forestbathing

Forest Bathing หรือการอาบป่า มีต้นกำเนิดจาก Shinrin yoku ของญี่ปุ่น เริ่มเป็นที่รู้จักในปี 1982 แต่ก็ยังไม่ได้มีงานวิจัยหรือข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอที่จะสนับสนุนผลลัพธ์จากการอาบป่า จนในปี 2002 ญี่ปุ่นจึงได้ก่อตั้งสมาคมป่าบำบัดขึ้น เพื่อที่จะวิจัยผลกระทบของสิ่งแวดล้อมในป่าที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยมีดร. ควิง ลี (Qing Li) เป็นหนึ่งในนักวิจัยหลัก และได้เปิดตัวเรื่องการอาบป่าศึกษา (Forest Bathing Study) เป็นครั้งแรก ในปี 2005 และ Forest Bathing ก็เข้าสู่โลกภาษาอังฤษ ไม่นานหลังจากนั้น

อาบป่า ทำอย่างไร

พอได้ยินว่า “อาบป่า” หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า เราก็ไปเดินป่า ปีนเขา เทรกกิ้ง วิ่งเทรลในป่ากันอยู่แล้วนี่นา ได้เข้าไปในป่า ก็ได้สัมผัสธรรมชาติในป่าแล้ว อย่างนี้ก็เหมือนได้อาบป่าไปพร้อมๆ กันใช่ไหม?

ไม่ใช่…

อาบป่าไม่ใช่การออกกำลังกาย ปีนเขา หรือวิ่งจ๊อกกิ้ง แต่คือการแค่อยู่ในธรรมชาติ และ เชื่อมต่อกับมัน ผ่านการเปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า และความรู้สึกของเรา เป็นการบำบัดที่อยู่บนฐานการวิจัย โดยอาศัยการแช่อยู่ในสภาพแวดล้อมป่าไม้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ปรับปรุงการป้องกันโรคและมะเร็ง ในขณะเดียวกันก็สามารถเพลิดเพลินและชื่นชมความงามของป่าได้

คู่มือผู้ใช้ ชิรินโยกุ 101

เราสามารถสนุกกับการอาบป่าผ่านสัมผัสทั้งห้า

  1. มองเห็น: สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตลอดจนภูมิทัศน์ของป่า
  2. ได้กลิ่น: กลิ่นของป่าจากต้นไม้และดอกไม้ อย่างเช่น กลิ่นฉุนของไฟตอนไซต์ (phytoncide น้ำมันหอมระเหยจากต้นไม้ประเภทสน ที่ช่วยในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์กำจัดมะเร็ง)
  3. ได้ยิน: เสียงของป่า นกร้อง และเสียงลมพัดผ่านใบไม้ เสียงใบไม้กระทบกัน
  4. สัมผัส: สัมผัสต้นไม้ ปล่อยตัวเองไปในบรรยากาศของป่า
  5. รับรส: กินอาหารและผลไม้จากป่า รับอากาศสดชื่นในป่า

อาจารย์ควิง หลี ผู้บุกเบิกการวิจัยเรื่องการอาบป่า ยังแนะนำ 10 ข้อ สำหรับผู้เริ่มต้นอาบป่า

  1. วางแผนทริปอาบป่าโดยอยู่บนพื้นฐานความสามารถของร่างกายตัวเอง และพยายามหลีกเลี่ยงการทำให้ตัวเองเหนื่อยจนเกินไป
  2. ถ้าคุณมีเวลาทั้งวัน ให้อยู่ในป่าประมาณ 4 ชั่วโมง และเดินประมาณ 5 กิโลเมตร หรือถ้าคุณมีเวลาแค่ครึ่งวัน ให้อยู่ในป่าประมาณ 2 ชั่วโมง และเดินประมาณ 2.5 กิโลเมตร
  3. พักเมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกเหนื่อย
  4. ดื่มน้ำ หรือชา เมื่อคุณรู้สึกกระหาย
  5. หาจุดที่คุณชอบ แล้วให้นั่งลงสักช่วงเวลาหนึ่ง และดื่มด่ำกับทัศนียภาพของป่า
  6. ถ้าเป็นไปได้ อาบน้ำในบ่อน้ำร้อน หลังจากจบทริปอาบป่า
  7. เลือกทริปอาบป่าที่เหมาะกับเป้าหมายของคุณ
  8. ถ้าคุณต้องการที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันเซลล์ที่มีหน้าที่กำจัดเซลล์มะเร็ง (natural killer activity) แนะนำให้เป็นทริป 3 วัน 2 คืน
  9. ถ้าคุณต้องการแค่ผ่อนคลายหรือลดความเครียด ทริปวันเดียวในป่าสวนสาธารณะใกล้บ้านก็ใช้ได้
  10. การอาบป่าเป็นวิธีการป้องกันโรค ไม่ใช่เป็นการรักษา

forestbathing

วันหยุดนี้ ก็ลองเปลี่ยนมุมมองการเข้าป่า แล้วจัดทริปอาบป่าของคุณเอง ไปผ่อนคลายกายใจ เก็บสะสมเซลล์กำจัดมะเร็ง กลับมาจะได้มีพลังลุยชีวิตต่ออย่างสดชื่น

รายการอ้างอิง
REVOLVE | Forest-Bathing Feature
http://infom.org/news/2019/04/19_1.html

Effect of forest bathing trips on human immune function
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2793341

มาร่วมกับเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยกันใน
เฟซบุ๊กกรุ๊ป Park ใจ > https://www.facebook.com/groups/765076470517412/

ชวน Park ใจ โดย นิตยสารสารคดี นายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา