เรื่อง/ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ความวินเทจและร่วมสมัยของร้านหรือคาเฟ่ประจำสถานีรถไฟ (ใต้ดินและไฟฟ้า) ในแต่ละมุมของโลกหลากหลายและน่าสังเกต เพราะโลกเคลื่อนไหวเร็วขึ้น การเดินทางของเราเชื่อมต่อกันผ่านก้าวเล็กก้าวน้อย ร้านรวงตามสถานีรถไฟจึงเล่นกับรูปแบบและพัฒนาวิธีการนำเสนอไปเรื่อยๆ

กิจกรรมการกินเรื่อยเปื่อยจึงไม่หยุดแค่รูปแบบเดิม บางครั้งอาหารง่ายๆ ตามสถานีรถไฟตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือนที่ต้องการความเร็ว โปรดปรานฟาสต์ฟู้ดที่ไม่ต้องอร่อยมากแต่ท้องอิ่ม บางคนชอบจิบกาแฟไปเรื่อยๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่เปลี่ยนไปตามสองข้างทาง

เราจึงอยากลองแบ่งปันประสบการณ์ที่สังเกตได้จากมื้อใหญ่และมื้อย่อยตามสถานีรถไฟทั้งแบบคลาสสิกและปัจจุบันในประเทศต่างๆ ไม่น่าเชื่อว่ามันสามารถสร้างความทรงจำ ณ ขณะและรสชาติของการเดินทางผ่านวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ

ต่างมื้อต่างใจ ตามสถานีรถไฟในต่างประเทศ

ญี่ปุ่น-โตเกียว…เหล่า “น้อง” ในห้องอบขนมปังอุ่น

แสงเหลืองนวลๆ มักจะล่อให้เราเดินเข้าไปเสมอไม่ว่าจะเจอในร้านเบเกอรีที่เล็กแค่ไหนก็ตามตามสถานีรถไฟของญี่ปุ่น การจัดวางความโฮมเมดแบบกระปุ๊กลุกที่ดีไซน์มาแล้วรวมกับหน้าตาขนมปังที่เรียกว่า “น้อง” ได้เต็มปาก จะสะกดจิตให้เราหยิบความน่าเอ็นดูในรูปแบบแป้งอ้วนมาใส่ถาด เดินไปกดกาแฟที่ไม่ได้เลิศเลอนัก แต่ตัดรสชีสกับหมูหย็องได้เยี่ยมมานั่งกินเงียบๆ ตามมุมร้าน ระหว่างนั้นก็มองป้าแม่บ้านญี่ปุ่นคีบแซนด์วิชเนิบๆ ลูกค้าอื่นๆ ก็นั่งเสงี่ยมตามมุมโต๊ะ

แรกๆ จะรู้สึกว่าเงียบจนเครียดนิดๆ แต่ครั้งที่ ๒-๓ จะเริ่มชินและอยากมองเพิ่มเติม เบเกอรีญี่ปุ่นนี่มันญี่ปุ่นจริงๆ นั่นแหละ ไม่ว่าจะท้องถิ่นขนาดไหนก็สัมผัสได้ถึงความตั้งใจ มองชั้นขนมและการเรียงสตรอว์เบอร์รีองศาเป๊ะ เรื่อยไปถึงพิซซ่าหน้าต่างๆ ก็อาจจะอยากฝากผีฝากไข้ไว้กับร้านไปเลยในมื้อเช้า

รสชาติขนมปังไม่ถือกับว่าติดดาวเป็นเชลล์ชวนชิมได้ แต่ละมุนเข้ากับยามเช้าที่ไม่เร่งรีบ (หรือรีบหน่อยก็ได้) ยิ่งถ้าเป็นร้านที่อยู่หน้าสถานีรถไฟใต้ดินที่ห่างจากตัวเมืองย่านชินจูกุหรือชิบูยะออกไปมากๆ ความช้าก็จะยิ่งชัดเจนขึ้น

ในแง่ของความเป็นเมืองต่างแดน แต่ยังอยู่ในเอเชียเหมือนกัน เราสามารถเล่นสนุกกับการสังเกตเด็กอนุบาลที่จับมือต่อกัน มีคุณครูกำกับเดินเป็นขบวนลูกเจี๊ยบผ่านหน้าร้าน หรือคนจำนวนมากมาชอปปิงผักผลไม้จากซูเปอร์มาร์เกตท้องถิ่นข้างๆ เห็นการมีอยู่ของร้านเบเกอรีในสถานีรถไฟเป็นมากกว่าพื้นที่ซื้อขายของกิน

ถ้าใจเราอินมากพอ เราอาจจะเวียนมาร้านเบเกอรีทำนองนี้ (ซึ่งมีซุกซ่อนอยู่หลายสถานีในโตเกียว) เพื่อไม่ได้หวังจะมาหาความอร่อยอะไร แต่มาเสพไลฟ์สไตล์ล้วนๆ ความนุ่มนวลและดีไซน์การจัดวาง (บางร้านมีความ food porn เป็นอย่างมาก) น่าประทับใจ เผื่อว่าอาจจะมีความทรงจำจำนวนพอดีที่อาจจะทำให้เรายิ้มได้บ้างหากลองนึกย้อนหลังเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว

trainfood02

อินเดีย-เดลี…โลกทั้งใบให้ไจแก้วเดียว

เดซิเบลของสถานีรถไฟ (จริงๆ ก็ทุกพื้นที่ในอินเดีย) ในอินเดียตรงข้ามกับโตเกียวอย่างสิ้นเชิง ยืนหนึ่งในเรื่องความโหวกเหวกและแรนดอมสุดโต่ง แต่เราก็เข้าถึงอาหารได้ง่ายดาย เพราะร้านค้าและร้านขายของกินจุบจิบมีประปรายตามสถานี ถ้าเป็นสถานีที่ใหญ่หน่อยก็ยิ่งจอแจและท้าทายขึ้นไปอีก แต่เราไม่ได้โฟกัสที่โหมดอาหารคาวมากนัก เพราะสภาพแวดล้อมดูยุ่งเหยิงเกินกว่าจะหาที่ทางนั่งกินอย่างมีสติ ไฮไลต์จึงไปตกอยู่ที่โหมดเครื่องดื่ม และไม่ใช่เครื่องดื่มพิสดารอะไร แต่เป็น “ไจ” (chai) ชานมเข้มข้นของอินเดียที่หลายคนอาจจะคุ้นชื่อกันดี

ปรกติแล้วเราพบเจอไจได้ทุกที่ตั้งแต่ตามท้องถนนยันภัตตาคารหรู ส่วนผสมพื้นฐานที่ทำให้ไจเป็นไจ คือ นม อบเชย พริกไทย กระวาน เหล่าสารพัดเครื่องเทศเหล่านี้จะเสกรสชาติที่เหมือนจะคล้าย แต่แตกต่างอย่างมากในแต่ละเมือง (เช่น ชาตามเพิงคุณยายที่เมืองพาราณสีอร่อยจนงงมาก ชนะร้านหรูในเดลีไปขาดลอย) ราคาก็ต่างกันไปตามสภาพ ถูกสุดก็ประมาณ ๓-๕ รูปี คือ ๒-๓ บาทเท่านั้น!

รูปแบบการขายชาบนรถไฟคือพนักงานจะเดินถือแท็งก์ชาขนาดย่อมผ่านไปผ่านมาตามโบกี้แล้วร้องตะโกน “ไจ๋ ไจ๋ ไจ๋ ไจ๋” สะท้อนกับเสียงกระแทกของรางรถไฟ ส่วนใหญ่มักจะเดินขายช่วงเช้าตรู่ ซึ่งหน้าที่ของเราก็แค่ลนลานตื่นขึ้นมาให้ทันและโบกมือเรียก เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะพลาดไปเลยยาวๆ คนขายในสถานีรถไฟบางเมืองเดินเร็วเหมือนมาขายเอาขำๆ ด้วยซ้ำ

พนักงานจะเทชาอย่างโปรฯ ลงในถ้วยกระดาษจิ๋ว ลักษณะดูเหมือนไม่ค่อยไยดี ทำนองว่าจ่ายเงินแล้วจบๆ ไปจะได้รีบไปขายต่อ แต่รสชาติชาไม่กี่มิลลิลิตรในถ้วยบางพูดอีกอย่างเสมอ กลิ่นเครื่องเทศอ่อนๆ และความกลมกล่อมไปไกลจนรู้สึกคุ้มที่ลนลานตื่นขึ้นมาจากหางเสียงการขายในโบกี้ก่อนหน้า

ความร้อนที่พอเหมาะ รสชาตินมที่ไม่หวานเลี่ยนจนเกินไป รวมกับส่วนผสมที่ลึกลับปรับสายตาให้ตื่นได้ดี

การดื่มไจบนรถไฟสร้างภาพที่แตกต่างกับการดื่มไจในภัตตาคารคู่กับแป้งนาน แกงไก่มาซาลา และผ้ากำมะหยี่ที่ปูไว้อย่างเรียบร้อย ไจเป็นเครื่องดื่มแห่งวัฒนธรรมของชาวอินเดีย เราเข้าใจว่ามันทำลายกำแพงทางชนชั้นไปได้บ้างภายใต้บริบทของประเทศที่ร้อยไปด้วยระบบวรรณะและความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างก้าวร้าว บางทีมันสอนเราว่าสังคมก็เชื่อมต่อกันด้วยสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้

แม้แต่รสชาติไจบนรถไฟเองก็ยังมีความหลากหลาย เราอาจจะไม่ได้ดื่มมันในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายสบายใจมากนัก แต่เราเห็นชีวิตบางส่วนวนอยู่ในรสชาติของเวทมนตร์ น่าสงสัยว่าพวกเขาคิดค้นสูตรชาขึ้นมาได้อย่างไร เรียนรู้อะไรบ้างจากประวัติศาสตร์การปรุงเครื่องดื่มของตัวเอง การสืบทอดรสชาติที่แข็งแรงนี้มาจากไหน

แต่ที่แน่ๆ คือ ต่อให้พยายามอย่างไร เราคงไม่มีเวทมนตร์ที่จะผสมชาได้แบบนั้น เพราะชาวอินเดียรื้อสร้างวัฒนธรรมแห่งความซับซ้อนไว้ในรูปแบบที่ความสำเร็จรูปให้ได้ไม่สำเร็จ

trainfood03

เนเธอร์แลนด์-อัมสเตอร์ดัม…แฮมชีสแห่งความเหงา

ก่อนพาดพิงถึงของกิน รถไฟไม่ว่าจะข้ามเมืองหรือในเมืองของยุโรปล้วนตรงเวลา…

ตามหลักสากลนั่นคือวิถีที่ควรจะเป็น ประชากรในประเทศพัฒนาแล้วเม้งแตกกับการรถไฟแล้วด้วยซ้ำถ้ารถไฟดีเลย์ไปแค่ ๒ นาที แต่เชื่อเถอะว่าคนไทยเข้าใจกันดีว่า GMT เวลาเราเลื่อนไหลไปตามความ “สบายๆ” ของเรานั่นแหละ ดังนั้นถ้าจะวกเข้าเรื่องของกิน ก็อ้างได้เลยว่าการหยิบฉวยอะไรที่ง่ายและอิ่มพอประมาณตอบโจทย์การไปขึ้นรถไฟที่ตรงเวลาได้ดี

ครัวซ็องแฮมชีสดูจะเป็นตัวเลือกที่ไม่ค่อยฉลาดในการแนะนำ แต่มันเป็นตัวตายตัวแทนของความ “ไม่แย่นัก” ที่ค่อนข้างเป็นสากล การกินครัวซ็องแฮมชีสที่ 7-11 ในไทยกับแฮมชีสยี่ห้อสุ่มในซูเปอร์มาร์เกตเล็กๆ ในยุโรปจึงให้ความรู้สึกว่าเหมือนกินคนละเมนูกัน ทั้งๆ ที่คอนเซปต์เหมือนกันเป๊ะ

สิ่งที่สังเกตได้นอกจากนั้นคือ ในช่วงที่อัมสเตอร์ดัมหนาวๆ เทาๆ แม้จะมีสีสันจากตลาดดอกไม้ นักท่องเที่ยวปะปน หรือตึกริมคลองสีสวย แต่การกัดขนมปังแฮมชีสทีละคำพร้อมกับมองวิวต้นสนและถนนแบบโทนสีในพินเทอเรสต์คือความเหงา

หนึ่ง มันไม่อร่อย แป้งเหนียวและแห้ง แฮมเหมือนค้างตู้มาเป็นสัปดาห์แล้ว เคี้ยวชีสก็ให้ความรู้สึกเหมือนเคี้ยวแผ่นยางเค็มๆ และสอง ความเป็นรถไฟของที่นี่ห่างไกลจากคำว่าโฮมเมดแบบญี่ปุ่นและลึกลับแบบอินเดีย ความเป็นปัจเจกสูงจนใกล้เคียงกับความห่างเหิน ยิ่งถ้าเป็นรถไฟในสถานีที่ไกลออกไป ชนบทในชนบท จะเหงาคูณสาม แม้ว่าอากาศจะดีมากหรือบ้านเมืองเขาสวยและเป็นระบบ ไม่น่าหงุดหงิดว่ารถไฟจะมาไหม หรือทำไม rush hour ในญี่ปุ่นมันวุ่นวายขนาดนี้

ความไม่น่าหงุดหงิดนี้แหละที่น่าหงุดหงิด ประสบการณ์ครัวซ็องแฮมชีสชืดๆ กับสถานีรถไฟที่ห่างไกลตัวเมืองยังสร้างความรู้สึกเหงาค้างมาจนถึงทุกวันนี้ แต่หนึ่งสิ่งที่เข้ากันได้ดีกับครัวซ็องเหี่ยวๆ คือหนังสือที่พกไปอ่าน อ่านหนังสือหนึ่งหน้าต่อแฮมชีสหนึ่งคำ หรือเพลงดีๆ หนึ่งเพลงต่อแฮมชีสสองคำ

อาหารง่ายๆ ในวัฒนธรรมที่ต่างบอกอะไรได้หลายอย่าง จากแฮมชีสธรรมดาในไทย พอเป็นแฮมชีสในอัมสเตอร์ดัมกลับกลายเป็นภาพตัวแทนของความเหงาในจังหวะเวลานั้นพอดี และทำให้เรารู้สึกเป็นอื่นในสภาพแวดล้อมนั้น

น้อยครั้งที่เราจะพิจารณาครัวซ็องแฮมชีสจากซูเปอร์มาร์เกตในระยะเวลายาวนานและจริงจัง แต่เหตุการณ์เล็กๆ ระหว่างสถานีรถไฟและร้านค้าในนั้นก็ทำงานกับเราในรูปแบบที่ไม่ผิวเผินเลย

สำหรับไทย คำว่า “สถานีรถไฟ” ที่ว่ายังคงเป็นภาพตัวแทนของความเก่าแก่ ใช้นาฬิกาคนละแบบกับโลกสากล เรามีร้านต้นตำรับ ร้านในตำนาน ร้านแบบ hidden place ที่อยู่มาเป็น ๔๐-๕๐ ปีเป็นตัวยึด ความคงกระพันบางอย่างเหล่านั้นสร้างประวัติศาสตร์ที่น่ารักในแบบของมันเอง ทำให้เราสร้างประสบการณ์ร่วมกับพื้นที่และความเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การพาตัวเองไปนั่งสั่งก๋วยเตี๋ยวริมรางรถไฟและซดน้ำซุปจึงสามารถเรียกว่าเป็น “การท่องเที่ยว” ได้ในหนึ่งมื้อเล็กๆ มื้อนั้น และความเป็นก๋วยเตี๋ยวก็ด้นสดหลากหลายไปตามสูตรดั้งเดิมของพื้นที่ ตามประวัติดีๆ ก็เจาะไปได้ว่าชาวจีนพื้นที่ไหนนำเข้ามา เด่นเรื่องน้ำซุปกระดูกหรือเนื้อตุ๋นเคี่ยวนุ่ม แถมสภาพโครงสร้างร้านก็อาจจะเล่าเรื่องที่ลึกซึ้งมากไปกว่าแค่การเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวริมทางรถไฟ

ความผูกพันระหว่างการเดินทางอาจจะเกิดขึ้นอย่างผิวเผินและจากไป บางทีเป็นแค่เส้นทางกลับบ้าน ไปทำงาน แวะมินิมาร์ต หรือกดน้ำตามสถานี หรือการซื้อของจากพ่อค้าแม่ค้าที่เดินขึ้นมาขายบนรถไฟ แต่กิจกรรมเรียบง่ายอธิบายวิถีชีวิตในยุคสมัยนั้นๆ ได้เสมอ