วาดดาว
เรื่องและภาพ ชล วิชัยดิษฐ์

ดวงจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำลับขอบฟ้าไปแล้ว ผมเงยหน้ามองท้องฟ้าเดือนมีนาคมเหนือลานกว้าง ทั้งที่มีกล้องดูดาวตั้งตรงหน้า แต่รู้สึกเหมือนนอนดูดาวอยู่ในมุ้งสีขาว เมฆและหมอกทำหน้าที่เป็นโคมไฟ สะท้อนแสงขนาดยักษ์ สะท้อนแสงไฟจากบ้านพัก

และรีสอร์ตรอบ ๆ ไร่เขาน้อยสุวรรณาลงมาที่ลานดูดาว

ดาวบนฟ้าเหลือแต่ดวงสว่าง ๆ อยู่แถวกลางศีรษะ ต่ำลงมาจดยอดไม้ ท้องฟ้าเป็นสีขาวรอบด้าน กลบแสงจากดวงดาวเสียสนิท

คืนนี้ท้องฟ้าไม่เป็นใจเลย

สภาพท้องฟ้าแบบที่ผมให้คะแนนความใส ๓/๑๐ อย่างคืนนี้ สิ่งที่พอจะดูได้คือกระจุกดาวเปิด

นับว่าผมยังพอมีโชคอยู่บ้าง เพราะใกล้ ๆ กลางฟ้า ตำแหน่งกระจุกดาวเปิด Messier 67 หรือ M67 ในกลุ่มดาวปู เป็นจุดฟ้าเปิดพอดี

เมื่อดูจากกล้องดูดาวกำลังขยายต่ำ M67 เป็นจุดแสงของดาวเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งประมาณ ๑๐ กว่าดวง ทั้งหมดรวมตัวใกล้กันเป็นกลุ่มลักษณะเฉพาะแตกต่างจากดาวบริเวณอื่นชัดเจน ท้องฟ้าด้านหลังก็เป็นสีเทาเข้มไม่ดำสนิท เมื่อเปลี่ยนกำลังขยายของกล้องมาเป็น ๕๕ เท่า สีท้องฟ้าในเลนส์ตาเข้มขึ้น ขับให้รายละเอียดชัดเจนขึ้น ตัวกระจุกดาวที่เห็นมีดาวสว่างดวงหนึ่งเป็นประธาน และมีดาวเล็ก ๆ หรี่ ๆ อีกราว ๒๐ ดวง เรียงเป็นแถวโค้งสามแถวตามมาทางทิศตะวันตก บางขณะก็เห็นจำนวนดาวเพิ่มขึ้นบางขณะก็เหมือนมีแสงฟุ้งจาง ๆ รายล้อมดาวเล็กบริวารเหล่านั้น แต่ละดวงดูหม่น ๆ ไม่สว่างสดใสอย่างที่ควรเป็น

เมื่อดูจนรู้สึกอิ่ม ผมก็หยิบสมุดกับดินสอมาจดบันทึกข้อความและวาดภาพดาวท่ามกลางความมืด อาศัยเพียงแสงไฟสีแดงจากโคมไฟเล็ก ๆ ใช้ดินสอจุดดาวสว่างที่สุดเป็นอันดับแรก จากนั้นก็มองหาความสัมพันธ์เชิงมุมของดาวในเลนส์ตา ค่อย ๆ ไล่ไปทีละดวง ๆ

ผ่านไปแค่ครึ่งทาง ภาพในเลนส์ตากลายเป็นสีเทา ๆ ดาวเริ่มหาย เมื่อเงยหน้ามองท้องฟ้าก็พบว่าดาวที่เห็นอยู่น้อยนิดนั้นถูกเมฆกลืนหมดแล้ว

ติ๊ด-ติ๊ด-แต๋-วิด ติ๊ด-ติ๊ด-แต๋-วิด ติ๊ด-ติ๊ด-แต๋-วิด เสียงนกกระแตแต้แว้ดร้องดังขึ้นในความเงียบ กลิ่นกาแฟร้อนกรุ่นโชย ผมนั่งรอฟ้าไปเรื่อย ๆ รอบด้านยังคงมีเมฆหนา พอเห็นดาวบ้างตามช่องเปิดของเมฆวิบวับ

ผ่านไปเกือบชั่วโมงยังไม่มีแววว่าจะดีขึ้น ตัดใจเก็บของเตรียมเข้านอน รอดูคืนพรุ่งนี้อีกครั้งด้วยความหวังว่าจะได้รูปกลับบ้านบ้างสำหรับเดือนนี้

วาดดาว

สมุดสเกตช์

“มีแบบนี้ด้วย นี่เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้เลยนะ”
“วาดเอาเหรอครับ โหดมาก”
“มองเห็นเหรอครับ”

สิ่งที่จะเห็นเมื่อเปิดสมุดสเกตช์ของผม คือวงกลมขนาดใหญ่กินเนื้อที่ไปครึ่งหน้าของสมุดขนาด A5 ภายในวงกลมมีจุดเล็กบ้างใหญ่บ้างไม่เหมือนกันสักหน้า บางหน้ามีรอยแรเงาบ้าง เป็นขีดบ้าง วงรีบ้าง บางอันก็ไม่รู้ว่าเหมือนอะไรดี

ทั้งหมดวาดด้วยดินสอ

แต่ละหน้ามีบันทึกเป็นลายมือประกอบภาพวาด เช่น

“จางมาก ต้องใช้ AV อย่างเดียว ไม่เห็น dark lane บางครั้งเหมือนจะเห็นจุดสว่างคล้ายดาวปรากฏตรงกลาง”
หรือ “ภูสวนทราย 8 : 05 8/12/2010 temp 16.7 hum 100% ความกด 1018.6 ฟ้าใส mag6, veil ฝั่งตะวันออก เป็นปื้นโค้ง ๆ …”

เมื่อเปิดไปเรื่อย ๆ คนอ่านที่แม้ไม่ได้เป็นนักดูดาวก็น่าจะเข้าใจได้ว่าสมุดเล่มนี้เกี่ยวกับดวงดาว

ขณะที่คนดูดาวเป็นก็จะมองหน้าผมด้วยสายตาทึ่งและสงสัยว่าทำได้อย่างไร

“ลองดูสิครับ แล้วครูจะแปลกใจ” ผมตอบครูสอนดาราศาสตร์คนหนึ่งที่ส่งข้อความถามเรื่องสเกตช์

ผมเขียนวิธีการส่งไปให้ทางอีเมลพร้อมคำแนะนำ

“ขอให้เริ่มจากการจดบันทึกก่อนนะครับครู”

ข้อมูลที่บันทึกอาจเริ่มจากสถานที่ วันที่ เวลา อุณหภูมิ ความชื้น และสภาพโดยรอบ เช่น เสียงแมลง กระแสลม ไฟ ความใส ความมืดของท้องฟ้า และความรู้สึกของเราขณะนั้น

“จะเป็นคำอธิบายเพิ่มเติมให้ภาพวาดก็ได้”

เช่นภาพดาวพฤหัสเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

“สีเหลืองอ่อน เข็มขัดด้านเหนือสีน้ำตาล เห็นได้ชัดเจน ขนาดใหญ่ สีไม่ได้เสมอทั้งเส้น เหมือนกับมีสีเข้มสองจุด เข็มขัดด้านใต้เริ่มเห็นบ้างแล้วด้วยการมองเหลือบ บริเวณขั้วใต้มีแถบมืด”

ภาพดาวพฤหัสและข้อความนี้สำคัญ เพราะช่วงเวลานั้นเข็มขัดด้านใต้ของดาวพฤหัสหายไป แต่ ณ วันนั้นผมกลับมองเห็นจาง ๆ เมื่อเช็กข้อมูลก็ทราบว่าเข็มขัดเริ่มปรากฏให้เห็นจริง ๆ นับเป็นภาพแรก ๆ ของการกลับมาของเข็มขัดที่หายไป

มีอยู่หน้าหนึ่งในสมุดเขียนว่า “Venus record” ตอนนั้นตั้งใจสังเกตดาวศุกร์ทุก ๆ ๗ วัน เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเสี้ยวดาวศุกร์ แต่บันทึกแค่สองครั้งก็ไม่ได้ทำต่อ แสดงว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า แพ้ต่อความขี้เกียจ

สมุดสเกตช์เรียกอารมณ์ที่ไม่ดีขึ้นมาได้เหมือนกัน เช่นหน้าที่มีรูปกาแลกซี M33 เขียนที่ไร่เขาน้อยสุวรรณา ผมบันทึกไว้ว่า

“อากาศไม่ดี อุณหภูมิประมาณ ๑๖ องศา มีไฟส่องขึ้นฟ้าที่โบนันซ่า ทำให้ยากที่จะดู”

คืนนั้นมีเสียงเพลงดังของคอนเสิร์ตใหญ่มาจากจุดที่อยู่เลยไปทางทิศเหนือของไร่ อากาศไม่ค่อยดี มีหมอกบาง ๆ แต่พอดูดาวได้ ระหว่างกำลังสเกตช์ภาพ อยู่ ๆ ภาพกาแลกซี M33 ก็จางลง เมื่อเงยหน้าขึ้นมาก็พบไฟสปอตไลต์ลำใหญ่กวาดไปทั่วท้องฟ้า และส่วนใหญ่ก็ดันกวาดไปแถว ๆ M33 พอดี !

“Observations not writing down are not observations.”
“การสังเกตที่ไม่ได้จดบันทึกไม่ใช่การสังเกต”
ข้อความที่ อิซาเบล เค วิลเลียมสัน นักดาราศาสตร์ชาวแคนาดากล่าวไว้เป็นจริงทุกประการ

waddao03

ภาพสเกตช์ชิ้นแรก

ผมเปิดสมุดสเกตช์เล่มเก่า ที่แผ่นรองปกมีข้อความเขียนด้วยดินสอว่า “อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ๑๓/๑/๐๖”

บรรทัดต่อมาเขียนว่า “MR80 eyepiece 25mm” ต่ำลงมาอีกมีจุดเล็กบ้างใหญ่บ้างประมาณ ๒๐-๓๐ จุด ทางซ้ายมือมีลูกศรชี้ ระบุตัวอักษร N

ภาพกับข้อความสั้น ๆ ทำให้ความทรงจำไหลออกมาเหมือนสายน้ำ แม้จะผ่านไปเป็นสิบปี

เย็นวันนั้นผมกับเพื่อนไปที่เขื่อนสียัดเพื่อลองอุปกรณ์ดูดาวของแต่ละคน ที่นั่นมีร้านค้าปลูกเป็นเพิงอยู่ร้านหนึ่ง ลานข้างร้านเต็มไปด้วยฝุ่นดินและหญ้าแห้ง เราจอดรถและตั้งกล้องดูดาวใกล้ ๆ แนวต้นไม้เตี้ย ๆ
ร้านค้านั้นกลายเป็นที่พึ่งเพียงหนึ่งเดียวของเราสำหรับห้องน้ำ และมื้อเย็นที่ไม่อร่อยเอาเสียเลย

ตกค่ำมีรถกระบะเข้ามาตกปลาที่ริมน้ำ ส่งเสียงดังกันทั้งคืน

เรียกว่าความรู้สึกมาครบ ทั้งรูป รส กลิ่น และเสียง

สำหรับภาพดาว จากตำแหน่งของจุดแม้จะไม่มีชื่อบอก แต่ผมก็จำได้ว่านี่คือรูปกระจุกดาวลูกไก่ และเมื่อดูจากวันที่ รูปนี้ก็เป็นสเกตช์ดาวรูปแรกในชีวิต

waddao04

ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

เพื่อนคนหนึ่งที่ทราบว่าผมมีงานอดิเรกเป็นนักดูดาว เอ่ยปากขอร้องแกมบังคับให้ช่วยพาเขาและเพื่อนไปดูดาวที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งแถบแก่งกระจานช่วงเดือนมกราคม

ผมขอให้ชาวคณะปิดไฟฉายที่ให้แสงสีขาว โดยให้ใช้ไฟฉายสีแดงเท่านั้น เมื่อทุกอย่างพร้อม สายตาของทุกคนก็ปรับเข้ากับความมืดพอดี

ภาพ 5-M1-2174 1

“ถ้าค่อย ๆ ดูค่อย ๆ สังเกตท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นว่าดาวแต่ละดวงสว่างไม่เท่ากัน บางดวงก็มีสีแปลกออกไป”

ความสว่างของดาวนั้นนักดาราศาสตร์ชาวกรีกชื่อฮิปพาร์คัส (Hipparchus) เริ่มต้นไว้เมื่อประมาณ ๑๒๙ ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยเรียกดาวสว่างที่สุดในรายการชื่อดาวของเขาว่า of the first magnitude หรือ “ใหญ่ที่สุด” ดาวสว่างรองลงมาเรียกว่า of the second magnitude หรือ “ใหญ่รองลงมา” และดาวสว่างน้อยที่สุดที่เรามองเห็นก็คือ of the sixth magnitude แนวคิดแมกนิจูดนี้ได้รับการปรับปรุงมาเรื่อย ๆ และใช้มาถึงปัจจุบัน

“ท้องฟ้าตอนนี้เราเห็นดาวสว่างน้อยที่สุดประมาณแมกนิจูดที่ ๔ กว่า ๆ และดาวดวงที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าคือดวงนี้ครับ” มีเสียงฮือเมื่อแสงเลเซอร์สีเขียวสว่างเป็นลำชี้ไปยังดาวซิริอุส (Sirius) หรือดาวโจร

“สวยจัง เหมือนเพชรส่องประกายจ้า อยากได้เพชรแบบนี้” เสียงเพื่อน ๆ ที่ยังไม่เคยดูดาวผ่านกล้องดูดาวมาก่อน อุทานขึ้นขณะก้มมองภาพซิริอุสสีขาวอมฟ้าสว่างสดใสจนแสบตาจากกล้องดูดาว

“ยังมีสีอื่นอีกนะ” ผมย้ายกล้องดูดาวมาที่ดาวบีเทลจุส (Betelgeuse) ดาวดวงนี้คือหัวไหล่ด้านทิศตะวันออกของกลุ่มดาวนายพราน ดูด้วยตาเปล่าก็เห็นประกายเป็นสีส้มชัดเจน

“สวยอีกแล้ว สีเหมือนแซฟไฟร์”

สีของดาวบนฟ้าขึ้นกับอุณหภูมิของผิวดาวฤกษ์ดวงนั้น

“ลองใช้กล้องสองตาส่องดูตรงนี้ครับ” ผมชี้ไปที่ว่าง ๆ ต่ำกว่าดาวซิริอุสประมาณ ๔ องศา ถ้าฟ้ามืดพอเราจะมองเห็นฝ้าเล็ก ๆ บาง ๆ อยู่ตรงนั้น

“เหมือนมีดาวหลาย ๆ ดวงอยู่ชิด ๆ กัน” เสียงใครสักคนเอ่ยขึ้น “เหมือนดาวขมวดกันเป็นปม” ผมเสริม

“สิ่งที่เห็นนี่เรียกว่ากระจุกดาว เป็นกลุ่มของดาวที่เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เรียกว่าเป็นพี่น้องกันก็ได้” กระจุกดาวนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Messier 41 หรือเรียกย่อ ๆ ว่า M41

เมื่อดูด้วยกล้องดูดาว กระจุกดาว M41 จะวางตัวขดคล้ายก้นหอย บนท้องฟ้ามีกระจุกดาวที่เหมือนอัญมณีประดับฟ้าแบบนี้จำนวนมาก

“หากเราสังเกตจะพบว่าท้องฟ้าบางจุดคล้าย ๆ จะมีอะไรบางอย่างอยู่ตรงนั้น แต่ดูไม่ชัด” ผมชี้เป้าไปบริเวณดาบของนายพราน

“ที่เห็นเป็นแสงฟุ้ง ๆ นี่เรียกว่าเนบิวลา เป็นกลุ่มก๊าซในอวกาศ สว่างขึ้นมาเพราะแสงจากดาวที่อยู่ตรงกลาง” จากกล้องดูดาว เนบิวลานี้ดูคล้ายปลาเทวดา บางครั้งก็เหมือนนกนางนวล

จากกลุ่มดาวนายพราน ผมพาคณะสำรวจข้ามท้องฟ้ามาทางทิศตะวันตก

“ดูตรงที่ผมชี้นี่นะ ตรงนี้จะมีฝ้า ๆ ขาว ๆ เหมือนเป็นขีดยาว ๆ”

เมื่อทุกคนผลัดกันดูด้วยกล้องสองตาและกล้องดูดาวแล้วจึงอธิบาย “สิ่งที่เห็นดูคล้ายกับเนบิวลา แต่ไม่ใช่ อันนี้คือกาแลกซีแอนโดรเมดา เป็นกาแลกซีที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นขีดจาง ๆ”
กาแลกซีเป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์เพิ่งแยกออกจากเนบิวลาเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน

จากนั้นผมก็พาลูกทัวร์เที่ยวชมกลุ่มดาว กระจุกดาว ดาวสว่าง ๆ อีกหลายดวงหลายกลุ่มก่อนจะปิดท้าย

“นี่คือตัวอย่างของดวงดาวและวัตถุบนท้องฟ้าหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า deep sky object วัตถุพวกนี้มีอยู่มากมายบนท้องฟ้า เปรียบเหมือนท้องทะเลที่มีขุมทรัพย์ซ่อนอยู่”

การนำดูดาวคราวนี้ทำให้ผมเห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่ห่างไกลจากท้องฟ้าและดวงดาวที่เห็นได้ทุกคืน

อาจด้วยสภาพอากาศจากโลกร้อน การเติบโตของเมือง และฝุ่นควันที่พวกเราสร้างขึ้นเอง บดบังท้องฟ้าและดวงดาวให้หนีห่างจากการรับรู้ของเราไปทุกที

waddao06 1 waddao06 2

กาแลกซีแอนโดรเมดา

ภาพวาดในสมุดสเกตช์ เปรียบเสมือนฟิล์มถ่ายรูปเนกาทีฟ เมื่อกลับค่าสีด้วยโปรแกรมแต่งภาพ ผลลัพธ์ที่ได้จะเหมือนภาพจริงที่เรามองเห็นในเลนส์ตาของกล้องดูดาว จะไม่เหมือนกับภาพที่บันทึกด้วยกล้องถ่ายภาพ

waddao01

ตาดูฟ้า มือวาดดาว

ผมมาถึงไร่เขาน้อยสุวรรณาก็เป็นเวลาแดดร่มลมตกพอดี

อากาศช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนก็กำลังสบาย หลังจากทักทายนักดูดาวเจ้าของพื้นที่ ผมก็เริ่มขนย้ายอุปกรณ์ลงจากรถ ติดตั้งกล้องดูดาวเรียบร้อย ตรวจเช็กรายการที่ต้องใช้สำหรับคืนนี้

๑. โคมไฟสีแดงหรือไฟฉายสีแดง หากขาดไปคืนนี้จะทำงานไม่ได้ เพราะการวาดรูปพร้อม ๆ กับรักษาสายตาให้คุ้นเคยกับแสงน้อย ๆ นั้นต้องพึ่งโคมไฟแสงสีแดงเข้มเท่านั้น
๒. กล่องดินสอ มีดินสอหลายขนาด เช่น 2B, ยางลบชนิดนิ่ม ๆ เพื่อถนอมกระดาษ, แผ่นกันลบ เป็นแผ่นสเตนเลสบาง ๆ เจาะเป็นรูรูปร่างหลายแบบ หลายขนาด ใช้สำหรับลบเฉพาะจุดที่ต้องการ, แท่งเกลี่ยหรือที่เรียกว่า blending stump ทำจากแผ่นกระดาษที่ม้วนจนแน่นเป็นแท่งคล้ายดินสอ แต่ไม่มีไส้ แท่งเกลี่ยใช้สำหรับแรเงาวัตถุอย่างเนบิวลาหรือกาแลกซี นอกจากนี้ก็มีกระดาษทรายไว้ทำความสะอาดแท่งเกลี่ย กบเหลาดินสอ ไม้โปรแทรกเตอร์ ๓๖๐ องศา เป็นต้น
๓. สมุดสเกตช์หรือสมุดบันทึก เป็นสมุดเนื้อดีไม่มีเส้น หรืออาจใช้กระดาษ A4 คู่กับกระดานวาดรูป
๔. แผนที่ดาวแบบละเอียด
๕. โต๊ะสนามสำหรับวางของ และเก้าอี้ดูดาวที่ทำขึ้นเอง เก้าอี้ตัวนี้ปรับระดับเป็นขั้น ๆ ได้ ตั้งแต่เกือบติดพื้นไปจนสูงเกือบเมตร ที่ต้องใช้แบบนี้ก็เพราะตำแหน่งของกล้องดูดาวจะขยับไปเรื่อย ๆ จึงต้องมีเก้าอี้เฉพาะเพื่อความสบายเวลาดูดาวนาน ๆ
๖. เสื้อกันหนาว ท้องฟ้าที่เหมาะกับการดูดาวเป็นท้องฟ้าหน้าหนาว และเราต้องอยู่กลางแจ้ง อุปกรณ์กันหนาวกันน้ำค้างจึงต้องพร้อม

สิ่งที่เราจะดูและสเกตช์คืนนี้คือเนบิวลาผีน้อย Messier 78 หรือ M78 อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ ๑,๖๐๐ ปีแสง เป็นเนบิวลาชนิดสะท้อนแสงขนาดใหญ่ที่สุดบนท้องฟ้า ลักษณะเป็นฝ้าจางรูปครึ่งวงกลม โดยส่วนยอดสว่างของวงกลมจะอยู่ทางทิศเหนือ ค่อย ๆ จางลงทางทิศใต้ ภายในครึ่งวงกลมมีดาวสองดวงเรียงตามแนวทิศเหนือใต้ ทำให้เนบิวลานี้ดูเหมือนกับตัวการ์ตูนผีน้อยแคสเปอร์ และนี่คือที่มาของชื่อ Ghost Nebula

นาฬิกาข้อมือบอกเวลา ๔ ทุ่มครึ่ง คืนนี้ท้องฟ้าไร้เมฆ ผมเงยหน้ามองจุดกลางฟ้า ประเมินดาวจางที่สุดที่เห็นประมาณแมกนิจูด ๕-๖ ถือว่าเป็นคืนฟ้าใสและมืดพอควรเลยทีเดียว

เห็นทางช้างเผือกพาดผ่านกลุ่มดาวค้างคาวทางทิศเหนือ ยาวข้ามฟ้าไปยังบริเวณไหล่ขวาของนายพรานที่โผล่พ้นยอดไม้บนเนินเขาเตี้ย ๆ ภายในไร่มาได้สักชั่วโมงเศษ

อากาศคืนนี้กำลังสบายไม่หนาวจนเกินไป ผมนั่งบนเก้าอี้ดูดาวเอนหลังพิงพนักสบาย ๆ ใช้กล้องสองตาสแกนท้องฟ้าแถว ๆ เข็มขัดนายพราน แต่ไม่พบเป้าหมายที่ต้องการ

จากแผนที่ดาว ตำแหน่งของ M78 จะอยู่ราวครึ่งทางระหว่างดาวริมทางทิศตะวันออกของเข็มขัดนายพรานกับดาวสว่างที่ชื่อ 56 Orionis

“บิงโก !” หลังจากวางกล้องเล็งไปยังจุดที่คาดว่าน่าจะใช่ แล้วขยับหาอยู่อีกหน่อยก็พบเป้าหมาย “สว่างกว่าที่คิดแฮะ” ผมรำพึงเบา ๆ

สิ่งที่เห็นทำให้รู้ชัดว่าไม่ผิดตัวแน่ เพราะลักษณะที่เหมือนการ์ตูนผีฝรั่งมีดวงตาสองดวงในผ้าคลุมสีขาวชัดมาก

เมื่อดูและสังเกตจนพอใจ ก็หยิบสมุดและดินสอ พร้อมปรับโคมไฟสีแดงให้เข้าที่ ที่นั่งก็ต้องขยับลงอีกหนึ่งขั้น แสดงถึงเวลาที่ผ่านไปเรื่อย ๆ

ผมใช้ไม้โปรฯ ๓๖๐ องศาเป็นแบบสำหรับวาดวงกลมเป็นขอบเขตของภาพที่เห็น ค่อย ๆ พิจารณาภาพในเลนส์ตาไปเรื่อย ๆ ผมก็จะกำหนดจุดดาวสว่างที่สุดที่อยู่รอบนอกก่อนเพื่อเป็นขอบเขต จากนั้นก็มองหาความสัมพันธ์เชิงมุมกับระยะของดาวดวงต่าง ๆ ค่อย ๆ ไล่มาทีละดวงจากสว่างมากมาสว่างน้อย

หากมีดาวดวงไหนที่ผิดก็อาศัยยางลบกับแผ่นกันลบเป็นตัวช่วย

“จุดดาวแต่ละดวงยังไงให้ตำแหน่งตรงกับที่เห็นครับ” มีคนถามผมเสมอ

เรื่องนี้ต้องลองทำด้วยตัวเองแล้วจะแปลกใจกับความสัมพันธ์ระหว่างดวงตา มือ และสมอง ที่กำหนดระยะและทิศทางได้แม่นยำ

ความสว่างของดาวแต่ละดวงแทนด้วยจุดที่เล็กใหญ่ต่างกัน เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้อย่าละเลยเพราะทำให้ภาพมีมิติมากขึ้น

เคล็ดลับอีกอย่างที่สำคัญคือต้องเชื่อความรู้สึกของตัวเอง

เมื่อจุดดาวจนครบทุกดวงและตรวจสอบความสว่างซ้ำแล้วก็ถึงเวลาของตัวเนบิวลา

เริ่มต้นด้วยใช้ดินสอดำฝนพื้นที่ว่าง ๆ นอกขอบเขตการมองเห็น ใช้แท่งเกลี่ยไปถูหรือฝนให้ติดผงดินสอ ลองทดลองน้ำหนักเข้มอ่อนจนพอใจแล้วจึงค่อย ๆ ใช้แท่งเกลี่ยวาดและแรเงาจนได้เนบิวลาอย่างที่ต้องการ จากนั้นก็เขียนบันทึกข้อมูล เช่น วันที่ เวลา สถานที่ อุปกรณ์ที่ใช้ ข้อความ ความรู้สึก ฯลฯ

waddao07

ผมของเบเรนิซ

หลังปีใหม่ ๒๕๔๙ ที่อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย ผมรู้สึกตัวตื่นขึ้นมากลางดึก สัมผัสได้ถึงอากาศที่เย็นเฉียบ แม้จะสวมเสื้อกันหนาวรวมถึงซุกตัวอยู่ในถุงนอนก็ไม่ช่วยสักเท่าไร เมื่อมุดออกจากเต็นท์ พอเงยหน้าก็ตะลึงกับภาพที่เห็น

ดวงดาวสว่างมากบ้างน้อยบ้าง เต็มท้องฟ้าไปหมด ดาวเยอะเสียจนแผนที่ดาวแบบหมุนในมือไร้ความหมาย เพราะดูไม่ออกว่าดวงไหนคือดวงไหน

หลังจากใช้เวลาสักครู่ผมก็เห็นทางช้างเผือกพาดสว่างเป็นทางอยู่ทางทิศตะวันตก กลุ่มดาวสิงโตอยู่กลางฟ้า จากนั้นก็ใช้กล้องดูดาวที่เพิ่งซื้อมากวาดท้องฟ้าดูทางช้างเผือกไปแบบไร้จุดหมายตามประสาคนหัดดูดาวครั้งแรก

เวลาผ่านไปเกือบ ๒ ชั่วโมงเริ่มเมื่อยและเหนื่อย เมื่อเงยหน้ามองท้องฟ้าก็ลืมหายใจอีกครั้งกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า

บริเวณด้านล่างของกลุ่มดาวสิงโตเหมือนมีเมฆที่เกิดจากการรวมตัวของเพชรเม็ดเล็ก ๆ จำนวนมากเปล่งประกายระยิบระยับดั่งภาพหีบสมบัติในนิยาย

สิ่งที่เห็นทำให้กล้องดูดาวหมดความหมายไปทันที

ผมนั่งกอดเข่าบนพื้นหญ้าที่ชื้นแฉะและเย็นเฉียบ เงยหน้าดื่มด่ำกับความงามของเมฆเพชรระยับด้วยตาเปล่า

เวลาผ่านไปเท่าไรไม่รับรู้

พอรู้สึกตัวว่าทนหนาวไม่ไหวแล้วจึงกลับเข้าไปนอน

ความรู้สึกต่อ “ผมของเบเรนิซ” (Berenice’s Hair) ในคืนนั้นยังติดอยู่ในใจจนบัดนี้

ย้อนกลับไปราว ๒๕๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยปโตเลมีที่ ๓ เป็นกษัตริย์อียิปต์ ราชินีเบเรนิซที่ ๒ ทรงเป็นกังวลว่าพระสวามีจะไม่ได้กลับมาจากการทำสงครามกับซีเรีย โหรหลวงจึงแนะนำพระนางให้มอบคำมั่นสัญญาต่อเทพีอะโฟรไดทีว่าจะตัดพระเกศาถวายหากพระสวามีกลับมาปลอดภัย

เมื่อกษัตริย์ปโตเลมีกลับมาอย่างปลอดภัย ราชินีเบเรนิซก็ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ แม้ว่าพระสวามีจะไม่เห็นชอบ เพราะพระเกศาสีทองอำพันของพระนางเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและเป็นแรงบันดาลใจของกวี
พระเกศาของพระนางได้รับการวางไว้ที่แท่นบูชาในโบสถ์ แต่วันต่อมาพระเกศากลับหายไป องค์ราชันกริ้วมาก จึงสั่งประหารบาทหลวงในโบสถ์ ทว่าโหรหลวงขอให้พระองค์ทรงรอจนถึงคืนนี้ แล้วเขาจะบอกว่าพระเกศาของพระนางอยู่ที่ใด

เมื่อราตรีมาถึง โหรหลวงกล่าวแก่ราชาว่า “นั่น เชิญทอดพระเนตรเถิด พระเกศาองค์ราชินีของท่านงามเกินกว่าที่จะตกเป็นสมบัติของผู้ใดตามลำพัง พระผู้เป็นเจ้าจึงนำไปประดับไว้บนฟ้าให้โลกได้ชื่นชม ท่านเห็นประกายสีทองระยิบระยับนั่นไหม เหมือนพระเกศาของราชินีเบเรนิซทีเดียว”

waddao08

เรียบง่าย ลุ่มลึก

ผมกับเพื่อนนักดูนกที่ชอบบันทึกความทรงจำด้วยสีน้ำเคยนั่งคุยกัน

“เวลาเราเปิดสมุดบันทึกแล้วเราจะเห็นภาพตอนนั้นมีเรื่องราว มีความรู้สึกมากมายซ่อนอยู่”

ภาพการเดินป่า ภาพของต้นไม้ต้นนั้นที่นกไปเกาะอยู่ อากาศร้อน แมลงตอมตัว จะเผยตัวขึ้นมาเมื่อเปิดสมุดบันทึก

ส่วนการวาดภาพนกนั้น

“กว่าจะวาดนกได้ตัวหนึ่งใช้เวลานาน ต้องมองเยอะ มองละเอียด แล้วก็ไม่ได้ดูแค่ตัวนก เราจะเห็นพฤติกรรม สภาพแวดล้อม ดอกไม้ ต้นไม้ ถิ่นที่อยู่ ตัวผู้ ตัวเมีย รายละเอียดเยอะมาก”

การดูดาวแล้วสเกตช์กับจดบันทึกก็เช่นกัน

เราจะใช้เวลาอยู่กับวัตถุชิ้นเดียวนานขึ้นกว่าดูอย่างเดียวมาก

รายละเอียดที่จาง ๆ จะค่อยปรากฏขึ้นช้า ๆ เมื่อเราใช้เวลามองนานขึ้น ทำให้เรารู้จัก เข้าใจ และซึมซับ วัตถุชิ้นนั้นอย่างลึกซึ้ง

ผลที่ตามมาคือทักษะการดูดาวและความเข้าใจในท้องฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น

แม้เทคโนโลยีการถ่ายภาพดาวพวก deep sky object จะพัฒนาไปไกล แต่กระบวนการก็ยังคงยุ่งยากและซับซ้อน การจะได้ภาพที่ดีแต่ละภาพต้องใช้เวลาหลายสิบชั่วโมงในการถ่ายและตกแต่งภาพ ไม่นับอุปกรณ์ที่ต้องใช้งบประมาณสูง และไม่ว่าภาพถ่ายจะมีสีสันสวยงามแค่ไหน ความจริงคือภาพเหล่านั้นเป็นสิ่งที่กล้องบันทึกไว้ได้ ไม่ใช่ภาพอย่างที่มนุษย์มองเห็น

ส่วนวิธีการสเกตช์และจดบันทึกเป็นตรงข้ามโดยสิ้นเชิง

เรียบง่าย ลุ่มลึก ต้องการแค่กระดาษและดินสอ แค่นั้น

สุดท้าย

ไม่ว่าภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้าจะมีสีสันสดใส เห็นดาวจำนวนนับไม่ได้อัดแน่นเป็นก้อนกลมน่าตื่นตา

หรือภาพสเกตช์เนบิวลารูปร่างประหลาดจะวาดได้อลังการเหมือนจริงแค่ไหน

ก็ยังไม่อาจทดแทน “ความรู้สึก” ของการได้มองเห็นด้วยตาของเราเอง

กระจุกดาวพราวพรายเหมือนเพชรนิลจินดาในหีบสมบัติใต้ทะเล ส่องแสงระยิบระยับ

ดังนั้น…ขอให้ฟ้าใสไร้หมอกควันทุกวัน

แล้วมองดูดาว

ขอขอบคุณ

  • ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
  • จินดารัตน์ วิเศษเรืองโรจน์
  • กรกมล ศรีบุญเรือง
  • จารุพงษ์ จันทรเพชร
  • และ วรัทยา อาชีวกุลมาศ

เอกสารอ้างอิง

  • Alan MacRobert, “The Stella Magnitude System,”  Sky & Telescope Magazine. http://www.skyandtelescope.com/astronomy-resources/the-stellar-magnitude-system/
  • Bob King, “Pleasures of Keeping an Astro Journal,”  Sky & Telescope Magazine. http://www.skyandtelescope.com/observing/pleasures-of-keeping-an-astro-journal02182015/
  • Ann Wright, “The Story of Berenice.” http://www.constellationsofwords.com/Constellations/ComaBerenices.html
  • กรกมล ศรีบุญเรือง, “ท้องฟ้าในเดือนพฤษภาคม,”  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ. http://www.narit.or.th/index.php/astro-corner2/1279-2014-05
  • “The Messier catalog.” http://www.messier.seds.org