ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
redcolor01

เมื่อหลายปีมาแล้ว วันหนึ่งขณะที่นั่งรถอยู่ในกรุงเทพฯ ระหว่างติดไฟแดง สายตาก็กวาดมองไปรอบๆ แล้วก็ได้เห็นพาหนะคันหนึ่งที่จอดติดไฟแดงอยู่ใกล้ๆ ผมถึงกับตกตะลึงไปชั่วขณะ

ว่าที่จริงรถคันนั้นก็เป็นสามล้อถีบบรรทุกของ อย่างที่เรียกเลียนสำเนียงจีนแต้จิ๋วกันทั่วไปว่า “ซาเล้ง”

แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึก “ช็อก” ในแวบแรกที่เห็นก็คือรถซาเล้งทั้งคันคลุมด้วยผ้าใบสีแดงสด

แม้แต่คนถีบก็ใส่ชุดปกปิดมิดชิดทั้งตัว สีแดงสดเช่นกัน

ด้านหลังพนักที่นั่งคนขับที่ทำมาเป็นพิเศษ มีนาฬิกาเรือนโต เข็มวินาทีเคลื่อนไป ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก

เมื่อได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ วิธีการคิดของมนุษย์คือต้องพยายามหาทางอ้างอิงกับสิ่งที่เคยรู้จักมาก่อน

ผมคิดได้ทันทีว่านี่คงต้องเป็น “งานศิลปะ” ของศิลปินร่วมสมัยสักคน

ช่างเป็นความคิดที่กล้า ฉลาด และ “แรง” จริงๆ !

เมื่อไฟเขียว รถซาเล้งคันนั้นก็ค่อยๆ ออกตัวไปตามถนน รถที่ผมโดยสารมาก็แซงเลยไป แต่ผมก็ยังมองเหลียวหลังจนลับสายตา

สีแดงในโลกทัศน์ของคนไทย มักมีนัยเป็นพิเศษ เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม ของขลัง หรืออะไรๆ ที่เป็นเรื่องทำนองนั้น

ไม่รู้ว่าความคิดนี้เกี่ยวข้องแค่ไหนกับคติอย่างจีน ที่ถือว่าสีแดงเป็นมงคล งานมงคลต่างๆ เช่นงานแต่งงาน หรือเสื้อผ้าชุดใหม่ในเทศกาลตรุษจีน จึงต้องมีแต่ “สีแดง” อย่างที่เคยได้ยินคำพูดติดปากในภาษาไทยว่า “จะถูกจะแพงให้แดงไว้ก่อน”

ตั้งแต่โบราณ ในงานช่างอย่างไทย สีแดงจะมีนัยเกี่ยวเนื่องกับความศักดิ์สิทธิ์ เช่นท้องฟ้าในงานจิตรกรรมไทย มักจะระบายด้วยสีแดงเสมอ ไม่ใช่ว่าช่างไทยตาบอดสี หรือสมัยก่อนท้องฟ้าเป็นเป็นสีแดง แต่เพราะท้องฟ้าในความคิดของช่าง เป็นพื้นที่ที่แยกออกไปต่างหาก เป็นแดนสวรรค์ เป็นแดนเกิดของเรื่องอัศจรรย์ ฉากหลังของพุทธประวัติหรือชาดกจึงระบายด้วยสีแดงเสมอ

ผ้ายันต์ส่วนใหญ่ที่เคยเห็น ก็มักพิมพ์ลวดลายและอักขระลงบนผ้าแดง

นอกจากนั้น ในความเชื่อแบบ “ประชานิยม” ที่แพร่หลายกันทั่วไป พวกดวงวิญญาณที่มีฤทธิ์เดชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุมารทอง ผีเจ้าที่เจ้าทาง หรือยมทูตที่จะมารับวิญญาณของผู้วายชนม์ เขาเหล่านั้นก็มักมาปรากฏกายในร่างผู้ชาย คอสเพลย์ไม่สวมเสื้อ แต่นุ่งโจงกระเบนแดงเสมอ

redcolor02

ในวันนั้น เมื่อพบรถซาเล้งคลุมผ้าแดง คนขับชุดแดง ด้านหลังมีนาฬิกาที่ยังเดินไปทุกวินาที ผมจึงสรุปกับตัวเองว่า นี่ต้องเป็นผลงานของศิลปินร่วมสมัยคนใดคนหนึ่ง ที่ออกมา “แสดงสด” หรือทำ “เพอร์ฟอร์เมนซ์” ตามท้องถนน สื่อถึงชีวิตที่ไม่เที่ยง ควายตาย (ยมทูต) ล่องลอยอยู่ใกล้ๆ ตัวคุณ อะไรทำนองนั้น

ก่อนจะอ่านพบในหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมาว่า แท้จริงแล้วเขาเป็นซาเล้งที่รับซื้อปี๊บใช้แล้วจากแม่ค้าตามแผงลอยร้านค้าต่างๆ และชุดแดงกับรถแดงนั้นคือสัญลักษณ์ที่เขาเลือกใช้ให้เป็นที่จดจำ

หลังจากวันนั้นมา ผมก็ยังได้เห็นซาเล้งสีแดงอีกหลายครั้ง จอดอยู่ตามที่ต่างๆ รวมถึงได้ถ่ายรูปไว้ด้วย แต่ไม่เคยมีโอกาสพูดคุยกับ “ศิลปิน” ท่านสักที


srun ศรัณย์ ทองปาน เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี