เรื่อง : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ : คนเล็ก ๆ

เสียงนกขับขาน หัวใจเบิกบาน

“เหนื่อยเหลือเกิน…” หลายชั่วโมงก่อนชายหนุ่มพึมพำกับตัวเองเช่นนั้นตามความรู้สึกที่ระเบิดอยู่ในใจ ท่ามกลางชีวิตการทำงานอันหนักหน่วงจริงจัง ขณะนี้เขาเดินทางกลับไปจังหวัดบุรีรัมย์พร้อมกับความเหนื่อยล้า ซึ่งกว่าจะถึงบ้านก็จวนพลบค่ำพอดี

ฝนเพิ่งซาลงได้ไม่นานนัก ยังคงมีละอองฝนประพรมอยู่ทำให้พื้นดินชุ่มชื่น ท้องทุ่งเต็มไปด้วยหญ้าเขียวขจีเอนไหวลู่ลม มวลอากาศเย็นย่างกรายเข้ามา พร้อมพากลิ่นหอมของเม็ดฝนมาด้วย

บนท้องฟ้าเบื้องหน้า เขามองเห็นก้อนเมฆสีทองบดบังดวงตะวันรอนแสง ชายหนุ่มสูดลมหายใจเข้าไปเต็มปอด พยายามซึมซับบรรยากาศเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด แต่ความเหนื่อยล้าก็ฉุดเขาให้รีบกระโจนเข้าไปพักผ่อนในบ้าน

birdtherapy02 birdtherapy03

หลังงีบหลับไปได้ราว 10 นาทีเศษ ชายหนุ่มสะดุ้งตื่นด้วยเสียงเจื้อยแจ้วของนกกระจาบสองตัวซึ่งเกาะอยู่บนกิ่งไม้นอกหน้าต่าง

ดูท่าจะเป็นนกกระจาบคู่รัก พวกมันหยอกล้อกันสนุกสนาน ปีกเล็กๆ สะบัดพรึบพรับ พลางชะเง้อคอมองรอบด้านอย่างซุกซน จะงอยปากเล็กๆ ก็ซุกไซ้ไปตามรายขน เรื่อยมาที่หน้าอกซึ่งมีขนปุยสีขาวสะอาดตา

ชายหนุ่มสังเกตเห็นเจ้านกทั้งสองตัวเปียกฝนมา จึงไม่แปลกใจที่เห็นมันขยับปีกขึ้นลงไม่มีอยู่นิ่ง ไซ้ขนไม่มีหยุดหย่อน

เขาไม่แน่ใจว่าตัวใดเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย เดาเอาว่าตัวที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยและชอบส่งเสียงร้องบ่อยๆ น่าจะเป็นตัวผู้ มันส่งเสียงราวกับจะพร่ำพลอดเพลงรักให้นกอีกตัวประทับใจ ซึ่งน่าจะเป็นผล เพราะนกอีกตัวไม่มีทีท่าว่าจะบินออกห่างจากมันไปแม้แต่น้อย

เสียงอันแหลมเล็กของมันขับขานได้รื่นหู นุ่มนวล ละมุนละไม ความอบอุ่นกำซาบไปทั่วบริเวณ เข้ากับบรรยากาศที่ดวงอาทิตย์ใกล้ลับเหลี่ยมเขา แต่ยังทอรัศมีสีทองอันงามประหลาดอยู่หลังภูซึ่งอุดมด้วยพรรณไม้สีเขียวสด

เจ้านกกระจาบบินมาจากแห่งใดกัน–ชายหนุ่มครุ่นคิด แต่เพียงไม่นานนักมันก็บินลับหายไป ขณะภาพเวิ้งฟ้าพร่ามัวเต็มที

ชายหนุ่มรู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก ราวกับได้รับยาวิเศษที่หาไม่ได้จากหมอเทวดาคนไหน เป็นความอิ่มที่แทรกตัวอยู่ในอก เป็นอาหารใจอันมีค่าซึ่งแม้แต่ยอดเชฟก็ไม่อาจปรุงได้ เขาอธิบายให้กระจ่างชัดไม่ได้ แต่ความรู้สึกนั้นบอกตนเองว่า เสียงจิ๊บๆ ที่ได้ยินเมื่อครู่เป็นเสียงบำบัดความเศร้าโดยแท้

birdtherapy04

birdtherapy05

–ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงนก หัวใจที่อ่อนล้ากลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งเพราะสิ่งใดกันหนอ–

ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอินเดีย ชื่อว่า “วิชาอายุรเวท” มีการกล่าวถึงเสียงหรือคลื่นความถี่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ โดยเสียงที่สำคัญที่สุดคือเสียง “HU” เป็นเสียงที่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง เป็นเสียงแห่งเสียงทั้งปวง เสียงแห่งวิญญาณ และเสียงแห่งพระเจ้า มีอานุภาพในการปรับจูนคลื่นความถี่ที่ผิดเพี้ยนในร่างกายให้กลับมาสมดุลยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันในประเทศญี่ปุ่นก็มีการคิดค้นศาสตร์เรื่องการอาบป่าขึ้น และมีการกล่าวถึงคลื่นเสียงชนิดหนึ่งที่ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า “Pink Noise” เป็นคลื่นความถี่ที่ดำรงอยู่ในทุกจังหวะของธรรมชาติ มีผลช่วยปรับสภาพของร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับเสียง HU ของศาสตร์ทางอายุรเวท

นี่กระมังคือเหตุผลที่เมื่อเขาได้ยินเสียงนกแล้วรู้สึกเป็นสุข เสียงนกขับขานเป็นเสียงที่ยากจะเลียนแบบ เป็นเสียงที่ไม่ว่าจะได้ยินเมื่อไรก็พาให้เกิดความสบายใจได้อย่างน่าประหลาด

ชายหนุ่มชำเลืองมองออกไปนอกหน้าต่างอีกครั้ง เสียงนกกระจาบยังคงก้องอยู่ในหู แม้พวกมันจะโผบินไปแห่งหนไหนแล้วก็ตาม

“คืนนี้คงหลับฝันดี” ชายหนุ่มพึมพำอีกครั้งก่อนจะผล็อยหลับ พร้อมแสงตะวันลับหายไปในความมืดของค่ำคืน

ข้อมูลอ้างอิง :

มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยกันใน เฟซบุ๊กกรุ๊ป Park ใจ