เรื่อง : ธเนศ ธโนดมเดช
ภาพ : ธนพล สุจิตวรงค์
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

“สุรักษ์ สุขเสวี” ร้อยถ้อยคำ ประพันธ์เพลง

หลายคนที่ฟังเพลงมักเลือกจำเพียงเนื้อหาและศิลปินผู้ขับร้องว่าเป็นใคร แต่น้อยคนนักที่จะสนใจในผู้สร้างสรรค์ประพันธ์เพลงอันไพเราะนั้นขึ้นมา ยิ่งเป็นในยุคที่การฟังเพลงออนไลน์เข้าแทนที่เทป การสัมผัสข้อมูลนักประพันธ์ที่อยู่บนปกเทปก็เลือนหายไป

“แกร็ก กึกๆ แกร็ก กึกๆ …วี้ดๆๆๆๆๆ”

เดี๋ยวนี้คงน้อยคนที่เคยได้ยินเสียงเทปและนึกออกว่าเป็นเช่นไร

แต่เรื่องราวของ “สุรักษ์ สุขเสวี” นักแต่งเพลงยุคเทปที่มีผลงานให้ศิลปินมาแล้วมากมาย เช่น อัสนี- วสันต์, นันทิดา, อินคา, มาช่า ฯลฯ จะเป็นดั่งท่วงทำนองชีวิตที่บรรเลงเสียงเทปในจินตนาการให้ดังขึ้นมาอีกครั้ง

Intro เพลงชีวิต

ยาม 3 ทุ่มกว่า ได้สร้างบรรยากาศอันเงียบสงบให้กับบ้านของ “สุรักษ์ สุขเสวี” ณ หมู่บ้านเลิศอุบล ซอย ๓ ที่อยู่ลึกเข้ามาจากปากซอยรามอินทรา 65 มีเพียงเสียงนกร้องเจื้อยแจ้วเล็ดลอดเข้ามาเป็นครั้งคราว

สุรักษ์ ชายวัย 51 ปี สูงประมาณ 170 ซม. ผอมบาง ผิวคล้ำ ผมสั้น ใส่เสื้อยีนยุค 80s สีฟ้า ทิ้งสายตาลอยเลยโต๊ะทำงานที่เขานั่งอยู่ เพื่อมองย้อนไปสู่ความทรงจำอันห่างไกลที่สุด

“ตอนเด็กๆก็มานั่งอยู่ริมคลองหน้าบ้าน ที่ดำเนินสะดวก เริ่มฮัมทำนองที่มันไม่มีอยู่ในเพลงไหนเลย”

สุรักษ์เริ่มเกริ่นชีวิตในวัยประถมฯต้น ที่ได้รู้จักบทเพลงเป็นครั้งแรกจากวิทยุทรานซิสเตอร์ ฟังเพลงหลากหลายแนวทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง สากลยุค 70s แม้เพลงเหล่านั้นจะสร้างความสุขให้กับใครหลายคน แต่ความสุขของสุรักษ์ในตอนนั้นกลับมาจากการได้ฮัมทำนองเพลง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองขณะนั่งอยู่ริมคลองหน้าบ้าน

จนขึ้น ป.6 สุรักษ์ก็ย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เหมือนพี่ๆ แล้วเริ่มหัดเล่นกีตาร์ของพี่ชายและเริ่มแต่งคำร้องทำนองเองเพราะไม่อยากร้องเพลงที่มีให้ฟังอยู่ทั่วๆ ไป แต่ตอนนั้นยังไม่เกิดความรู้สึกว่าอยากจะเป็นนักแต่งเพลงจนกระทั่งอายุ 17 ปี เพลงที่แต่งไว้ไปปรากฏอยู่ในค่ายอาร์เอสจากการที่นักแต่งเพลงข้างบ้านได้ยินเพลงที่สุรักษ์แต่งและขอให้อัดเพลงไว้ แต่กลับเอาไปขายโดยที่สุรักษ์ไม่รู้ตัว

“ถ้าเป็นคนอื่นคงไล่ทวงผลงานของตัวเองคืนไปแล้ว แต่เรามองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เด็กอายุ 17 ปีจะทำได้ง่ายๆ และกลับกันเราก็ได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือเพลงที่เราแต่งมันใช้ได้”

สุรักษ์กล่าวว่าเหตุการณ์นี้ได้ก่อความตั้งใจที่จะเป็นนักแต่งเพลงของเขา จนเมื่ออยู่ ปวส.2 ก็เริ่มเช่าห้องอัดทำเพลงเดโม 4 เพลง เพื่อนำไปหย่อนตามค่ายเพลงต่างๆ แต่ในความเป็นธุรกิจบริษัทต่างต้องผลักดันคนของตัวเองก่อนคนภายนอกเป็นธรรมดา ฉะนั้นการส่งเดโมในครั้งนี้จึงกลายเป็นเสียงที่ส่งไปเท่าไหร่ก็ไม่มีใครได้ยิน

suksevi02
นักแต่งเพลงวัย 50 ปี สุรักษ์ สุขเสวี ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังเพลงเพราะที่เป็นตำนานหลายบทเพลง

สะพานสู่ฝัน

“เราเปลี่ยนไปติดต่อคนที่ตัดสินใจได้เลยดีกว่า”

สุรักษ์เริ่มเปลี่ยนวิธีการนำเสนอจากการหว่านไปตามค่ายเพลงเป็นการต่อตรงไปยังคนทำเพลงเองเลย ซึ่งคนแรกที่ติดต่อคือ “เรวัต พุทธินันทน์” ผู้บริหารและก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ ณ ตอนนั้น

“เราตัดสินใจไปดักเจอ พี่เต๋อ – เรวัต ที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม ไปแบบไม่รู้ว่าพี่เต๋อจะมาทำงานที่ห้องอัดเสียงวันไหน” แต่โชคดีมารอครั้งแรกก็เจอเรวัตเลย แต่สุดท้ายก็ได้แค่ฝากเดโมไว้ที่เลขาฯของเรวัตเท่านั้น ซึ่งเลขาฯเก็บเดโมไว้ในกล่อง

เวลาที่ค่อยๆ ผ่านไปได้กลายเป็นคำตอบที่คอยลดความหวังของสุรักษ์ลงเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องรู้ด้วยซ้ำว่าเรวัตจะได้เปิดกล่องดูหรือไม่

จนครบ 3 เดือน สุรักษ์ก็เริ่มคิดว่าควรติดต่อคนอื่นๆ

อีกคนหนึ่งที่สุรักษ์ติดต่อไปคือ “ชาตรี คงสุวรรณ” นักร้องนำวงดิอินโนเซ้นท์ ผู้สร้างสรรค์ทำนองให้แกรมมี่ ซึ่งได้ที่อยู่จากหนังสือโลกดนตรี สมัยนั้นที่อยู่ของศิลปินนั้นถูกลงไว้ในหนังสือเพื่อให้แฟนคลับได้ตามส่งจดหมายให้กำลังใจ

“ที่อยู่ดันไม่อัปเดต ปรากฏว่าเขาย้ายบ้าน ถามบ้านข้างๆ ก็ไม่มีใครรู้”

มาได้คำตอบจากไปรษณีย์สุรักษ์จึงไปที่บ้านของชาตรี แต่เพราะอยากทำคำร้องมากกว่าทำนอง ชาตรีจึงแนะนำให้ไปติดต่อกับ “นิติพงษ์ ห่อนาค” นักแต่งเพลงชื่อดังในแกรมมี่

“ผมชื่อสุรักษ์ครับ พี่ดี้ไม่รู้จักผมหรอกครับ ไม่ทราบว่าทางแกรมมี่มีนโยบายรับนักแต่งเพลงหน้าใหม่ๆ บ้างมั้ยครับ”

สุรักษ์ได้แนะนำตัวกับนิติพงษ์ที่ในตอนนั้นกำลังต้องการคนเขียนคำร้องเพิ่มเติมอยู่พอดี สุรักษ์จึงได้ไปฝึกแต่งเพลงกับเขาอยู่ 6 เดือน ถึงได้เป็นนักแต่งเพลงของแกรมมี่ในที่สุด

ฮุกแห่งยุคทอง

“เราอยู่กับแกรมมี่มาตั้งแต่ปี 2533 อยู่ที่นั่นมา 11 ปี”

ทีมแต่งเพลงแกรมมี่ในขณะนั้นมีอยู่ 20 คน ซึ่งแบ่งเป็นคนเขียนคำร้องและแต่งทำนองอย่างละ 10 คน โดยการทำงานจะเริ่มต้นจากการแต่งทำนองเพลงขึ้นมาก่อน ซึ่งสามารถแบ่งออกไปได้อีกว่าจะเป็นทำนองแนวไหน เช่น แนวเศร้า เหงา รัก อบอุ่น ฯลฯ พอได้ทำนองแล้วจึงคิดต่อว่า ทำนองที่แต่งขึ้นมาเหมาะจะเอาให้ใครไปเขียนคำร้อง ซึ่งจะมีการแบ่งฝีไม้ลายมือของนักเขียนคำร้องแต่ละคนลงไปอีก บางคนเขียนเพลงเศร้าได้ บางคนเขียนเพลงรักได้ดีกว่า ต่างคนก็มีแนวที่ถนัดต่างกันไป

หลังจากนี้นักเขียนคำร้องจะนำทำนองที่ได้รับติดตัวกลับไปคิดเรื่องคิดคำหาแรงบันดาลใจกันตามที่ต่างๆ โดยฟังเพลงผ่านเครื่องเล่นเทปพกพา และกลับมานำเสนอเพลงที่แต่งไว้ให้กับทีมคำร้องให้ทุกคนช่วยกันออกความเห็น โดยมีนิติพงษ์ เป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้ายตรงนั้น เสร็จแล้วจึงค่อยนำเสนอไปที่เรวัตต่อไป ซึ่งเฉลี่ยใน 1 ปี นักแต่งเพลงแต่ละคนจะสร้างสรรค์งานสำเร็จ ประมาณคนละ 10 เพลงบวกลบ ตกประมาณเดือนละเพลงพอดี

suksevi03
ตู้เก็บความทรงจำ สุรักษ์ สุขเสวี เป็นคนที่เก็บสิ่งของทุกอย่าง บางคนอาจจะมีลายเซ็นนักร้อง แต่สุรักษ์มีลายมือที่นักร้องคนอื่นๆ เขียนเพลง เขาเก็บแม้กระทั่งสลิปรายได้ตอนอยู่แกรมมี่ กระดาษโน้ตที่เหล่านักร้องคอมเมนต์หรือแก้งานเขียน

“อยู่มาด้วยลายเซ็นเพลงแนวอบอุ่น”

สุรักษ์กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนฟังมักจะมีอารมณ์ร่วมตามกับเพลงเศร้าได้ง่าย เพลงเศร้าจึงเป็นเพลงที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อให้ดังติดหูคนฟังโดยเฉพาะ ส่วนเขานั้นมักจะได้เขียนเพลงแนวอบอุ่นเนื่องจากมีคนเขียนเพลงเศร้าได้อยู่แล้ว

แม้ว่าจะไม่ใช้เพลงสูตรที่ทำให้คนฟังติดหูได้ง่าย แต่สุรักษ์ก็ใช้ลายเซ็นตัวเองสร้างเพลงดังขึ้นมากมายและถูกใจใครหลายคน เช่น “ทำไมต้องเธอ” ของเบิร์ด ธงไชย “แทนคำนั้น” ของโต๊ะ วสันต์ “นิยามรัก” ของนูโว ฯลฯ

“เพลงของเรามันสร้างได้มากกว่าความสุขความบันเทิง มันสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้เลย”

และหลายครั้งเพลงที่แต่งขึ้นได้สร้างความรู้สึกพิเศษบางอย่าง บางครั้งก็ช่วยฉุดให้คนที่กำลังท้อแท้อยากฆ่าตัวตายกลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ และบางครั้งมันก็ไปไกลถึงขนาดเป็นเพลงสุดท้ายที่คนคนหนึ่งอยากได้ยินก่อนตาย แต่มีอีกเพลงหนึ่งที่ถูกใช้สำหรับตอบคำถามว่าสุรักษ์เป็นใครอยู่บ่อยๆ

“ให้ตอบว่าสุรักษ์ สุขเสวี คือคนที่แต่งเพลงวิมานดิน-นันทิดา” สุรักษ์กล่าวปนหัวเราะ

สุรักษ์แต่งเพลง ”วิมานดิน” ขึ้นจากประสบการณ์ฟังเพลงลูกทุ่งลูกกรุงจากช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ซึมซับบรรยากาศหรือวิถีชีวิตแบบไทยๆ มามาก ประกอบกับทำนองที่แต่งขึ้นโดย “อภิไชย เย็นพูนสุข” โปรดิวเซอร์แนวหน้าของเมืองไทย ด้วยโน้ต Pentatonic ซึ่งเป็นโน้ตที่ถูกใช้บ่อยในเพลงลูกทุ่งไทยอยู่แล้ว ทำให้พอได้ยินทำนองครั้งแรกจึงไปนึกถึงเพลงอย่าง “มนต์รักลูกทุ่ง” ของไพบูลย์ บุตรขัน กับ “เดือนเพ็ญ” ของอัศนี พลจันทร ซึ่งล้วนเป็นเพลงที่มีภาษาคำร้องแตกต่างจากเพลงทั่วๆ ไป และเมื่อฟังไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีบางคำผุดเข้ามาในหัว จนเห็นคำว่า “เป็นวิมานอยู่บนดิน” ดั่งท่อนฮุกที่ได้ยินในปัจจุบัน

และ “วิมานดิน” ยังเป็นเพลงดังที่ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต ละครเพลง หรือกลายเป็นชื่อละครตอนหัวค่ำ แต่ในช่วงยุคทองแห่งวงการเพลง วิมานดินยังเป็นเพลงที่แหกกฏเกณฑ์การแต่งเพลงของแกรมมี่ เพราะปกติจะแต่งเพลงกันเป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียนแบบกลอนหรือบทกวี ทำให้เกิดความลังเลจนถึงขนาดที่เรวัตยังต้องขอลองนำไปร้องไกด์ก่อนที่จะตัดสินใจ ซึ่งยอดขายที่มากมายก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคนฟังเพลงไทยยังให้การตอบรับกับการเขียนเพลงในลักษณะนี้อยู่ และเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของสุรักษ์ที่ต่อมาได้ใช้ในการแต่งเพลงภาษาสวยอีกมากมาย เช่น “นักเดินทาง” ของกัมปะนี ฯลฯ

“วิมานดินมันได้ก่อร่างสร้างลายเซ็นเราเอาไว้… เราโชคดี”

สุรักษ์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังและภูมิใจว่าเขาโชคดีที่ได้เข้ามาทำงานกับทีมที่ดีที่สุดในประเทศที่เรวัตได้คัดไว้แล้ว และได้เข้ามาทำงานในช่วงที่เป็นยุคทองของวงการเพลงไทย

“ขายได้ล้านตลับ มันเฟื่องฟู มันเต็มระบบทุกอย่าง ทั้งการทำเพลงทั้งโปรโมชัน…”

สุรักษ์อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุคทองว่ามาจากการที่ทุกคนมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมจะรับเพลงเข้ามา ซึ่งก็คือเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ต มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการฟังเพลงแบบพกพาและเอื้อให้ยอดขายของเทปคาสเซ็ตดีขึ้น ในขณะเดียวกันสื่อบันเทิงที่จะมอบความสุขให้ทุกคนนั้นมีเพียงโทรทัศน์กับวิทยุ ซึ่งวิทยุคนก็จะเลือกฟังรายการที่ตัวเองชอบ ส่วนโทรทัศน์ก็จะมีอยู่แค่ 4-5 ช่อง ซึ่งหมายถึงคนจะต้องรอดูสิ่งบันเทิงที่มีอยู่แค่ไม่กี่อย่าง ถ้าอยากดูรายการเพลงก็จะต้องรอดูในเวลาประมาณ 4 ทุ่มทุกวันศุกร์ เหมือนกับทุกคนมีนัดเพื่อมาดูสิ่งนี้ด้วยกัน ฉะนั้นใน 1 อัลบั้ม จึงสามารถโปรโมตได้ถึง 3-4 เพลง ทำให้นักแต่งเพลงสามารถใช้เนื้อหาบางอย่างแฝงเข้าไปในบางเพลงได้ด้วย เช่น สื่อสิ่งแวดล้อมหรือสร้างคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งหมายความว่าผู้แต่งสามารถเขียนเนื้อหาได้ตามที่ต้องการโดยยังอยู่บนยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ได้

suksevi04
ต้นฉบับลายมือเพลงที่สุรักษ์ สุขเสวี แต่งทั้งหมดจะรวบรวมอยู่ในแฟ้ม ส่วนมากจะเป็นลายมือที่เขียนลงไปจริงๆ ตอนแต่งเพลง เราจะเห็นร่องรอยการแก้ไขงานเขียนแต่ละท่อน

ก้าวหน้า ร้าวอารมณ์

“แต่ ณ วันนี้ ช่องทางสื่อสารมันเยอะ มันต้องการแต่สิ่งที่เรียกว่าโดน”

ยุคทองของวงการเพลงไทยอยู่ได้ไม่นาน เพราะการเข้ามาของเทปผีซีดีเถื่อนและไฟล์ดิจิทัลตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2540 จากยอดขายล้านตลับก็ค่อยๆ ลดลงจนเหลือแค่หลักพัน จากพันก็ลดเหลือแค่หนึ่ง จากปรกติที่คนจะต้องรอฟังเพลงจากในวิทยุหรือโทรทัศน์เท่านั้นก็กลายเป็นเพลงจะต้องถูกนำเสนอเข้าไปที่ผู้ฟังเอง ซึ่งถ้าเพลงไหนไม่โดนจริงก็จะดับไปในทันที

รวมถึงผลกระทบจากการเสียชีวิตของเรวัตใน 5 ปีก่อนหน้า ทำให้แกรมมี่เกิดความระส่ำระสายมาเรื่อยๆ และไม่สามารถรักษายอดขายล้านตลับไว้ได้อีกต่อไป ทางผู้บริหารแกรมมี่เลยต้องเปลี่ยนกลยุทธเป็นการทำอัลบั้มให้มากขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด เป็นเหตุทำให้สุรักษ์ตัดสินใจลาออกจากแกรมมี่

“เราไม่สามารถเรียกยุคปัจจุบันได้ว่ายุคทอง เพราะมันไม่สามารถทำยอดขายหรือแต่งเพลงในแนวที่ต้องการได้เหมือนอย่างที่ยุคทองเคยทำไว้”

suksevi05
ซีดีเพลงที่สุรักษ์ สุขเสวี แต่งและร้องเพลง

ปรับไวเพื่อไปต่อ

“ลงทุนทำเพลงเองหมดเงินกว่าล้านบาท แต่น้อยคนจะรู้จักเพราะไม่มีงบโปรโมต”

ยุคทองสิ้นสุดและเทปก็เริ่มตายจาก หลายคนแยกย้ายกันออกไปทำอย่างอื่นตามแต่บริบทสังคมจะพาไป แต่การลาออกจากแกรมมี่ในปี 2544 สุรักษ์เลือกที่จะใช้เงินล้านสุดท้ายในการทำอัลบั้มดนตรีสีคราม ที่ทั้งร้องและแต่งทำนองเอง รวมถึงการเป็นโปรดิวเซอร์เพลงตัวเองครั้งแรก โดยหวังให้เป็นทางเลือกใหม่ที่จะแสดงให้เห็นว่าสุรักษ์สามารถทำเพลงอิสระได้และทำเองได้ทั้งหมด แต่ด้วยยุคที่ต่างค่ายต่างแย่งกันขาย หลายที่ก็ปรับกลยุทธ์ใหม่เปลี่ยนจากการขายอัลบั้มเดียวให้ได้ล้านตลับ เป็นการขาย 5 อัลบั้ม อัลบั้มละ 2 แสนตลับเพื่อคงยอดขายไว้ แต่ด้วยพื้นที่ขายที่มีเท่าเดิม ทำให้อัลบั้มที่ไม่มีงบโปรโมตอย่างดนตรีสีครามถูกปัดตกไปอย่างรวดเร็ว

“แต่แทนที่จะมองว่าล้มเหลว เรากลับมองว่ามันคืออนุสาวรีย์ที่จะตั้งให้คนอื่นเห็นไปตลอด”

แม้จะมีไม่กี่คนที่รู้จัก แต่ก็ยังมีคนรู้ว่าสุรักษ์สามารถทำเพลงอิสระได้ ผลงานในครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์และทำให้สุรักษ์เริ่มมีงานแต่งเพลงอีกแนวหนึ่งเพิ่มเข้ามาคือการแต่งเพลง corporate หรือเพลงสำหรับใช้ในองค์กรต่างๆ เช่น “ราชภัฏราชสีมา” เชิดชูมหาวิทยาลัย “รัตนโกสินทร์” ในนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพลงที่จะต้องใช้ภาษาเขียนที่สวยงามแทนภาษาพูดแทบทั้งนั้น รวมถึงได้แต่งเพลงที่ภาคภูมิใจที่สุดเพลงหนึ่งในชีวิต คือเพลง “King of Kings”

“King of Kings เราได้แต่งเพราะลายเซ็นที่เราก่อร่างสร้างเอาไว้”

สุรักษ์ได้รับเลือกให้แต่งเพลง “King of Kings” จากลายเซ็นภาษาสวยที่ใช้แต่งเพลงมาทั้งชีวิต ซึ่งเป็นเครื่องการันตีความสามารถของสุรักษ์มาตลอด และลายเซ็นนี้ก็ไปเข้าตาของ “พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” อดีตสมาชิกวงแมคอินทอชและวงตาวัน ผู้สร้างสรรค์ทำนองให้สุรักษ์แต่งเนื้อร้อง

“มันเป็นเพลงพิเศษ เป็นเพลงที่เราแทบไม่ต้องนึกหน้าใคร เพราะในใจเรามีพระองค์อยู่”

ปรกติสุรักษ์จะแต่งเพลงโดยใช้เรื่องราวและประสบการณ์รอบตัวผสมลงไปในคำร้อง แต่สำหรับเพลง “King of Kings” สุรักษ์ไม่ได้ใช้เรื่องราวของตนเองใส่ลงไป แต่เป็นเรื่องราวขององค์ราชัน รัชกาลที่ 9 ซึ่งด้วยการใช้ภาษาเขียนทำให้ “King of Kings” เป็นหนึ่งในเพลงเทิดทูนรัชกาลที่ 9 ที่สวยงามและสร้างความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับสุรักษ์

suksevi06
สุรักษ์ สุขเสวี กำลังมองหาลายมือที่เขียนเพลง King of Kings แฟ้มอัลบั้มงานเขียนเพลง
suksevi07
ให้สัมภาษณ์ลงนิตยสาร เรื่อง “รักษ์ สุขเสวี กับเพลงชีวิตที่เขียนเอง”

หลักฐานแห่งชีวิต

สุรักษ์เดินไปหยิบแฟ้มเล่มหนาออกมาหลายเล่ม ซึ่งแต่ละเล่มถูกจัดแบ่งประเภทออกเป็นเพลงในสมัยเด็ก เพลงเขียนอบอุ่นสมัยที่ยังอยู่แกรมมี่ และเพลงลายเซ็นใหม่สำหรับงาน corporate

ในแฟ้มมีต้นฉบับเพลงเก่าๆ อยู่ ทั้งกระดาษที่สีออกเหลือง ลายดินสอที่เลอะเลือน หรือคราบที่เกิดจากหยดกาแฟ และมีร่องรอยการพับการขีดแก้มากมาย ซึ่งรวมแล้วมีเพลงที่เขียนขึ้นไม่ต่ำกว่า 200 เพลง

นอกจากนี้ยังหยิบหนังสือเพลงที่เขียนขึ้นเอง คอลัมน์และนิตยสารที่มีบทสัมภาษณ์ต่างๆ แผ่นซีดีรวมเพลงตอนที่อยู่ในแกรมมี่ทั้งหมด เครื่องเล่นเทปและ iPod สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการขีดเขียนเพลงตลอด 29 ปี และเป็นวิถีที่ดำเนินมาแล้วทั้งชีวิต ซึ่งตรงกับคำหนึ่งของสุรักษ์ที่กล่าวว่า

“เราชัดเจนว่ามันเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ถึงแม้อาชีพนักแต่งเพลงในตอนนี้จะไม่มั่นคงแล้ว แต่เรามั่นคงในความคิด มั่นคงที่จะเป็นนักแต่งเพลง และจะเป็นจนกว่าจะคิดอะไรไม่ออก จะไม่มีใครจ้างแล้ว”

หลายคนอาจจะมองว่า สำหรับคนอายุ 50 ปีที่ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ระส่ำระสายของวงการขนาดนี้คงจะหมดไฟเลิกทำเพลงไปแล้ว แต่สุรักษ์มองว่าในช่วงชีวิตนักแต่งเพลงของเขา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามามันแค่มาตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเท่านั้น จากยุคทองที่หายไปก็ทำให้เกิดข้อดีขึ้นอย่างหนึ่งคือ ต้นทุนการทำเพลงที่ถูกลง

สมัยก่อนอาจจะต้องมีเงินเป็นร้อยล้านในการเปิดค่ายเพลง แต่สมัยนี้มีเงินแสนสองแสนก็สามารถเปิดค่ายเพลงอินดี้เล็กๆ เพื่อทำเพลงของตัวเองได้แล้ว อย่างค่ายเพลง “บางรัก Records” ค่ายเพลงเล็กๆ ของสุรักษ์ที่หมายถึงชุมทางเพลงรัก มาจากคำว่าบางที่หมายถึงทางน้ำเล็ก และรักที่สื่อถึงเพลงรักซึ่งล้อกับชื่อสุรักษ์ไปด้วย โดยจะปล่อยเพลงแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 นี้

suksevi08
ลายมือตอนเขียนเพลง King of Kings ตัวจริงที่มีการแก้ไขลงไปในนั้นด้วย นี่เป็นส่วนหนึ่งของต้นฉบับลายมือเวลาแต่งเพลง
suksevi09
กระดานชีวิต เป็นการจดบันทึกกันลืม ซึ่งประกอบไปด้วยชื่อเพลงต่างๆ สุรักษ์ สุขเสวี จดไว้เพื่อเตรียมเผยแพร่เพลงต่างๆ รวมถึงเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

เทปที่ยังดังกังวาน

ยามดึกดื่นเที่ยงคืนกว่าบรรยากาศที่เงียบสงบยังคงอยู่ไม่คลายจากรวมถึงเรื่องราวชีวิตการเป็นนักแต่งเพลงของสุรักษ์ก็เช่นกัน เขายังคงกล่าวถึงชีวิตเพลงที่มันเปล่งเสียงดังออกมากลบความเงียบอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเปล่งออกถึงสิ่งที่เขายังอยากจะทำในงานเพลงอีกมากมาย ทั้งการทำเพลงลูกทุ่งในค่ายบางรัก Records การทำ musical หรือแม้กระทั่งกิจกรรมเล็กๆ ที่อยากจะจัดภายในบ้าน เช่น การเปิดคลาสสอนแต่งเพลง การจัดวิพากษ์เพลงในหัวข้อต่างๆ รวมทั้งการตกแต่งชั้นวางต้นฉบับของเขาเอง

สุรักษ์หยิบกีตาร์ขึ้นมาดีดบรรเลงเพลงยุค 70s ของ Paul Anka และเปล่งเสียงร้องก้องกังวานออกมา ซึ่งเป็นเสียงจากนักแต่งเพลงยุคเทปที่ยังคงดังผ่านค่ำคืนนี้ไป

“I Don’t Like to Sleep Alone.”

วี้ดๆๆๆๆๆ… เสียงเทปยังคงดำเนินต่อไป


tanech

ธเนศ ธโนดมเดช (แจ็ค)

ครีเอทีฟพิพิธภัณฑ์บริษัทแห่งหนึ่ง ชอบไปในสถานที่ที่ยังไม่เคยไป ชอบอ่านหรือมองเรื่องทั่วๆ ไปที่ไม่หนักสมองหรือซับซ้อนมากนัก และชอบฟังเพลง เล่นกีตาร์ เพื่อผ่อนคลายกายใจไปด้วยกัน เพราะมองว่าชีวิตของคนเรามีภาระหน้าที่ที่สร้างความเครียดมากพอแล้ว

tanapol

ธนพล สุจิตวรงค์ (สอน)

นิสัยส่วนชอบถ่ายรูปคน เพราะคิดว่าการถ่ายรูปคนในโอกาสสำคัญๆต่างๆ คนเขาจะยิ้มให้เราผ่านกล้อง หลายครั้งก็คิดว่าไม่ได้ชอบถ่ายรูปหรอก ชอบคนยิ้มให้มากกว่า จึงมีงานอดิเรกเป็นการรับถ่ายภาพรับปริญญา งานแต่ง งานบวช ฯ