วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


writecoronation01

ในการทำสารคดีอาจมีบ่อยครั้งที่ผู้เขียนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ดังใจ แต่หากเข้าใจเรื่องกลุ่มข้อมูลและเคล็ดวิธีที่จะได้มา ข้อจำกัดก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

อย่างในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นไปได้น้อยมากที่นักเขียนสารคดีจะมีโอกาสได้เข้าสู่พื้นที่ชั้นใน หรือหากแม้ขออนุญาตเข้าไปได้ ก็ต้องอยู่ติดพื้นที่จนเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสบรรยากาศในภาพกว้าง

ข้อติดขัดเงื่อนไขที่ทำให้ไม่อาจเข้าถึงพื้นที่บางส่วน จะไม่ใช่อุปสรรคของนักเขียนหากเราตระหนักว่างานสารคดีสามารถพึ่งพาข้อมูลอ้างอิงได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งสำนักพระราชวังและสำนักข่าวรวมการเฉพาะกิจ เผยแพร่อย่างละเอียดรอบด้านอยู่แล้ว เป็นแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมเหมือนๆ กัน และเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน

นอกจากส่วนนี้แล้ว อย่าลืมว่างานเขียนสารคดียังมีข้อมูลอีก ๒ กลุ่ม คือข้อมูลสัมผัส หรือสังเกตการณ์ และข้อมูลสัมภาษณ์ ที่เราสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ติดขัดเงื่อนไขและไม่มีข้อจำกัด เข้าสู่พื้นที่ในฐานะประชาชนทั่วไป สัมผัสคลุกคลีเคลื่อนไหวไปท่ามกลางมวลมหาชน ก็จะได้ข้อมูลที่เป็นแง่มุมเฉพาะไม่ซ้ำกับใคร

ปฏิบัติการสังเกตการณ์ด้วยการมองภาพกว้าง เก็บภาพ เสียง อารมณ์ ความรู้สึก เอาไว้ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ รวมทั้งมองมุมแคบแบบโคลสอัพ เลือกจับจุดเด่นๆ ท่ามกลางความไพศาลนั้นให้ได้

writecoronation03

อย่างจุดรอรับเสด็จเลียบพระนคร ตอนเย็นวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา ผมสังเกตเห็นหญิงสูงวัยคนหนึ่งนั่งอยู่สูงกว่าคนอื่น เนื่องด้วยจากเธอนั่งอยู่บนรถเข็น ในมือถือธงสีเหลืองสามอันโบกไหวไปมา

อีกคนนั่งถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์แผ่นใหญ่ มองเผินๆ เหมือนใช้บังแดด แต่ด้านหน้าพระบรมฉายาลักษณ์หันไปทางที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินจะเคลื่อนผ่าน

เป็นจุดเจาะจงที่นักสารคดีควรจับภาพไว้ ทั้งโดยสายตา ด้วยใจ และด้วยกล้องถ่ายรูป ทั้งหลายนี้ที่เรียกว่าการเก็บข้อมูลสัมผัส หรือสังเกตการณ์

writecoronation02

เมื่อเก็บซับภาพได้แล้ว จะดียิ่งขึ้นถ้ามีโอกาสได้สัมภาษณ์ด้วย

สุภาพสตรีที่ถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์แผ่นใหญ่เป็นนักสะสมปฏิทิน พื้นเพเดิมเธอเป็นชาวพิจิตร เข้ากรุงเทพฯ มาตั้งแต่เริ่มเป็นสาว ทำงานในบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ หลังเกษียณเธอยังทำงานเป็นแม่บ้านธนาคารออมสินสาขาหนึ่งย่านหนองแขม แต่งานอดิเรกที่ทำมาตลอดคือเก็บสะสมภาพพระบรมฉายาลักษณ์จากปฏิทิน ซึ่งเธอเล่าว่ามีเก็บอยู่ที่บ้านเป็นตั้งๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๙ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ที่ถือมาในวันนี้เป็นภาพจากปฏิทินธนาคารออมสิน ปี ๒๕๖๑ เธอบอกว่าทีแรกอยากใช้แผ่นของปีนี้ แต่ติดที่ต้องดึงหน้าปฏิทินของเดือนที่เหลืออกก่อนเวลาก็นึกเสียดาย จึงตัดสินใจใช้ภาพจากปฏิทินของปีที่แล้ว

“อยากมาแสดงให้พระองค์เห็นความจงรักภักดี” สุภาวดี หนูโชติ แม่บ้านวัย ๖๑ ปี เล่าความบันดาลใจที่ต้องนำพระบรมฉายลักษณ์ติดตัวมาด้วย และบอกความในใจว่า “อยากมาชื่นชมบารมีของท่านด้วยตาของเราจริงๆ ดูทีวีถ่ายทอดไม่เหมือนได้เห็นกับตา”

เธอยังเล่าถึงครอบครัวด้วยว่า วันนี้เป็นคิวของเธอ พรุ่งนี้เธอจะรับดูแลหลานให้น้องสาวมาเฝ้ารับเสด็จออกสีหบัญชร

“คิดว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้ร่วมในพระราชพิธี คนต่างจังหวัดเดินทางมาไกลเขายังมา ชาวต่างประเทศก็มา เราอยู่แค่นี้ต้องมาให้ได้”

ส่วนหญิงอาวุโสบนรถเข็นบอกว่ามานั่งอยู่ตรงนี้ตั้งแต่บ่ายสองโมง ลูกสาวกับลูกเขยช่วยกันยกรถเข็นลงเรือด่วนเจ้าพระยามาจากบ้านย่านเมืองนนท์

ขรินทร์ทิพย์ สนั่นโสตร ในวัย ๗๐ ปี บอกว่าเธอเคยมีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดมาครั้งหนึ่ง ที่กาญจนบุรี ตอนเธออายุ ๒๐ กว่าปี วันนี้มีโอกาสจะได้ชื่นชมพระบารมีใกล้ชิดอีกครั้ง แม้ขาจะเดินไม่สะดวกก็ต้องมา

“มาด้วยใจจงรัก” ความปลาบปลื้มของเธอฉายชัดออกมาทั้งหน้าตา อารมณ์ และแววตาที่สดใสด้วยประกายของความสุข

“ได้ชื่นชมพระบารมีของพระองค์วันนี้ชื่นใจมาก คงทำให้ป้าอยู่ได้ถึง ๑๒๐ ปี”

writecoronation04

ถ้อยคำ ผู้คน เหตุการณ์เหล่านี้ที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมคลุกคลี จะเป็นฐาน “ข้อมูล” ให้เราเข้าสู่ขั้นตอนการ “เขียน” ได้อย่างไม่ตีบตัน

เป็นวัตถุดิบสดใหม่จากการสัมผัสพื้นที่โดยเราเอง เป็น ๒ กลุ่มข้อมูล ที่มีเนื้อหาเฉพาะของเราไม่ซ้ำซ้อนกับใคร

พร้อมให้นำมาผนวกเข้ากับข้อมูลใจความหลักที่เป็นทางการ ซึ่งสามารถค้นคว้าได้จากข้อมูลส่วนกลางที่ทุกคนอ้างอิงมาใช้ได้เหมือนๆ กัน แต่งานเขียนแต่ละชิ้นจะแตกต่างด้วยข้อมูลที่ผู้เขียนแต่ละคนได้สัมผัสและเก็บเกี่ยวมา

writecoronation05

เมื่อแยกแยะประเภทของข้อมูลได้ถูกต้อง และเข้าใจช่องทางที่จะพลิกแพลงในการเก็บหาข้อมูล เงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดๆ ก็ไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป

แต่อาจกลับเป็นโอกาสในการที่จะได้งานเขียนที่สดใหม่ แตกต่าง มีสีสัน มีชีวิตชีวา อย่างน่าพอใจของผู้เขียน และผู้อ่านในท้ายที่สุด


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา