ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
red flag

นอกจากจะเคยใช้ในเรือและในกองทัพแล้ว ในอดีต ธงแดงเกลี้ยงๆ ยังมีความหมายอื่นด้วย เช่นปักไว้ตามหน้าร้านขายเหล้าริมถนนในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างที่ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา สง่า กาญจนาคพันธุ์ ๒๔๔๐-๒๕๒๓) บันทึกไว้ในหนังสือ “กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้” ตอนหนึ่งว่า

“ร้านเหล้าจะมีธงแดงติดไว้หน้าร้านเป็นสัญญาว่าขายเหล้า คนติดสุรางอม พอเห็นธงแดงก็มักจะอ้วกเสียก่อน เหล้าที่ขายประจำมักจะเป็นอย่างที่เรียกว่า “เหล้าโรง” ใช้กระบอกทองเหลืองตวงเหล้าใส่ถ้วยแก้วย่อมๆ ดูเหมือนกระบอกละเฟื้องเท่ากับในคลองบางหลวง คนคอเหล้าซื้อเหล้าแล้ว บางคนมือขวาที่จับแก้วเหล้าสั่น จนเหล้าแทบกระฉอกออก ต้องเอามือซ้ายยันกับที่ขายเหล้า เอามือขวาที่ถือแก้วเหล้าไต่มาตามแขนซ้ายเหมือนสะพาน จนกระทั่งถึงปากดื่มได้ ดื่มแล้วก็เอามะยมหรือส้มมะขามหรือของเปรี้ยวอะไรจิ้มเกลือแกล้มคอนิดหน่อย แล้วเดินตุปัดตุเป๋ออกจากร้านไปอย่างครึ้มใจ…”

ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย เกิดปี ๒๔๗๒) นักเขียนสารคดีระดับศิลปินแห่งชาติ บันทึกเรื่องธงแดงขายเหล้าทางแถบอยุธยาเมื่อร่วมศตวรรษมาแล้วไว้ด้วยในหนังสือ “เกิดในเรือ”

“พอได้เวลาพวกคอเหล้าก็จะมานั่งคอยที่ริมตลิ่ง เพราะเรือขายเหล้าจะพายเรื่อยไป บางทีก็ร้องว่า “เหล้ามาแล้วโวย” ถ้าไม่ได้ยินก็อด พวกคอเหล้าเมื่อถึงเวลากินแล้วไม่ได้กินก็จะมีอาการคลื่นไส้ บางคนพอเห็นธงแดงของรถรางก็โก่งคอ คือสมัยก่อนเรือขายเหล้ามีธงสีแดงปักเป็นเครื่องหมาย ภายหลังเปลี่ยนเป็นแผ่นสังกะสีทาสีแดง มีตัวหนังสือขาวเขียนว่า “สุรารัฐบาล” แสดงว่าไม่ได้ขายเหล้าเถื่อน ป้ายบอกที่จอดรถรางก็เป็นแผ่นโลหะทาสีแดงเป็นรูปชายธง จึงถูกล้อว่าเห็นป้ายธงแดงของรถรางก็โก่งคอ เพราะนึกไปถึงธงแดงที่ขายเหล้า…”

ในที่นี้คงต้องอธิบายเรื่อง “ธงแดงของรถราง” ที่อาจารย์สมบัติท่านกล่าวถึงไว้ด้วย เพราะอาจไม่รู้จักกันแล้ว

สมัยที่กรุงเทพฯ ยังมีรถรางไฟฟ้าวิ่งในถนน คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมาจนถึงต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ เคยใช้ “ธง” สามเหลี่ยมแผ่นใหญ่ ทำด้วยเหล็กเคลือบ พื้นสีแดง มีดาวสีขาวตรงกลาง ติดตั้งไว้สูงๆ ตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นสัญญานบอกตำแหน่งที่หยุดรถให้คนขึ้นลง ถ้าเทียบกับรถประจำทางสมัยนี้ก็คือ “ป้ายรถเมล์” หรือเรียกกันย่อๆ ว่า “ป้าย”

ส่วนที่หยุดรถราง เมื่อใช้ “ธง” ระบุพิกัด จึงเรียกกันว่า “ธง” ด้วย

นี่จึงกลายเป็นที่มาของสำนวนสมัยก่อน เช่น “เบาธง” คือให้ช้าลง เตรียมจะจอด เหมือนกับรถรางที่กำลังจะเข้าจอดที่ธง ใช้ในความหมายว่าให้หยุดไว้ก่อน หรือใจเย็นๆ

แต่หากหยุดไม่ทันก็ย่อมจะ “เลยธง” เหมือนรถเมล์จอดเลยป้าย ซึ่งเมื่อใช้เป็นสำนวน หมายถึงชักจะมากเกินไปแล้ว หรือถ้าใช้ในวงเหล้า ก็แปลว่าเมาจนเริ่มพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง

รถรางอันเป็นการขนส่งทางรางที่เป็นระบบขนส่งมวลชนแรกในเมืองไทย ค่อยๆ ทยอยถูกยกเลิกไปทีละสาย ด้วยข้อหาสุดคลาสสิก คือ “กีดขวางการจราจร (ของรถยนต์ส่วนตัว)” และสายสุดท้ายหมดไปจากท้องถนนในกรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๑๑

แต่ยังหลงเหลือธงแดงที่เป็น “ป้ายรถราง” ผืนสุดท้าย ฝังติดอยู่ในชายคาตึกแถวแห่งหนึ่ง ย่านเวิ้งนาครเขษม กรุงเทพฯ ต่อมาอีกหลายสิบปี

เพิ่งเห็นข่าวเมื่อวันก่อน ว่าทางการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการเดินรถราง ได้ทำพิธีปลดป้ายรถรางป้ายสุดท้ายลงจากกันสาดตึกหลังที่ว่า เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๒ เนื่องจากมีเจ้าของรายใหม่มีแผนการปรับปรุงอาคารย่านนั้น แหล่งข่าวทางการไฟฟ้าฯ ระบุว่า มีแผนจะนำ “ธงแดง” นั้นไปจัดแสดง ณ ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้านครหลวง ต่อไปในอนาคต

red flag for tram

srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี