เรื่องและภาพ : กลุ่มสัมผัส
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

ราชบุรี - ศิลปะของการใช้ชีวิต

ตลาดเก่าโคยกี๊ หรือตลาดริมน้ำ เป็นภาษาแต้จิ๋ว ตลาดแห่งนี้ตั้งติดกับแม่น้ำแม่กลองอยู่บนถนนวรเดช มีความยาวกว่า 1 กิโลเมตร คุณกันตินันท์ จิรพุฒินันท์ หรือคุณอ๊อด ชายวัยใกล้เกษียณ กล่าวถึงความรุ่มรวยของเมืองท่าการค้าสำคัญแห่งนี้ที่เมื่อครั้งอดีตมีผู้คนสัญจรไปมามิขาดสายว่า “ตอนเด็กๆ ผมยังทันเห็นเรือเมล์แล่นรับส่งผู้โดยสารในแม่น้ำแม่กลองนี้อยู่ แต่เดี๋ยวนี้หายไปหมดแล้ว…”

แม่น้ำสายนี้ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญของชาวราชบุรี ข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ระบุตอนหนึ่งว่า “ในอดีตตลาดการค้าโอ่งมังกรสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดราชบุรีอยู่บริเวณนี้ เพราะมีความสะดวกต่อการถ่ายเทสินค้า…” ปัจจุบันปรากฏเพียงหลักฐานท่าเทียบเรือเก่าบริเวณหน้าตลาดริมแม่น้ำซึ่งถูกปรับเปลี่ยนหน้าที่ให้กลายเป็นจุดตรวจของตำรวจด้วยเหตุปัจจัยของเส้นทางคมนาคมทางหลักเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนนิยมสัญจรทางบกมากกว่าทางน้ำ

ตึกแถวริมแม่น้ำที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าของเรา คำบอกเล่าของบรรพบุรุษร้านนางม้วน จำหน่ายยาไทยกล่าวว่า “ตึกนี้สร้างขึ้นพร้อมสะพานจุฬาลงกรณ์ ปี ร.ศ. 120 หรือ พ.ศ. 2445 เป็นตึกแรกๆ ของตลาดราชบุรี อยู่มา 4 ชั่วอายุคนแล้ว…”

artoflife02
artoflife03

เสน่ห์ของร้านยาโบราณที่ดำเนินการมาแล้วเป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูลหมอยาแผนไทยแห่งนี้คือสถาปัตยกรรมภายในต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้เก็บยา เตียงไม้ ฝ้าเพดาน บานประตู ที่ยังคงมีลักษณะแบบดั้งเดิมไว้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับครั้งแรกเริ่ม โดยทั้งหมดมาจากความตั้งใจของเจ้าของร้านที่จะธำรงรักษาสภาพบ้านให้เหมือนเมื่อครั้งอดีต ต่อมาเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของตัวร้านกับชุมชนศิลปะโดยรอบ เราจะพบว่าแม้ร้านยาแห่งนี้จะอยู่ในใจกลางชุมชนที่อุดมไปด้วยมนตร์ขลังของศิลปะ แต่เมื่อเราสอบถามอย่างตรงไปตรงมาว่าการทำยาเป็นศิลปะหรือไม่ เจ้าของร้านกลับตอบเราอย่างไม่ลังเลว่าการทำยาไม่ใช่ศิลปะ แต่เป็นสิ่งที่จะต้องทำอย่างแม่นยำและเที่ยงตรงตามสูตรที่สืบทอดกันมา “ถ้าเราคิดว่ามันดีอยู่แล้ว มันดำรงอยู่ได้ ก็ไม่ควรไปเปลี่ยนแปลง”

คำกล่าวนี้อาจเป็นคำอธิบายทั้งหมดว่าทำไมร้านยาแห่งนี้ยังคงสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแบบดั้งเดิมให้เราได้ศึกษาจนทุกวันนี้

ร้านจุฬาพร “ตอนแรกก็กะว่าจะเลิกขายแล้วละ แต่เราเสียดายร้าน ถ้าเราไม่ได้ค้าขายก็ได้กินแต่บำนาญ อยู่แต่บ้านไม่ได้ทำอะไร” จินตนา จุฬาพรศิริ บอกเหตุผลที่ทำให้เธอยังคงเปิดร้านจุฬาพร ร้านโชห่วยที่แอบหลบซ่อนอยู่ภายในตลาดโคยกี๊ ติดกับท่าน้ำแม่กลอง แม้ว่าในปัจจุบันลูกค้าจะน้อยลงมากถ้าเทียบกับในอดีตที่แต่เดิมผู้คนมักสัญจรทางน้ำและมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันคึกคัก แต่มากกว่าการเป็นร้านขายอุปกรณ์เครื่องครัว จุฬาพรยังคงเปิดอยู่เพื่อคอยต้อนรับลูกค้า และเปรียบเสมือนสถานที่แห่งความทรงจำและความหมายในการใช้ชีวิตของคนคนหนึ่ง

artoflife04
artoflife05
artoflife06

ร้านเครื่องจักสานบริเวณเชิงสะพานดำ หรือสะพานจุฬาลงกรณ์ เครื่องจักสานในอดีตคือเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนพื้นถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดราชบุรีที่มีอยู่หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งกลุ่มคนไทยราชบุรีพื้นถิ่น ชาวจีน ชาวไทยวน ชาวลาวเวียง ชาวไททรงดำ ชาวมอญ ชาวเขมร ชาวกะเหรี่ยง ฯลฯ เครื่องหัตถกรรมจักสานจึงมีหลายรูปแบบตามการใช้งาน เยาวลักษณ์ สาศนันท์ หรือคุณแตน วัย 50 ปี เจ้าของร้านเล่าว่า “ในอดีตคนมาซื้อของพวกนี้มักอยู่ในวัยกลางคน มีฐานะกลางๆ เป็นทั้งชาวบ้านและรับราชการ… แต่ในปัจจุบันลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ยิ่งของมีความละเอียดลออมากเท่าไหร่ยิ่งมีราคาแพงขึ้น”

นอกจากนี้ยังพบว่าวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาก่อร่างสร้างงานจักสานในร้านนี้มีทั้งนำเข้ามาจากฝั่งเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าเช่นหวาย และของที่มีในท้องถิ่นราชบุรีเอง สิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์คือร้านนี้ยังสามารถธำรงอยู่ได้ท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ถึงแม้มนุษย์จะสามารถผลิตเครื่องใช้ไม้สอยได้ด้วยเคมีภัณฑ์ที่ทันสมัย แต่เครื่องหัตถกรรมจักสานก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นทุกวัน

ร้านอาตี๋โกปี๊ อาคารตึกแถวสีเหลือง 4 คูหา มีอายุมานานกว่า 30 ปี ตึกที่ดูจากภายนอกเหมือนร้านอาหารชาวจีนทั่วไปที่มักจะเอาข้าวของเครื่องใช้มาประดับตกแต่งให้ดูน่ามอง มีผู้คนเดินเข้ามาจับจองที่นั่งในร้าน

“เอาขาหมูหมั่นโถวครับ” เสียงจากลูกค้าคนหนึ่งพูดคุยกับพนักงานในร้าน ที่นี่คือร้านอาหารของสรายุทธ์ หลายพูนสวัสดิ์ หรือมิก วัย 36 ปี ชาวราชบุรีเชื้อสายจีนที่สืบทอดธุรกิจต่อจากครอบครัว “มันเริ่มจากตอนอายุ 26 ผมอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ คุณพ่อส่งต่อร้านนี้ให้ผม ผมเลยได้เริ่มทำร้านอาหารนี้ พอทำแล้วผมรักและชอบงานตรงนี้จริงๆ ทำแล้วมีความสุข” แววตามีความสุขปนรอยยิ้ม มือถือเค้กโอ่ง-ขนมที่ผ่านการคิดและพัฒนามาถึง 3 ครั้ง จนกลายมาเป็นขนมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำร้านในปัจจุบัน เริ่มแรกร้านตกแต่งแบบกาแฟโบราณ แต่สรายุทธ์เจ้าของร้านชื่นชอบในงานไม้ จึงนำของเก่าที่ตัวเองสะสมไว้มาโชว์ในตู้ไม้ที่ร้าน ด้วยหวังจะให้คนที่เข้ามาในร้านได้เห็นและหวนนึกถึงของเล่นในวัยเด็กของพวกเขา เครื่องเล่นวิทยุ ตุ๊กตาไขลาน สิ่งของต่างๆ ที่เคยใช้งานในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นชิ้นงานที่แสดงอยู่ในร้านแห่งนี้

ศิลปะแห่งเมืองราชบุรีอาจไม่ใช่ผลงานศิลปะที่เป็นสิ่งของ เป็นรูปวาดที่ประดับอยู่ในนิทรรศการ แต่เป็นการใช้ชีวิตของผู้คนที่ผ่านวันเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง เปรียบดั่งพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต รอให้ผู้คนจากภายนอกเข้ามาสัมผัส