tataraja

คัมภีร์โลกศาสตร์กล่าวว่าในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เทวดาผู้เป็นจตุโลกบาลแต่ละองค์จะเป็นท้าวเป็นพระยาปกครองพระนครที่มีขนาดเท่ากันหมด คือมีผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ ๑,๐๐๐ โยชน์

เริ่มที่ทิศตะวันออก มีท้าวธตรฐ (อ่านว่า ถะ-ตะ-รด) หรือ ธตรฐราช หรือ ธตรัฏฐะ เป็นหัวหน้าของเหล่า “คนธรรพ์” ประทับ ณ นครเหนือแนวเขายุคันธรทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) อธิบายว่าเหตุที่เทวดากลุ่มนี้ได้รับชื่อว่า “คนธรรพ์” ก็เพราะ “เป็นนักเลงฟ้อน นัยหนึ่ง เทพยดาจำพวกใดบังเกิดแต่ประเทศอันหอม สิงสถิตอยู่ในประเทศที่หอมๆ เทพยดาจำพวกนั้นได้ชื่อว่าเทพยคนธรรพ์”

หนึ่งในคนธรรพ์ที่น่าจะมาจากกลุ่มบริวารของท้าวธตรฐก็คือปัญจสิขร ไอดอลแห่งดาวดึงส์ที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว

“ไตรภูมิพระร่วง” ว่าท้าวธตรฐ “เป็นพระยาแก่เทพยดาทั้งหลายรอดทั่วกำแพงจักรวาลฝ่ายตะวันออกแล” และว่าฝูงคนธรรพ์บริวารของท้าวธตรฐนั้น “ทั้งเครื่องประดับนิเหนือหัวแลเนื้อตัวทั้งมวล เทียรย่อมเงินยวงอเนกอนันต์” คือแต่งกายด้วยเครื่องประดับทำจากเงินทั้งสิ้น ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายว่ากองทัพของท้าวธตรฐ “ถือเครื่องสรรพยุทธ์ศาสตราวุธทั้งปวงนั้นล้วนพิจิตรด้วยเงินแลทอง” หมายถึงอาวุธทั้งหลายก็เป็นเงินเป็นทอง

เวียนตามเข็มนาฬิกา ถัดมาคือท้าววิรุฬหกผู้เป็นเจ้าของเหล่ากุมภัณฑ์ สถิตในพระนครเหนือยอดเขายุคันธรทางด้านใต้ของเขาพระสุเมรุ

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) อธิบายว่าเหตุที่เทวดากลุ่มนี้ได้รับชื่อว่า “กุมภัณฑ์” ก็เพราะ “เทพยดาทั้งหลายเหล่านั้นมีท้องอันใหญ่ มีอวัยวะที่ไม่ควรกล่าว มีสัณฐานดังหม้อ”

“อวัยวะที่ไม่ควรกล่าว” หรือที่ “ไม่ควรพูดถึง” นี้คืออะไร ?

เราก็ต้องย้อนกลับไปที่คำ “กุมภัณฑ์”

คำนี้มาจากคำว่า “กุมภะ” ซึ่งแปลว่าหม้อ แบบราศีกุมภ์ สนธิรวมกับ “อัณฑะ”

หมายความว่าเผ่าพันธุ์นี้มี “อัณฑะ” ขนาดใหญ่เท่า “หม้อ” !

แม้จะมีผู้อธิบายเป็นเชิงขบขันว่า ที่เห็นบรรดารูป “ยักษ์แบก” ที่ยืนถ่างขาย่อตัวแบกเจดีย์หรือพระปรางค์ตามวัดนั้น เหตุที่ต้องยืนในท่านั้น ก็เพราะเป็น “กุมภัณฑ์” นี่แหละ ทว่าผู้เขียนคิดว่า ยังไม่เคยเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภาพกุมภัณฑ์แบบนี้สักที

virulharaja

“ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวว่าท้าววิรุฬหก “เป็นพระยาแก่ผีเสื้อกุมภัณฑ์ทั้งหลาย” รวมถึง “เทพยดาทั้งหลายรอดไปเถิงกำแพงจักรวาลฝ่ายทักษิณ”

“ผีเสื้อ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแมลงตัวน้อยที่มีปีกเป็นสีสันต่างๆ แต่เป็นคำเก่าที่หมายถึงปีศาจ อย่างนางผีเสื้อสมุทรในเรื่อง “พระอภัยมณี” ก็ไม่ได้มีหน้าตาเป็นแมลง ทว่าเป็นนางปีศาจที่อาศัยอยู่ในทะเล เป็นต้น ดังนั้น ท้าววิรุฬหกจึงได้ปกครองทั้งเหล่า “กุมภัณฑ์” ปีศาจ และเทวดาทั้งปวงในฝั่งด้านทิศใต้

“ไตรภูมิพระร่วง” บอกด้วยว่า “เครื่องประดับนิกายท้าววิรุฬหกราชแลบริวารทั้งหลายนั้นย่อมล้วนแก้วมณีรัตนะแล งามนักหนา” ส่วนใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่ากองทัพกุมภัณฑ์ของท้าววิรุฬหก “ถือสรรพยุทธ์ศาสตราวุธนั้นล้วนแล้วไปด้วยแก้วประพาฬ” คือแก้วสีแดง