ช่อฟ้า-ฉ้อฟ้า : สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 89

ตามนิยามศัพท์สถาปัตยกรรมไทย “ช่อฟ้า” หมายถึง

“…ชื่อขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมส่วนที่เป็นเครื่องประดับปลายหลังคา นั่งอยู่บนอกไก่ตรงส่วนที่ไม้ตัวรวยหรือไม้นาคสำรวยมาบรรจบกัน ช่อฟ้านี้มีรูปลักษณะคล้ายหัวพญานาคปลายแหลม…” (จากหนังสือ “พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง” ของอาจารย์โชติ กัลยาณมิตร)

หากแต่เมื่อลองศึกษาสถาปัตยกรรมในประเทศเพื่อนบ้านดูบ้าง เรากลับพบว่าองค์ประกอบเดียวกับที่ช่างไทยเรียกกันว่า “ช่อฟ้า” ในศิลปะลาวหรือศิลปะล้านช้าง เขาเรียกว่า “โหง่” (บางท่านสะกดเป็นอักษรไทยว่า “โหง่ว” ก็มี)

แต่ยิ่งไปกว่านั้น ในศัพท์สถาปัตยกรรมลาวล้านช้างมีคำว่า “ช่อฟ้า” แต่กลับไปหมายถึงรูปปราสาท (อาคารหลังคาซ้อนชั้นยอดแหลม) ขนาดเล็ก ประดับบนกึ่งกลางสันหลังคาโบสถ์วิหาร และในกรณีที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่ง (เช่น ๕ หรือ ๗) รูปปราสาทเหล่านี้ก็มักเรียงแถวลดหลั่นลำดับความสูงจากกึ่งกลางหลังคาลงไปทั้งทางด้านหน้าและหลัง

คติการประดับตกแต่งกึ่งกลางสันหลังคาอุโบสถด้วยรูปปราสาทจำลองแบบเดียวกันนี้ พบแพร่หลายทั้งในเขตภาคอีสานและล้านนาของไทย ลาว ขึ้นไปจนถึงในสิบสองปันนาทางภาคใต้ของจีน

ที่คนไทยเคยเห็นกันจนคุ้นตาก็ได้แก่ “ช่อฟ้า” บนสันหลังคา “สิม” (อุโบสถ) วัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

แน่นอนว่า รูปปราสาท “ช่อฟ้า” ย่อมมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุที่เป็นแกนกลางจักรวาล และเขาสัตตบริภัณฑ์ซึ่งแวดล้อมอยู่

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ รูป “ช่อฟ้า” แบบนี้ก็คือการถ่ายทอดภาพเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์แบบ “ตัดขวาง” อย่างที่ทำในงานจิตรกรรม ให้กลายเป็นประติมากรรมประดับสันหลังคา

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนถูกมองข้ามไปก็คือ เหตุใดสิ่งนี้จึงเป็น “ช่อฟ้า” หรือเป็นช่อของฟ้าอย่างไร

ผู้เขียนขอเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ในภาษาไทยภาคกลางปัจจุบันสะกดคำนี้ผิด ทำให้สืบกลับไปหาความหมายดั้งเดิมไม่พบ

เพราะแท้จริงแล้ว คำนี้ควรต้องสะกดว่า “ฉ้อฟ้า”

“ฉ้อ” ในที่นี้ มิได้มีความหมายว่าคดโกง หากแต่เป็นคำเดียวกับ ฉ ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า หก (๖) อย่างในเทศน์มหาชาติเวสสันดรก็มีกัณฑ์ที่ ๑๒ คือ “ฉกษัตริย์” หมายวงศ์กษัตริย์ทั้งหกพระองค์ที่พลัดพรากจากกันไป คือพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี กัณหาและชาลี ได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง

“ฉ้อฟ้า” จึงมีความหมายถึงสวรรค์ทั้งหกชั้น คือ “ฉกามาพจรเทวโลก” ไล่จากจาตุมหาราชิกา-ดาวดึงส์-ยามา-ดุสิต-นิมมานรดี ขึ้นไปจนถึงปรนิมมิตวสวัตดี

การใช้คำว่าช่อฟ้า/ฉ้อฟ้า ตามความหมายนี้ มีปรากฏมาแล้วในวัฒนธรรมล้านนาเมื่อ ๕-๖๐๐ ปีมาแล้ว เช่นใน “โคลงนิราศหริภุญชัย” ก็มีโคลงบทหนึ่งว่า “จากเจียรช่อฟ้าโลกย์ ลงดิน ดาฤๅ” เป็นการกล่าวสรรเสริญความงามของพระอาราม ว่าเหมือนกับชะลอจากสวรรค์ชั้นฟ้า (หกฟ้า หกชั้น) ลงมาไว้บนพื้นดิน ซึ่งเป็นขนบเดียวกับที่นายนรินทร์ธิเบศร์ ชมกรุงเทพฯ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ใน “นิราศนรินทร์” ว่า “อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ” นั่นเอง

ดังนั้น “ช่อฟ้า” ในศิลปะลาวล้านช้างที่อยู่กึ่งกลางหลังคาอุโบสถ จึงน่าจะมีความหมายดั้งเดิมว่าเป็นสถานที่ตั้งของสวรรค์หกชั้น อันอยู่เหนือเขาพระสุเมรุขึ้นไป

แต่ “ช่อฟ้า” อย่างไทย จะไปเกี่ยวข้องกับ “ฉ้อฟ้า” ทางไหนนั้น ก็คงต้องปล่อยให้เป็นปริศนากันต่อไป เพราะหากค้นดูในเอกสารโบราณ ไทยกลางก็เคยสะกดคำ “ช่อฟ้า” ว่า “ฉ้อฟ้า” มาก่อนเหมือนกัน ดังที่ในหนังสือ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง” ตอนหนึ่งเล่าเรื่องโรงช้างหลวงในกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นอาคารก่ออิฐ หลังคามุงกระเบื้อง และ “มีฉ้อฟ้าหางหงษทาแดงทุกโรง ช้างพลายยืนในโรงฉ้อฟ้าโรงละตัว”

ยิ่งไปกว่านั้น “สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังทรงเคยมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร เมื่อปี ๒๔๘๔ (ต่อมาพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม ๔”) ว่าทรงสงสัยเรื่อง “ช่อฟ้า” มาก เพราะ“ช่อฟ้าอย่างที่ฟันเปนทีหัวนาคชะโงกออกมานั้น เก่าขึ้นไปไม่พบเลย มีแต่ของใหม่…”

เรื่องราวในโลกนี้ยังมีอีกมากมายให้เราศึกษาค้นคว้ากันต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด