วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ความเรียง-เยาวชน

พี่แฟ๊บ หรือบุบผาทิพย์ แช่มนิล เป็นนักกิจกรรมคนสำคัญทางหัวเมืองตะวันออก และเป็นหนึ่งคณะทำงานลูกโลกสีเขียว พี่แฟ๊บประเมินว่าเยาวชนภาคตะวันออกยังทำงานเขียนกันน้อย จึงปลุกกระแสด้วยการจัดค่ายเครือข่ายเยาวชนลูกโลกสีเขียวภาคกลางและภาคตะวันออก ในชื่อค่ายสุดเท่ว่า “เด็กเรื่องมาก”

สมาชิกค่ายเป็นนักเรียนมัธยมจากโรงเรียน ๙ แห่ง ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก มีศิลปิน นักเขียนมือรางวัลมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนได้มีโอกาสสัมผัสศาสตร์แห่งศิลป์ และพี่แฟ๊บให้เกียรติชวนผมไปช่วยให้แนวทางการเขียนแก่เด็กๆ แบบเร่งรัดภาย ในเวลา ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ โดยมีเป้าหมายว่า เยาวชนที่มาร่วมค่ายต้องเขียนความเรียงเยาวชนเป็น ได้ผลงานเขียนครบ ๒๙ เรื่อง เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ตามจำนวนสมาชิกค่าย

ความเรียง เหมือนหรือต่างจาก เรียงความ อย่างไร

เรียงความ เป็นงานเขียนพื้นฐานที่สุดที่ผู้ผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียนล้วนเคยเขียนกันมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม อย่างน้อยที่สุดก็เรียงความวันพ่อ วันแม่ วันทัศนศึกษา หรือหัวข้อใดๆ ที่ครูกำหนดขึ้น

ความเรียง-เยาวชน

ส่วนความเรียง หรือ essay นั้นอาจเข้มข้นจริงจังมากขึ้นในแง่วรรณศิลป์ แต่มีลักษณะเด่นร่วมกันกับเรียงความ ตรงความเป็น เรื่องเล่า (Narrative) คือเขียนจากมุมมองและน้ำเสียงของผู้เขียนได้อย่างอิสระ ไม่เรียกร้องการค้นคว้าอ้างอิงจริงจังคร่ำเคร่ง

ความเรียงเขียนอย่างไร

เมื่อชวนนักเรียนมัธยมวัย ๑๐ กว่าปีเขียน “ความเรียง” ก็เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการชวนเขาทบทวนเรื่อง “เรียงความ”

นักเรียนตอบได้ทันทีว่า “มี ๓ ย่อหน้า” ได้แก่

บทนำ
เนื้อเรื่อง
สรุป

ข้อแนะนำเพื่อการต่อยอดคนที่เขียน เรียงความ เป็นแล้วให้พัฒนาไปสู่การเขียน ความเรียง ก็เพียงแต่…

๑.เพิ่มการตั้ง “ชื่อเรื่อง” ไว้บนบรรทัดแรกของหน้าแรก

๒.เปลี่ยน บทนำ เป็น “เปิดเรื่อง” คือแทนการเกริ่นนำแบบชักแม่น้ำทั้งห้า หรือปูพื้นแบบแสดงความรู้ทั่วไปที่คนอ่านล้วนแต่ “รู้ๆ กันอยู่แล้ว” ลองเปลี่ยนเป็นการหยิบส่วนที่น่าสนใจ ที่เรียกร้องความสนใจจากคนอ่านได้ มาเปิดเรื่องให้คนอ่านอยากตามเข้าไปอ่านเนื้อเรื่อง

๓.ตัวเรื่อง ก็เช่นเดียวกับเนื้อเรื่องของเรียงความ เพียงแต่เน้นว่า ไม่จำเป็นต้องเล่าทุกอย่างยาวยืดไว้ในย่อหน้าเดียว ตรงกันข้าม งานเรื่องเล่าแบบงานวรรณศิลป์ควรย่อหน้าบ่อยๆ ตามการเลื่อนไหลของประเด็น ตามบทสนทนาโต้ตอบกันของตัวละคร (หรือแหล่งข้อมูล) รวมทั้งเมื่อต้องการเน้นประโยค หรือคำนั้น จึงในงานวรรณศิลป์บางครั้งเราอาจพบบางย่อหน้ามีเพียงคำเดียวก็เห็นได้บ่อย

๔.งานเรื่องเล่าเป็นการ “เล่าเรื่อง” โดยทั่วไปจึงไม่เน้นการสั่งสอน ชี้นำ สรุป จะเพียงแต่เล่าให้ฟังตามที่เป็นจริง ตามประสบการณ์ มุมมอง การรับรู้ของผู้เล่า ดังนั้นตอนจบของความเรียงจึงไม่ควรสรุป แต่เพื่อให้ได้อรรถรสและความประทับใจในงานเขียนชิ้นหนึ่ง ความเรียงต้องมี “ปิดเรื่อง” ซึ่งจะเป็นการสรุปก็ได้ แต่ไม่ควรชัดตรงแบบ “นิทานเรื่อนี้สอนให้รู้ว่า…” อาจขยักประเด็นที่เหมาะสมกับการปิดท้ายเอาไว้เล่าท้ายสุด นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ปิดเรื่องได้ หรือไม่ก็เป็นแง่มุมคมคายจากผู้เขียน ที่ซ่อนนัย หรือซ้อนชั้นผกผัน กลับด้านหักมุมจากแกนหลักที่เล่ามาทั้งเรื่อง เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในวิธีการที่จะนำมาใช้ปิดเรื่องได้

youthessay03

ข้อเตือนใจก่อนไปต่อ 

เป็นข้อแนะนำหลังจากได้อ่านผลงานนักเขียนวัยมัธยมจาก ๙ โรงเรียน ครบทั้ง ๒๙ เรื่อง

คุณครูของแต่ละโรงเรียนคงคัดเด็กที่มีแววทาวรรณศิลป์กันมาแล้ว ทุกคนจึงทำงานเขียนได้หลังจากติวเข้มแบบโรงเรียนกวดวิชา (การเขียน) เพียงครึ่งวัน แล้วเขียนงาน ๒-๖ หน้ากันในเวลา ๒ ชั่วโมง โดยมีการสั่งการบ้านให้เตรียมประเด็นกันมาก่อนเข้าค่าย

แต่แทนที่จะเป็นเรื่องเล่าแบบใสๆ ของมือใหม่วัยมัธยม งานเขียนจำนวนหนึ่งคร่ำเคร่งจริงจังแบบรายงานส่งครู มีการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลมาแสดงความรู้(ที่อ้างต่อมา)ของผู้เขียน แต่บางเรื่องก็เข้าข่ายกลายเป็นความรู้ที่ “รู้ๆ กันอยู่แล้ว”

แน่นอนว่าในงานความเรียงการค้นคว้าข้อมูลความรู้ช่วยให้งานเขียนหนักแน่นและมีคุณค่าขึ้น แต่ในระดับความเรียงเยาวชน ข้อมูลอ้างอิงควรเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนนำเข้ามาผนวกเข้ากับเรื่องราวประสบการณ์ตรงของตนเอง ที่พบเห็นหรือเรียนรู้มาด้วยตัวเอง

จึงลองประมวลแนวทางเบื้องต้น เป็นของฝากสำหรับนักหัดเขียนความเรียงมือใหม่ เผื่อจะนำไปปรับใช้ในการพัฒนางานเขียนต่อไป

๑.เจาะจงประเด็นที่จะเล่าให้ได้ แทนการแสดงความรู้กว้างๆ ที่ค้นคว้ามา ให้มีประเด็นเฉพาะเจาะจงของเรา เอามาผนวกความรู้ที่รวบรวมมา

๒.น้ำเสียงในการเล่า พยายามให้อยู่ในแบบ “เล่าให้ฟัง” แทนการแสดงความรู้และโน้มน้าวให้เห็นด้วยหรือเชื่อตาม เพราะการทำแบบนั้นจะทำให้ความเรียงเยาวชนมีน้ำหนักค่อนไปทาง บทความ และจะกลายเป็นบทความที่ไม่ประสบความสำเร็จเมื่อผู้ใหญ่อ่าน

๓.ทั้งเรื่องอย่างมีแค่ ๓ ย่อหน้าอย่างเรียงความ และไม่ควรพยายามแต่งกลอนเพื่อใช้เปิดเรื่อและปิดเรื่อง ความเรียงเป็นงานเขียนร้อยแก้ว ผู้เขียนควรทุ่มเทความพยายามไปกับการใช้ภาษาร้อยแก้วในการเล่าเรื่อง และจากที่ผ่านมากล่าวได้ว่ายังไม่เคยมีตัวอย่างที่ดีของมือสมัครเล่น ที่แต่งกลอนเปิด-ปิดเรื่องได้ดีอย่างลงตัว

๔.แสดงใจความสำคัญของเรื่องให้เด่นชัดด้วยภาพเหตุการณ์ อย่าเอาแต่เล่าผ่านเสียงผู้เขียนเหมือนอ่านรายงาน แต่ให้เหมือนเป็นการจำลองเหตุการณ์ผ่านตัวหนังสือ ซึ่งด้วยวิธีการนี้จะทำให้ในงานเขียนชิ้นนั้นมีฉาก บรรยายสภาพพื้นที่ ตำแหน่งแห่งหนที่เกิดเหตุการณ์นั้น ปรากฏตัวละครที่คนอ่านสามารถมองเห็นรูปร่างหน้าตาจากตัวหนังสือที่ผู้เขียนบรรยาย ได้ยินเสียงของพวกเขาผ่านบทสนทนา ด้วยวิธีการนี้จะทำให้คนอ่านได้รู้และได้รสเหมือนการดูหนัง

เหล่านี้เป็นข้อสังเกตและคำแนะนำเบื้องต้นบางประการที่มีต่อผลงานเขียนของเยาวชนนักเขียนมือใหม่ในภาคตะวันออก แต่นำมาบอกต่อในที่นี้เผื่อมีมือใหม่อยากรู้ด้วย