นิสากรม์ ทองทา : เรื่อง
ณิชกานต์ช่างสาร: ภาพ
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

samsencom01
โบสถ์ของคริสตจักรคาทอลิกอันงดงาม ตั้งสูงเด่นอยู่ใจกลางชุมชนสามเสน เป็นจุดเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ที่ชาวต่างชาติมาตั้งรกรากที่นี่ ภาพนี้ถ่ายในช่วงเช้าเวลาประมาณ 7 โมง เป็นเวลาที่ผู้คนยังเข้ามาไม่เยอะ เห็นผู้หญิงคนหนึ่งกําลังเดินออกมา จึงรอจังหวะที่กําลังก้าวเท้าตรงหน้าโบสถ์พอดี โดยตั้งใจใช้โทรศัพท์มือถือเปิดโหมดเลนส์มุมกว้างเพื่อที่จะเก็บภาพตัวโบสถ์ทั้งหมดไว้เทียบขนาดกับตัวของคน และใช้การจัดองค์ประกอบแบบสมมาตรให้โดยรวมมีเอกภาพ ดูมั่นคง

แดดยามเช้าต้นเดือนมิถุนายนสาดส่องไปทั่วทั้งอาณาบริเวณของ “ชุมชนสามเสน” อากาศร้อนแล้ว แม้ว่าช่วงเวลากลางคืนจะเพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนัก สายฝนที่เคยโปรยพรำเพิ่งจากไปพร้อมเหล่าเมฆครึ้ม เหลือไว้เพียงประกายสีทองระยิบระยับของแสงแดดจ้าจัดในยามกระทบผิวคลื่นของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งวางตัวเลียบเลาะไปกับพื้นที่ของชุมชนแห่งนี้

เราย่ำเท้าสำรวจไปตามตรอกซอกซอยที่วกวนของชุมชนสามเสน พื้นที่เก่าแก่อันมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับแต่โบร่ำโบราณ ทั้งบ้านเรือน วัดวาอาราม และโบสถ์ของคริสตจักรคาทอลิกอันงดงามราวกับมีมนตร์ขลัง

“พื้นที่นี้มีอายุประมาณ 400-500 ปีมาแล้ว เท่าที่มีบันทึกไว้” ครูวี-วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนประจำกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี บอกกล่าวเล่าเรียงให้เราฟังเรื่องประวัติศาสตร์ของชุมชน “ชาวบางกอกอยู่ตรงนี้มานานแล้ว… สมัยก่อนนั้นมหาอำนาจทางทะเลอย่างโปรตุเกสเดินเรือมาถึงที่นี่ ฝรั่งที่มาล้วนมาเรื่องการค้าขายในอำนาจของกษัตริย์ มีส่วนเชื่อมโยงในเรื่องของศาสนจักร กล่าวไว้ว่า ‘คุณไปที่ไหน ที่นั่นจะเป็นของคุณ หากคุณให้นักบวชไปด้วย’ ดังนั้นเหล่านักเดินเรือเพื่อการค้าจึงล่องเรือมาพร้อมเหล่ามิชชันนารี”

samsencom02
ใกล้ๆ กับโบสถ์จะมีศาลาริมนํ้าที่ชาวบ้านจะไปนั่งพูดคุย ตกปลากันทุกวัน โดยตั้งใจถ่ายให้เห็นกรอบภาพที่อยู่ด้านขวาบน เพื่อจะเล่าความเชื่อมโยงของผู้คนที่นี่กับศาสนาคริสต์
samsencom03
คนเรือที่มาจากที่ต่างๆ ที่เข้ามาตั้งชุมชนริมนํ้า ภาพนี้ตั้งใจให้เห็นถึงโครงสร้างของบ้านที่ตั้งอยู่ริมนํ้า บวกกับเรือที่เป็นองค์ประกอบของวิถีชีวิตของคนริมนํ้า

ถ้าหากว่าการเดินทางของชาวประเทศมหาอำนาจนั้นมาด้วยจุดประสงค์เพียงเพื่อค้าขาย การลงหลักปักฐานอันมั่นคงของชาวโปรตุเกสคงไม่สืบต่อเนื่องมาได้อย่างยาวนานขนาดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ “คริสตจักรคาทอลิก” ของชาวโปรตุเกสบนแผ่นดินชาวสยามจึงได้ถือกำเนิด

ครูวียังเล่าต่อไปอีกว่า “…ต่อมามีชาวเขมรมาถึงที่แห่งนี้ด้วย ชาวอาณาจักรสยามให้ชาวเขมรมาอยู่ที่นี่เพราะเห็นว่าเป็นชาวคาทอลิกด้วยกัน ในที่สุดก็กลมกลืนกัน และกลายเป็นชื่อ ‘ชุมชนบ้านเขมร’”

คนสองกลุ่มต่างทั้งที่มาและวาระได้หลอมรวมกันแล้ว ณ พื้นที่แห่งนี้ จุดเชื่อมโยงที่สำคัญของคนทั้งสองกลุ่มคงเป็นความศรัทธาในศาสนา การมีสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณสิ่งเดียวกัน

ในเวลาถัดมายังมีเชลยชาวญวนที่แพ้พ่ายจากศึกสู้รบกับอาณาจักรสยามถูกกวาดต้อนมาถึงที่นี่ และกำเนิดเป็น “ชุมชนบ้านญวน”

ไม่ใช่เพียงแค่คนสองกลุ่มนี้ที่กลายมาเป็นชุมชนสามเสนในปัจจุบันหากยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางมายังดินแดนแห่งนี้เช่นกัน นั่นคือชาวเรือคนค้าขายจากจังหวัดต่างๆ ทั้งอยุธยา นครสวรรค์ พิจิตร แล่นเรือมาค้าขายที่นี่ตั้งแต่เมื่อสมัยเก่าก่อนแล้ว และเรื่องการค้าขายนั้นจะทำการเป็นระยะเวลาสั้นๆ คงไม่ได้ เวลาแห่งการค้ายาวนานนับจากวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายๆ ปี จนกระทั่งเหล่าพ่อค้าแม่ค้าลงหลักปักฐานกันเสียที่นี่ กลายเป็น “ชุมชนริมน้ำ” แห่งสามเสนไปโดยปริยาย

samsencom04
ลุงเล็กกําลังร่อนดินเพื่อหาวัตถุที่เก็บมาได้จากใต้นํ้าพร้อมกับทีมของเขา เป็นจังหวะการทํางานร่วมกันของทั้งสามคนที่แสดงถึงความชํานาญของอาชีพนักประดานํ้าได้เป็นอย่างดี
samsencom05
ครอบครัวของคุณป้าจารุณีอยู่ริมนํ้าที่นี่มานานเป็นร้อยปี ภาพแขวนติดกับผนังบ้านด้านบนเป็นภาพของสมาชิกครอบครัวเคยอาศัยอยู่ที่นี่แล้วจากไป ส่วนเด็กๆ ที่นั่งอยู่เป็นหลานของป้าจารุณีทั้งหมด

ในตอนที่แดดกำลังจ้าจัดต้นไม้และดอกไม้ในชุมชนสามเสนต่างเงยดอกใบรับแสงแดดเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต สายลมอบอุ่นของยามบ่ายพัดมากระทบผิวกายเป็นระยะพอให้คลายร้อนได้บ้าง เราสาวเท้าเข้ามายังชุมชนริมน้ำท่ามกลางบรรดาบ้านไม้และบ้านสังกะสีที่มีสภาพดีบ้าง ผุพังไปแล้วบ้าง และในตอนนั้นเองที่เราได้พบกับนักประดาน้ำเลื่องชื่อแห่งสามเสน “ประดาน้ำแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา” คุณลุงภูมินทร์ สำอางค์ หรือลุงเล็ก ผู้ดำน้ำลึกลงไปค้นพบสิ่งของมากมายภายใต้คลื่นสีหม่นของแม่น้ำสายสำคัญของไทย

เรานั่งลงบนพื้นไม้ที่สร้างโดยตอกเสาไม้ลงไปในแม่น้ำ พยุงตัวบ้านเหนือคลื่นลม อากาศโปร่งสบาย ขณะเราถามถึงที่มาที่ไปของอาชีพนักประดาน้ำ “ลุงแต่งงานกับลูกสาวนักประดาน้ำน่ะ” ลุงเล็กพูดด้วยรอยยิ้ม พาให้บรรยากาศสดชื่นขึ้นแม้ไอแดดจะอวดฤทธิ์แรงกล้า “พ่อตาลุงเขาเป็นนักประดาน้ำเก่า เขาจะรู้ว่าจุดไหนมีอะไร เราก็ลงตามเขาไปศึกษาพื้นที่ เราจะดูคุ้งน้ำเป็นหลัก ที่เจอของบ่อยๆ ก็แถวหน้าวัดกัลยาณ์ วัดอรุณฯ …มีใต้สะพานพุทธเป็นที่ที่มีของเยอะ แต่ดำไม่ได้เลยเพราะอันตราย น้ำลึก กระแสน้ำแรง”

แม้จะมีอุปสรรคในการทำงานบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ลุงเล็กบอกกับเราว่าเขารักอาชีพนี้เพราะมันเป็นอาชีพอิสระ เขาเป็นนายตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร สิ่งเหล่านี้คือความสุขของเขา ครอบครัวของคุณลุงทำอาชีพนี้มานาน สืบทอดวิชาทำมาหากินเลี้ยงปากท้องเช่นนี้มาตั้งแต่รุ่นทวด นับคร่าวๆ ได้เป็นร้อยปี หลายครั้งหลายคราของที่พบเจอใต้ผืนน้ำแห่งนี้เป็นของเก่าแก่ล้ำค่าในสมัยโบราณ ซึ่งสามารถบอกเล่าอดีตให้ผู้คนยุคปัจจุบันอย่างพวกเราได้รับรู้

แต่แม้ว่าผู้คนบนพื้นที่แห่งนี้จะอยู่อาศัยกันมาเป็นเวลายาวนานเพียงไร โลกความจริงย่อมนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่คนทุกคนเสมอ เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของชีวิต

“เรามีเงื่อนไขกับรัฐบาล” ลุงเล็กเกริ่นขึ้นมา เป็นที่รู้กันว่าชุมชนริมน้ำแห่งนี้คือครัวเรือนที่ไม่มีโฉนดที่ดินมาแต่แรกเริ่ม ชาวชุมชนต่อเติมที่พักริมน้ำกันเอง จึงไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้อย่างถาวร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมีคำสั่งให้รื้อถอนบ้านทุกหลังเพื่อปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเสียใหม่ “ถ้าบ้านใหม่สร้างเสร็จเราจะย้ายไปจังหวัดนนทบุรี เรือดำน้ำที่ใช้เราก็จอดไว้ที่นี่ เขามีที่ให้เราจอด ยังกลับมาทำมาหากินได้ คนที่ย้ายไปที่เดียวกับลุงหมด 53 ครัวเรือน ทางรัฐบาลจ่ายค่ารื้อถอนและค่าชดเชยให้”

samsencom06
ตั้งใจถ่ายมุมกว้างเพื่อเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ภายในบ้านกับความสัมพันธ์ที่ไหลผ่านกาลเวลาตั้งแต่คนในอดีตจนถึงคนที่อยู่ในปัจจุบันในชุมชนริมนํ้าแห่งนี้…
samsencom07
เป็นภาพปิดเรื่องที่บ่งบอกถึงชะตาชีวิตของทุกคนในชุมชนริมนํ้าสามเสนที่ต้องย้ายออกไปจากที่นี่

ขณะที่เรากำลังสงสัยว่าอาชีพนักประดาน้ำที่สืบทอดต่อกันมาเสมือนเป็นมรดกของครอบครัวนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ลุงเล็กยังคงยิ้มกว้างตอนที่บอกกับเราว่า “อาชีพที่ทำอาจจะต้องสูญหาย แต่ตอนนี้ลูกชายของลุงยังทำอยู่ ยังคงมีรุ่นลูกอยู่”

ไม่ว่าจะมีผู้คน ครอบครัว อาชีพ หรือสิ่งอื่นใดต้องจากไป ทว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นคือประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งจะยังคงเป็นประวัติศาสตร์อยู่ดังเดิม และหากวันหนึ่งวันใดอาชีพนักประดาน้ำแห่งแม่น้ำเจ้าพระยาต้องยุติบทบาทลง มันคงกลายเป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง

สำหรับชุมชนเก่าแก่แล้ว ครอบครัวส่วนใหญ่บนพื้นที่ย่อมอยู่อาศัยกันมานับร้อยปีดังนั้น คำว่า “สามเสน” และ “แม่น้ำเจ้าพระยา” คงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับคนที่จำต้องจากไป เพราะมันเป็นความผูกพัน คือ “บ้านที่แท้จริง”

“มีความผูกพัน เราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด เป็นความทุกข์สูงสุดในชีวิตที่ต้องจากบ้านตัวเองไป”

ถ้อยคำของคุณยายจารุณี วิจิตรชัยนันท์ ผู้อาศัยอยู่ ณ ชุมชนริมน้ำมาตั้งแต่จำความได้

คุณยายเล่าว่า ครอบครัวของคุณยายทำการค้า ล่องเรือกันมาจากจังหวัดราชบุรี แล้วสร้างบ้านริมน้ำที่ดัดแปลงจากเรืออยู่อาศัยมานับแต่รุ่นทวดจนรุ่นหลานในตอนนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาคือความคุ้นเคย ความอบอุ่นใจ และเป็นความสบายใจยามเมื่อได้นั่งมองสายน้ำซึ่งหล่อเลี้ยงคนทั้งครอบครัวมานาน

ทิวทัศน์ที่มองออกไปจากบ้านไม้หลังย่อมคือด้านหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แม่น้ำ เรือ สะพานกรุงธน สะพานพระราม 8 บ้านเรือน และผู้คนของสองฝั่งฟากแม่น้ำ เป็นทัศนียภาพที่มักเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ วัน ไม่แปลกเลยหากใครสักคนจะใจหาย เมื่อวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าจะไม่มีภาพเหล่านี้ให้คอยเฝ้ามองอีก

ครัวเรือนเกือบครึ่งของชุมชนริมน้ำทยอยย้ายออกจากที่นี่ไปแล้ว คุณยายสบตาเราตอนบอกเล่าความรู้สึก “มันว้าเหว่ เราเจ็บปวด” บางครอบครัวย้ายออกไปแล้ว แต่ยังคงกลับมาทำมาหากินที่เดิม บางครอบครัวสานต่ออาชีพเดิมได้ แต่บางครอบครัวต้องสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

เมื่อมีคนกลุ่มใดสักกลุ่มต้องจากไปจากสถานที่อันเป็นแหล่งพักพิงของชีวิตแหล่งเดียวกัน สิ่งที่หลงเหลือไว้คงเป็นความทรงจำซึ่งมันอาจทำให้ใครหลายคนระลึกถึงได้บ้างว่า ณ สถานที่ที่กำลังจะว่างเปล่าแห่งนี้ ครั้งหนึ่งมันเคยถูกเรียกว่าเป็น “วิถีชีวิต” และเป็น “บ้าน”


writer samsen

นิสากรม์ ทองทา
เราชอบเกี่ยวเก็บความทรงจำและความสุขในทุกๆ ฤดูกาล แล้วมันจะเพิ่มพูนทุกครั้งที่ได้แบ่งปันไปยังคนอื่น

photo samsen

ณิชกานต์ ช่างสาร
ชายชอบกินผัก นักรักธรรมชาติ มีความฝันที่จะสร้างป่า