เรื่อง : นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
ภาพ : ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์

บ้านปลายเนิน ตำหนักสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กับการบูรณะครั้งใหญ่

ในวันนี้ที่บ้านเมืองเรามีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ จะวิเศษสักแค่ไหนถ้าเราได้มีโอกาสเห็นว่าในยุคบุกเบิกประเทศนั้น ผู้ที่รังสรรค์ให้กรุงเทพฯ งดงามอย่างเมืองสวรรค์นั้นท่านใช้ชีวิตอย่างไร ทำงานอย่างไร จะได้เห็นต้นฉบับภาพร่างลายฝีพระหัตถ์ของท่าน

วันนี้ฉันมีนัดพิเศษที่นั่น “บ้านปลายเนิน”

“บรรยายความตามไท้ เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสัณฑ์ น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น
ไม้ไร่หลายพันธุ์ คละขึ้นปะปน ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโกรกธาร น้ำพุพุ่งซ่าน ไหลมาฉาดฉาน
เห็นตระการ มันไหลจอกโครมจอกโครม มันดังจ้อกจ้อก จ้อกจ้อก โครมโครม…”

ทันทีที่เดินเลี้ยวผ่านทางเข้าด้านหน้ามาก็แว่วเสียงเพลงเขมรไทรโยค ท่วงทำนองรื่นหู ทำหน้าที่ต้อนรับเราอย่างอ่อนหวาน

บทเพลงไทยเดิม ๓ ชั้นนี้เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ท่านเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้แตกฉานในงานช่างศิลป์และการประพันธ์ จึงได้รับการถวายสมญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ผู้ที่สนใจศึกษางานช่างศิลป์ให้ความเคารพท่านในฐานะทรงเป็น “สมเด็จครู”

เดิมทรงประทับที่วังท่าพระ จวบเมื่อประชวรด้วยโรคพระหทัยโตและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์จึงทูลเชิญให้เสด็จมาพักตากอากาศที่ตำบลคลองเตย เมื่อเสด็จมาแล้วรู้สึกทรงพระสำราญด้วยมีอากาศโปร่งบริสุทธิ์ จึงทรงหาซื้อที่นาริมคลองแปลงหนึ่ง และซื้อเรือนไทยที่เจ้ารื้อขายมาปลูกเป็นตำหนัก แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงทรงย้ายจากวังท่าพระมาประทับที่ตำหนัก ณ ตำบลคลองเตย ทรงเรียกตำหนักนี้ว่า “บ้านปลายเนิน”

ปัจจุบันสถาปัตยกรรมที่สำคัญในบ้านปลายเนิน ได้แก่ ตำหนักไทย ตำหนักตึก เรือนคุณย่า เรือนละคร และทางเสด็จพระราชดำเนินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เคยเสด็จฯ มาทรงเยี่ยม “สมเด็จปู่”

plainern01 e1569910141183

ทีมสถาปนิกอนุรักษ์ (ขวาไปซ้าย) ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน และ ผศ.ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี

plainern02

รังชันโรงที่อยู่ตามมุมต่างๆ ของเรือน

plainern03

ตำหนักไทยส่วนหน้า สังเกตองศาที่เหินขึ้นบริเวณปลายหลังคาที่บันได และบันไดหน้านี้ยังเป็นของเก่าที่สมเด็จครูออกแบบเอง ทรงบันทึกไว้ว่า บันไดที่เดินขึ้นลงได้สบาย ต้องใช้สูตร ๖๐ คือ คำนวณด้วยสมการ “ลูกตั้งคูณสองบวกลูกนอนเท่ากับหกสิบเซนติเมตร” โดยเลข ๖๐ มาจากค่าเฉลี่ยการก้าวเดินอย่างสบายๆ ของมนุษย์

plainern05

ตำหนักไทยด้านหลัง เราจะเห็นส่วนสีส้มคือส่วนที่ซ่อมแซมใหม่ และเสาเรือนที่ใช้ของใหม่โดยทาสีเทา

plainern04

ห้องท้องพระโรงบนตำหนักไทย โต๊ะหมู่บูชาของที่นี่จะไม่ใช้พระพุทธรูปแบบบ้านอื่นๆ แต่ใช้ภาพพระพุทธเจ้าตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ เป็นภาพที่สมเด็จครูทรงสร้างสรรค์ขึ้น และคาดว่าเป็นงานศิลปะประเภทสื่อโลหะผสม (mix media art) ภาพแรกในไทย, ตู้ใส่หนังสือด้านล่าง ออกแบบโดยหม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ และประติมากรรมหินอ่อนสีแดงแกะสลักรูปเหมือนของสมเด็จครู โดย ศ.ศิลป์ พีระศรี

ชันโรง

ความร่มเย็นของพรรณไม้รอบตำหนักไม่อาจช่วยดับความกระหายของฉันที่จะเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ได้เข้าชม “ตำหนักไทย” ภายหลังการปิดบูรณะตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้เลย แม้ตำหนักไทยจะผ่านงานซ่อมแซมมาบ้าง แต่ครั้งนี้ถือเป็นการซ่อมครั้งใหญ่ในรอบ ๕๐ ปีทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แถมยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะไปหมด ราวกับว่าถ้านักเรียนสถาปัตยกรรมไทยคนใดได้มาฝึกงานกับทีมสถาปนิกที่นี่อาจจะได้ประสบการณ์จนสามารถรับใบประกาศนียบัตรจบการศึกษาได้โดยไม่ต้องสอบ

ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์, ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน และ ผศ.ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี ทีมสถาปนิกอนุรักษ์ เดินนำเราผ่านใต้ถุนตำหนักไทยไปยังมุมที่อยู่ของสมาชิกตัวสำคัญของตำหนัก  “รังชันโรง”

ก่อนที่ความสงสัยจะขมวดเป็นปมใหญ่ไปกว่านี้ ดร.ยุวรัตน์ได้ช่วยคลี่คลาย

“แนวความคิดในการซ่อมแซมตำหนักไทย อย่างแรกเลยเราต้องรองรับผู้ใช้เดิม คือ ลูกหลานราชสกุล บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาใช้งานสะดวก แต่เรามี user หนึ่งคือชันโรงด้วย สิ่งแรกที่ศึกษาคือดูก่อนว่าเขาอาศัยอยู่มุมไหนของตำหนักบ้าง แล้วถ้าจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างออกก็พยายามเอาออกให้น้อยที่สุด ใช้วิธีเก็บรังของเขาไว้ ช่วงแรกอาจตื่นกลัวทิ้งรังหนีไปอยู่ตามต้นไม้ใหญ่รอบๆ แต่ไม่นานก็กลับมาอยู่รังเดิม เราปล่อยให้เขางอกรัง แล้วค่อยปิดให้เหลือทางเข้าทางเดียวในแต่ละจุด”

ทำไมชันโรงตัวเล็กๆ จึงมีความสำคัญกับบ้านปลายเนินขนาดนี้?

ความสงสัยของฉันทำหน้าที่อีกครั้ง และได้รับคำตอบว่า เป็นภูมิปัญญาของช่างไม้โบราณที่แนะนำสืบต่อกันมาว่า ชันโรงสามารถป้องกันบ้านเรือนจากปลวกได้!

ป้องกันได้อย่างไรล่ะนี่? เมื่อสืบค้นให้ลึกขึ้นจึงพบว่าชันโรงสกุล Trigona apicalis และ Trigona collina จะใช้ดินจากรังปลวกมาสร้างรังและอาศัยรังปลวกเก่า รวมทั้งมีนิสัยชอบทำความสะอาด คือจะคาบตัวหนอน ดักแด้ ออกมาทิ้งนอกรัง กลายเป็นอาหารนกอาหารไก่ไป แมลงทั้งสองจึงนับว่าเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติ

 
plainern06 e1569910153109

ทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ไปเยี่ยม “สมเด็จปู่”

 

 

plainern07

ตำหนักตึก คาดว่าถูกสร้างขึ้นด้วยการใช้สามเกลอ หรือแรงคนตอกเสาเข็มซึ่งเป็นท่อนซุง เป็นอาคารหลังสุดท้ายที่สมเด็จครูประทับในช่วงบั้นปลายและสิ้นพระชนม์ ส่วนหน้าที่ยื่นออกมาชั้นสองเป็นห้องบรรทมของท่าน พระทายาท และทายาท ได้พบว่าเป็นห้องที่เปรียบเสมือนไทม์แคปซูล เพราะมีการเก็บรักษาทั้งของใช้ส่วนพระองค์และศิลปะวัตถุทรงสะสมไว้มากมาย รวมทั้งภาพร่างฝีพระหัตถ์ที่ต้องให้ความถี่ถ้วนในการสำรวจ

plainern08

ศาลาริมน้ำที่ยังคงเป็นของเดิม

หลังคา

ย้อนกลับมาที่ใต้ตำหนักไทยอีกครั้ง ทีมสถาปนิกพาเราเปลี่ยนอิริยาบถไปทางอ่างบัวใต้หน้าต่าง ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นโครงสร้างต่างๆ ของตัวเรือนอย่างชัดเจนทั้งบนและล่าง
คุณยุวรัตน์เริ่มเล่าต่อว่า

“สิ่งแรกที่เข้ามาซ่อมคือหลังคา เป็นปัญหาหลัก มีใบไม้ลงไปอยู่ในรางน้ำ แล้วมันไม่มีทางปีนขึ้นไป เพราะฉะนั้นต้องเอารางน้ำออกให้หมดก่อน แต่ต้องมีส่วนใช้งานเชื่อมระหว่างสามเรือน ต้องคิดวิธีแก้ใหม่โดยทำหลังคาให้แบนที่สุด รับน้ำจากหลังคาเรือนไทยทั้งหมดแล้วให้มันพุ่งออก เพื่อแก้ปัญหาน้ำที่สาดเข้ามา โดยเพิ่มความเหินของหลังคาทั้งหมด”

“จุดที่เห็นชัดที่สุดจะเป็นบันไดหน้า ทุกคนจะถามว่าไม้แผ่นสุดท้ายทำไมถึงไม่อยู่ในระดับลาดเดียวกันกับหลังคา เพราะเวลาที่ฝนตกจะมีลมหอบน้ำที่ตกลงกลับเข้ามาในตัวเรือน เราทำให้เกิดองศางัดขึ้นไปนิดหนึ่ง ทำให้ระยะของน้ำวิ่งออกไปไกลจากตัวเรือนมากขึ้น เป็นของหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย” ผศ.ฐิติวุฒิกล่าวเสริมให้เราเห็นภาพชัดขึ้น

ถึงแม้จะหาทางแก้ไขเรื่องหลังคาไว้ถึงขนาดนี้ แต่ก็ใช่ว่าปัญหาจะจบลงโดยง่าย เนื่องจากวัสดุมุงหลังคาเป็นแป้นเกล็ดซึ่งอย่างไรก็มีโอกาสที่น้ำจะซึมเข้าไปได้อยู่แล้ว ทีมสถาปนิกจึงป้องกันด้วยการเจาะรูที่ฝ้าเพดานประมาณหนึ่งคืบ เจาะอันเว้นอันเพื่อให้เป็นรูระบายลดการขังของน้ำบนฝ้า ร่วมกับการใช้เทคนิคแฟลชชิ่ง (flashing) ที่ใช้สังกะสีป้องกันน้ำซึมลงฝ้า

plainern09

วันนี้เป็นวันแรกที่ทางบ้านปลายเนินดำเนินนโยบาย “zero waste” โดยจัดให้มีการแยกประเภทขยะ และถุงดำใส่ขยะนั้นทำมาจากมันสำปะหลังซึ่งย่อยสลายได้

สีส้ม

มีหลายจุดของการซ่อมแซมที่ผู้เข้าชมจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากสีที่แตกต่างจนเห็นได้ชัด

ไม่ใช่ความไม่เนี้ยบของช่าง แต่มาจากแนวคิด “reuse material” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของที่นี่ ที่ทายาทของราชสกุลได้ซ่อมแซมกันมาในแต่ละยุค ทีมสถาปนิกลงความเห็นว่ามันคือความเรียบง่าย จึงนำมาเป็นแนวคิดหลักในการซ่อมแซม เลือกที่จะใช้ไม้เก่า เอาชิ้นส่วนเดิมที่ยังใช้ได้ใส่เข้าไปให้หมด

“เดิมแป้นเกล็ดถูกใช้มาแล้วรอบหนึ่งและโดนพลิกไปแล้วรอบหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นของเก่าจริงเราจะเอาไปเก็บไว้บนยอดจั่ว ของใหม่จะไปอยู่ตรงเชิงชาย เพราะว่าความลาดเอียง ที่ชันความเสียหายจากความชื้นของวัสดุจะช้ากว่า แต่ตรงพาไลนั้นเสียหายทั้งหมดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนของใหม่ แล้วเอาของเก่าที่ใช้ได้กลับขึ้นมา” ผศ.ฐิติวุฒิอธิบาย

“พวกแบบที่เข้าฝ้า อย่างไม้มอบฝ้าเอามาจากไม้เก่า เราตั้งใจว่าจะอวดสีผิวไม้สักทองอายุเกิน ๑๐๐ ปี ที่ไม่มีใครเคยเห็น แต่พอขูดสีเก่าที่ทาออกก็พบว่าฝามันไม่เหมือนกันในแต่ละด้าน ปรากฏว่าไม้บางแผ่นมีร่องรอยไฟไหม้ด้วย อย่างที่บอกว่าท่านใช้ฝาเก่ามาปิด

“ส่วนในเรื่องสี ถ้าเป็นเรือนไทยปรกติพวกคิ้วพวกขอบทั้งหมดจะเป็นสีเข้มแล้วตรงหน้าจั่วจะเป็นสีอ่อน แต่หลังจากลองเทียบดูแล้ว ที่นี่ปั้นลมและเชิงชายจะเป็นสีอ่อนกว่า และหน้าจั่วจะเป็นสีเข้ม ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นเคยกับสมาชิกในราชสกุลที่เห็นมานานแล้ว เราจึงคิดว่าจำเป็นต้องเก็บไว้ ไม่ต้องกลับไปในยุคแรก แต่จะต้องเล่าเรื่องราวของแต่ละเจเนอเรชันให้ได้

“ส่วนการจะบอกว่าอันไหนเก่าอันไหนใหม่ใช้สีส้มเป็นตัวแยก มาจากสีส้มของหม่อมเจ้ายาใจที่ใช้บูรณะครั้งที่แล้ว เราก็เอาสีนั้นไปเทียบ อย่างผนังอิฐเนี่ยจริงๆ แล้วมีเบเดียว (ช่วงเสาเดียว) ตอนนี้เราเพิ่มเป็นสองเบ (สองช่วงเสา) เราก็ทาสีส้มเพื่อให้แยกได้ว่าจุดที่มีสีส้มทั้งหมดคือจุดที่ปรับปรุงจากของเก่า” ดร.ยุวรัตน์ ชี้ให้เราดูจุดสีส้มสะดุดตา แต่มันกลับเข้ากันได้ดีกับบ้านโบราณอย่างประหลาด

 

……….

ยังมีลายละเอียดอีกมากที่ใช้เวลาเล่าเพียงวันเดียวคงไม่หมด ทั้งส่วนที่เสร็จไปแล้ว และส่วนที่ทางทีมสถาปนิกตั้งใจว่าจะปล่อยให้ความคิดตกผลึกเสียก่อนค่อยจัดการ อย่างห้องน้ำบนตำหนักไทยซึ่งสวยงามและจัดสัดส่วนได้ล้ำยุคแบบแนวคิดสมัยปัจจุบันได้อย่างน่าอัศจรรย์ในความอริยะของ “สมเด็จครู”

ปัจจุบันบ้านปลายเนินได้รับการบูรณะไปแล้วกว่า ๘๐%แม้จะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการ แต่คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของอาคารในพื้นที่ ๑๓ ไร่ ก็เปรียบเทียบได้กับสมบัติของชาติซึ่งหน้าที่ปกป้องดูแลไม่ใช่เพียงราชสกุลจิตรพงศ์แล้ว หากเป็นของคนไทยทุกคน

หมายเหตุ

ปัจจุบัน “บ้านปลายเนิน” เป็นที่อยู่อาศัยของพระทายาทและทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ และยังเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นสำหรับรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ เพื่อให้เกียรติและสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นิสิต นักศึกษา และนักเรียนทั่วประเทศ ในการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยศิลปะไทยทุกประเภท

บ้านปลายเนินเปิดให้เข้าชมทุกวันที่ ๒๙ เมษายน และมีพิธีมอบรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ในวันเดียวกัน

ขอขอบคุณวิทยากร

  • หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์
  • หม่อมหลวงจิตตวดี จิตรพงศ์
  • หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์
  • และทีมงานกิจกรรม WALK WITH THE CLOUD 15

อ้างอิงเอกสารเพิ่มเติม

  • พนัญญา พบสุข และ สาวิตรี มาไลยพันธุ์. 2550. ชีววิทยาของชันโรงสกุล Trigona และสกุล Hypotrigona ในโครงการทองผาภูมิ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. รายงานการวิจัยในโครงการ BRT. หน้า 327-335.
  • หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์. 2547. ก้าวสู่ควอเตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต เล่ม 1. 160 หน้า.
  • เอกสารประกอบกิจกรรม บ้านปลายเนิน WAKL WITH THE CLOUD 15