เรื่อง : เสาวลักษณ์ เชื้อคำ
ภาพ : ณัฐนิชา กรกิ่งมาลา

วีลแชร์ประกอบขึ้นจากท่อพีวีซีช่วยให้ “เจ้าแดง” ที่พิการสองขาหลังกลับมาเดินได้อีกครั้ง

วีลแชร์ประกอบขึ้นจากท่อพีวีซีช่วยให้ “เจ้าแดง” ที่พิการสองขาหลังกลับมาเดินได้อีกครั้ง

“เก็บเอาไว้ก่อน คำว่าลาก่อน เสื่องไว้สาก่อนคนดีของอ้าย
ตะกี้ตะก่อน ฮักกันส่ำได๋ อยากให้ลองตรองดูจั๊กคราว…”

เสียงเพลงภาษาถิ่นอีสานจากวิทยุเอฟเอ็มเก่า ๆ บนโต๊ะทำงาน สลับกับเสียงค้อนยางทุบปัง ปัง ปัง ลงบนข้อต่อของท่อพีวีซีที่ประกอบกันเป็นโครง ชายเลยวัยกลางคนรูปร่างกำยำอย่างคนทำงานใช้แรง กำลังตอกข้อต่อต่าง ๆ ให้แน่น เพื่อให้โครงสร้างของวีลแชร์แข็งแรงแน่นหนาพอจะรับน้ำหนักของหมาพิการ เจ้าของวีลแชร์คันนี้ในอนาคตอันใกล้

บ้านหลังเล็กในซอยแคบของตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา คือโรงผลิตวีลแชร์ทำมือเพื่อสัตว์พิการหลากหลายแบบ ท่อพีวีซีสีฟ้าขนาดกลางวางอยู่เกลื่อน มีทั้งแบบท่อยาว ข้อต่อสามทาง และข้องอ

ท่ามกลางอากาศร้อนระอุของเวลาบ่าย เสียงค้อนยางยังดังต่อเนื่องแม้คนที่ออกแรงจะมีเหงื่อเต็มหลัง  บริเวณใกล้กันนั้นมีแรงงานอีกแรงบรรจงติดสติกเกอร์การ์ตูนรูปหมาตากลมโตลงบนฟิวเจอร์บอร์ดสีขาวสำหรับทำป้าย ใต้สติกเกอร์มีข้อความเขียนไว้ว่า “Pet Rescue of Nakhonratchasima”

การประกอบวีลแชร์ในบ่ายวันนี้ ทุกขั้นตอนล้วนถูกจับจ้องจากสายตาเจ้าหมาไร้ชีวิตพันธุ์บูลด็อกตัวหนึ่ง  บูลด็อกไร้ชีวิตแต่มีหน้าที่ เพราะเจ้าหมาปูนปลาสเตอร์ตัวนี้คือนายแบบวีลแชร์ของกลุ่มช่วยเหลือสัตว์ไม่หวังผลตอบแทน นครราชสีมา มันมีวีลแชร์ขนาบขาคู่หลัง และยืนแข็งทื่ออยู่ทั้งวันทั้งคืน  บางครั้งมันก็ทำหน้าที่เป็นแบบให้ฝึกวัดขนาดอย่างถูกต้องอีกด้วย

“เมื่อก่อนเคยตั้งชื่อให้มันอยู่นะ แต่ลืมไปแล้ว” ชาติตการณ์ หงษา หรือโต้ง ผู้ก่อตั้งกลุ่มช่วยเหลือสัตว์ไม่หวังผลตอบแทน นครราชสีมา เล่าประวัติของหุ่นหมาให้ฟังอย่างติดตลก “ที่ปากมันแตก ๆ นี่โดนหมาจริงกัดมา สงสัยจะเหมือนจริงเกินไป”

เขาหันไปมองหน้าตุ๊กตาหมาตัวนั้น มันจ้องกลับมาทำตาแป๋วอยู่ท่าเดิม เหมือนกำลังตั้งอกตั้งใจควบคุมคุณภาพการผลิตวีลแชร์อยู่ตลอดเวลา

dogwheel02ชาติตการณ์ หงษา (ขวา) ผู้ก่อตั้งกลุ่มช่วยเหลือสัตว์ไม่หวังผลตอบแทนฯ และวิทยากรร่วม กำลังอธิบายการประกอบวีลแชร์

คนต่อรถ

“ตอนนั้นเริ่มจากการช่วยหมาจร” ชาติตการณ์เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการทำวีลแชร์สำหรับสัตว์เมื่อ ๓ ปีก่อน “เขาเห็นว่าเราทำกู้ภัยสัตว์อยู่ก็เลยขอเข้ามา เราก็ไม่รู้จักหรอกว่าเป็นยังไง เลยไปหาในอินเทอร์เน็ต โทร.ถามราคาดู โอ้โฮ ๔,๐๐๐ กว่าบาท”

วีลแชร์หรือรถเลื่อน รถล้อเข็นสำหรับสัตว์ในเวลานั้นมีราคาค่อนข้างสูง เริ่มต้นตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไป แม้วีลแชร์จะจำเป็นสำหรับสัตว์พิการและสัตว์ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทั้งเพื่อการพยุงให้ยืนหรือเคลื่อนที่ได้เป็นครั้งคราว และเพื่อการบำบัดรักษา แต่เพราะข้อจำกัดเรื่องราคาและหาซื้อยาก ทำให้สัตว์พิการส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษาและบำบัดอย่างถูกวิธี

ด้วยต้นทุนความรู้ด้านการออกแบบ ประกอบกับการศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง วีลแชร์ต้นทุนต่ำสำหรับสัตว์พิการคันแรกก็เกิดขึ้นด้วยสองมือของชายหนุ่มคนนี้

“ดูของเมืองนอกส่วนหนึ่ง แล้วก็ดูวัสดุเทียบว่าเรามีไหม ถ้าไม่มีก็หาใกล้เคียง  ไปเดินดูในร้านขายวัสดุก่อสร้างใหญ่ ๆ เดินดูทั้งวัน จดไปจดมา แล้วก็ลองประกอบ”

จากวันแรกที่ชาติตการณ์เริ่มประดิษฐ์วีลแชร์สำหรับสัตว์พิการจนถึงปัจจุบัน วีลแชร์กว่า ๒,๐๐๐ คัน ได้รับการส่งต่อไปยังสัตว์พิการทั่วประเทศ  เขาปรับปรุงโครงสร้าง วัสดุ และคุณภาพของวีลแชร์อยู่เสมอ จากต้นทุน ๑,๓๐๐ บาทต่อคัน สามารถลดต้นทุนเหลือเพียง ๕๐๐-๗๐๐ บาทต่อคัน และในวันนี้วีลแชร์ที่เดินทางไปหาเจ้าของแต่ละตัวยังได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับความพิการ เช่น พิการขาหลัง พิการสี่ขา ขาอ่อนแรง ฯลฯ

“ต้องวัดขนาดของน้องหมาตามแบบที่กำหนดไว้ วีลแชร์ของหมาพิการต่างกันก็ต้องออกแบบต่างกัน” วิทยากร เงินโพธิ์ หรือ เบลล์ เพื่อนสมัยเรียนของโต้ง ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ละมือจากการติดสติกเกอร์อธิบายรายละเอียดอย่างคล่องแคล่ว แม้เขาเพิ่งเข้าร่วมทำวีลแชร์ไม่ถึงปี แต่ก็ชำนาญการออกแบบและประกอบวีลแชร์ไม่แพ้กัน

ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านการออกแบบที่มีอยู่ ประกอบกับเมื่อเริ่มก็ทุ่มเทและจริงจัง แม้กระทั่งโรงผลิตวีลแชร์จำเป็นแห่งนี้

ก็เป็นบ้านของเขาเอง ทำให้วิทยากรกลายเป็นกำลังหลักในการผลิตวีลแชร์ที่ต้องการการออกแบบพิเศษด้วยอีกคนหนึ่ง

ในขณะที่วีลแชร์ทั่วไป วิโรจน์ ประสบผล พ่อของวิทยากร เจ้าของเสียงทุบปัง ปัง ปัง ที่ยังดังต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนเป็นฝ่ายผลิต ชายวัยครึ่งค่อนคนนี้แทบไม่ละมือจากการทำวีลแชร์เลย

“สี่ล้อต้องคำนวณขนาด ถ้าเป็นสองล้อนี่พ่อผมเป็นคนทำเป็นหลัก วันหนึ่ง ๆ ทำได้เกือบสิบคัน เพราะพ่อทำตลอดทั้งวัน

ผมจะทำได้แค่ช่วงเลิกงาน” วิทยากรเล่าต่อ

“สมาชิกด้านวีลแชร์มีแค่สี่ห้าคนเท่านี้แหละ” ชาติตการณ์พูดถึงข้อจำกัดในการผลิต รับข้อมูล และจัดส่งวีลแชร์ให้แก่หมา แมว และสัตว์พิการทั่วประเทศ “ก่อนหน้านี้ตอนทำช่วยหมาแมว ช่วยสัตว์จรจัด ก็จะมีสมาชิกเยอะ แต่พอหลาย ๆ คนไม่มีเวลา มันก็เลยลำบาก ไม่ต่อเนื่อง”

dogwheel03ขั้นตอนการวัดขนาดเพื่อทำวีลแชร์ส่วนตัวของเจ้าแดง

เงื่อนไขสำคัญของการผลิตวีลแชร์สำหรับสัตว์ คือประสบ การณ์ ความชำนาญ และความต่อเนื่อง แม้ทางกลุ่มช่วยเหลือสัตว์พิการไม่หวังผลตอบแทนฯ จะมีศูนย์การผลิตอยู่ย่านค้าขายใจกลางเมืองนครราชสีมา และมีอาสาสมัครมากหน้าหลายตา

มาช่วยประกอบวีลแชร์อยู่หลายครั้ง แต่เพราะการออกแบบและผลิตวีลแชร์ที่ต้องเจาะจงตามขนาดและลักษณะพิการของสัตว์แต่ละตัว อาสาสมัครที่แวะเวียนมาตามเวลาสะดวก ไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงไม่ชำนาญพอจะผลิตวีลแชร์ได้ครบทั้งกระบวนการด้วยตัวเอง สุดท้ายจากกลุ่มขนาดใหญ่จึงลดลงเรื่อย ๆ

“บางคนบอกขอเร็ว ๆ นะ เราก็อยากทำให้เร็ว ๆ เข้าใจหัวอกเจ้าของหมา เวลาที่เขาถามมาเรารู้สึกแย่นะ แต่ด้วยกำลังเราผลิตได้ไม่มาก บางคนเขาส่งข้อความมายกเลิกเลยก็มีเพราะหมาเขาตายไปแล้ว”

ถ้อยคำจากชาติตการณ์พรั่งพรู บางประโยคฟังดูเหมือนบอกเล่า บางประโยคเหมือนระบาย งานอาสาสมัครกลายเป็นหน้าที่ที่ละทิ้งไม่ได้ เมื่อความต้องการวีลแชร์สำหรับสัตว์พิการมีมากกว่าที่เขาคิดไว้แต่แรก หลายครั้งเขาได้รับความกดดันเป็นสิ่งตอบแทน

หลังจบบทสนทนาอันหนักอึ้ง ชายหนุ่มถอนหายใจเฮือกยาว ก่อนวางวีลแชร์ขนาดเล็กที่ประกอบเสร็จแล้วไว้กับเจ้าหมาปูนปลาสเตอร์ มันยังคงยืนนิ่ง ทำหน้าที่เป็นนายแบบสาธิตการใส่วีลแชร์อยู่เหมือนเดิม

ความเงียบถูกทำลายด้วยเสียงค้อนยางที่กระทบกับท่อพีวีซีดังปัง ปัง ปัง ของวิโรจน์ แรงผลิตคนสำคัญอีกคนของโรงผลิตวีลแชร์แห่งนี้  เขาส่งแรงกระแทกย้ำตามข้อต่อต่าง ๆ ก่อนปิดงาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าวีลแชร์คันนี้จะแข็งแรง พร้อมพยุงเจ้าสี่ขาให้วิ่งเล่นได้อีกครั้ง

“มันกลายเป็นหน้าที่ไปแล้วตอนนี้ ยังไงก็ต้องทำ” ชาติตการณ์พูดขึ้นพร้อมกับที่วิโรจน์เริ่มจัดแจงวัสดุอีกชุดสำหรับประกอบวีลแชร์คันใหม่

รถเปลี่ยนหมา

กว่า ๓ ปีที่ทางกลุ่มช่วยเหลือสัตว์ไม่หวังผลตอบแทนฯ รับทำวีลแชร์ให้สัตว์พิการทั่วประเทศ มีรูปถ่ายและวิดีโอจำนวนมากส่งกลับมาทางไลน์และเฟซบุ๊ก แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของสัตว์พิการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

“อย่างรูปนี้น่าจะปีกว่า ๆ แล้วนะ เจ้าของเขาส่งรูปมาให้ดู หมามันสดชื่นขึ้นเพราะได้เดินไปนาอีกครั้ง ขอแค่ได้เดินตามไปเฉย ๆ” เขาพูดพร้อมกับชี้ให้ดูรูปหมาไทยพันทางตัวหนึ่งกำลังเดินไล่หลังตามเจ้าของในชุดพร้อมทำนา

แม้ภาพนั้นจะบอกเราไม่ได้ว่าเจ้าหมาชื่นชอบการเคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กับวีลแชร์คันใหม่หรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดการได้ร่วมทางกับเจ้าของอีกครั้งคงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อย

“บางตัวพอกลับมาวิ่งได้เพื่อนมันก็งง อย่างตัวนี้นี่เพิ่งใส่ เพื่อนมันก็มาลาก มันยังยืนงง ๆ อยู่”

ชาติตการณ์เปิดวิดีโอในโทรศัพท์มือถือของเขาหลายต่อหลายคลิป ต่อด้วยภาพอีกหลายต่อหลายภาพ

แม้ส่วนใหญ่จะเป็นหมาที่ดูคล่องแคล่วกับการใช้วีลแชร์ แต่สัตว์พิการประเภทอื่น เช่น แมว กระต่าย กระทั่งลูกวัว ก็ต้องการอุปกรณ์พิเศษสำหรับช่วยเคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน สัตว์พิการเหล่านี้อาจไม่สามารถใช้วีลแชร์คล่องแคล่วเท่าหมา ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพและลักษณะต่างกัน แต่อย่างน้อยที่สุดพวกมันก็สามารถเคลื่อนที่ได้ตามใจปรารถนาอีกครั้ง ด้วยแรงพยุงของวีลแชร์จากโรงผลิตเล็ก ๆ แห่งนี้

“ครั้งล่าสุดที่ได้เจอตัวจริงหน้างานก็มีหมาแมวมาเพียบ ตอนแรกแจ้งเรามาแค่สี่ห้าตัว ไปถึงเจอเป็นสิบ ๆ ตัว ทยอยมาอีกเรื่อย ๆ ทั้งวัน จนเราแทบไม่ได้รู้จักหมาแมวเลย”

ขณะที่เขาสาละวนกับการเปิดดูใบงานที่บันทึกส่วนสูง ความยาวลำตัว น้ำหนัก และลักษณะความพิการของหมาและแมวที่ได้มาจากการลงพื้นที่ภาคกลางเมื่อสัปดาห์ก่อน ชาติตการณ์ก็เล่ารายละเอียดไปด้วย บางตัวได้รับวีลแชร์ในวันลงพื้นที่เลยเพราะมีแรงงานอาสาสมัครช่วย บางตัวต้องลงทะเบียนไว้ก่อนเพราะต้องอาศัยการออกแบบและหาวัสดุเพิ่มเติมเพื่อความเหมาะสมกับการเคลื่อนไหว

dogwheel04วิทยากร เงินโพธิ์ (กลาง) กำลังสาธิตการประกอบล้อวีลแชร์

“อย่างตัวนี้นี่เราปรับแก้กันหน้างานเลย” เขาพูดถึงแดง หมาไทยพันทางที่อาศัยอยู่ในโรงงาน พิการสองขาหลังเนื่องจากถูกเสาปูนหล่นทับ  ต้องอุ้มมาวัดตัวเพื่อเทียบขนาดกับวีลแชร์คันใหญ่ เมื่อผ่านการปรับแก้ขนาดเล็กน้อย แดงก็ใช้ขาหน้าทั้งสองลากล้อไปทางโน้นทางนี้ได้อย่างอิสระ “เขาตัวค่อนข้างใหญ่ ต้องแก้ช่วงตัววีลแชร์ให้พอดี

“ยิ่งถ้าเป็นแมวต้องทำให้พอดีเลย เพราะแมวเป็นสัตว์หมอบ ช่วงตัวไม่เหมือนหมา หลวมไม่ได้ อย่างฟาโรห์ ที่เจ้าของเขาพามา โดนหมากัด พิการขาหลังตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ตอนเดินแรก ๆ ก็จะไม่ค่อยคุ้น  แต่ตัวนี้นี่ซิ่งมาก ชื่อฟู พอใส่วีลแชร์ได้ก็วิ่งเลย”

แม้วีลแชร์สำหรับสัตว์จะเป็นเพียงเครื่องช่วยพยุงที่ใช้ได้เพียง ๒-๓ ชั่วโมงต่อวัน แต่การได้ขยับไปไหนมาไหนตามต้องการ โดยไม่ต้องลากตัวกับพื้น ก็ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของสัตว์  นอกจากจะเป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อส่วนที่

ยังใช้การได้แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับและแผลเสียดสี

วีลแชร์ที่ประกอบขึ้นจากท่อพีวีซีและล้อพลาสติกธรรมดา ๆ อาจไม่ใช่วีลแชร์ดูมีราคาในสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับหมา แมว และสัตว์พิการอื่น ๆ ที่ยืนได้ด้วยขาและล้อใหม่อีกครั้ง วีลแชร์คันนั้นคงมีค่าพยุงชีวิตไม่น้อย

“…ดูสิ ตัวนี้เขาวิ่งเล่นกับเพื่อนเขา สงสัยมันจะไปแนะนำกัน ของเล่นใหม่ เอาไหมล่ะ หน้าตาดีมีรถขับ”

เมื่อสะสางใบลงทะเบียนของหมาแมวพิการจากการลงพื้นที่รับทำวีลแชร์ที่กรุงเทพมหานครในครั้งก่อน ส่งต่อให้ฝ่ายผลิตเรียบร้อยแล้ว ชาติตการณ์ก็กลับมาเปิดโปรแกรมไลน์ ดูวิดีโอใหม่ที่ถูกส่งจากเจ้าของหมา ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทย ที่เขาเอง

ก็จำไม่ได้ว่าส่งวีลแชร์ไปให้เป็นคันที่เท่าไร

วีลแชร์ที่ส่งออกไปแต่ละคัน ไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตสัตว์พิการเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนชีวิตของคนไปด้วยทั้งผู้ให้และผู้รับ

dogwheel05
วีลแชร์สำหรับแมวต้องทำให้พอดีตัว เพราะช่วงตัวของแมวไม่เหมือนกับหมาในภาพคือฟู แมวพิการสองขาหลังกับวีลแชร์คู่ใจคันใหม่ที่จะช่วยให้มันเดินไปได้ทุกที่หลังจากนี้

หมาเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนโลก

แม้แรงอาสาสมัครที่รวมตัวกันทำวีลแชร์เพื่อสัตว์พิการจะใช้ชื่อว่ากลุ่มช่วยเหลือสัตว์ไม่หวังผลตอบแทนฯ แต่ผู้ก่อตั้งเองกลับได้สิ่งตอบแทนมากมายมหาศาล

“รูปที่เจ้าของเขาส่งกลับมา หน้าตาหมาแมวดูสดใสขึ้น ได้เดินกับเจ้าของ  ผลตอบแทนทางใจ เราก็หวังแค่นั้นแหละเนอะ”

ชาติตการณ์หันไปพูดกับวิทยากร เพื่อนสมัยเรียนที่วันนี้เข้ามาเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ด้วยอีกคน แม้จะไม่มีถ้อยคำตอบรับแต่รอยยิ้มนั้นเป็นคำตอบชัดเจน

“อย่างเวลาลงพื้นที่นี่ เจอหมาแมวตัวจริง แต่ก็แทบไม่รู้เลยว่าตัวไหนเป็นตัวไหน วิ่งวุ่นเลย เจ้าของเขาก็รอ เราก็ต้องเร่งเต็มที่ บางตัวยังไม่ได้เห็นตอนเดินด้วยซ้ำ ได้ยินแต่เสียงเฮ พอเขาเฮเราก็สบายใจ คือเดินได้แล้ว” ชาติตการณ์เล่าถึงเวลาสำคัญที่สุดในงานของเขา นั่นคือวินาทีที่วีลแชร์คันหนึ่งได้ส่งต่อไปถึงคนและหมา

“เครียดไหม ก็มีบ้าง แต่ถามว่าท้อได้ไหม หยุดได้ไหม มันก็คงหยุดไม่ได้ ถ้าเราหยุดแล้วหมาที่รออยู่จะทำอย่างไร” คำตอบของวิทยากรได้รับการยืนยันด้วยเสียงเลื่อยของพ่อ ซึ่งกำลังตัดท่อพีวีซีสีฟ้าให้ได้ความยาวตามที่วัดไว้

เมื่อใครคนหนึ่งเชื่อว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การทำเพื่อสังคมก็เป็นหน้าที่ ไม่ใช่ภาระ กลุ่มช่วยเหลือสัตว์ไม่หวังผลตอบแทนฯ ก็เช่นเดียวกัน ความท้อแท้ แรงกดดัน ไม่อาจทำให้พวกเขาละเลยหน้าที่นี้ไปได้

แม้จะทุ่มเทแรงกายแรงใจสักเท่าไร ความต้องการใช้วีลแชร์ของสัตว์พิการก็ยังมีมากกว่ากำลังผลิตของกลุ่มคนเล็ก ๆ นี้หลายเท่า บ่อยครั้งที่ความช่วยเหลือถึงช้าเกินไปจนไม่ทันการณ์

“ปีที่แล้วเคยเจอกรณีหมาก็พิการ เจ้าของก็พิการ  กลุ่มรักหมาระยองขอวีลแชร์มา พอหมาได้วีลแชร์ เจ้าของเห็นหมา

วิ่งได้ก็ร้องไห้ดีใจ กอดกับหมา หมาก็ดีใจ แต่หมาป่วยหนักอยู่ก่อนแล้ว ดีใจกันได้แค่อาทิตย์เดียวหมาก็ตาย จากกรณีนี้ทางระยองเลยติดต่อให้เราไปสอน เพราะบางทีรอไม่ได้จริง ๆ”

นอกจากการรับทำวีลแชร์ให้สัตว์พิการแล้ว ชาติตการณ์และกลุ่มของเขายังยินดีถ่ายทอดความรู้ในการออกแบบและประกอบวีลแชร์ให้คนทั่วไปที่สนใจอีกด้วย  กลุ่มช่วยเหลือสัตว์พิการไม่หวังผลตอบแทนฯ พยายามสร้างเครือข่ายในพื้นที่อื่น

เพื่อสร้างสังคมแห่งการให้ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

“ใครคิดว่ายิ่งให้จะยิ่งหมด แต่มันไม่หมด หมาพิการ หมาแก่ หมาเจ็บป่วยมีมาตลอด อยากให้มีคนทำอีกเยอะ ๆ พยายามกระจายไปภาคต่าง ๆ อย่างทางใต้นี่เริ่มทำบ้างแล้ว แต่ภาคกลาง ภาคเหนือ ยังมองหาอยู่ เรายินดีสอน ตอนนี้กำลังเรามีไม่กี่คน ทำได้แค่นี้ มันยังไม่พอ”

เจ้าของสัตว์พิการ อาสาสมัคร และผู้สนใจ ที่กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งในการมอบชีวิตใหม่ผ่านวีลแชร์ให้สัตว์พิการทั่วประเทศ

เจ้าของสัตว์พิการ อาสาสมัคร และผู้สนใจ ที่กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งในการมอบชีวิตใหม่ผ่านวีลแชร์ให้สัตว์พิการทั่วประเทศ

กลุ่มช่วยเหลือสัตว์พิการไม่หวังผลตอบแทน นครราชสีมา ยังคงมองหาผู้ร่วมอุดมการณ์ที่จะมาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกนี้

“ติดต่อเข้ามาเลยครับเราไปสอนให้ถึงที่ กรณีไหนยากส่งมาเลยเราทำได้ อย่างน้อยถ้ามีกลุ่มอื่น ๆ ทำมันก็จะยั่งยืน ไม่ใช่แค่ผมให้ไปแล้วจบ

“ช่วงนี้ก็มีติดต่อมามากขึ้น ผมก็พยายามไป บางทีไปศุกร์เย็น อาทิตย์เย็นก็กลับเลย  ครั้งล่าสุดที่ได้ใบลงทะเบียนมาเยอะ ๆ

นี่คือกรุงเทพฯ สอนเสร็จผมต้องโดดขึ้นรถกลับบ้านทันทีไม่งั้นไม่ทัน เพราะวันธรรมดาเราทำงานต่อ  เหนื่อยครับ แต่ยินดีมาก ๆ”

เสียงเพลงในวิทยุถูกแทนที่ด้วยรายงานข่าวภาคค่ำ แต่เสียงค้อนยางยังคงดังปัง ปัง ปัง อย่างต่อเนื่อง วีลแชร์อีกคันกำลัง

ได้รับการประกอบขึ้น ขณะที่คันก่อนหน้าเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายคือการติดสายพยุงตัวและติดป้ายสติกเกอร์การ์ตูนรูปหมาตากลมโตใส่วีลแชร์ไว้ที่ขาคู่หลัง  ส่วนหมาบูลด็อกไร้ชีวิตตัวนั้นก็ยังยืนทำหน้าที่อยู่ที่เดิม

ใบลงทะเบียนบอกลักษณะและความต้องการจำเพาะของสัตว์พิการแต่ละตัวปึกใหญ่แขวนอยู่ข้างโต๊ะทำงาน ปฏิทินแขวนไว้ข้างกัน เห็นวงกลมสีแดงบ่งบอกนัดหมายครั้งต่อไป

นัดหมายเหล่านั้นหวังจะนำพาเพื่อนร่วมอุดมการณ์กลุ่มใหม่มาร่วมส่งต่อวีลแชร์ให้หมาแมว ร่วมเปลี่ยนชีวิตสัตว์พิการที่รอคอยความช่วยเหลือ ร่วมทำหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม

ร่วมเปลี่ยนให้โลกน่าอยู่ขึ้นอีกนิด ด้วยรอยยิ้มของหมาติดล้อ

ขอขอบคุณ

  • ชาติตการณ์ หงษา
  • วิทยากร เงินโพธิ์
  • วิโรจน์ ประสบผล
  • กลุ่มช่วยเหลือสัตว์ไม่หวังผลตอบแทน นครราชสีมา