เรื่องและภาพ: วรากร เจนสมุทร
ผลงานจากนักเล่าเรื่อง “บางจากสร้างนักเขียนเยาวชน” ปี 7
เล่าเรื่องด้วยภาพ “ตามรอยศาสตร์พระราชา”
@แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

อุ๊ยกื๋อ ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

“อุ๊ยกื๋อ” เป็นภาษากะเหรี่ยง คือ “อร่อย” ในภาษาไทย อร่อยในที่นี้ ในครั้งแรกที่ได้เห็นไร่อุ๊ยกื๋อก็ยังงงว่าไร่นี้มองเผินๆ ก็เหมือนกับไร่ทั่วๆ ไป มันจะอร่อยเหมือนชื่อยังไง แต่พอได้ฟังเรื่องราวและที่มาของไร่แห่งนี้จากปากของเจ้าของผู้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากเดิมที่เกือบไปไม่รอดให้กลายเป็นไร่ที่เต็มไปด้วยความอร่อย มุมมองก็เปลี่ยนไป

ช่วงสายๆ ของวัน แดดเริ่มแรงและร้อนขึ้น มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในศาลากลางไร่ เขาชื่อว่า วันนบ ขอสุข “ลุงนบ” ได้เล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของไร่อุ๊ยกื๋อ แห่งตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ว่า สมัยก่อนทำไร่เชิงเดี่ยว หวังในเรื่องของเงินทองอย่างเดียว ซึ่งในบางครั้งมีหลายอย่างที่ไม่เป็นใจ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำไร่ทำสวนคือน้ำ หากไม่มีน้ำพืชก็จะไม่เจริญเติบโต ประกอบกับเรื่องของเศรษฐกิจที่ขึ้นๆ ลงๆ พอหลายๆ อย่างไม่เป็นใจ ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินจนเกือบไปไม่รอด แต่ลุงนบก็ได้มูลนิธิปิดทองหลังพระเข้ามาช่วยดูแล ให้คำแนะนำ และมีแนวคิดปรับเปลี่ยนไร่มาทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ จนกลายมาเป็นไร่ที่พออยู่พอกินดังเช่นทุกวันนี้

จากศาลากลางไร่ ลุงนบมีกิจกรรมให้เราและเพื่อนๆ ออกไปหาผักหาปลาในไร่เพื่อมาทำอาหารกลางวันกินกัน ความสนุกกับความอร่อยที่เราได้ลงแปลงผักเพื่อเก็บผักเป็นความสนุกและอร่อยที่ลงตัวมากๆ ผักที่เก็บมาได้มีหลากหลาย ทั้งกระเทียม พริก ผักบุ้ง มะเขือยาว ผักชีลาว ผักไชยาหรือผักนัว ผักสลัดต่างๆ รวมไปถึงผักที่ไม่เคยเห็นและได้ยินชื่ออย่างผักก้นต่อ รูปร่างแปลกตาอย่างยิ่ง นอกจากจะได้ผัก บางคนยังแอบชิมสตรอว์เบอร์รีในแปลงที่หวานไปถึงใจ

อีกทั้งเพื่อนอีกกลุ่มที่ไปจับปลา ยังได้ปลาดุกและปลาเล็กปลาน้อยมาอีกด้วย ทำให้มื้อกลางวันนี้เป็นมื้อกลางวันที่พวกเราช่วยกันหามาและทำอาหารร่วมกัน มื้อนี้อร่อยจริงๆ

ด้วยความเรียบง่ายตามศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง ไร่แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีของใครที่ยังไม่เคยพบกับความสบายแบบง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องหรูหราก็อยู่ได้ แถมยังสนุกและอร่อยอีกด้วย ทำให้ไร่อุ๊ยกื๋อเป็นไร่ที่ดูธรรมดาๆ แต่ไม่ธรรมดาจริงๆ

dhammada2ลุงวันนบกำลังอธิบายเกี่ยวกับคลองไส้ไก่ที่ใช้กักน้ำ

dhammada3

สองมือจับจอบปรับหน้าดินและออกแบบพื้นที่ตามหลัก “4 พ.” – พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น

dhammada4

แปลงผักและสตรอว์เบอร์รีปลอดสารพิษ

dhammada5

บ่อที่ใช้กักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและเลี้ยงปลาไว้เป็นอาหาร

dhammada6

ผักคะน้าต้นเล็กๆ ใบอาจไม่งามแต่อร่อยมากๆ

dhammada7

ผักปลอดสารพิษสามารถหาได้ทั่วทั้งไร่อุ๊ยกื๋อ

dhammada8

ผักสลัดปลอดสารพิษ… ดีต่อตับ ดีต่อไต และดีต่อใจ

dhammada9

ชะเอมเถาหรือหมากหัวต่อ (“ก้นต่อ” ก็เรียก) มีสีเขียวสด จิ้มน้ำพริก…อร่อยนัก

dhammada010

dhammada011