เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

ที่ใดมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่นั่นย่อมมีเทวดาผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมือง

“พระธาตุอินทร์แขวน” ที่คนไทยรู้จัก คนมอญเรียก “เจดีย์ไจก์ทิโย” ก็ด้วย

พงศาวดารมอญเล่าตำนานสร้างเมืองสะเทิม (ปัจจุบันคือจังหวัดของรัฐมอญ) ว่าสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จแสดงธรรมที่ “ดินแดนสุวรรณภูมิ” (เรียกอาณาจักรทางตอนใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสะโตง ตามเอกสารของจีนและอินเดีย) ได้มอบเกศาธาตุเป็นสิ่งแทนพระองค์แก่ประชาชน ฤๅษีตนหนึ่งก็ได้รับและรักษาไว้ในมวยผม ถึงคราวจะละสังขารก็ปรารถนาจะบรรจุเกศาธาตุไว้ในหินสักก้อนที่มีลักษณะคล้ายศีรษะตน จึงแจ้งพระเจ้าติสสะ กษัตริย์ผู้ครองนครสะเทิม (บุตรที่ธิดาพญานาคฝากให้เลี้ยงแต่เล็ก) ความทราบถึงพระอินทร์จึงบันดาลให้พบหินขนาดความสูง ๗.๖ เมตร เส้นรอบวง ๑๕ เมตร จากใต้มหาสมุทร แล้วบรรทุกขึ้นเรือจนได้นำมาวางริมภูผาสูง ต่อมาพระเจ้าติสสะให้สร้างเจดีย์ขนาดสูง ๗.๓ เมตร เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งเหนือหินก้อนกลมคล้ายทูนไว้เหนือมวยผมฤๅษี

เรียกขานกันในชื่อ “เจดีย์ไจก์ทิโย” ภาษามอญหมายถึง “ศีรษะฤๅษี”

Passport - สตรีกะเหรี่ยง ผู้อารักษ์ “พระธาตุอินทร์แขวน” แห่งแคว้นมอญ

สิ่งน่าอัศจรรย์คือหินก้อนนั้นตั้งบนแท่นหินธรรมชาติที่ต่างเป็นอิสระจากกัน ปลายสุดของแท่นหินลาดเอียงลงหุบเขาเบื้องล่าง แต่นอกจากก้อนหินจะไม่เอียงกระเท่เร่ ยังทรงตัวอยู่ได้ราวพระอินทร์แขวนไว้

ระหว่างพระเจ้าติสสะสร้างเจดีย์ ได้พบรักและอภิเษกกับ “ชเวนันจิน” ลูกสาวผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงที่มีถิ่นฐานแถวนั้นจึงรับเป็นมเหสีในวัง ครั้นนางตั้งครรภ์แล้วป่วย เชื่อว่าเพราะสมรสโดยไม่ได้ขอขมาผีบรรพชน พระเจ้าติสสะจึงให้นางกลับบ้านทำพิธี ระหว่างทางในป่ามีเสือกระโจนขวาง พ่อกับพี่ชายวิ่งหนี นางวิ่งไม่ไหวจึงนั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนา จดจ่อสายตายังเจดีย์ที่พระสวามีทรงสร้าง ด้วยแรงศรัทธาในที่สุดเสือก็หนีไปโดยไม่ทำอันตราย ชเวนันจินในร่างที่อ่อนล้ายังกระเสือกกระสนขึ้นเขาจนถึงฐานเจดีย์ไจก์ทิโย ตั้งจิตขอให้ได้อยู่ใกล้เจดีย์ที่สร้างโดยพระสวามีตลอดไป ก่อนทอดกายลงสิ้นลมหายใจอย่างสงบ กว่าพระเจ้าติสสะจะเสด็จถึง ศพของนางก็กลายเป็นหิน และวิญญาณก็สถิตอยู่ที่นั่นคอยปกปักษ์รักษาองค์เจดีย์ไจก์ทิโย

inkwaen02

แต่บ้างก็ว่า ชเวนันจินเองก็เกิดจากนางนาคและมนุษย์ ฤๅษีเป็นผู้เก็บไข่ไว้ ครั้นฟักเป็นเด็กหญิงจึงให้ชาวหมู่บ้านกะเหรี่ยงในละแวกเลี้ยงดู ครั้นเติบโตได้อภิเษกกับพระราชโอรสเจ้าเมืองสะเทิม ต่อมานางป่วยหนัก โหรหลวงทักว่าเพราะทำผิดผีที่ก่อนแต่งงานไม่ได้ขอขมาฤๅษีผู้มีพระคุณ ชเวนันจินจึงจะเดินทางกลับมากราบฤๅษีและองค์เจดีย์ไจก์ทิโย แต่ระหว่างทางถูกเสือไล่ทำร้าย จึงอธิษฐานก่อนสิ้นใจบริเวณฐานเจดีย์ว่าขอให้ดวงวิญญาณได้วนเวียนอยู่แถวนี้คอยช่วยเหลือผู้ที่จะเดินทางมากราบไหว้เจดีย์ไจก์ทิโย

นอกจากรูปปั้นฤๅษี บริเวณทางขึ้นองค์เจดีย์จึงมีศาลาเทพารักษ์หลังหนึ่ง

ภายในมีรูปปั้น “สตรีกะเหรี่ยง” นอนรอให้ผู้มาเยือนอธิษฐาน-สัมผัสกาย

inkwaen03 1 inkwaen03 2

ด้วยศรัทธาว่าหากเจ็บปวดเมื่อยล้าส่วนใด ได้ลูบร่างกายส่วนนั้นของนางชเวนันจินอาการเจ็บป่วยจะบรรเทาหรือหายไปเพราะได้รับการปัดเป่า-โอนถ่ายไว้ที่นางแทน

แม้เป็นเพียงเรื่องเล่า ชาวบ้านก็เชื่อ อาจเพราะตำนานอ้างจากสถานที่มีจริง

อย่างเรือที่ใช้ขนส่งก้อนหินรูปศีรษะฤๅษีจากท้องทะเลลึกก็กลายเป็นหินตั้งอยู่ห่างองค์เจดีย์ไจก์ทิโยประมาณ ๓๐๐ เมตร รู้จักกันในชื่อ “เจดีย์เจาะตานบาน” ภาษามอญหมายถึง “เจดีย์เรือหิน”

หรือหมู่บ้านใกล้องค์เจดีย์ไจก์ทิโยที่นางชเวนันจินเคยอาศัยก็อาจใช่ “หมู่บ้านกีนมู่น” ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ตีนเขาพวงลวง (ที่ตั้งเจดีย์ไจก์ทิโย) อำเภอไจก์โท่ จังหวัดสะเทิม สมัยก่อนหากจะสักการะเจดีย์ไจก์ทิโยต้องใช้วิธีเดินเท้าในเส้นทางป่าเช่นเดียวกับชเวนันจิน แต่ปัจจุบันมีทางถนนอำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญแล้ว มีสถานีรถบรรทุกขนส่งผู้โดยสารด้วยระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร ให้บริการตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น ค่าบริการราคาคนละ ๒,๕๐๐ จ๊าต (ราว ๕๘ บาท) โดยเริ่มจากหมู่บ้านกีนมู่นแห่งนี้

inkwaen04 1 inkwaen04 2 inkwaen04 3 inkwaen04 4 inkwaen04 5

ตลอดสองข้างทางมีทัศนียภาพแห่งขุนเขาให้ดูเพลินตา หินแกรนิตหลายลูกตั้งในลักษณะหมิ่นเหม่คล้ายพร้อมจะกลิ้งตกเขาได้ทุกเมื่อเช่นเดียวกับก้อนหินรูปมวยผมฤๅษีเจดีย์ไจก์ทิโย

เมื่อถึงสถานีปลายทาง “ยาเตตอง” รถทุกคันไม่อาจไปต่อ ผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยที่เดินไม่ไหวสามารถใช้บริการเสลี่ยงหามส่งถึงบริเวณศาลาของชเวนันจินหรือฐานเจดีย์ แต่น่าสนุกกว่าหากจะใช้เวลาไปกับการเดินเล่น ชมวิถีค้าขายของชาวชุมชนตามสองฝั่งข้างทาง มีร้านค้ากะทัดรัดตั้งเรียงราย พ่อค้าแม่ขายตั้งแต่เด็กเล็กยันผู้เฒ่าเดินเชียร์ขายประชิดตัวก็มี สินค้ามีตั้งแต่ของกินพื้นถิ่น ของใช้ประจำวัน และสินค้าที่ระลึก

inkwaen05 1 inkwaen05 2 inkwaen05 3 inkwaen05 4 inkwaen05 5 inkwaen05 6

เมื่อจะลอดซุ้มประตูสู่เจดีย์ขนาบข้างรูปปั้นสิงห์ ๒ ตัว รู้กันว่าต้องเตรียมถุงใส่รองเท้าพกติดตัว เนื่องจากชาวมอญ พม่า หรือกะเหรี่ยง ล้วนเคารพต่อพุทธศาสนา ไม่ว่าแดดร้อนเสี่ยงเท้าพองเพียงใดต้องเดินเท้าเปล่าเข้าเขตพุทธสถาน สุดทางถนนที่อนุญาตให้ชาวบ้านตั้งร้านค้าจะมีบันไดขึ้นสู่เขตเจดีย์อีกครั้ง คราวนี้มีรูปปั้นหงส์ ๒ ตัว ประดับเหนือเสาประตู สะท้อนวัฒนธรรมมอญ

inkwaen06 1 inkwaen06 2

แม้ยืนบนแผ่นดินมอญ แต่เอาเข้าจริงปรากฏลมหายใจของชาวพม่าปะปนกะเหรี่ยงมากกว่า

อาจเพราะพื้นที่ ๔,๗๔๗.๘ ตารางไมล์ ของ “รัฐมอญ” แบ่งเป็น ๒ จังหวัด คือ สะเทิม มี ๔ อำเภอ ตั้งอยู่ทิศเหนือจากปากแม่น้ำสาละวิน และมะละแหม่ง มี ๖ อำเภอ ตั้งอยู่ทิศใต้จากปากแม่น้ำสาละวิน ไม่เพียงอยู่ในแผนที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จังหวัดสะเทิมยังมีพื้นที่ทับซ้อนจังหวัดดูตะทูของกองทัพกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ ๑ ภายใต้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เช่นเดียวกับจังหวัดมะละแหม่งก็ซ้อนกับด้านตะวันตกของจังหวัดดูปลายาในที่ของกองทัพกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ ๖

แต่แง่การดำเนินชีวิต กาลครั้งไหนชาวบ้านตาดำๆ ทั้งสามแผ่นดินมอญ พม่า กะเหรี่ยง ก็ไม่เคยแยกขาดความสัมพันธ์ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่มีรูปปั้นมเหสีชาวกะเหรี่ยงร่วมเขตพุทธสถานสำคัญของรัฐมอญ

บนยอดเขาพวงลวงเหนือระดับน้ำทะเล ๓,๖๑๕ ฟุต เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของรัฐมอญ ด้วยเป็นที่ตั้งพุทธสถานสำคัญของนักจาริกบุญ ยังศรัทธาว่าเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรจอ ช่วงสิ้นปีสากลไปจนเดือนมีนาคมจึงมีผู้คนเยอะเป็นพิเศษ

inkwaen07 1 inkwaen07 2 inkwaen07 3

โดยเฉพาะวันเพ็ญเดือนดะบ้อง (วันมาฆบูชา) เป็นเดือนที่สิบสองและเดือนสุดท้ายตามปฏิทินพม่า สงฆ์ ชี สาธุชน จะเดินทางมาสักการะพระเกศาธาตุ ถวายอาหาร จุดเทียนกว่าเก้าหมื่นแท่ง คลอเสียงสวดมนต์ บ้างทำสมาธิถวายเป็นพุทธบูชาตลอดคืน เปลวเทียนยิ่งขับให้องค์เจดีย์ปิดทองเปล่งประกายวิบวับ

inkwaen08 1 inkwaen08 2

inkwaen08 3

กลางวันว่าสวยแล้ว กลางคืนและเช้าตรู่ก่อนฟ้าสางยิ่งสวย

inkwaen09

มาเยือนพม่าครั้งหน้าหาโอกาสมารัฐมอญสักการะพระเกศาธาตุแห่งเขาพวงลวง

แล้วอย่าลืมขอพรด้านสุขภาพกับชเวนันจิน-สตรีกะเหรี่ยงผู้อารักษ์สาธุชนสักครั้ง