ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


blue sky2 1

ระบบจักรวาลพุทธเถรวาทอันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางนี้ ผู้เขียนขอตั้งชื่อเรียกเอาเองว่า “สุเมรุจักรวาล” โดยล้อจากคำ “สุริยจักรวาล” อันหมายถึงจักรวาลแบบที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง

ความรู้ภูมิศาสตร์ฉบับสุเมรุจักรวาลนี้ มีที่มาจากคัมภีร์ในทางพุทธศาสนา กลุ่มที่เรียกรวมๆ ได้ว่า “คัมภีร์โลกศาสตร์” ซึ่งเล่มที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุด คงเป็น “ไตรภูมิพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์สุโขทัย

แต่อันที่จริงยังมีคัมภีร์กลุ่มนี้อีกหลายฉบับที่กล่าวถึงรายละเอียดของภูมิศาสตร์ชุดสุเมรุจักรวาลไว้อย่างลุ่มลึกมาก เช่น ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี จักกวาฬทีปนี ฯลฯ

ในสังคมไทยภาคกลางยุคโบราณ สุเมรุจักรวาลถือเป็นความรู้พื้นฐานระดับ “ขึ้นใจ” ในกลุ่มของ “ผู้มีการศึกษา”

ส่วนหนึ่งอาจเพราะการศึกษาในสยามยุคก่อนสมัยใหม่มีรากฐานมาจากการบวชเรียนในวัด ความรู้ด้าน “สุเมรุจักรวาล” จึงซึมซาบอยู่ทั่วไปจนกลายเป็นกรอบในการมองโลก เช่นที่สุนทรภู่รำพันไว้ใน นิราศภูเขาทอง ว่า

มาถึงบางธรณีทวีโศก ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น
โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา

ตัวเลข “สี่หมื่นสองแสน” หรือ ๒๔๐,๐๐๐ นี้ ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขที่จินตนาการขึ้นมาลอยๆ หรือแค่ “กลอนพาไป” แต่เป็นความหนาของแผ่นดิน (สุธา/พสุธา) ซึ่งมีหน่วยเป็น “โยชน์” ตามคัมภีร์โลกศาสตร์เป๊ะ!
ถ้าลองเทียบเป็นมาตราเมตริกแบบที่ใช้กันทั่วไป คือ ๑ วา เท่ากับ ๒ เมตร ความหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ จะเท่ากับ ๓,๘๔๐,๐๐๐ กิโลเมตร หรือคิดเป็น ๑๐ เท่า ของระยะทางจากโลกไปถึงดวงจันทร์ (๓๘๔,๔๐๐ ก.ม.) เลยทีเดียว!

แม้ว่าท้องฟ้าเมื่อหลายร้อยปีก่อนก็คงเป็นสีฟ้า ปุยเมฆสีขาว ผืนแผ่นดินที่มองเห็นก็กว้างไกลสุดตาไม่ต่างกับเดี๋ยวนี้ แต่เมื่อความรับรู้ต่างกันไป “โลก” ของเขาในอดีตกับยุคของเราจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ครั้นพอวิทยาการตะวันตกและดาราศาสตร์สมัยใหม่อย่างฝรั่งแพร่หลายเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ ความรู้ภูมิศาสตร์โบราณอันอิงแอบอยู่กับพุทธศาสนาและการศึกษายุคเก่านี้จึงยังคง “ฝังหัว” คนรุ่นเก่าอยู่มาก จนยากที่จะเปลี่ยนแปลง เช่นในบทความเรื่อง “ลายลักษณ์พระบาท” ที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ (ต่อมาเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ๒๔๐๓-๒๔๕๘) ทรงเขียนลงพิมพ์ในนิตยสาร “วชิรญาณวิเศษ” เมื่อปี ๒๔๓๔ ได้ “ยั่วล้อ” ทัศนคติของ “ท่านแต่ก่อน” ไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ไอ้พื้นแผ่นดินที่เราอยู่นี่อิกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เขาก็ถือตามฝาหรั่งมังค่าเสียมากแล้วนะ เขาว่าโลกกลมโลกหมุน ฮะ ฮะ ฮะ ขันมาก ชั่งเชื่อกันไปได้ โลกหมุนละก้อหมีหกคะเมนหัวหกก้นขวิดไปละหรือ จะนั่งอยู่ยังงี้ได้ที่ไหน เอ๊อ เชื่อถือกันผิด ๆ ไปต่าง ๆ น่ะแหละ…”

blue sky