เรื่อง : อังคณา แก้ววรสูตร
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

สร้างศิลป์ประดับถิ่นหัวตะเข้

“เดินดูจนตาจะบอดแล้วยังไม่เห็นเจออะไรเลย”

รายการทีวีรายการหนึ่งบอกกับชาวบ้านที่นี่ เมื่อครั้งพยายามตามหาความพิเศษของสถานที่นี้ และพวกเขาคงผิดหวัง

จนถึงวันนี้ชาวหัวตะเข้ยังจำประโยคนั้นได้ไม่เคยลืม

อย่าคาดหวังว่าที่นี่จะมีอะไรพิเศษพิสดารกว่าที่อื่น ถึงกระนั้นชาวชุมชนก็คาดหวังว่าเราจะเห็นในสิ่งที่เขามีบ้าง หรือเห็นมากกว่าสิ่งที่เขามีจะดียิ่ง

หากชาวชุมชนแห่งนี้รู้จักวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง เจ้าชายน้อย ก็คงอยากยกประโยคอมตะมากล่าวกับใครต่อใครว่า

“สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา”

สำหรับฉันแล้ว ความธรรมดาที่เป็นธรรมชาติแบบนี้มีเสน่ห์ ทั้งยังนึกสนุกที่จะออกค้นหาความพิเศษของที่แห่งนี้

……………

ตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งมีการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ตัดกับคลองหัวตะเข้และคลองลำปลาทิวได้ขุดพบหัวกะโหลกจระเข้ขนาดใหญ่ตรงบริเวณเหนือคลองหัวตะเข้ จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนและชื่อคลอง ต่อมาคุณหญิงเลี่ยม ธิดาของท่านเจ้าคุณทหาร ได้มอบที่ดินในศักดินาให้ชาวบ้านตั้งชุมชนชื่อ “ชุมชนหลวงพรต-ท่านเลี่ยม” เพื่อระลึกถึงคุณูปการของท่านทั้งสอง

ตลาดหัวตะเข้ในอดีตเคยเป็นย่านการค้าสำคัญ ภายหลังมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และเกิดการเปลี่ยนแปลงการสัญจรจากทางน้ำเป็นทางถนน ที่นี่จึงซบเซาตามกาลเวลา

 

…………….

silphuatake03 3 silphuatake02 3

silphuatake04 2

ฉันเดินย่ำไปบนถนนสายเล็กที่ผ่ากลางห้องแถวไม้ทรงโบราณ บางห้องแปรสภาพเป็นแกลเลอรีแบบบ้านๆ บางห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ที่อนุรักษ์ไว้ บางห้องยังมีของเก่าให้ซื้อหาเก็บสะสม ตามจุดต่างๆ แต่งแต้มด้วยงานศิลปะหลากหลาย

ห้องแถวไม้เปิดโล่งรับลมเย็น เห็นกระแสน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ไหลผ่านเฉื่อยฉิว ให้ความรู้สึกสบายใจอย่างยิ่ง

เดินเรื่อยๆ จนมาหยุดที่ห้องแถวตอนลึกที่มีป้ายร้านประกาศชื่อชัดว่า “เอเฟรม รับทำกรอบ ขึงเฟรมผ้าใบ” เพราะเสียงหัวเราะที่ฟังสะใจและท่าทางดูมีความสุขของเจ้าของร้าน

ที่นี่คืออาณาจักรเล็กๆ ของเอ-จำนงค์ ยังรักษ์โรจน์กุล ชายวัยกลางคนท่าทางสบายๆ

เอเป็นคนหนึ่งที่รักและผูกพันกับชุมชนแห่งนี้อย่างลึกซึ้ง แม้ไม่ใช่คนที่นี่แต่กำเนิด

จุดเริ่มต้นของร้านเอเฟรมมาจากความรักและหลงใหลในงานศิลปะ เขาทำงานในวงการศิลปะอยู่หลายปี จนชีวิตพลิกผันเมื่อบริษัทประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พิษฟองสบู่แตก เขาถูกเลิกจ้าง ชีวิตหลังจากนั้นค่อนข้างเคว้งคว้าง เอแสวงหางานทำไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ขายก๋วยเตี๋ยวเรือ ขายน้ำ ทำงานนิตยสาร รับงานฟรีแลนซ์

จนมาถึงจุดหนึ่งก็เลิก อาจเพราะไม่ใช่คำตอบของชีวิตที่ใฝ่หา

ว่ากันว่าเวลาเยียวยาทุกสิ่ง แต่ชุมชนริมน้ำที่เคลื่อนไหวช้าๆ อย่างไม่อนาทรร้อนใจกับกาลเวลาช่วยเยียวยาได้ดีกว่า

ช่วงชีวิตเคว้งคว้างกลัดกลุ้ม เอได้รับคำแนะนำจากเพื่อนให้มาเยือนที่หัวตะเข้

“พี่ชอบน้ำอยู่แล้ว มาขอนั่งหน้าบ้านชาวบ้าน มองน้ำแล้วมันสบาย รู้สึกว่า เฮ้ย ชอบที่นี่ว่ะ”

เอทำกรอบรูปเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ชอบภาพไหนก็พิมพ์มาใส่กรอบเก็บไว้ คือความสุขอย่างหนึ่ง และเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อมีคนสนใจกรอบรูปที่เขาทำ เอค้นพบว่าสิ่งที่ชอบสามารถเป็นอาชีพสร้างรายได้ ประจวบกับมีทำเลดีที่หัวตะเข้ ร้านเอเฟรมจึงถือกำเนิด

“มันไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นงานที่เราทำแล้วมีความสุข”

เอเล่าว่าสมัยนั้นมีร้านกรอบรูปอยู่แล้ว แต่ทำกันอย่างบ้านๆ ไม่จริงจังและมีงานไม่เยอะ สภาพชุมชนตอนนั้นแทบร้าง ไม่ค่อยมีคนนัก ทั้งยังมีปัญหาค่าเช่าแพงและเดินทางลำบาก แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรค

“เปิดเป็นร้านกรอบรูปเลย ตั้งใจทำ คิดว่าเดี๋ยวก็มีใครมาใส่กรอบสักวัน”

ว่ากันว่านักรบย่อมมีบาดแผล เส้นทางของเอเฟรมก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบและสวยหรู

แรกร้านเปิดใหม่ อุปกรณ์พร้อม ใจคนทำพร้อม แต่ประสบการณ์ไม่ถึงพร้อม

งานชิ้นแรกอาจารย์จากวิทยาลัยช่างศิลป์สั่งทำเฟรม ทำเสร็จส่งของถึงวิทยาลัยไม่ถึงชั่วโมงดี เฟรมถูกส่งกลับมาพร้อมข้อหาว่าเฟรมเบี้ยว เอน้อมรับความผิดพลาดนั้นแต่โดยดี และเป็นแรงผลักดันให้เขาตั้งปณิธานว่าต้องรู้จริงและทำได้ดี เมื่อค้นพบว่าความผิดพลาดเกิดจากวัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน เขาจึงแสวงหาแหล่งวัตถุดิบจนได้ของที่ถูกใจ แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นมาสักหน่อย แต่เชื่อว่าใช้ของดีทำงานดีก็ได้งานดี

“ของถูกไม่ดี ของดีไม่ถูก เมื่อลูกค้าพอใจก็เป็นอันโอเค”

 

…………………..

silphuatake05 2

เอเคี่ยวกรำและเอาจริงเอาจังอยู่หลายปีจนฝีมือขึ้นชื่อ

เอเฟรมหยัดยืนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหัวตะเข้ยาวนานกว่า ๑๗ ปี ต้อนรับกลุ่มคนหัวศิลป์ที่หลั่งไหลมาเยี่ยมเยือนและใช้บริการร้านเอเฟรมไม่ขาด โดยเฉพาะเยาวชนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เช่น วิทยาลัยช่างศิลป

“คนสายนี้เขาก็แนะนำกันมา อย่างเด็กเรียนช่างศิลปถามอาจารย์ว่าใส่กรอบรูปที่ไหนดี”

“เอเฟรม”

นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าขาประจำ ร้านเอเฟรมยังเปิดต้อนรับลูกค้าขาจรจากทั่วสารทิศที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของร้านแบบปากต่อปาก

“เคยส่งไปไกลๆ ถึงกระบี่ เชียงใหม่ คนในวงการนี้เขาคุยกัน บางคนเอางานไปแสดงที่นู่นที่นี่”

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ไม่ง่ายนัก เพราะต้องรับมือกับลูกค้าหลากหลายประเภท

เอใช้ความตั้งใจตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละคน เช่น “อยากได้อลัง!” เขาจะทำให้อลังยิ่งกว่าจนลูกค้าคาดไม่ถึง บางคนมาพร้อมโจทย์ที่กำกวม เขาก็ช่วยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้ แต่ก็มีบางครั้งที่ทำเต็มที่ หวังดีเกินไป สุดท้ายกลับไม่ใช่คำตอบที่ลูกค้าต้องการ

เอเฟรมขับเคลื่อนด้วยกำลังของเอแต่เพียงผู้เดียว เมื่อถามว่าทำไมไม่จ้างลูกน้อง เขาหัวเราะแล้วให้คำตอบว่า

“ยาก ต้องหาคนที่ทำงานด้วยกันได้ ถ้ารับคนมาเพิ่มแล้วทำให้เราทุกข์จะรับมาทำไม ต้องเป็นคนที่นิสัยคล้ายๆ กัน”
“ต้องเป็นอย่างไร”
“ต้องรักในงานศิลปะ รักอิสระอันเรียบง่าย และรักชุมชนแห่งนี้ด้วย” เอยิ้มนิดๆ

…………..

silphuatake06 2

อาณาจักรเอเฟรมในห้องแถวตอนลึกขนาดหนึ่งคูหาประดับประดาไปด้วยกรอบรูปและงานศิลปะมากมายเต็มผนังร้านสองข้างและแทบทุกซอกมุมที่ตั้งวางงานศิลปะได้ ภาพงามๆ โดยเฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมกับสมเด็จพระราชินี มีภาพงานศิลปะอื่นบ้างประปราย จำนวนมากรวมอยู่ในห้องเดียว กลายเป็นความแปลกที่แตกต่าง จึงเป็นจุดหนึ่งที่กลุ่มคนรักการถ่ายรูปชอบแวะเวียนมากดชัตเตอร์เพื่อเก็บภาพความสวยเก๋ของร้านเอเฟรม

เมื่อถามว่า “รักชิ้นไหนเป็นพิเศษ” เอตอบเสียงแผ่วพร้อมหัวเราะน้อยๆ ว่า “ไม่มี รักหมดทุกชิ้น”

………………

silphuatake07 2

ตลาดหัวตะเข้เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต แต่เมื่อความเจริญภายนอกเข้ามาเยือน ที่นี่ก็ซบเซาลงไปถนัดตา เมื่อชุมชนพยายามพลิกฟื้นตลาดหัวตะเข้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งโดยนำศิลปะมาฟื้นฟู หวังให้เยาวชนมาร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนา จึงเกิดตลาดนัดศิลปะที่เป็นจุดขายหนึ่งในชุมชน

จุดร่วมของร้านเอเฟรมและตลาดหัวตะเข้ก็คือศิลปะนั่นเอง

การอุทิศความรักในงานศิลปะของเอได้ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนแห่งนี้มากกว่าในฐานะร้านกรอบรูปร้านหนึ่ง

“อยู่ที่นี่แล้วมันสบายใจ ทำงานก็มีความสุข”
เอตั้งปณิธานว่าจะอยู่ที่นี่ไปตลอด

“อยากให้ทุกคนในชุมชนทำหน้าบ้านของตนให้สะอาดแค่นั้นก็พอ แล้วทุกอย่างจะดี มีที่นั่งสบายๆ ไว้นั่งกินกาแฟ พูดคุยกับเพื่อนกัน เพราะว่าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว ที่นี่ต้องเงียบๆ แบบนี้แหละ”

ความฝันสูงสุดของผู้ให้กำเนิดเอเฟรมคือเปิดหอศิลป์ในชุมชน ให้เป็นที่จัดแสดงและขายผลงานศิลปะของเยาวชน เพราะมีเยาวชนจำนวนมากในชุมชนที่เรียนศิลป์ และยังมีนักศึกษาจากสถาบันใกล้เคียงอีกด้วย หลายคนมีฝีมือ มีผลงาน แต่ไม่มีโอกาสแสดงออก

“ถ้ามีหอศิลป์ เราก็ได้ เด็กก็ได้ ชุมชนก็ได้ด้วย มันดีแน่ถ้ามีคนอยากซื้องานศิลปะ เช่น เอาไปประดับรีสอร์ต เขาจะได้นึกถึงตลาดหัวตะเข้”

คือฝันไกลที่ยังเพิ่งเริ่ม แต่ก็มีความสุขดีกับการย่ำบนทางฝัน เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ สะสมทุนให้พอก่อฝันเป็นรูปร่าง

…………………….

silphuatake08

ท้ายที่สุดตลาดหัวตะเข้จะให้ความรู้สึกว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย” หรือ “มาไม่เสียเที่ยว” ต่อแขกผู้มาเยือนก็ยากจะคาดเดา
สำหรับฉันมีคำตอบในใจแล้ว และหากคุณได้มาเยือนที่นี่สักครั้งก็อาจพบคำตอบอื่นก็เป็นได้

“ตลาดหัวตะเข้ยินดีต้อนรับ”