ประชากรแห่งหิมพานต์: พญาช้างกับปูทอง - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 51

ในพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ตรงเชิงเสาต้นหนึ่งเขียนเป็นรูปช้างสองตัวกำลังต่อสู้กับปูสีทองตัวใหญ่ เสาต้นนี้ ถ้าหันหน้าเข้าหาพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปประธาน เป็นเสาทางฝั่งขวา ดูเหมือนจะต้นที่ ๒

ภาพนี้มีที่มาจากนิทานชาดกเรื่องหนึ่งอันมีสถานที่เกิดเหตุคือป่าหิมพานต์

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าว่ามีปูทองตัวใหญ่ขนาดเท่าลาน (นวด) ข้าวตัวหนึ่ง ชื่อ “มหากุลีระ” (คัมภีร์บางเล่มว่าชื่อ “มหากุลีรกะ”) อาศัยอยู่ในสระน้ำชื่อกุลีรสระ (ไม่รู้สระตั้งชื่อตามปู หรือจะเป็นตรงกันข้าม ?) เมื่อใดก็ตามที่ฝูงช้างลงไปอาบน้ำ ดื่มน้ำในสระ แล้วเกิดมีช้างตัวใดเดินรั้งท้ายอยู่ ปูทองก็จะเอาก้ามหนีบขาช้างแล้วลากลงไปกินเป็นภักษาหารทุกที สร้างความหวาดกลัวแก่บรรดาช้างเป็นอันมาก

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้าง ร่างกายงดงามกำยำ ใหญ่โตยังกะภูเขา มีกำลังแรงกล้า พญาช้างได้ทราบเรื่องปูทองก็คิดว่าในฐานะที่เป็นผู้ปกครองโขลงช้าง เราพึงป้องกันอันตรายแก่ช้างทั้งปวงด้วยการสังหารปูทองนั้นให้สิ้นชีวิตเสีย จึงวางแผนให้ช้างในโขลงของตนลงเล่นน้ำ เด็ดทึ้งรากบัวเหง้าบัวกินกันให้อิ่มเอมเพลิดเพลิน จากนั้นตอนจะขึ้นจากน้ำ “เราจะอยู่หลังแห่งท่านทั้งปวง”

ปูทองเห็นเข้าดังนั้นก็ปฏิบัติการตามขั้นตอนมาตรฐาน โดยตรงเข้าจัดการช้างตัวสุดท้าย “ง่าก้ามทั้งสองออก หนีบเอาเท้าแห่งพระบรมโพธิสัตว์ เปรียบประดุจคีมอันใหญ่ อันช่างเหล็กเอามาคีบสากเหล็กไว้เป็นอันมั่น พระบรมโพธิสัตว์จะฉุดจะคร่าสักเท่าใดๆ ก็บ่อมิอาจยังปูนั้นให้หวาดให้ไหวได้”

ปรากฏว่าผู้ที่มาช่วยพญาช้างไว้ได้กลับเป็นช้างพัง (ช้างตัวเมีย) ผู้เป็นภริยา นางใช้จริตหญิงๆ ชวนคุยเจ๊าะแจ๊ะ สรรเสริญรูปสมบัติคุณสมบัติของปูทอง สลับกับการออดอ้อนไปเรื่อยๆ จนปูใหญ่ฟังเพลินๆ แล้วเกิดเคลิบเคลิ้ม “ยินดีในสำเนียงเสียงช้างพัง ก้ามนั้นก็คลายขยายออกจากเท้าแห่งพญาคชสาร”

พญาช้างได้โอกาสจึงยกเท้าขึ้นแล้วโดดกระทืบปูทองจนกระดองแตก จากนั้นลูกโขลงที่ซ่อนอยู่ริมตลิ่งก็แห่กันลงมาเต็มสระ ช่วยกันยื้อยุดฉุดลากเอาปูทองขึ้นบนฝั่งแล้วรุมยำ “เหยียบย้ำกระทำให้แหลกเหลวเป็นจุณวิจุณไป”

เหลือเพียงก้ามสองข้างที่ขาดหลุดกระเด็นจากตัวปูตกกลับลงไปในสระ

น้ำในกุลีรสระนั้นมีทางน้ำเชื่อมต่อกับแม่คงคา เมื่อน้ำในแม่น้ำลดระดับลง น้ำจากสระจึงไหลลงสู่แม่น้ำ ก้ามปูทั้งสองก็ลอยตามกระแสน้ำออกไป ก้ามหนึ่งไหลไปถึงแดนมนุษย์ มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งเก็บได้ โปรดเกล้าฯ ให้นายช่างนำไปทำตะโพนมีชื่อว่า “อาณิกมุทิงคะ” เรียกในภาษาไทยว่า “ตะโพนก้ามปู”

ส่วนอีกก้ามหนึ่งลอยกระเพื่อมไปถึงมหาสมุทร พวกอสูรพบเข้าจึงนำไปทำเป็นกลองศึก ตั้งชื่อให้ว่า “อลัมพรเภรี” ปรากฏเลื่องลือว่าตีแล้วเสียงสนั่นครั่นครื้นเหมือนพายุฝนกำลังมา กระทั่งในสงครามครั้งหนึ่งระหว่างทัพอสูรใต้เขาพระสุเมรุ กับกลุ่มเทวดา คสส. บนสวรรค์ดาวดึงส์ ปรากฏว่าฝ่ายอสูรแตกพ่าย ทิ้งกลองอลัมพรเภรีไว้ในที่รบ พระอินทร์จึงยึดกลองก้ามปูเป็นของเชลย แล้วนำกลับขึ้นไปไว้ที่ดาวดึงส์พิภพบนยอดเขาพระสุเมรุ

crab claw drum

ข้างๆ เสาในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ตรงที่เขียนเรื่องชาดกตอนพญาช้างกับนางช้างพังต่อสู้กับปูทองนี้ มีกลองใบหนึ่งตั้งไว้ แกะสลักไม้ส่วนของตัวกลองเป็นรูปก้ามปู ซึ่งก็ย่อมหมายใจให้เป็น “กลองก้ามปู” จากชาดกเรื่องนี้

กลองก้ามปูใบนี้ แม้ไม่ทราบประวัติแน่ชัดว่ามาจากที่ใดสมัยใด แต่กลับยิ่งช่วยสะท้อนความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ว่า พระวิหารหลวงของวัดสุทัศน์ฯ คือรูปจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ สถานที่เก็บรักษา “อลัมพรเภรี” ซึ่งพระอินทร์จับยึดเป็นค่าปฏิกรรมสงครามเมื่อตอนอสูรแตกทัพนั่นเอง