ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


neko01

เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง การค้าขายจึงต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

การพยายามหาหนทาง “ลดความเสี่ยง” จึงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ

หนึ่งใน “เครื่องมือ” ของคนค้าขายชาวไทย ตั้งแต่ระดับแผงแบกะดินไปจนถึงธุรกิจข้ามชาติหลักพันล้านหมื่นล้าน คือการใช้ไสยศาสตร์และเครื่องรางของขลังสารพัดชนิด

ทว่าในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ลำพังสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบที่ทุกคนมีเหมือนๆ กัน หรือหามาได้คล้ายๆ กัน อาจไม่เพียงพอที่จะเป็น “หลักประกัน” ผลสำเร็จ หรือช่วย “เรียกทรัพย์” ให้ทำมาค้าคล่องได้เหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ

วิธีการอุดช่องโหว่ตรงนี้ก็คือการแสวงหาเครื่องรางที่พิเศษ แตกต่าง หรือ “แปลกใหม่” ไปกว่าของที่เคยมีกันมา

ในหลายกรณี เรามักพบว่าคนมีแนวโน้มที่จะศรัทธาความศักดิ์สิทธิ์ของบางสิ่งบางอย่างที่มาจาก “นอกวัฒนธรรม” ตรงตำแหน่งที่พรมแดนพร่าเลือน เพราะความขลังจาก “ข้างนอกโน้น” อาจมีพลังพิเศษที่ “ข้างในนี้” ไม่มี

คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อกันว่า ถ้าจะหาหมอผี กระทำคุณไสย หรือแม้แต่ดูดวง ก็ต้องมองหา “หมอแขก” (มุสลิม) หรือ “หมอเขมร” เพราะถือกันว่าขลังนัก อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็น “องค์ความรู้” นอกความเป็นไทย หรือพ้นไปจากความเป็นพุทธ ถือได้ว่าอยู่กัน “คนละจักรวาล” จึงเป็นที่มาของอำนาจศักดิ์สิทธิ์อีกแบบหนึ่ง

แม้แต่เครื่องรางของขลัง สมัยนี้ก็ยังนิยมออกไปแสวงหาและ “นำเข้า” กันมา

ภายใน ๑๐-๒๐ ปีมานี้ เราจึงได้เห็นการแผ่ขยายของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ข้ามชาติมากมาย

ตัวอย่างเช่นรูปแมวกวัก “มาเนกิ-เนโกะ” (Maneki-neko) ของญี่ปุ่น

ว่าที่จริง โดยฐานคิด แมวกวักของญี่ปุ่นก็คงไม่ต่างจาก “นางกวัก” แบบไทยนัก เพียงแต่เลือกใช้แมว เพราะคงหมายเอากิริยาอาการของแมวซึ่งชอบ “ล้างหน้า” ด้วยการเลียอุ้งเท้าแล้วเอาไปลูบหัวลูบหู ดูคล้ายๆ กำลังกวักมือ ได้ออกมาเป็นตุ๊กตาแมวตัวเล็กๆ นั่งยกเท้าหน้าข้างใดข้างหนึ่ง (ส่วนใหญ่ก็ข้างขวา แต่ข้างซ้ายก็เห็นมีเหมือนกัน) ทำอาการ “กวัก”

บางตัวก็เป็นแบบที่มีเครื่องกลไก ใส่ถ่านไฟฉายแล้วจะกวักตลอดเวลาไม่หยุดไม่หย่อน

ตามธรรมเนียมญี่ปุ่น เขาว่าต้องตั้งหน้าร้านไว้ “เรียกแขก” ในเมืองไทยเอง เคยเห็นบ่อยๆ ในร้านอาหารญี่ปุ่น เอาตั้งไว้ตรงโต๊ะแคชเชียร์

แต่ก็เคยเห็นในร้านค้าริมทางที่เอาแมวกวักญี่ปุ่นขึ้นหิ้ง หรือใส่พานบูชา ทำนองเดียวกับนางกวักไทย

อาการ “กวัก” แบบนี้เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม คือทั้งนางกวักของไทย และแมวกวักของญี่ปุ่น สามารถสื่อสารกับผู้ที่พบเห็นได้ ว่านั่นคืออาการ “กวัก” ที่หมายถึงการเรียกให้เข้ามา

กิริยาอาการแบบนี้จึงอาจจะไม่สามารถสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้ อย่างที่เคยอ่านพบว่า ฝรั่งหลายชาติไม่เข้าใจนัยนี้ แต่ไปตีความตามความคุ้นเคย มองเห็นเป็นแมวโบกมือ “บ๋ายบาย” ไปเสียอีก คือแทนที่จะเรียกเข้า กลับกลายเป็นโบกออก

แต่กับคนแถวๆ บ้านเรา อาการ “กวัก” นี้ก็ย่อมสามารถรับรู้เข้าใจกันได้ แม้แต่นางกวักของไทยๆ ก็ยังเดินทางข้ามพ้นพรมแดนออกไปนอกประเทศด้วย

ผู้เขียนเคยเห็นรูปนางกวักจากเมืองไทย อยู่ที่เคาน์เตอร์โรงแรมที่เวียดนาม ขึ้นหิ้งไว้บนผนังร้านกาแฟชาวบ้านๆ ที่มาเลเซีย และมีตัวโตๆ ไปตั้งเด่นเป็นสง่าหน้าร้านทำผมที่ประเทศอินเดีย

neko01


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี