Sarakadee : History
ศรัณย์ ทองปาน : รายงาน

kohker01

เมื่อเอ่ยถึงอารยธรรมขอมหรือเขมรโบราณ เชื่อว่าคนไทยย่อมคุ้นเคยกันดีกับชื่อ “นครวัด-นครธม”

นครวัด-นครธม ตั้งอยู่ในบริเวณราชธานีของอาณาจักรเขมรโบราณ ที่เรียกกันว่า “อังกอร์” หรือ “เมืองพระนคร” ใกล้กับเมืองเสียมเรียบปัจจุบัน แต่ในอดีต ยังเคยมีราชธานีอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพระนคร มีชื่อเรียกว่า “เกาะแกร์”

kohker02 kohker03

ทฤษฎีที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือ “เกาะแกร์” เคยมีสถานะเป็นราชธานีของอาณาจักรเขมรโบราณอยู่เพียงช่วงเวลาไม่นาน เฉพาะในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๙ หรือปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ (พ.ศ. ๑๔๐๐ ปลายๆ) เท่านั้น

จากหลักฐานศิลาจารึก นักประวัติศาสตร์เข้าใจกันว่าพระองค์ทรงช่วงชิงราชบัลลังก์จากราชวงศ์เดิมปราบดาภิเษกสถาปนาตนเป็นกษัตริย์ แล้วย้ายมาบุกเบิกสร้างศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ ณ ที่แห่งนี้ ห่างไกลจากราชธานีเก่า เพื่อตัดขาดจากอดีต แต่แล้วเมื่อสิ้นรัชสมัยซึ่งยาวนานเพียงไม่ถึง ๒๐ ปี กษัตริย์พระองค์ต่อมาก็ย้ายราชสำนักกลับสู่เมืองพระนครตามเดิม ปล่อยให้ “เกาะแกร์” รกร้าง กลายเป็นราชธานีที่ถูกหลงลืม จนกระทั่งนักโบราณคดีฝรั่งเศสเข้ามา “ค้นพบ” บรรดาซากปราสาทหินมหึมากลางป่ากลางดงเมื่อสักร้อยกว่าปีมานี่เอง

แต่แล้วผลการศึกษาล่าสุดโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย กลับ “ล้มกระดาน” ทฤษฏีเดิมลงจนหมด

งานวิจัยของ เทแกน ฮอล (Tegan Hall) และคณะ ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารออนไลน์ PLOS ONE ช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ระบุว่าจากการศึกษาตัวอย่างถ่านและละอองเรณู (pollen) ในชั้นดินทับถมจากใต้แหล่งน้ำสามแห่งในบริเวณเกาะแกร์ ร่วมกับหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ พบว่ามีการตั้งบ้านเรือนรวมถึงสร้างวัดวาอารามเล็กๆ ที่นี่อยู่แล้วตั้งแต่ราว ๒๐๐ ปี ก่อนหน้ายุคพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ และแม้จนเมื่อสิ้นสุดรัชสมัยไปแล้ว ก็ยังคงมีผู้คนอยู่อาศัย ทำไร่ทำนา สืบเนื่องกันต่อมาอย่างน้อยอีกหลายร้อยปี ก่อนที่จะค่อยๆ ถูกทิ้งร้างไปเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ (พ.ศ. ๑๙๐๐ กว่าๆ)

kohker04

kohker05

kohker06

จากผลการศึกษา ยังนำไปสู่ข้อเสนอของผู้วิจัยว่า เอาเข้าจริงแล้ว การเคลื่อนย้ายศูนย์กลางอำนาจ หรือกิจกรรมของราชสำนัก อาจมิได้มีผลต่อชีวิตของราษฎรทั่วๆ ไป มากมายอะไรนัก ยิ่งไปกว่านั้น กรณีศึกษาจากเมืองเกาะแกร์ยังถือเป็นตัวอย่างการใช้เครื่องมือทางโบราณนิเวศวิทยา (paleo-ecological approach) เพื่อสืบสาวประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนเมือง อันเป็นส่วนของการศึกษา “อดีต” ที่ไม่ถูกละเลยมานานด้วย

อ้างอิง

  • https://phys.org และบทความ Re-evaluating the occupation history of Koh Ker, Cambodia, during the Angkor period: A palaeo-ecological approach จาก https://journals.plos.org