สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 44 – หว้าหวานปานน้ำผึ้ง
โดย ศรัณย์ ทองปาน

แม้ว่าลูกหว้าสีม่วงเข้มๆ อย่างที่หาซื้อกินได้ในเมืองมนุษย์ มักมีรสชาติออกไปทางฝาดๆ ทว่าต้นหว้าใหญ่ประจำชมพูทวีป กลับให้ผลที่มีรสหอมหวานเหมือนน้ำผึ้ง “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่าผลหว้าแต่ละลูกมีขนาดเท่ากับกลองใบใหญ่ๆ ถึงขนาดที่ “ถ้ายื่นมือล้วงเข้าไปในเนื้อหว้า พอสุดแขนถึงเถิงเล็ดในหว้า” คือหากเราเอามือจิ้มทะลุผ่านเปลือกข้างนอกเข้าไปได้ก็ต้องทะลวงกันลึกสุดแขนถึงจะไปลูบๆ คลำๆ เมล็ดในได้

สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 44 - หว้าหวานปานน้ำผึ้ง

คัมภีร์ “โลกบัญญัติ” ขยายความลงรายละเอียดไว้อีกว่าเมื่อครั้งพุทธกาล มีภิกษุสองรูปเป็นสหายกัน และต่างมีฤทธานุภาพ พอได้ฟังพุทธวจนะเล่าเรื่องต้นหว้าประจำทวีป จึงชวนกันเหาะไปดูบ้าง

“ท่านทั้งสองได้ไปถึงต้นหว้านั้น ได้เห็นผลหว้าสุกหล่นลงมาแตก ท่านทั้งสองได้มีความคิดว่า ‘เมล็ดในของผลหว้าสุกนี้ จะใหญ่เพียงไรหนอ’ ภิกษุรูปหนึ่งจึงสอดแขนเข้าไปโอบตามส่วนกลมของผล จึงถึงไหล่ ถูกต้องเมล็ดในด้วยนิ้วส่วนปลาย ภิกษุนั้นดึงมือนั้นกลับคืน แขนของท่านได้ถูกย้อมเป็นสีแดงไปแล้ว เหมือนกับถูกย้อมด้วยจันทน์แดง กลิ่นอันชื่นชูใจของผลหว้านั้นได้ฟุ้งตลบไปแล้ว…”

ขากลับ ท่านยังอุตสาหะแบกลูกหว้าเหาะเอากลับมาถวายแด่พระพุทธองค์ด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้แบ่งปันแจกจ่ายไปในหมู่ภิกษุเมืองราชคฤห์ได้ลิ้มชิมรสกันอย่างทั่วถึง โดยทรงให้เฉือนส่วนที่เป็นโพรงตรงที่ภิกษุสอดมือเข้าไปคลำเมล็ดในนั้นออกทิ้งเสียก่อน

เมื่อลูกหว้าจากต้นหว้าประจำทวีปมีขนาดใหญ่โตถึงเพียงนั้น คัมภีร์เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” จึงไปต่อ โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพวกนกที่บินมาจิกกินลูกหว้าเป็นอาหาร แต่ละตัวล้วนมีขนาดใหญ่เท่าช้าง หรือไม่ก็ตัวโตเท่าบ้านหลังหนึ่ง ส่วนลูกหว้าที่นกกินไม่ทันก็สุกงอมแล้วร่วงหล่นตกลงมาโดยรอบปริมณฑลของพุ่มพฤกษ์ ลูกหว้าที่กลิ้งตกลงไปในแม่น้ำสีทากลายเป็นอาหารปลา

ส่วนยางหว้าที่หล่นย้อยออกมากลับกลายเป็นทองคำเนื้อดี เรียกว่าทอง “ชมพูนุท”

jambu leaves

ด้วยเหตุที่ต้นหว้าเป็นไม้ประจำชมพูทวีป ชาวพุทธในพม่าจึงนับถือกันว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เวลาไปเที่ยวในเมืองพม่า หรือแม้แต่ตลาดตามชุมชนแรงงานพม่าในเมืองไทย เราจะเห็นมียอดหว้าอ่อน ใบสีออกแดงๆ เขียวๆ วางขายตามร้านดอกไม้ ให้คนซื้อไปปักแจกันบูชาพระแซมกับดอกไม้ ส่วนพระสงฆ์พม่าก็นิยมใช้ยอดหว้ามัดรวมเป็นกำ ไว้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล เหมือนอย่างที่คนไทยภาคกลางนิยมใช้ใบมะยม