วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


twoway

จันทร์แรกของปี อยากชวนตั้งต้นด้วยการถอยกลับไปดูหมวดหมู่ในโลกวรรณกรรมกันอีกครั้ง

คนอ่านอาจไม่ได้สนใจรู้เรื่องนี้ เพราะยามที่ใครสักคนหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่าน เป้าหมายหลักมักอยู่ที่เนื้อหามากกว่าจะเริ่มจากว่าหนังสือเล่มนั้นอยู่ในหมวดหมู่ใด

แต่นักเขียนฝึกหัดควรรู้ เพราะการรู้จักหมวดหมู่จะทำให้เขียนงานได้อย่างตรงเป้าหมายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

twoway02

เมื่อเข้าสู่โลกของงานวรรณกรรม หยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ไม่ว่าจากร้านหนังสือ บนชั้นในห้องสมุด สลาก-ตำรายา หรือแม้กระทั่งหน้าหนังสือที่ถูกพับแปลงเป็นถุงกระดาษไปแล้ว เรื่องราวในหน้าหนังสือเหล่านั้นสามารถแยกได้เป็น ๒ หมวดหมู่ คือ เรื่องจริง กับเรื่องแต่ง ไม่พ้นไปจากปริมณฑลนี้

อาจตรงตามความจริงมากกว่าถ้าอิงตามศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่ใช้คำว่า Fiction สำหรับงานเขียน เรื่องแต่ง กับอีกกลุ่มตรงกันข้ามเรียกว่า Non-Fiction แปลตามตัวคือ เรื่องไม่แต่ง ซึ่งตรงตามความหมายมากกว่าคำว่า เรื่องจริง เพราะถึงที่สุดแล้ว Non-Fiction ที่เรามักแปลกันอย่างคล่องปากว่าเรื่องจริงนั้นอาจไม่ใช่ความจริงแท้ก็ได้ เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนรับรู้มา และเขียนเล่าตามที่รู้และเป็นอยู่จริง โดยไม่แต่งเติมบิดเบือนไปตามใจ

งานเขียนเรื่องหนึ่งแม้ต้นเค้าเป็นเรื่องจริง แต่หากมีส่วนที่ผู้เขียนแต่งเติมเพิ่มต่อเรื่องราวเข้าไป งานเขียนชิ้นนั้นก็จะข้ามเส้นคั่นจาก Non-Fiction เข้าสู่พรมแดนเรื่องแต่งไปแล้ว

เส้นแบ่งนี้ช่วยให้ง่ายต่อการจัดกลุ่มของงานเขียนตามเนื้อหา

ย้ำว่าหลักนี้ใช้กับด้าน “เนื้อหา” เท่านั้น ส่วนด้าน “รูปแบบนำเสนอ” ไม่ว่าลีลาภาษา กลวิธีการเล่าเรื่อง งานเขียนทั้งสองกลุ่มสามารถสร้างสรรค์วิธีการสื่อเรื่องราวได้อย่างอิสระเหมือนๆ กัน

จนทำให้บางทีก็กล่าวกันว่า เส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งกับเรื่องไม่แต่งดูจะพร่าเลือนจนแทบแยกกันไม่ได้อีกแล้ว นี้ก็คงหมายความในแง่วิธีการเล่าเรื่อง ส่วนในแง่เนื้อหานั้นยังแยกได้อย่างแจ่มชัดเสมอด้วยเส้นคั่นการแต่งเติมและไม่แต่งเติมของผู้เขียน หากมีส่วนที่ผู้เขียนแต่งเติมเข้าไปจะมากจะน้อย หากมีการ “แต่ง” เติมต่อก็ชัดเจนว่าเป็น Fiction ทันที

twoway03

ในซีกของ Fiction อาจมีหมวดหมู่ย่อยน้อยกว่า แต่ชัดเจนและกินคลุมกว้างไกล ที่คนอ่านรู้จักกันดีโดยทั่วไปก็ได้แก่ เรื่องสั้น นิยาย บทกวี ซึ่งประเภทหลังสุดนั้นมีทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง

เรื่องแต่งกลุ่มอื่นๆ ที่มีอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยยังได้แก่ นิทาน วรรณคดี ตำนาน รวมทั้งบทละคร บทภาพยนตร์ และอื่นๆ

ส่วนหมวดหมู่ย่อยของงานเขียนในกลุ่ม Non-Fiction ก็ไล่มาตั้งแต่ ข่าว รายงาน เรียงความ ความเรียง บทความ ตำรา งานวิจัย สารคดี ฯลฯ

แม่น้ำใหญ่ทั้งสองสายหรือสองหมวดหมู่หลักของโลกวรรณกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่นักเขียนใหม่ควรได้ทำความเข้าใจ เพราะเมื่อจะลงมือเล่าเรื่องหนึ่งด้วยภาษาเขียน จะได้มีเป้าชัดเจนว่าจะเล่าเรื่องนั้นในรูปแบบใด และผู้อ่านก็จะอ่าน-ตีความ-ประเมินค่า ตามกรอบเกณฑ์ของงานกลุ่มนั้น

ต่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ผู้เขียนสามารถเลือกที่จะเขียนเล่าได้ทั้งในแบบเรื่องแต่ง หรือเรื่องไม่แต่งก็ได้ อาจใช้รูปแบบร้อยแก้วหรือร้อยกรอง จะเล่าแบบอ้างอิงจริงจังหรือแบบเล่าสู่กันฟังอย่างสบายๆ ก็ได้ทั้งสิ้น

แต่ต้องให้ผู้อ่านรู้ว่างานเขียนชิ้นนั้นอยู่ในกลุ่มใด เพราะงานเขียนแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะตน มีที่มา เป้าหมาย และตอบโจทย์การสื่อสารต่างกันไป

อย่างงานเขียนชิ้นหนึ่ง ผู้เขียนใช้รูปแบบบทกวีเขียนเล่าเรื่องจริง พรรณนาการเป็นอยู่ ความเป็นไป สรรเสริญเกียรติ สดุดีการต่อสู้ หรือแม้กระทั่งเล่าการสัญจรรอนแรมอย่าง นิราศ ในสมัยก่อน แล้วเขียนบรรยายความบรรยายภาพเกินจริงไปบ้าง คนอ่านก็ยัง “รับได้” เพราะรู้และเข้าใจร่วมกันดีว่าด้านหนึ่งของงานบทกวีเป็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน คนอ่านบทกวีจึงอ่านเพื่อรับอารมณ์และความรู้สึกนั้น มากกว่าการตามตรวจสอบข้อมูลความจริงแบบคร่ำเคร่งจริงจัง ต่างจากงานสารคดี (Feature) หรืองานวิจัย ที่ถือความถูกต้องของข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญ ความคลาดเคลื่อนเลื่อนลอยด้านข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นปัจจัยลำดับต้นที่จะถูกถล่มจากคนอ่านว่าเป็น Non-Fiction ที่ล้มเหลว

หลักเขตสำคัญที่กั้นแบ่งแดนงานเขียนแต่ละกลุ่มจึงอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ว่าจะอ่านเพื่อเอาเนื้อหา-สาระอย่างใด รวมถึงการอนุญาตให้ผู้เขียนเข้าไปมีส่วนอยู่ในเรื่องเล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน

ความเข้าใจต่อบรรณพิภพในภาพกว้าง จะเป็นดั่งฐานรากให้นักเขียนใหม่ก้าวขึ้นบันไดงานเขียนแต่ละสายได้อย่างมั่นคงต่อไป

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา