มัชฌิมประเทศของชมพูทวีปยังเป็นแดนประสูติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระยาจักรพรรดิราชอีกด้วย

ทุกวันนี้เราใช้คำ “จักรพรรดิ” ในความหมายเทียบเคียงกับ Emperor ของฝรั่ง แล้วพลอยทำให้คำว่า Empire กลายเป็น “จักรวรรดิ” ไปด้วย ดังในยุคหนึ่ง คำว่า Imperialism จึงถูกแปลงในพากย์ไทยเป็น “จักรพรรดินิยม” หรือ “จักรวรรดินิยม”

แต่ดั้งเดิม คำนี้มาจากแนวคิดว่าด้วยการเป็น “ผู้หมุนจักร” ของ “ราชาเหนือราชา” ประเภท “พระเจ้าชนะสิบทิศ” หรือ “ผู้ชนะสิบทิศ”

“จักร” ในภาษาไทย (ความจริงคือภาษาแขก) มีความหมายถึงอาวุธแผ่นกลม มีคมโดยรอบ ตรงกลางมีรู เป็นอาวุธประจำกายอย่างหนึ่งของพระวิษณุหรือพระนารายณ์

อีกความหมายหนึ่งยังหมายถึง “ล้อ” เช่นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดมียานพาหนะอย่างใหม่เข้ามาจากเมืองนอก เรียกว่า “ไบซิเกิล” (bicycle) ท่านผู้ใหญ่ยุคนั้นเคยบัญญัติศัพท์เป็นคำไทยรากบาลีสันสกฤตว่า “ทวิจักรยาน” คือพาหนะอันขับเคลื่อนด้วยสองล้อ ตรงตามคำต้นราก (bi=สอง=ทวิ) ภายหลังอย่างไรไม่ทราบ คำกร่อนไปเหลือมาถึงปัจจุบันเพียง “จักรยาน” คือยานที่มี “จักร” หรือล้อนั่นเอง

จักรแก้ว เรือดำน้ำเหาะได้ของพระเจ้าจักรพรรดิ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 59

ในคัมภีร์โลกศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อมีกษัตริย์พระองค์ใดประกอบด้วยบุญญาธิการบารมี ดำรงอยู่ในจักรวรรติวัตร ๑๒ ประการ เมื่อนั้นกงจักรแก้ว หรือที่เรียกว่า “จักรรัตนะ” จะปรากฏขึ้น

ตามปรกติจักรนี้จมอยู่ก้นมหาสมุทรลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ แต่เมื่อใดพระจักรพรรดิราชบังเกิดขึ้นในชมพูทวีป เมื่อนั้นจักรแก้วอันเป็นของคู่บุญก็จะรับรู้และผุดขึ้นมาเอง แล้วลอยขึ้นกลางอากาศ มีแสงเลื่อมพรายราวกับดวงจันทร์วันเพ็ญ พอถึงเวลาค่ำ ผู้คนทั้งหลายก็จะแลเห็นเป็นเหมือนพระจันทร์ขึ้นสองดวงพร้อมกัน

จากนั้นเมื่อจักรแก้วร่อนลงมาใกล้ จะเริ่มได้ยินเสียงจักรหมุนดังไพเราะ ยิ่งกว่าเสียงพาทย์เสียงพิณฆ้องกลองแตรสังข์กังสดาลดุริยดนตรีทั้งหลาย ไม่ว่าใครที่ได้ยินต่างรู้สึกชอบใจ

ถึงตรงนี้ ชาวบ้านที่ออกมายืนเมียงมองดูเริ่มจะเถียงกันเอง เหมือนในไตเติ้ลภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง “ซูเปอร์แมน” ของฝรั่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ชาวเมืองแหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้าแล้วชี้ชวนชมกันว่า “นั่นนกใช่ไหม? นั่นเครื่องบินหรือเปล่า? ไม่ใช่! นั่นคือซูเปอร์แมน”

“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่าชาวบ้านบางคนออกปากว่า โอ้โฮ! วันนี้พระจันทร์ขึ้นมาสองดวง คนอื่นก็แย้งว่ามีที่ไหน เป็นบ้าหรือไง นี่มันพระอาทิตย์ต่างหาก อีกคนค้านขึ้นทันทีว่า พวกแกไม่รู้เรื่อง ก็พระอาทิตย์เพิ่งตกไป จะกลับขึ้นมาอีกทีได้อย่างไร นี่มันวิมานของเทวดาชัดๆ จนสุดท้ายจึงมีผู้มาเฉลยความจริงว่า ไม่ใช่ทุกอย่างที่กล่าวมาหรอก เพราะมีเสียงไพเราะด้วย แท้จริงแล้วนี่คือ “จักรแก้ว” ต่างหาก

พอลอยใกล้เข้ามาอีก ในที่สุดทุกคนก็จะรู้ว่าเป็นจักรรัตนะ ซึ่งมาถึงด้วยบุญบารมีของท้าวพระยาผู้เป็นเจ้าเป็นนาย

จากนั้นจักรแก้วก็จะเวียนประทักษิณรอบพระนครแล้วลอยเลื่อนเข้าสู่พระราชมณเฑียร เวียนประทักษิณรอบพระยาจักรพรรดิราช ก่อนจะร่อนลงจอดสนิทนิ่ง พระราชาจะทรงทราบว่าพระองค์เองจะได้เป็นพระยาจักรพรรดิราช ปราบได้ทั่วทั้งจักรวาล เพราะมีจักรแก้วมาสู่พระองค์แล้ว

จักรแก้วถือเป็นพาหนะสารพัดประโยชน์ นำพาพระเจ้าจักรพรรดิ เสด็จพร้อมทั้งบริวาร ไปในที่ต่างๆ ทั้งบนฟ้าและในน้ำ โดยใครก็ตามที่ปรารถนาจะตามเสด็จก็เพียงตั้งจิตมั่นก็สามารถลอยละล่องไปด้วยกันตามใจปรารถนา “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าไว้อย่างน่าสนุกว่า

“ผิแลว่าผู้ใดจะใคร่ไปด้วยเสด็จพระยามหาจักรพรรดิราชนั้น แม้นว่ายืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี หากปลิวขึ้นไปโดยอากาศเอง แลมิพักย่างพักเดินเลย ทั้งเสื่อสาดอาสนะที่นั่งที่นอนที่อยู่ที่กิน แลจะใคร่เอาไปด้วยไส้ สิ่งนั้นก็ไปด้วยแล ถ้าว่าผู้ใดจะใคร่ยืนไป ผู้นั้นก็ยืนไปแล ผู้ใดจะใคร่นั่งไป ผู้นั้นก็นั่งไปแล ผู้ใดจะใคร่นอนไป ก็นอนไปแล ผู้ใดจะใคร่ทำการงานไป ทำการงานไป ถ้าแลผู้ใดทำการงานค้างอยู่ไส้ ครั้นนึกว่ามิเอาไป การงานทั้งปวงนั้นก็มิได้ไปด้วยแล ผู้ใดจะใคร่ไปโดยอากาศด้วยท่าน แลใคร่ทำการงานไปด้วยเล่า เขาฝูงนั้นกระทำการงานไปพลาง แลบมิได้ป่วยการของเขาเลยฯ”

เมื่อสยามประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ รถยนต์พระที่นั่งคันแรกของรัชกาลที่ ๕ ยี่ห้อเดมเลอร์-เบนซ์ ก็ได้รับพระราชทานนามว่า “แก้วจักรพรรดิ”

เข้าใจว่าโดยนัยของนาม หมายถึงว่ารถยนต์เปรียบได้กับ “จักรแก้ว” ที่นำพาพระจักรพรรดิราชเสด็จไปในทิศานุทิศนั่นเอง