ตะลุยห้วงอวกาศ  ผ่านหอดาราศาสตร์สองทะเล

ทำไมต้องเรียนรู้ดาราศาสตร์ ? เราดูดาวกันไปทำไม ?

อย่างพื้นฐานคือช่วยเปิดโลกการศึกษาของเด็ก ๆ เพราะดาราศาสตร์เป็นสาขาของวิทยาศาสตร์

เมื่อเติบใหญ่พวกเขาอาจบูรณาการความรู้สาขาอื่น ๆ มาใช้ศึกษาวัตถุท้องฟ้า เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่แก่ชาวโลก อย่างแผนที่เดินเรือ ปฏิทิน นาฬิกา แว่นกันแดด ไมโครเวฟ อินเทอร์เน็ตไร้สาย กล้องที่มีเซนเซอร์รูปภาพแบบ CCD ฯลฯ ล้วนเกิดจากนักดาราศาสตร์คิด-ทำก่อนจะมีผู้พัฒนาต่อให้คนทั่วไปใช้

แต่ถึงดาราศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ผู้คนก็ยังไม่ค่อยรู้ความสำคัญ

ความท้าทายจึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้การดูดาว-วัตถุท้องฟ้าน่าสนใจ

“หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” จึงกำเนิดตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างหอดูดาวภูมิภาคห้าแห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเห็นคุณค่า “วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี” พื้นฐานขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้า

ผ่านเรื่องน่าตื่นตาของดาราศาสตร์จากศูนย์เรียนรู้เต็มรูปแบบใกล้บ้าน

observatory

หอดูดาวฯ สงขลา ของดีปักษ์ใต้

เป็นความภูมิใจของชาวใต้นับแต่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒

ไม่เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค ยังเป็นศูนย์ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับกำหนดเวลาที่ใช้ในพิธีทางศาสนาของอิสลาม อย่างการสังเกตดวงอาทิตย์เพื่อกำหนดเวลาละหมาด หรือสังเกตดวงจันทร์เพื่อกำหนดเดือนสำคัญของชาวมุสลิม

“ที่ผ่านมานักเรียนจากอำเภอสุไหงโก-ลกต้องไปดูดาวที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งค่าเดินทางสูงเกินกว่าที่ครูจะพาไปได้ทั้งโรงเรียน เมื่อสงขลามีหอดูดาวมาตรฐานสากลแห่งแรกใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ จึงช่วยเปิดกว้างให้ทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม”

observ songkla20

เฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา สงขลา หมายรวมถึงโอกาสที่เด็ก ๆ จะได้ฝึกทักษะการคิดอย่างมีตรรกะและหลักการรองรับแบบวิทยาศาสตร์ผ่านปรากฏการณ์รอบตัว อย่างเมื่อเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้าก็จะรู้จักตั้งข้อสงสัยและใช้องค์ความรู้ดาราศาสตร์หาคำตอบว่าจะเป็นอะไรได้มากกว่าความเชื่อเรื่องยานบินมนุษย์ต่างดาว

เมื่อสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาสังคมของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงเกิดเป็นความร่วมมือสนับสนุนภารกิจมาแต่ปี ๒๕๖๐

“เราเป็นบริษัทพลังงานที่มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทย จึงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาโดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม”

คมสันต์ โอ๊ยนาสวน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้เหตุผลที่องค์กรสนับสนุนงบกว่า ๑๙ ล้านบาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยหลายอย่างที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และเน้นออกแบบนิทรรศการความรู้ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส-ทดลองอย่างใกล้ชิด

นอกจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่-เล็กและเครื่องมือประดามีสำหรับงานวิจัย ภายใน “อาคารนิทรรศการ” ที่เล่าปรากฏการณ์ธรรมชาติและความรู้ดาราศาสตร์คล้ายพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมให้คนทั่วไปได้เยี่ยมชม ยังตรึงตาด้วยสิ่งจัดแสดงล้ำสมัยอย่างเครื่อง cloud chamber นำเข้าจากประเทศอาร์เจนตินาไว้สำหรับตรวจจับอนุภาครังสีคอสมิก (cosmic ray) ที่ทะลุอาคารลงมา ปรากฏเป็นเส้นสายเคลื่อนไหวบนจอฉายภาพซึ่งเปิดใช้งานตลอดให้ผู้มาเยือนมีโอกาสได้เห็นตามสภาพเวลาที่ตนยืนอยู่ขณะนั้น

ราคาหลักล้านไม่ทำให้ตาวาวเท่ารู้ว่าทั่วไทยอาจมีเครื่องขนาดใหญ่นี้ไม่เกินสามเครื่อง

“เรายินดีสนับสนุนเพราะอยากกระจายศักยภาพทางวิชาการให้เข้าถึงเยาวชนในภาคใต้ และส่งเสริมให้สงขลาเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ของภูมิภาค เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พี่น้องชาวใต้ได้ภาคภูมิใจ”

observ songkla05

ตื่นตาท้องฟ้าจำลอง-ของจริง

น่าภูมิใจว่าหอดาราศาสตร์สองทะเลแห่งนี้เคยได้ต้อนรับหลายบุคคลสำคัญ

หนึ่งในนั้นคือ ดอกเตอร์พอล โฮ ผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์กล้องโทรทรรศน์ เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ ฮอไรซัน ที่บันทึกภาพหลุมดำครั้งแรกของโลก

เพราะหอดูดาวนี้ตั้งอยู่บริเวณละติจูด ๗ องศาเหนือ ใกล้เส้นศูนย์สูตรซึ่งเชื่อมต่อระหว่างซีกเหนือและซีกใต้มากสุดจึงศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดี ยกตัวอย่าง ดาวเหนือจะอยู่ตำแหน่งเส้นขอบฟ้าพอดี ถ้าดูดาวจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ละติจูดที่สูงขึ้นทำให้ตำแหน่งดาวเหนือสูงตาม เส้นศูนย์สูตรฟ้าใต้จึงขยับลงให้เห็นดวงดาวทางซีกฟ้าใต้น้อย นี่เป็นข้อดีของหอดูดาวฯ สงขลาที่เห็นดาวทางซีกฟ้าใต้ชัดเจนกว่าที่อื่น

รวมถึงท้องฟ้าภาคใต้ยังเอื้อให้สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงฤดูฝนของไทยตอนบน และสงขลายังเหมาะมากหากต้องการถ่ายภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกแบบเห็นจุดกึ่งกลาง

observ songkla06

แม้ในเวลาที่ท้องฟ้าสงขลายังไม่ลาดวงอาทิตย์ ก็ไม่ใช่ปัญหาของการดูดาวราตรี

เพราะภายใน “อาคารฉายดาว” มี “โดมฉายดาว” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบ full dome digital ความละเอียด ๒๕ ล้านพิกเซล ด้วยเทคนิคพิเศษ gray screen เป็นฉากฉายสีดำสนิท (contrast ratio สูง) ช่วยให้ปรากฏภาพหมู่ดาวสวยงามสมจริง

observ songkla07

“ขอเชิญเอนเบาะลงนอน ต่อจากนี้เราจะขออนุญาตปิดไฟเพื่อกล่อมทุกคนด้วยดวงดาว”

ครั้นเก้าอี้ ๕๒ ที่นั่ง ออกแบบองศาพิเศษให้เหมาะแก่การนอนดูดาวเอนลง เครื่องฉายก็แสดงแสงสนธยาสีเหลืองทองของดวงอาทิตย์ที่อยู่ห่างเรา ๑๕๐ ล้านกิโลเมตร คล้อยต่ำใกล้ลับขอบฟ้าสงขลาเต็มที

“โลกของเราหมุนรอบตัวเองจนเกิดเป็นกลางวัน กลางคืน ขณะเดียวกันโลกก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วย ผมจะเร่งให้โลกหมุนเร็วขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจะได้ปรากฏจุดเล็ก ๆ มากมายให้เห็น”

หนุ่มนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ประจำหอดูดาวให้ความรู้ว่า นักดาราศาสตร์แบ่งดาวเป็น ๘๘ กลุ่ม ตั้งชื่อเกี่ยวกับคน สัตว์ สิ่งของ ตามจินตนาการที่มนุษย์มองเห็น ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับวิถีชีวิต

“วิธีดูดาวให้สนุกต้องเชื่อมต่อเป็นกลุ่ม อย่างตรงนั้นคือ ‘ดาว Arcturus’ อยู่ในกลุ่มดาว ‘คนเลี้ยงสัตว์’ ถัดไปเป็น ‘ดาว Spica’ ที่รู้จักในชื่อ ‘ดาวรวงข้าวสาลี’ อยู่ตำแหน่งก้านรวงที่ ‘กลุ่มดาวหญิงสาว’ ราศีกันย์ถือด้วยมือซ้าย ถัดขึ้นจะพบดาวเรียงตัวสี่ดวง คือ ‘กลุ่มดาวคันชั่ง’ ราศีตุลย์ คั่นกลุ่มดาวหญิงสาวกับ ‘กลุ่มดาวแมงป่อง’ ของราศีพิจิก แล้วยังเป็นสัญลักษณ์ของหอดูดาวภูมิภาคสงขลาด้วย”

observ songkla08

จากห้องฉายดาว น่าสนุกหากรอพลบค่ำแล้วเดินข้าม “สะพานดาวหาง” ที่เชื่อมต่อ “อาคารหอดูดาว” ไปสัมผัสจักรวาลของจริง ระหว่างทางไม่เพียงได้ชมวิวทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย สถาปัตย-กรรมอาคารบนพื้นที่ ๒๕ ไร่ก็สวยเด่น โดยเฉพาะยามราตรีมีแสงไฟระยิบประดับสะพาน สวยราวดาวบนดิน

รู้กันว่าไฮไลต์อยู่ที่ “อาคารหอดูดาว” ลักษณะเป็น “โดมไฟเบอร์-กลาสทรงเปลือกหอย” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๘ ฟุต หลังคาเปิดได้ ๑๘๐ องศา จึงสังเกตการณ์ท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ในอาคารติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗ เมตร แบบสะท้อนแสงที่ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ

บริเวณระเบียงดาวใต้หลังคาเลื่อน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกห้าชุด แต่ละชุดมีคุณสมบัติแตกต่าง ขึ้นอยู่กับว่าจะดูดาวแบบใดจึงเลือกใช้กล้องประเภทที่เหมาะสม

ท้องฟ้าค่ำนี้ นอกจากดาวฤกษ์ ยังมีอีกหลายวัตถุในระบบสุริยะน่าสนใจ สำหรับผู้หัดชมเพียงได้เห็น “ดาวพฤหัสบดี” ก็ตื่นตาพอกับเห็นวงแหวนของ “ดาวเสาร์” ที่สวยงามชัดเจนจนอยากหยิบออกจากกล้อง บางคราวเจ้าหน้าที่อาจเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการส่องกล้องได้สัมผัสประสบการณ์ถ่ายภาพกับ “ทางช้างเผือก”

ในกลุ่มดาว “คนยิงธนู” (ราศีธนู) จะซ้อนกลุ่มดาวคล้ายกาน้ำรินน้ำนมเป็นสายดั่ง “ทางช้างเผือก” แท้จริงคือ “กาแล็กซี” (galaxias ภาษากรีกหมายถึงน้ำนม) เป็นดาวฤกษ์นับล้านดวงที่ระบบสุริยะอาศัย

นี่เป็นเรื่องราวเพียงส่วนเสี้ยวของระยะทางอันไกลโพ้นจากโลกใบนี้ที่เราอาศัย ยังมีเรื่องมหัศจรรย์อีกมากที่รอให้ค้นหา “เหตุ-ผล” ว่าทำไมต้องเรียนรู้ดาราศาสตร์ ? เราดูดาวกันไปทำไม ?

ที่แน่ ๆ ดาราศาสตร์ไม่ใช่แค่สังเกตปรากฏการณ์วัตถุนอกโลก

แต่เป็นการศึกษาของเยาวชน-อนาคตของคนไทยทั้งประเทศ

observ songkla09