ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


jujok

ในแนวคิดการตลาดยุคปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้สินค้าสามารถ “สร้างมูลค่า” ได้ดี คือต้องมี “เรื่องราว” (story) ประเด็นการสร้าง “สตอรี” ได้รับการเชิดชูว่าใช้ได้กับทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ต้องมี “ชื่อเฉพาะ” หรือมีความพิเศษ ว่าขนมอย่างนั้น กับข้าวแบบนี้ เป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เฉพาะที่นี่บ้านนี้เท่านั้น บ้านอื่นไม่มีหรอก ไปจนถึงการปั่นราคาหุ้นตัวใหม่ก่อนเข้าตลาดฯ และการหาเสียงในการเลือกตั้ง

ว่าที่จริงวิธีนี้ก็ใช้กันมานานนมเน โดยเฉพาะในวงการ “วัตถุมงคล” ที่มักต้องนำเสนอ “สตอรี” ความศักดิ์สิทธิ์หรือปาฏิหาริย์ เพื่อสร้างมูลค่า เช่นว่าคนที่ห้อยเหรียญหลวงพ่อองค์นี้ ถูกเอ็ม-๑๖ ยิงถล่มรถจนพรุนทั้งคัน ยังรอดมาได้

“สตอรี” อีกอย่างหนึ่งที่ผู้คนในสังคมไทยรับรู้กันมานาน คือพวกตำนาน นิทานพื้นบ้าน และเรื่องราวชาดกในพุทธศาสนา ซึ่งระยะหลังมานี้ก็ถูกนำมา “สร้าง” ให้กลายเป็น “สินค้า” เช่นเดียวกับ “ปาฏิหาริย์” ของพระเครื่องหรือเหรียญเกจิฯ

ที่น่าสนใจมากคือความสามารถในการ “ตีความใหม่” ระดับที่พลิกตัวกลับกลางอากาศ จนทำให้ “ตัวโกง” ที่เคยเป็น “ผู้ร้าย” มีคุณวิเศษจนสามารถนำมาสร้างเป็น “เครื่องราง” ให้คนกราบไหว้ได้

jujok 2

ภายในสัก ๑๐ กว่าปีมานี้ เวลาไปตามวัดต่างๆ เรามักพบเห็นรูปปูนปั้น “ชูชก” ตัวละครจากเรื่องเวสสันดรชาดก ขนาดตัวเท่าคนตั้งไว้ บางที่ดูเหมือนเป็นคล้ายของประดับ แต่บางแห่งก็ดูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีร่องรอยการเซ่นไหว้บูชาให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน

รูปชูชกอย่างที่ว่ามานี้ นิยมทำเป็นรูปชายแก่ผมขาว มีหนวดมีเครา ผอมพุงโร ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนขาว และมักต้องแบกถุงเงินถุงทองพาดบ่า ให้เห็นกันจะๆ ว่าเป็นเครื่องราง “เรียกทรัพย์”

แต่ไหนแต่ไรมา ชูชกเคยเป็นสัญลักษณ์ของความละโมบไม่รู้จักพอและความตะกละตะกราม ดังจุดจบของชีวิตเมื่อรับพระราชทานอาหารจากพระเจ้าแผ่นดินเข้าไปมากมาย สวาปามไม่บันยะบันยัง จึง “ท้องแตกตาย”

ตามเรื่องเวสสันดรชาดกตอนท้ายเรื่อง พระพุทธองค์ยังทรงระบุไว้ด้วยว่า “ชูชก” จากอดีตชาตินั้น กลับชาติมาเกิดเป็นพระเทวทัต พระญาติที่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวร กระทำ “อนันตริยกรรม” ซึ่งถือเป็นบาปหนักสุดในโลกพุทธศาสนา ด้วยผลกรรมสุดท้ายจึงถูกธรณีสูบ ต้องไปชดใช้เวรกรรมในนรกอีกแสนนานเหลือที่จะประมาณได้

แต่ท่านที่หยิบยก “ชูชก” มาสร้างเป็นเครื่องรางดูเหมือนจะมองข้ามผ่านประเด็นนี้ไป ว่ามิได้เป็นการสร้างรูปพระเทวทัตไว้กราบไหว้ แต่กลับไปขยาย “สตอรี” เพ่งเล็งเฉพาะเรื่องที่ว่า ชูชกมีคุณวิเศษคือเป็นขอทานที่ “ขอ” อะไรก็ได้ แล้วประหยัดอดออมจนมีฐานะมั่งมีเป็นเศรษฐี อีกทั้งยังมีภรรยารูปงามคือนางอมิตดา ฯลฯ

คือมองโลก “แง่บวก” กันอย่างสุดๆ ไปเลย

โดยนัยนี้ จากสถานะตัวแทนแห่งบาปลามกอกุศลในชาดก “ชูชก” จึงกลับชาติมาเกิดใหม่เป็น “วัตถุมงคล” สำหรับพ่อค้าแม่ขาย เซลแมน ฯลฯ มีการสร้างกันทุกขนาด ตั้งแต่อย่างเล็กๆ ไว้เลี่ยมแขวนคอ ขนาดขึ้นหิ้งไว้สักการะตามร้านค้า ไปจนถึงตัวใหญ่ยักษ์สูงเท่าตึก ๒-๓ ชั้น

รวมทั้งยังมีการรจนาคาถาบูชาประจำวันขึ้นไว้สวดบูชาโดยเฉพาะด้วยซ้ำ


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี