดรถทิ้งไว้แล้วเดินเท้า แต่เมื่อครูนิเทศยืนยันจะนำรถไปต่อ พวกเราจึงตกลงกันตามนั้น และเปลี่ยนจากนั่งรถเป็นช่วยกันดันและยกรถข้ามน้ำเกือบตลอดทาง จนมอเตอร์ไซค์คันเก่งเริ่มประท้วงจากภาวะอ่อนล้าด้วยความเงียบและไม่ตอบสนองต่อสิ่งใดอีก

เมื่อไม่มีพาหนะก็ถึงคราวสองเท้าต้องช่วยตนเอง เข้าใจแล้วว่าทำไมจึงควรจัดสัมภาระให้น้อยที่สุด

เราพากันเดินข้ามลำน้ำอีกสิบกว่าสาย จนฟ้าใกล้หมดแสงครูเจี๊ยบจึงเสนอให้พักริมห้วยแกะห่อข้าวกินก่อนเพราะปลายทางยังอีกยาวไกล จะได้ลดน้ำหนักการแบกและเพิ่มพลังงานให้ร่างกายไปในตัว

หลังท้องอิ่มจึงมุ่งหน้าต่อ เป็นเส้นทางขึ้นเขาสูงชันสลับโค้งไปเรื่อยๆ และดูเหมือนจะยังมีอีกไม่รู้จบจนเดาไม่ออกเลยว่าจะไปสุดยอดดอยนี้ได้อย่างไร ครั้นถึงทางราบที่ร่างกายไม่ต้องต้านแรงโน้มถ่วงภูเขาจึงได้รู้สึกสบายขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นเพียงระยะความสบายอันแสนสั้นแล้วก็ต้องกลับไปเดินขึ้นดอยอีก

“ใครหนอช่างสรรหาที่อยู่กันไกลขนาดนี้”

ฉันบ่นในใจอย่างอ่อนล้าให้กับเส้นทางรับน้อง แต่ยังไม่ท้อ ความมืดเริ่มปกคลุมรอบด้านขณะที่หริ่งเรไรส่งเสียงระงมกล่อมป่า พวกเรายังคงเดินหน้า คุยกันพอครึกครื้นให้คลายเหนื่อย ถนนบางแห่งที่เดินผ่านทรุดตัวลงไปเป็นเหวลึกแม้จะเริ่มมืดจนมองทางไม่ถนัดตานักแต่ก็ชวนเสียวไส้อยู่ดี

วิถีทางครูดอยไม่ง่ายเลย และบ่อยครั้งก็ไม่มีทางให้เลือกมากนัก

แสงไฟริบหรี่ข้างหน้าคือสัญญาณว่าในที่สุดพวกเราก็ถึงหมู่บ้าน แต่ละครัวเรือนพากันจุดฟืนผิงไฟในบ้านตน บรรยากาศทั่วหมู่บ้านจึงเงียบสงบ ถึงเวลาที่พวกเราต้องพักผ่อนเอาแรงบ้างเช่นกัน คืนแรกของการพลัดพรากจากครอบครัวตัวเองมาแม้จะรู้สึกเหงา ว้าเหว่ แต่ก็นอนหลับง่ายดายด้วยความอ่อนเพลีย

newteacher04

ภาพจาก 123RF

newteacher05

ภาพจาก 123RF

newteacher06

ภาพจาก 123RF

newteacher07

เสียงไก่ขันแว่วเมื่อเช้ามืด ตามด้วยเสียงครกตำข้าวของชาวบ้าน หลังทำธุระส่วนตัวฉันออกมาชื่นชมบรรยากาศยามเช้าตรู่รอบศูนย์การเรียนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ไหล่เขา อาคารสิ่งปลูกสร้างจึงพลอยมีความสูงลดหลั่นลงมาเหมือนขั้นบันได อย่างอาคารเรียนไม้หลังเล็ก ถัดมาเป็นอาคารโรงอาหารที่เล็กกว่า ตามด้วยศาลามุงตองตึงที่เปิดโล่ง ตรงกลางคือสนามหน้าเสาธงขนาดเล็ก ด้านล่างเสาธงลงไปคือแปลงขั้นบันไดที่มีต้นส้มโอ บ่อเลี้ยงปลา ฯลฯ ทุกอย่างดูเขียวขจีพาให้รู้สึกสดชื่น ทะเลหมอกที่มองเห็นเวลานี้ก็ดูนุ่มและขาวสะอาดราวสำลี สักพักเมื่อกลุ่มหมอกเริ่มคลี่บางจางหาย ดวงอาทิตย์ก็ออกมาทักทายท้องฟ้า

ถ้าไม่นับการเดินทางแสนไกลและโหด สถานที่ตรงหน้าถือว่าน่าอยู่ทีเดียว

น้ำพริกปลากระป๋อง ไข่เจียว ไข่ต้ม คืออาหารมื้อแรกต้อนรับครูดอยคนใหม่ก่อนเริ่มรับมอบหมายงานที่ต้องรับผิดชอบ โดยให้เรียนรู้การทำงานจากครูเจี๊ยบผู้เป็นทั้งพี่เลี้ยงสอนวิชาชีพและพี่สาวสอนวิชาชีวิต

การเป็นครูใหม่ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับฉัน ความเป็นอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงต่างหากที่ไม่ง่าย

อยู่ที่นี่ฉันต้องเป็นมากกว่าครู หมายรวมถึงหน้าที่ภารโรง แม่บ้าน กระทั่งหมอ ที่ต้องเป็นทุกอย่างเพราะหมู่บ้านนี้ไม่มีใครทำอาชีพเหล่านั้น ครูทุกคนจึงเปรียบดั่งศูนย์รวมความหวัง-ศรัทธา

ไม่เว้นแม้ “ครูน้องใหม่” ผู้อ่อนประสบการณ์ก็ยังได้รับคุณค่าในสายตาชาวชุมชน


kaejeeแค้จี่
ก่อนได้ชื่อ เสาวนีย์ พลับพลึงพนา เกิดมาพร้อมชื่อ “แค้จี่” (แค้ หมายถึงหนึ่งเดียว จี่ หมายถึงเงิน) เติบโตในครอบครัวกะเหรี่ยงสะกอ-โปว์ ในบ้านป่าบนดอยส่วนหนึ่งของอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันเป็นข้าราชการครูอนุบาลโรงเรียนบ้านแม่ลิดในอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งนักเรียนเกือบทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

…….

nadoi02สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน