กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์ : เรื่อง
ณัฐพร ทองมา : ภาพ
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

รอยสัก ศักดิ์ศรีแห่งสัก
“Pura Vida” เป็นภาษาสเปน มีความหมายว่าชีวิตที่ปราศจากการปรุงแต่ง คำที่เพื่อนชาวเม็กซิโกบอกว่าเหมาะกับเจ้าของรอยสัก เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำที่ถูกบันทึกลงบนร่างกาย

ครั้งแรกที่เห็นภาพคนสักแล้วคิดถึงอะไรบ้าง?

เรากลับมานั่งย้อนถามตัวเองอยู่หลายครั้ง หลังจากได้เห็นภาพชายหนุ่มยืนพร้อมรอยสักเต็มตัว ทรรศนะเรื่องรอยสักสำหรับเราเป็นเพียงความเชื่อและสิทธิส่วนบุคคลที่เขาจะทำอะไรต่อร่างกายของตนเองก็ได้ แต่ความรู้สึกในใจของเรายังแอบแฝงด้วยความรู้สึกในแง่ลบอยู่เล็กน้อย ซึ่งเราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

tattoopride01
“พุทธ ปน ไสย์” บทสวดความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมได้แทรกตัวผสานเข้าไปในรอยสัก สำหรับคนที่สักยันต์แล้วเท่ากับว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่กับตัว

1
โตมาในบ้านคนจีนอย่าสักเลย

“แกรู้ไหมทำไมคนจีนเขาไม่ให้สัก เพราะสมัยก่อนเขาเอาไว้สักนักโทษไง”

แม่นอนอยู่บนเตียง ส่งเสียงเล่าเรื่องพร้อมกับทำมือจิ้มๆ สักลงบนผิวหนังเพื่อประกอบคำอธิบายของตัวเอง ผู้หญิงร่างท้วมคนนี้เกิดและเติบโตในประเทศไทย พูดภาษาไทยเป็นหลัก แต่ภาษาแต้จิ๋วคือภาษาแรกที่พูดเป็น และแม้ว่าปีนี้จะอายุย่างเข้าเลข 5 อย่างสมบูรณ์ ความรู้ด้านวัฒนธรรมจีนที่ได้จากสายเลือดแดนมังกรแท้และการเรียนจีนศึกษาแบบตะวันตกในไทย ทำให้แม่ยังคงยึดถือความคิดแบบนี้อยู่

เราคิดเล่นๆ ว่าหากขออนุญาตไปสักลายสักนิด จะได้รับการอนุญาตเพียงแค่ไม่ให้สักเลย สักได้เพียงในร่มผ้า หรือต้องสักน้ำมันเพื่อไม่ให้เกิดรอยตำหนิใดบนร่างกาย ด้วยเหตุผลคือไม่ให้สีที่เปื้อนผิวหนัง ตัดอนาคตลูกสาวในการประกอบสัมมาชีพในอนาคตและเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสังคม

ไม่ใช่เฉพาะบ้านคนจีนอย่างบ้านเราที่จะไม่ปล่อยให้น้ำหมึกเข้ามาเปื้อนอนาคตของลูก หรือทลายภาพจำที่ดีของครอบครัวต่อสังคม หากสังเกตการระบายของลูกๆ ตามเว็บบอร์ดปรึกษาปัญหาชีวิตหลายกระทู้ จะพบว่าครอบครัวไทยในปัจจุบันยังมีวิธีคิดเหล่านี้ฝังแน่นอยู่เช่นกัน

ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางค้นหาคำตอบ จากคำถามว่าเพราะเหตุใด คนที่มีรอยสักถึงถูกมองไม่ดีในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน

tattoopride06
“การสักก็คือการทำลายผิวเพื่อให้เกิดภาพ” หลังจากสักไปแล้วผิวก็จะตกสะเก็ดเป็นกระบวนการที่ร่างกายรักษาตัวเอง ก่อนจะหลุดลอกและปรากฏออกเป็นภาพที่สัก
tattoopride07
ลายและตำแหน่งการสักเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างความชอบของผู้ถูกสักและประสบการณ์ของช่างสัก เพื่อให้งานศิลปะชิ้นนี้ออกมาสมบูรณ์และตรงใจเจ้าของรอยสักมากที่สุด

2
ประวัติศาสตร์การสักในสยาม

การสักในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ว่าเริ่มต้นจากจุดใดนั้นยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุไว้อย่างชัดเจน

งานวิทยานิพนธ์เรื่อง “การสื่อสารเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมการสักล้านนา” โดยธนาวุฒิ ฤทธิ์ช่วย และ อ.ดร.ศุภฤกษ์ โพธิไพรัตนา บอกเล่าถึงวิธีคิดต่อรอยสักที่สะท้อนผ่านวรรณคดีไทยเรื่องขุนช้างขุนแผน ตลอนพลายแก้วบวชเณร ว่าการสักในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นการจัดระเบียบประชากร โดยกรมพระสุรัสวดีมีหน้าที่ทำทะเบียนราษฎร์ที่ต้องรับราชการตามกฎหมาย เรียกว่าทะเบียนเลก สักไว้บริเวณแขนใกล้ข้อมือ สำหรับบอกสังกัดของไพร่

เมื่อเกิดการหลอมรวมเรื่องราวความเชื่อและรอยสัก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หน้าที่ของรอยสักมิได้มีเพียงเพื่อแบ่งกรมกองเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความเชื่อทางศาสนา ตามจดหมายเหตุของ มร.เดอ ลาลูแบร์ มีการกล่าวถึงการสักที่แสดงความเชื่อด้านคงกระพันชาตรีด้วย

งานวิทยานิพนธ์ “ทุนและพื้นที่ : ศึกษากรณีการก่อตัวของกลุ่มสักยันต์ห้าแถวหนุนดวงในกรุงเทพมหานคร” โดยวรรณิภา ชวนชม, ผศ.ดร.บุญยง ชื่นสุวิมล และ ผศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ บอกเล่าต่อจากงานวิจัยชิ้นก่อนว่า “ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รอยสักเป็นเครื่องหมายที่เป็นการลงโทษโดยสักไว้ที่หน้าผากของนักโทษ โดยมีการบัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลและได้ยกเลิกไปในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2475 ดังนั้นในสังคมไทยรอยสักนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายที่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อนและหลากหลาย นั่นคือเครื่องหมายแสดงการประจานความผิด เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรือการเกณฑ์แรงงาน ความมีเสน่ห์และความเป็นชายชาตรี”

นอกจากนี้รอยสักยังมีอีกความหมายหนึ่งที่สื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์คือการสักยันต์ ทหารนิยมสักยันต์ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเมื่อต้องออกรบ โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้หนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า

tattoopride02
พระอาจารย์ศุภชัย ชยสุโภ นักวิชาการล้านนาคดี วัดสวนดอก ผู้ให้ข้อมูลเรื่องสักยันต์เล่าว่า คนสักมีทั้งสองประเภท ทั้งคนดีและคนไม่ดี ก่อนจะสักอาจารย์ต้องรับเป็นศิษย์ก่อน และเมื่อเป็นศิษย์-อาจารย์กันแล้ว ก็ถือว่ามีความสัมพันธ์เกื้อหนุนกัน การที่คนไม่ดีมีอาจารย์คอยตักเตือนเรื่องร้ายแรงก็ได้ทุเลาลง ส่วนคนดีก็ส่งเสริมให้ดีขึ้นไป

3
ยันต์สักสิทธิ์

เราตัดสินใจเดินทางตามหาเรื่องราวของรอยสักเพิ่มเติมในจังหวัดเชียงใหม่ แหวน-วิจิตรา จันทวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคนแรกที่พวกเราได้พบ เนื่องจากตอนนี้เธอกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ปฏิบัติการบนร่างกายและพลานุภาพของการสักในกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือของประเทศไทย” เราจึงถามว่าทำไมคนไทยถึงต้องมองคนมีรอยสักเป็นคนไม่ดี

“เรื่องนี้ต้องย้อนไปตั้งแต่ในอดีต การสักมาตั้งแต่อดีตเป็นการแสดงภาพลักษณ์ที่เป็นลบ เมื่อก่อนจะมีการสักเพื่อเป็นทาส สักเพื่อเป็นไพร่ สักเพื่อเป็นคนคุก สักเพื่อแสดงว่าคนนี้อยู่ภายใต้อำนาจของคนอีกคนหนึ่ง มันก็เลยทำให้ติดภาพของการเป็นคนขี้คุก เป็นคนไม่ดีตั้งแต่สมัยโบราณมา แล้วเขาก็ยังให้ภาพลักษณ์แบบนี้มาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่น้อยลง”

เธอขยายความเพิ่มเติมว่าภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของรอยสักลดลงจากมุมมองใหม่ๆ ทุกคนให้สิทธิ์และเคารพในความเป็นคนมากขึ้น การเข้ามาของวิวัฒนาการและโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วการสักเป็นเพียงภาพลักษณ์ภายนอกหรือเปล่า

“ลองไปดูร้านสักในมุมเมืองสิ มีแต่ร้านสักยันต์ แทบจะไม่มีร้านสักแฟชั่นเลย คนที่เข้าไปเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นฝรั่ง”

เธอยังชวนตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันคนไทยไม่นิยมสักมากนัก แต่กลับกลายเป็นชาวต่างชาติที่นิยมในการสัก โดยเฉพาะการสักยันต์แบบไทย เพื่อเป็นของที่ระลึกติดตัวกลับบ้านมากกว่าต้องการพลังต่างๆ จากยันต์ เช่นเดียวกับคนจีนที่เข้ามาสักยันต์มากขึ้นทั้งที่ไม่รู้ภาษาบาลี

นักศึกษาปริญญาโทในฐานะผู้วิจัยจึงสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวจีนที่สนใจเกี่ยวกับการสักได้ความว่า คนที่จะมาสักต้องมีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาระดับหนึ่ง เมื่อมาสักยันต์และอาจารย์สอนให้รักษาศีล 5 เขาก็ซึมซับความเชื่อแบบของไทยไปด้วย

เราจึงสงสัยเรื่องรอยสักยันต์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หากพิจารณาจากวิธีคิดแบบพุทธแล้ว การสักไม่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในศาสนานี้เสียด้วยซ้ำ

พวกเราเดินทางไปยังวัดสวนดอก (พระอารามหลวง) ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ พระสงฆ์รูปหนึ่งสวมแว่นตากรอบใหญ่เดินตรงเข้ามาในบริเวณเก้าอี้รับแขก ยิ้มแย้มอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับกล่าวทักทายเป็นภาษาเมือง ผิวของท่านไม่มีรอยสักแม้เพียงสักรอย เรารู้สึกฉงนใจเล็กน้อย ก่อนที่ท่านจะนั่งลงบนเก้าอี้ แล้วเริ่มบอกเล่าเรื่องรอยสัก

พระอาจารย์ศุภชัย ชยสุโภ นักวิชาการล้านนาคดี เกริ่นว่า ในอดีตรอยสักเกิดขึ้นจากมนุษย์ที่ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยว ความปลอดภัย และความมั่นใจเป็นเบื้องต้น ประกอบกับอาจารย์สักยันต์มีความเชื่อเรื่องคงกระพันชาตรี การสู้รบหรือการทหาร ผู้ที่สักยันต์จึงกลัวตายเป็นเบื้องต้นหรือต้องมีเหตุการณ์ทำให้สักยันต์

เราจึงถามพระอาจารย์ว่าการสักเข้ามาผนวกรวมกับพุทธศาสนาได้อย่างไร

“การสักเป็นเรื่องของการสัก พุทธศาสนาก็เป็นเรื่องของพุทธศาสนา แต่ว่าสิ่งที่มันรวมกันก็คือเรื่องความเชื่อและพิธีกรรม”

เรื่องราวพระพุทธศาสนาที่อยู่ในรอยสัก ส่วนมากเป็นความเชื่อเรื่องคุณพระรัตนตรัย คุณของเทวดา หรือบทสวดมนต์ต่างๆ โดยการนำคำสวด คำย่อของบทสวด หรือตัดเฉพาะท่อนที่น่าสนใจมาสักใส่ในร่างกายตั้งแต่ช่วงเอวขึ้นไปยังศีรษะ เชื่อกันว่าถ้าสักสามอย่างนี้จะมีคุณของพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นบนร่างกายของเรา เราก็จะอยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย

พระอาจารย์เล่าว่าอาจารย์ที่จะมาสักยันต์ได้ต้องมีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา อาจารย์สักยันต์เกือบทุกคนต้องบวชเรียนมาก่อน ต่อมาต้องมีความรู้เรื่องภาษาไทย อักษรขอม อักษรธรรม หรืออักษรที่ใช้ในการจารึก ถ้าอ่านเอกสารได้ก็จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอาจารย์สักโดยอัตโนมัติ

“เพราะว่าใช้อักษร ต้องเรียนจากวัดก่อน แล้วคำต่างๆ ก็อยู่ในคัมภีร์ คัมภีร์เลขยันต์ต่างๆ ก็จะอยู่ในวัดกับอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับวัด มันก็ขัดเกลากันในตัวเอง”

อาจารย์สักที่ดีต้องนับถือศีล 5 และไม่ผิดศีลข้อที่ 3 เลย เพื่อเป็นการควบคุมสังคม เพราะในสมัยก่อนเรื่องคู่ครองเป็นเรื่องเปิดเผย ส่วนการผิดศีลข้ออื่นๆ ล้วนเกิดการละเว้นตามวิถีชีวิตของแต่ะละคน บางคนจำเป็นต้องฆ่าสัตว์เพื่อกิน บางครั้งก็เก็บผลไม้หรือผักตามทาง พูดโกหกก็อาจมีบ้าง ส่วนเรื่องสุรานั้นบางวิชาจำเป็นต้องใช้สุราเป่า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อประพฤติที่อยู่ในสังคมอดีตอยู่แล้ว อาจารย์สักยันต์ทำแบบนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและส่งเสริมให้ตนเองมีภาพลักษณ์ที่ดี

ไม่เพียงอาจารย์สักยันต์เท่านั้น แต่ผู้ที่สักยันต์จะต้องปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์เช่นกัน ถ้าลูกศิษย์สักด้วยความเต็มใจและเคารพอาจารย์ก็จะเชื่อฟัง เพราะอาจารย์ที่ดีจะสอนให้ลูกศิษย์ที่ไม่ดีเป็นคนดีและลูกศิษย์ที่เป็นคนดีอยู่ให้รักษาความดีไว้

“พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เป็นพื้นฐานของการสักยันต์ทุกที่เลย แล้วก็อันอื่นก็ ถ้ามี 5 ข้อนี้จะเกิดความกตัญญูเกิดขึ้น ต่อมาคือความขยันหมั่นเพียร อาชีพทำมาหากินสุจริตต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องปรกติของมัน”

การสักไม่ตรงต่อความเชื่อเรื่องการนิพพานของพระพุทธศาสนา สิ่งนี้ทำให้เกิดความสบายใจและเยียวยาสิ่งที่ทุกข์ให้หายจากตรงนั้นก่อน ช่วยให้ผู้สักยันต์สามารถดำรงชีวิตต่อได้ เหมือนเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ถ้ามองมุมนี้จะเป็นวิธีคิดแบบสังคมสงเคราะห์ อาจจะช่วยไม่ได้ตลอด ขณะที่คำสอนของพระพุทธเจ้ามองทะลุไปอีกวิธีหนึ่ง
เราจึงย้อนกลับมาคำถามที่ว่าเพราะเหตุใด สังคมไทยจึงมองรอยสักเป็นเรื่องที่ไม่ดี

“เราต้องมองดูว่าคนที่มาสักเป็นคนดีไหม เขามาสักด้วยจุดประสงค์ใด เขามองว่าคนที่มาสักเกเร เขายังไม่เจอคนดี คนสักเป็นดอกเตอร์ก็มีนะโยม หมอก็สักยันต์ แต่เขาสักแล้วเขาไม่ได้โชว์อะไรเกเร เขาอาจจะชอบงานศิลปะ ทำจิตให้เป็นสมาธิ ชอบครูบาอาจารย์ เขาก็ไปสักกันเยอะเลย หน้าที่การงานเขาก็ดี มันส่งเสริมกัน แต่สังคมที่มองย้อนกลับมา อีกอย่างหนึ่งเขามองเรา อันนี้ก็สำคัญ” พระอาจารย์ตอบ

tattoopride03
“สำหรับพี่มองว่า ทำอะไรก็ไปให้สุดทาง อย่างสักขึ้นหน้าแบบนี้ก่อนสักก็รู้ว่าจะมีสายตาที่ไม่เข้าใจมองมา แต่เราไปก็สุดทางในความชอบของเรา” ทิว-วทัญญู มั่งใหม่ ช่างสักและเจ้าของร้าน Tattoo Underground
tattoopride05
“อยากสักมาตั้งแต่สมัยสาวๆ แล้ว แต่สามีไม่ให้สัก ตอนนี้เขาเสียแล้ว เราเลยมาสัก มาทำตามความฝันเอาตอนแก่” ลูกค้าผู้หญิงวัย 54 ปีที่มารับบริการสักที่ Tattoo Underground หันมาพูดด้วยพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้ม เธอเล่าว่าลูกสาวกับลูกชายสนับสนุนและพามาสัก ครั้งนี้เป็นลายที่สามแล้วและเธอก็ชอบมันมาก

4
ให้ศิลปะเล่าเรื่องบนผิวหนัง

กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นนำทางพวกเรามายัง “คอฟแทท แอท บ้านสวน” ชื่อที่มาจากการผนวกรวมกันของ coffee และ tattoo สมัยก่อนร้านคอฟแททฯ เป็นคาเฟ่ขนาดหนึ่งห้องแถวอยู่บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการทั้งกาแฟหอมๆ และการสักแบบศิลปะอยู่ข้างกัน ก่อนที่คอฟแททฯ จะกลายมาเป็นอาณาจักรบ้านสวนขนาดย่อม ที่นอกจากจะจำหน่ายกาแฟและรอยสักแล้วยังมีบ้านหลังเล็กๆ ประมาณ 10 หลังเรียงรายกันในพื้นที่ขนาดย่อมๆ สำหรับเปิดให้เช่าพักอีกด้วย

เมื่อเอื้อมมือเปิดประตูสีดำบานใหญ่ทำให้เราได้พบกับทิว-วทัญญู มั่งใหม่ เจ้าของร้าน tattoo underground ที่กำลังหย่อนตัวนั่งบนเก้าอี้ เตรียมความพร้อมให้เราสองคนเรียนรู้เรื่องราวการสักอีกรูปแบบหนึ่งคือการสักแบบศิลปะ

“เขาอาจจะสักเพราะว่าเป็นการบันทึกความทรงจำของเขาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันแล้วแต่ใครจะบันทึกอะไรลงไปในร่างกายของเรา ซึ่งส่วนใหญ่ ถ้านับอดีต…ใช่ แต่ปัจจุบันเป็นแฟชั่นไปแล้ว แต่ก็ยังมีผสมความเป็นเรื่องราวของแต่ละบุคคลอยู่”

จุดเริ่มต้นในการสักของเขาเกิดจากความชอบ จนเลือกเรียนสาขาออกแบบประยุกต์ศิลป์ เขามีโอกาสได้ออกแบบนามบัตรให้กับร้านสักแห่งหนึ่ง ด้วยความสนใจจึงถามเกี่ยวกับการสักกับเจ้าของร้านจึงศึกษาเรื่องการสักอย่างจริงจังและได้ค้นพบว่าเขารักในการสัก แม้ว่าครอบครัวจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทำอยู่ก็ตาม

“ที่บ้านไม่เห็นด้วยเลย ทั้งตระกูล เขาไม่โอเค เพราะว่าที่บ้านจะมีคนรับราชการอยู่ เป็นพยาบาล เป็นหมอ เขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่เป็นข้าราชการ ทำไมไม่ทำอะไรที่มันดูดี เขาคิดถึงว่าคนอื่นจะมองอย่างนั้น คนอื่นจะคิดแบบนี้ แต่ไม่ได้เคยสนใจเลยว่าพี่จะคิดยังไง”

ผู้ชายไร้รอยสักในวันนั้นจึงมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ตัวเอง เวลาผ่านไป 11 ปี เขาเล่าว่าตอนนี้มีทั้งบ้านสวน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ฮาเลย์ฯ และธุรกิจเป็นของตัวเอง

วันนี้เขาเป็นผู้ชายที่ร่างกายเต็มไปด้วยรอยสักตั้งแต่ใบหน้าลงมาจนถึงแขน เพราะคิดว่ารอยสักที่อยู่บนผิวหนังต่างบอกเล่าเรื่องราวของตัวมันเอง แต่ภาพลักษณ์ที่เขาถูกคนอื่นมองมีตั้งแต่สักเยอะ ออกมาจากคุกหรือไม่ หรือมองด้วยสายตาเหยียดหยาม แม้ว่าก่อนหน้าที่จะสัก เขาคิด รู้ และทำใจว่าจะต้องได้รับคำติฉินนินทาและสายตาที่มองเข้ามาแบบที่กำลังเผชิญอยู่

“ถ้าคนเขาไม่ได้หลุดพ้นจากตรงนั้นมามองอีกโลกหนึ่งว่ามันเป็นศิลปะ มันสวยงามได้ แต่เขากลับไปมองเฉพาะกลุ่มเดียวที่เขาเคยเห็น แล้วก็ข่าวทุกวันนี้ก็โครมๆ กัน พวกค้ายา พอตำรวจมาก็จับถอดเสื้อ ถ่ายรูป ภาพจะดูไม่ดีเพราะแบบนั้นแหละ”

ยุคสมัยนี้มีคนยอมรับในการสักมากขึ้น ช่วงวัยของผู้ที่สักเริ่มลดลงไปตามเวลาที่ผ่านพ้น จากเดิมที่ผู้คนมักจะสักหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยกลายเป็นวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ส่วนตัวเขาไม่สนับสนุนให้เด็กสักเท่าไรนัก

“ผมว่ามันเป็นแฟชั่น มันเป็นการลอกเลียนแบบกัน แล้วยุคสมัยนี้ลองสังเกตดูนะ คนอยากทำอาชีพอิสระเยอะขึ้น เพราะพอเขาเป็นเจ้าของกิจการเอง เต็มที่ เขาอยากจะทำอะไรก็ได้ เขาไม่ต้องแคร์ใคร ไม่ต้องถูกเจ้านายมาบอกว่าคุณสักเยอะแล้วนะ ผมว่ามันเป็นแฟชั่นที่ถ้าถามว่าดีไหม ผมก็ไม่สนับสนุนนะ พวกเด็กๆ ที่จะสัก มันลอกเลียนแบบกัน เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมานี่เอง ตรึมเลย เลียนแบบแล้ว มันเป็นการตัดอนาคตตัวเองเลย”

“จริงๆ แล้วการสักมันเป็นเรื่องของสิทธิในร่างกายของเราหรือเปล่า” เราถามกลับ

เพราะสังคมไทยยังมีความเชื่อว่าการสักเป็นเรื่องที่ไม่ดีและเกิดการปลูกฝังสืบต่อมาอย่างนั้น ความคิดเห็นส่วนตัวของเขาคือมันก็ไม่ได้ดีหรือมันก็ไม่ได้แย่ จะตัดสินได้ต้องขึ้นอยู่กับเวลา บุคคล สถานการณ์ต่างๆ ที่จะตอบได้ว่าคนนี้สักดีหรือไม่ดี

“เปรียบเทียบได้เลยกับต่างประเทศ ทหาร ตำรวจ สักได้ แต่คุณต้องทำงานได้ จิตใจคุณต้องได้ด้วย คุณจะเป็นหมอ คุณต้องรักคนไข้ด้วย คุณจะสัก สักไปสิ คุณต้องมีจรรยาบรรณ บ้านเราตอนนี้ ตำรวจ ทหาร หมอ สักกับผมเยอะมาก ทุกคนก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาไม่อยากสักตอนที่เขาต้องสอบ ตอนที่เขาไปสอบ เพราะยังไงก็ไม่ได้ เขาเรียกว่าตำหนิ แต่ต้องสอบติดก่อนค่อยมาสัก เพราะอยู่ในร่มผ้าแล้ว”

เขามองว่าในอนาคตวิธีคิดเหล่านี้อาจจะหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากคนยุคใหม่ขึ้นมารับราชการมากขึ้น

“แค่คนรุ่นใหม่เข้ามาระบบความคิดก็เปลี่ยนแล้ว การสักคิดว่าอาจจะเกลื่อนเลย แต่ว่าอาจจะต้องอยู่ในขอบเขต คนก็อาจจะมีความคิดว่าสักอย่างนี้พอแล้ว ถ้าอย่างนั้นคนจะคิดได้อีกว่าควรจะสักแค่ไหนสำหรับเขาเอง เพราะทุกวันนี้เหมือนกับการห้าม คนแอบทำกันเพียบ ผมคิดว่าเปลี่ยนแน่นอน”

tattoopride04
“สตูดิโอ” ความรู้สึกรอบตัวเปลี่ยนไปทันทีที่กระบวนการสักเริ่มขึ้น เสียงดนตรีเปิดคลอช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เราค่อยๆถูกดึงเข้าไปสู่ความเงียบสงบภายใน กว่าชั่วโมงที่บรรยากาศแห่งสมาธินี้ดำเนินอยู่ ไม่มีการพูดคุย มีแค่เสียงของเครื่องสักดังให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ ช่างสักใช้อุปกรณ์ค่อยๆ เติมสีทีละสีลงในผิวหนัง ทำซ้ำอยู่หลายครั้งจนเติมเต็มภาพด้วยสีสัน ก่อนจะเช็ดทำความสะอาดเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเสร็จงาน

5
รอยสักคือการปิดโอกาสตัวเอง…?

ทุกครั้งที่เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับรอยสัก การสมัครรับเข้าทำงานจะกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่เกิดการพูดถึงอยู่เสมอ

สุรกิตติ์ สิงห์แก้ว Recruitment Consultant ในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เราเปิดประเด็นอย่างตรงไปตรงมาด้วยคำถามว่าเพราะเหตุใดบริษัทถึงไม่รับคนที่มีรอยสักเข้าทำงาน

“ส่วนใหญ่ต้องดูว่าการทำงานขึ้นอยู่กับภาพลักษณ์ บางคนที่มีรอยสักทำให้ดูน่าเกรงขาม หรือขัดกับภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองว่าไม่ดี ไม่สวยงาม บางคนอาจจะมองถึงเรื่องของความสกปรกเสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกรังเกียจได้”

เขาตอกย้ำถึงภาพลักษณ์ของรอยสักในประเทศไทยที่มีภาพลักษณ์ไม่ได้ดีนัก จากความเชื่อที่ถูกสืบทอดต่อกันมาว่าคนที่สักเป็นพ่อมด หมอผี นักเลง หรือคนที่อยู่ในคุก ซึ่งรอยสักจะเป็นสิ่งที่สะท้อนบุคลิก นิสัย และความเชื่อของผู้สัก

“ในเบื้องต้นเรารับรู้ว่ามันต่างกันระหว่างสักเพื่อความเชื่อกับสักเพื่อความสวยงาม แต่ในสังคมไทยยังคงมองในแง่ลบมากกว่าด้านบวก เพราะฉะนั้นบางสิ่งถ้ามันไม่มีเลยมันจะดีกว่า เพราะเราจะได้ไม่ต้องค้นหาว่าคนนี้มีภาพลักษณ์อะไรที่ติดตัวมา หรือลักษณะนิสัยเขาเป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงต้องไปสัก บางทีอาจจะสักเพราะความชอบหรือมากกว่านั้นก็ได้ มันทำให้คนเกิดคำถามขึ้นมามากกว่าที่เราจะเจอกับคนที่ไม่มีรอยสัก สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่คนมอง ถ้าคนที่สัมภาษณ์เขามองว่าภาพสักเป็นศิลปะจริงๆ เขามองว่าสวยงาม อาจจะเฉยๆ แต่ถ้าทางกลับกันเขาไม่ชอบคนที่มีรอยสัก สุดท้ายเขาก็มองแย่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นรอยสักแบบไหน”

“คิดว่ารอยสักเป็นการปิดโอกาสในการทำงานได้ไหมคะ” เรายังคงสงสัยในประเด็นนี้

“จะว่าอย่างนั้นก็ได้ครับ” เขาตอบด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ “ในเมื่อสังคมส่วนใหญ่ยังไม่เปิดรับมากนัก หรือโครงสร้างส่วนบนที่เขาเป็นผู้ปกครองอยู่เขาไม่รับ เพราะคนส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นเก่า เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปิดโอกาสได้มากกว่า ถือเป็นการปิดโอกาสเสียด้วยซ้ำ”

เขามีความคิดเห็นว่าหลายบริษัทเริ่มมีการเปิดกว้างต่อการสัก ถ้าไม่ได้เปิดเผยอย่างเห็นได้ชัด อยู่ในร่มผ้าสามารถรับได้อยู่แล้ว แต่บริษัทสายงานบริการยังคงมีกำแพงต่อเรื่องนี้ แม้ว่าอาจจะข้ามผ่านไปได้ในอนาคตก็ตาม

หลังได้รับฟังคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสักและฝ่ายทรัพยากรบุคคล นักสารคดีมือใหม่ได้รับความรู้และบทเรียนหนึ่งที่สำคัญสำหรับพวกเรา

สุดท้ายแล้วทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เราจะมอง

kanyanat

กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์
จากเด็กกรุงเทพฯ บินลัดฟ้าไปเชียงใหม่เพื่อเป็นนักศึกษาสังกัดคณะเศรษฐศาสตร์ เอาแต่กิจกรรมด้านสื่อสารมวลชน สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ สมัยเรียนทำกิจกรรมอย่างบ้าคลั่งเพราะอยู่เฉยๆ ไม่ได้จากการเป็นโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ มีงานอดิเรกคือเดินแก้ฟุ้งซ่านไปวันๆ

nattaporn

ณัฐพร ทองมา
อดีตนักศึกษาจิตวิทยา ที่ลองผิดลองถูกกับความชอบของตัวเองมาหลายอย่าง ปัจจุบันกำลังฝึกเป็นนักเล่าเรื่องมือสมัครเล่น ควบคู่กับทำงานด้านดูแลพัฒนาการเด็ก