ตัวเรื่องและเบื้องหลัง

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ตัวเรื่อง และเบื้องหลังการเขียน

หนังสือ ลำธารริมลานธรรม ของพระไพศาล วิสาโล โปรยปกว่า เกร็ดชีวิตและปฏิปทาของพระดีพระแท้ เล่าชีวิตบางช่วงตอนที่โดดเด่นและสะท้อนการสอนธรรมของพระมหาเถระรุ่นเก่าก่อน หากมองผ่านกรอบงานสารคดีก็กล่าวได้ว่านี้เป็นประเภทงานสารคดีชีวิตอย่างชัดเจน

ตอนหนึ่งจาก ๑๐๐ ตอนในเล่ม เป็นเรื่อง “เคล็ดลับของสมเด็จพระวันรัต” มีมุมการเล่าอย่างน่าสนใจ ชวนให้นำมาเล่าต่อ

ผู้เขียน (พระไพศาล วิสาโล) เปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครหลักของเรื่องว่า พูดถึงสมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ คนจะนึกถึงสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) แต่ความจริงยังมีสมเด็จพระวันรัตอีกองค์ซึ่งสมเด็จเฮงถือเป็นอาจารย์ คือ สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย)

เมื่อสมเด็จฑิตล่วงสู่วัยชรา ท่านได้มอบอำนาจการบริหารและการศึกษาของวัดให้อยู่ในมือของสมเด็จเฮงทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นท่านยังเป็นพระหนุ่มชั้นพระเทพเมธี ส่วนสมเด็จฑิตแม้อายุล่วงถึง ๘๐ ปีแล้ว ท่านก็ยังไม่หลง มีอาจาระงดงามเป็นที่เคารพนับถือของพระเณรในวัด


คราวหนึ่งมีพระหนุ่มรูปหนึ่งกราบเรียนถามท่านว่า ทำอย่างไรจึงมีศีลาจารวัตรและสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ แม้ชราภาพมากแล้ว แทนที่จะตอบท่านกลับเปรยขึ้นมาว่า “หมู่นี้เวลาพระตีระฆังหมาหอนกันแปลกเหลือเกิน มหาสงครามในยุโรป (สงครามโลกครั้งที่ ๑) จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าประชวรจะหายหรือไม่ ก็ไม่รู้ได้ ถาพระองค์ท่านเป็นอะไรไป การพระศาสนาจะกระทบกระเทือนเพียงใดก็เหลือที่จะเดาได้”

พระหนุ่มได้ฟังก็นึกว่าท่านจะเริ่มหลงเสียแล้วกระมัง เพราะที่ท่านพูดมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับคำถามที่ตรงไหน

แต่สักพักท่านก็หันมาแล้วพูดว่า “ที่เธอถามฉันว่ามีกิจวัตรอันใดที่ช่วยค้ำจุนใจให้ประพฤติพรหมจรรย์มาได้จนทุกวันนี้นั้น ฉันจะบอกให้ว่าฉันถือหลักอยู่ ๓ สูตร ท่องขึ้นใจอยู่เสมอ ถ้าอยู่คนเดียวแล้วเป็นต้องท่อเอาไว้ ท่องถอยหลังถอยหน้าได้โดยตลอด ถ้ามีแขกก็หยุดไว้ มีกิจอื่นต้องทำก็ทำ เช่นอ่านหนังสือพิมพ์ เซ็นหนังสือ ตอบปัญหา เมื่อหมดภารกิจแล้ว ท่องค้างไว้ที่ไหนก็ท่องต่อไปจากนั้น โดยรำลึกถึงข้อความนั้นไปตลอดเวลา”

สูตรทั้ง ๓ นั้น ได้แก่ พระภิกขุปาฏิโมกข์ มูลกัจจายน์ มหาสติปัฏฐานสูตร

“ยศถาบรรดาศักดิ์อัครฐานเพียงช่วยให้ฉันบริหารงานพระศาสนา เพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชนเท่านั้น แต่ฉันก็ไม่ลืมที่จะทำหน้าที่อนุเคราะห์ตัวเองเช่นกัน”

ท่านกล่าวกับพระหนุ่มว่า วัตรปฏิบัติดังกล่าวท่านทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ จนบัดนี้จึงยังไม่หลงใหล โลกธรรมไม่อาจกล้ำกรายได้ ที่ผ่านมายังไม่เคยบอกใครเรื่องนี้ แต่เมื่อถูกถามจึงบอกให้รู้


ล่วงมาหลายสิบปีพระหนุ่มรูปนั้นกลายเป็นชายชรา กลับไปครองเพศฆราวาสที่อุทัยธานีบ้านเกิด

เรื่องราวคงจะหายไปพร้อมกับชีวิตของชายชราผู้นั้น หากไม่มีชายหนุ่มอีกคนมาสนทนาด้วย ชายหนุ่มผู้นี้รู้เรื่องวัดวามอารามดี เมื่อคุยกันถึงสมเด็จเฮงและสมเด็จฑิต ชายชราจึงเล่าเรื่องนี้ให้ผัง

การสนทนานั้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ และผ่านไปอีก ๑๔ ปี ชายหนุ่มซึ่งกลายเป็นนักเขียนชั้นนำจึงถ่ายทอดเรื่องนี้ไว้เป็นข้อเขียนในนามปากกา ส. ศิวรักษ์


นอกจากสารที่ได้รู้ หากอ่านงานเขียนเรื่อง “เคล็ดลับของสมเด็จพระวันรัต” แบบศึกษาเบื้องหลัง หรือ “เลาะตะเข็บ” ก็จะมองเห็น “ชั้น” (เชิง) ในการเล่าเรื่องด้วย

เรื่องนี้ผู้เขียน (พระไพศาล วิสาโล) ได้ข้อมูลจากข้อเขียนของ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งหากจะนำมาร้อยเรียงใหม่แล้วเล่าเองแบบ ”ผู้เขียนรู้ทุกอย่าง” ก็ทำได้ แต่จะเป็นเรื่องเล่าชั้นเดียวแบนๆ อาจทำให้เรื่องไม่น่าสนใจ ได้สาระแต่ไม่ได้รส

แต่การซ้อนชั้น “ผู้เล่า” (Narrator) อย่างที่ ผู้เขียน (Author) ทำมานี้ ทำให้งานเรื่องนี้เกิดเสียงของผู้เล่าซ้อนกันหลายชั้นไล่ลึกลงไป

เริ่มจากผู้เขียน (พระไพศาล) เล่าต่อในสิ่งที่ได้รู้มาจากข้อเขียนของ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งฟังมาจากชายชราที่เป็นอดีตพระหนุ่มคนหนึ่งในสำนักสมเด็จพระวันรัต ผู้เล่าเรื่องสมเด็จพระวันรัตฑิต ให้ ส.ศิวรักษ์ ฟัง

อ่านงานเขียนของพระไพศาล วิสาโล เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นชั้นของเรื่องเล่าที่ซ้อนกันอยู่ถึง ๓ ชั้น (พระไพศาล <- ส.ศวรักษ์ <- ชายชราชาวอุทัยธานี) ซึ่งอย่างที่กล่าวแล้วว่า เรื่องนี้หากผู้เขียนจะเล่าเองอย่างผู้รู้แบบชั้นเดียวก็สามารถทำได้ดังการเล่าเรื่องโดยทั่วไป แต่การซ้อนชั้นดังที่ผู้เขียนทำมานี้ นอกจากทำให้คนอ่านเห็นที่มาที่ไปของเรื่องเล่า-ยาวนาน ซึ่งมีผลอย่างสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของเรื่องที่เล่า เรื่องนี้ยังได้รสล้ำลึกในแง่การเดินทางอันยาวไกลของเรื่องราวด้วย

ถือเป็นเคล็ดข้อหนึ่งของงานสารคดีก็ว่าได้ ในแง่ที่ว่าบางทีเบื้องหน้าและเบื้องหลังก็หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวเกลียวกันได้ และหนุนเสริมเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งนั้นให้ยิ่งน่าสนใจและโดดเด่นยิ่งขึ้น