เรื่องและภาพ: ปิยะพร ธนารักษ์
ผลงานจากนักเล่าเรื่อง “บางจากสร้างนักเขียนเยาวชน” ปี 7
เล่าเรื่องด้วยภาพ “ตามรอยศาสตร์พระราชา”
@แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

cornfield01

“จะกินยังไม่มีเลยจะไปคิดทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นต้องหาของกินก่อน”

คำพูดของ “ลุงนบ” หรือ “วันนบ ขอสุข” ชายวัยกลางคนร่างเล็กนัยน์ตาสีน้ำตาลอ่อน เจ้าของไร่อุ๊ยกื๋อ ก่อนที่จะมาเป็นไร่อุ๊ยกื๋อแบบที่เราเห็นในวันนี้ ในอดีตลุงนบเคยทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวคือปลูกข้าวโพด เขาไม่ได้เป็นเพียงเกษตรกรผู้เพาะปลูก แต่ยังเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อข้าวโพดจากชาวบ้านเพื่อส่งขายต่อไปยังโรงงานผลิตอาหารสัตว์อีกด้วย

“ถามว่าได้กำไรมั้ย มันได้ ได้เยอะด้วย เพราะลุงเป็นพ่อค้าคนกลาง แต่มันเหนื่อยและก็ขึ้นอยู่กับราคาในแต่ละปีนะ ถ้าปีนี้ข้าวโพดได้ราคามันก็ดี แต่ถ้าข้าวโพดลงราคาหรือฝนไม่ตกลุงก็แย่”

ลุงนบเล่าเรื่องราวในอดีตมาจนถึงจุดเปลี่ยนของการเลิกทำเกษตรเชิงเดี่ยวว่า ตอนทำก็หวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ยิ่งทำมากก็ได้มาก ใช้สารเคมี ใช้ทุกอย่างเพื่อเพิ่มผลผลิต บางปีประสบปัญหาฝนแล้ง ราคาตก หมุนเงินไม่ทันก็ต้องกู้หนี้ยืมสินจนเกิดหนี้เรื้อรัง ยิ่งทำก็ยิ่งเหนื่อยได้ไม่คุ้มเสีย เขาจึงตัดสินใจเลิกปลูกข้าวโพด ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นไร่อุ๊ยกื๋ออย่างเช่นทุกวันนี้ลุงนบเองก็ลองผิดลองถูกมาเยอะพอสมควร จนได้มาพบกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับ “ศาสตร์พระราชา” ที่น้อมนำเอา “ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง” มาให้ความรู้ในเรื่องการทำกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำการเกษตรและอยู่อย่างพอเพียงได้จริง

เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรอยู่บนเขาลุงนบจึงใช้หลัก “โคก หนอง นา โมเดล” เริ่มจากการฟื้นฟูดินด้วยการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ พัฒนาผืนดินจากเดิมที่เป็นดินดาน โดยใช้หลักการห่มดินด้วยซังข้าวโพดใช้เวลา 1 ปี จากที่เคยเป็นดินดานก็กลายเป็นดินร่วนซุยที่มีความอุดมสมบูรณ์

จากที่ไม่มีน้ำใช้ลุงก็ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ขุดคลองไส้ไก่หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้

จากเดิมที่เป็นเพียงไร่ข้าวโพด ตอนนี้ไร่ของลุงนบได้กลายมาเป็นไร่อุ๊ยกื๋อฟาร์มสเตย์ เปิดให้ทุกคนเข้าไปศึกษาและเรียนรู้ศาสตร์พระราชาที่ลุงนบได้น้อมนำมาปฏิบัติจนมีชีวิตที่ดีขึ้นจากแต่ก่อนมาก

ต้องขอบคุณ “ค่ายบางจากสร้างนักเขียนเยาวชนปี 7” ที่พาเรามาเรียนรู้ มาสัมผัสกับศาสตร์พระราชาแบบ 4DX แบบนี้ เริ่มตั้งแต่นั่งรถขึ้นดอย ลงไปเก็บผักในแปลง ตลอดจนทำอาหารจากผักหลากหลายชนิดที่เก็บมาด้วยมือตัวเอง

cornfield02

สุนัขที่ลุงนบเลี้ยงไว้ในไร่ น้องถูกฝึกมาเพื่อต้อนรับแขกโดยเฉพาะ

cornfield03

สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินในไร่ข้าวโพดใกล้ๆ นั้นดูแตกต่างจากดินในไร่อุ๊ยกื๋ออย่างเห็นได้ชัด

cornfield04

ลุงนบเดินแบกจอบด้วยใบหน้าที่ฉาบไปด้วยรอยยิ้ม

cornfield05

คนช่วยงานในไร่ถางหญ้า ปรับปรุงคลองไส้ไก่

cornfield06

หนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งหรือยามจำเป็น และเป็นที่รับน้ำ (หลุมขนมครก) ยามน้ำท่วม

cornfield07

ชาวไร่กำลังสาธิตวิธีการห่มดินด้วยซังข้าวโพด 

cornfield08

สตรอว์เบอรี่พันธุ์ 239 ในไร่ ซึ่งเกษตรตำบลแก่นมะกรูดนำมาทดลองปลูกเมื่อปี 2553 แม้ว่าอุทัยธานีจะเป็นจังหวัดในภาคกลางแต่สามารถปลูกไม้เมืองหนาวได้ นั่นเพราะพื้นที่ อ.บ้านไร่ ติดกับป่าห้วยขาแข้ง อากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิเฉลี่ยตอนกลางวัน 25-30 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนประมาณ 15-18 องศาเซลเซียส ประกอบกับพื้นที่มีความสูงจากระดับทะเล 600-800 เมตร จึงสามารถปลูกไม้เมืองหนาวได้หลายชนิด

cornfield09

ผักนานาชนิดที่พวกเราเก็บมาจากแปลงผัก

cornfield10

เก็บผักบุ้งมาจิ้มน้ำพริก

cornfield11

นี่คือใบไชยา หรือผักนัว หรือคะน้าเม็กซิกัน ที่เราเก็บมาผัดกิน

cornfield12

ส้มโอลูกโตๆ ในไร่อุ๊ยกื๋อ

cornfield13

ชาวค่ายฯ ดูมีความสุขกับผักที่เก็บหามาจากแปลง