เรื่องและภาพ: ขวัญชนก ฉัตรสีรุ้ง
ผลงานจากนักเล่าเรื่อง “บางจากสร้างนักเขียนเยาวชน” ปี 7
เล่าเรื่องด้วยภาพ “ตามรอยศาสตร์พระราชา”
@แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

thongyo01

จากที่เป็นคนกินยาก ไม่เปิดรับอาหารใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ยิ่งเป็นอาหารที่ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้ามาก่อนยิ่งกลัว แต่วันนี้ด้วยเหตุอะไรก็ไม่รู้ วุ้นต้องมาเจอกับขนมของชาวกะเหรี่ยงโปว์และตกหลุมรักตั้งแต่คำแรกที่ได้ชิม

“เฮ้ย มันอร่อยอะ”

วันนี้กลุ่มค่ายสารคดีของเราได้ไปเยี่ยมไร่สีฟ้า หรือศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชนบนพื้นที่สูงจังหวัดอุทัยธานี กลุ่มของเราไปฐานเรียนรู้เรื่องชุมชนและวัฒนธรรมของกะเหรี่ยวโปว์ คุณวินัย กรึงไกร ผู้บรรยายของฐานนี้เริ่มแนะนำสิ่งต่างๆ ในฐาน แต่สิ่งที่สะดุดตาเรามากที่สุดก็คือหม้อข้าวเหนียว ถ้วยงา และถ้วยเกลือ

“เขาจะทำอาหารให้เรากินเหรอ” เราคิดในใจพร้อมกับความรู้สึกไม่ไว้วางใจที่ผุดขึ้นมาในหัว เนื่องจากเราเป็นคนที่กลัวอาหารที่ไม่คุ้นเคย อาหารเผ็ด พูดง่ายๆ ก็คือเป็นคนกินยากนั่นเอง กินยากจนสงสัยว่าทำไมเรายังสามารถมีชีวิตอยู่มาได้ตั้ง 18 ปี ทั้งๆ ที่เลือกกินขนาดนี้

คุณวินัยเริ่มอธิบายเรื่องขนมที่กำลังจะสาธิตวิธีทำให้พวกเราฟัง ขนมนี้มีชื่อว่าขนม “มีสิ” เป็นของกินพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงโปว์ ชาวบ้านมักจะทำในโอกาสที่มีงานสำคัญ โดยเฉพาะงานแต่งงานที่เจ้าบ่าวต้องนำขนมนี้ไปสู่ขอเจ้าสาว หรือสามารถทำกินเล่นได้เป็นของว่าง ขนมมีสิเป็นขนมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้านด้วยจำนวนของวัตถุดิบและวิธีทำ วัตถุดิบมีเพียงสามอย่างเท่านั้น นั่นก็คือข้าวเหนียวสุกใหม่ๆ งาคั่ว และเกลือก้อน

จากนั้นคุณวินัยและชาวบ้านเริ่มแสดงวิธีทำขนมมีสิ เริ่มจากการนำเกลือก้อนลงไปในครกใบใหญ่ที่มีชื่อว่าเชอชู ตำด้วยสากยักษ์ที่ชื่อว่าเชอชี จากนั้นก็นำงาคั่วหอมๆ ลงไปตำด้วย พองาเริ่มแตก กลิ่นงาคั่วก็ลอยฟุ้งทั่วพื้นที่แถวนั้นไปหมด ตำจนพอละเอียดก็นำออกมาใส่ถ้วย แต่เหลือไว้ในเชอชูนิดหน่อยเพราะว่าเวลานำข้าวเหนียวลงไปจะได้ไม่ติดครก หลังจากที่เทข้าวเหนียวลงไปก็เทเกลือกับงาในถ้วยเมื่อครู่ลงไปคลุกเคล้ากับข้าวโดยการตำไปเรื่อยๆ จนเริ่มเข้ากัน

เมื่อตำได้สักพักก็ถึงเวลาทำงานกันเป็นทีมซึ่งเป็นไฮไลต์ของการทำขนมครั้งนี้ นำทีมโดยป้ากงผู้มีสากเชอชีเป็นอาวุธคู่ใจ และป้าสาผู้ไม่ต้องมีอาวุธเพราะมีวิทยายุทธ์ติดตัวอยู่แล้ว ทีมนี้เริ่มทำงานโดยที่ป้ากงนำเชอชีลงไปตำข้าวเหนียวในครกเชอชู และในเสี้ยววินาทีที่ป้ากงยกเชอชีขึ้นมา ป้าสาก็ไม่รอช้ารีบนำมือเข้าไปในครกและนวดข้าวเหนียวก่อนที่จะเอามือออกมาได้ทันเวลาก่อนที่ป้ากงจะตำอีกรอบหนึ่ง เสียงปุ้กของสากสลับกับเสียงหนืดๆ ของข้าวเหนียวเริ่มบรรเลงเป็นจังหวะ ภาพในหัวของเราไม่ใช่การทำขนมอีกต่อไป แต่มันคือการต่อสู้ของป้าทั้งสองคน คนหนึ่งโจมตี อีกคนหนึ่งตั้งรับ คนหนึ่งตบซ้าย อีกคนหนึ่งตบขวา มีทั้งป้าสาหยิบข้าวเหนียวขึ้นมาปาลงไปในครก และป้ากงก็ไม่เคยพลาดที่จะตำลงไปตรงกลางข้าวเหนียว มันดุเดือดมากจนเราอยากลุกขึ้นมาปรบมือดังๆ

การต่อสู้ครั้งนี้เหมือนจะดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ แต่กรรมการข้าวเหนียวนั้นหยุดการต่อสู้ไว้ก่อนที่ทั้งสองจะล้มกันทั้งคู่โดยการแสดงว่าตัวเองนั้นเข้ากับเกลือและงาดีแล้วและพร้อมจะถูกนำไปปรุงในขั้นตอนต่อไป เราถอนหายใจด้วยความสบายใจที่ไม่ต้องเห็นใครมาเจ็บตัวในการต่อสู้ครั้งนี้

ป้าสานำข้าวเหนียวในเชอชูขึ้นมาวางไว้บนถาดเหล็กและเริ่มหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พอดีคำพร้อมกับเชิญชวนพวกเราให้ไปชิม ผู้กล้าคนแรกเดินเข้าไป จ้องมองที่ข้าวเหนียวที่ตอนนี้ได้กลายเป็นขนมมีสิโดยสมบูรณ์ และเริ่มหยิบขึ้นมาจิ้มนมข้นก่อนจะนำเข้าปาก พวกเราที่เหลือมองคนที่กำลังเคี้ยวหงับๆ อยู่ด้วยความตั้งใจ เสียงกลืนน้ำลายดังอึกดังมาจากคนข้างๆ ที่กำลังรอคอยคำตอบจากผู้กล้าของเรา

“อร่อย!”

เรารู้สึกหายใจทั่วท้องอีกครั้ง แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนกินยากจึงลังเลที่จะหยิบมันมากิน คนอื่นในกลุ่มทยอยกินเรื่อยๆ และต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อย เราจึงรวบรวมความกล้า เดินไปที่ถาด หยิบขนมมีสิขึ้นมาจิ้มนมข้นหวานแล้วชูขึ้นมา กลืนน้ำลายลงไปหนึ่งอึกก่อนที่จะตัดสินใจนำเข้าปาก

เฮ้ย มันอร่อยกว่าที่คิด

ขนมของชาวบ้านที่เรียบง่ายขนาดนี้เนี่ยนะจะอร่อยได้ขนาดนี้ เราเริ่มหยิบชิ้นที่ 2 ขึ้นมาเข้าปาก ตามด้วยชิ้นที่ 3 ชิ้นที่ 4 รู้ตัวอีกทีก็ไม่สามารถหยุดกินได้แล้ว

เราเพิ่งรู้สึกตัวว่าบางทีขนมที่อร่อยๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำมาจากกระบวนการทำที่ซับซ้อนและยากเสมอไป บางทีขนมอร่อยก็สามารถทำมาจากวัตถุดิบง่ายๆ ที่หาได้ทั่วไป และถึงรสชาติมันจะไม่ได้หวือหวามาก แต่ก็มีความอร่อยอย่างเรียบง่ายและมีความสุขทุกครั้งที่ได้กิน

อีกอย่างมันก็สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวกะเหรี่ยงโปว์ซึ่งนำอะไรรอบตัวมาทำเป็นอาหาร ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าที่มีอยู่ เฉกเช่นเดียวกับศาสตร์ของพระราชาที่สื่อถึงการพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่และมันทำให้เรามีความสุขกับสิ่งเล็กๆ รอบตัวได้เสมอ

หลังจากวันนี้เราคงจะลองเปิดใจชิมอะไรใหม่ๆ มากขึ้น และคงจะนำหลักความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายมาปรับใช้กับตัวเองเผื่อว่าเราอาจจะมีความสุขกับตัวเองมากขึ้นไม่มากก็น้อย อีกอย่างมันอาจจะทำให้เราเป็นคนที่กินยากน้อยลงด้วยละ ?

thongyo02

ขนมมีสิ หรือขนมทองโย้ เป็นขนมของชาวกะเหรี่ยงโปว์ซึ่งจะทำเมื่อมีงานพิธีการสำคัญ หรือเป็นขนมทานเล่นก็ได้ เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

thongyo03
วัตถุดิบในการทำขนมมีสินั้นน้อยและเรียบง่าย เพียงแค่สามอย่างก็สามารถทำขนมอร่อยๆ ได้แล้ว นั่นก็คืองาคั่ว เกลือก้อน และข้าวเหนียวสุกใหม่ๆ
thongyo04

ชาวบ้านเริ่มนำเกลือก้อนใส่ลงไปในครกที่เรียกว่าเชอชู และตำด้วยสากอันใหญ่ที่เรียกว่าเชอชี พอเกลือเริ่มแตกก็ใส่งาคั่วลงไปตำ พวกเราได้กลิ่นไหม้อ่อนๆ ของงาลอยขึ้นมาเตะจมูก เพิ่มความอยากกินขึ้นอีกหลายเท่าเลยทีเดียว

thongyo05

ตำงากับเกลือจนพอละเอียดก็นำออกมาใส่ถ้วยแต่เหลือไว้ในเชอชูนิดหน่อย ใส่ข้าวเหนียวร้อนๆ ลงไป ตามด้วยงากับเกลือในถ้วยเมื่อครู่ และคลุกเคล้าให้เข้ากัน

thongyo06

ตำมันเข้าไป! ป้ากงตำข้าวเหนียวจนเริ่มเป็นก้อน จากนั้นป้าสาก็นวดข้าวเหนียวในจังหวะที่อีกคนกำลังยกสากเชอชีขึ้นไป เสียงปุ้กจากสากดังสลับกับเสียงหนึบๆ ของการนวด ต้องบอกเลยว่านี่ไม่ใช่การทำอาหารธรรมดา แต่เป็นศาสตร์ของการเข้าจังหวะของทั้งคนตำและคนนวด!

thongyo07

ป้าสา หนึ่งในผู้นวดข้าวเหนียวของเรายกผลลัพธ์ของการตำข้าวเหนียวขึ้นมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ซึ่งเราไม่รู้ว่าป้าสานั้นยิ้มเพราะทำเสร็จแล้ว หรือยิ้มเพราะคราวนี้ไม่โดนตำกันแน่

thongyo08

นำก้อนขนมมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พอดีคำ แต่เพราะสีและรูปร่างของมันทำให้เรานึกถึงหมูสามชั้นในร้านปิ้งย่างขึ้นมาอย่างไรไม่รู้… จิ้มขนมมีสิลงไปในนมข้นหวานและนำเข้าปาก จะได้รสชาติที่มีความหวานจากนมข้นหวาน แต่จะถูกตัดด้วยความเค็มของเกลือในขนม เพิ่มความหอมและเท็กซ์เจอร์ของขนมด้วยงา และมีความหนึบด้วยตัวข้าวเหนียว ป้าสาแนะนำว่าให้ลองเอาไปทอดแล้วจะอร่อยขึ้นเยอะเลยละ