ตามคติจักรวาลของพุทธศาสนาที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางนั้น ในมหาสมุทรทั้งสี่ทิศโดยรอบคือที่ตั้งแห่ง “มหาทวีป” หรือทวีปใหญ่ทั้งสี่ ทวีปทิศเหนือ ชื่อ “อุตตรกุรุทวีป” (หรืออุดรกาโร)

สหพันธรัฐแห่งมหาทวีป - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 65

ทวีปทิศตะวันออก คือ “บุพพวิเทหทวีป” (บางทีสะกดว่า บุรพวิเทะ)
ทวีปทิศใต้ ที่อยู่ของมนุษย์ เรียกว่า “ชมพูทวีป”
ทวีปทิศตะวันตก ได้แก่ “อมรโคยานทวีป” (หรืออมรโคยานี)

ถ้าพิจารณาตามนี้ ทวีปทั้งสี่ควรมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นเกาะ คือผืนแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ แต่ก็ยังต้องยึดเกาะกับหินฐานรากของจักรวาลเช่นกัน น่าแปลกใจที่ในบางแห่งกลับกล่าวเหมือนว่าทวีปทั้งหมดนี้เป็นเหมือนถาดแบนๆ ที่วางลอยน้ำไว้ เช่นในกลอนพระราชนิพนธ์ “รามเกียรติ์” ของรัชกาลที่ ๑ ตอนต้นเรื่อง เริ่มด้วยหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน กลอนพาไปว่า

“๏ ชมพูอุดรกาโร       อมรโคยานีก็ได้สิ้น
หนีบใส่รักเเร้อสุรินทร์        พาเเผ่นดินไปบาดาล ฯ

คือหิรัญยักษ์ตั้งหน้าตั้งตา “ม้วน” เอาทวีปต่างๆ ทั้งชมพู อุดรกาโร และอมรโคยาน (ส่วนบุรพวิเทหะคงละไว้เพราะที่ไม่พอ) แล้วเอารักแร้หนีบ หอบหนีลงไปยังบาดาลอันเป็นถิ่นที่อยู่ ตรงนี้กลอนเล่าเสียยังกะว่าทวีปเหล่านั้นเป็นแผ่นแป้งโรตีสายไหมที่สามารถจับมาม้วนๆๆๆ ได้ทีเดียว!

ในคัมภีร์โลกศาสตร์ระบุด้วยว่าพลเมืองของทวีปต่างๆ ล้วนมีรูปหน้าดุจเดียวกับทวีปของตน
ชาวชมพูทวีปทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ มีใบหน้าเป็นวงรี เหมือนหน้าตัดของเกวียน คือเหมือนแผนผังชมพูทวีป

บุรพวิเทหะทางตะวันออกมีสัณฐานกลม ชาวทวีปนั้นจึงมีใบหน้ากลมราวพระจันทร์วันเพ็ญ หรือ “หน้าแว่น”

คัมภีร์รุ่นกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งคงรู้จัก “แว่นตา” อย่างฝรั่งบ้างแล้ว ถึงขนาดอธิบายว่า “มีสัณฐานพอดีกลมดังวงแว่นตา

lona samudra 02

ส่วนอมรโคยานทวีปที่มีผังเป็นรูปครึ่งวงกลม ผู้คนที่อาศัยในอมรโคยานทวีปทางตะวันตก “หน้าเขาดั่งเดือนแรม ๘ ค่ำ”

ส่วนอุตตรกุรุทวีปนั้น มีพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายประชาชนที่นั่นว่า “หน้าเขาเป็น ๔ มุม ดุจดังท่านแกล้งถากให้เป็น ๔ เหลี่ยม กว้างแลรีนั้นเท่ากัน

ท่าน “กาญจนาคพันธ์” (ขุนวิจิตรมาตรา – สง่า กาญจนาคพันธุ์) นักเขียนรุ่นเก่าที่เคยค้นเคยเขียนเรื่องนี้ จึงเล่าอย่างขันๆ ในหนังสือ “คอคิดขอเขียน” ว่า “ชาวทวีปทั้งสี่นี้ถ้าเห็นหน้ากันเข้าแล้วจะต้องหัวเราะจนขาดใจตายไปด้วยกันทุกคน”

แต่ถึงทวีปทั้งสี่มีประชากรที่รูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน ทั้งยังอยู่ห่างไกลกัน แต่ตามความเชื่อในคัมภีร์ก็ยังอาจมีบางวาระที่ทั้งหมดเคยอยู่ภายใต้รัฏฐาธิปัตย์เดียวกัน

“พระธรรมสาตร” (พระธรรมศาสตร์) ใน “กฎหมายตราสามดวง” เล่าว่าปฐมกษัตริย์ของมนุษย์ คือพระเจ้ามหาสมมุติราช มีพระโอรสสี่องค์ องค์ใหญ่ปกครองชมพูทวีป อีกสามองค์ได้เสวยราชสมบัติในอุตตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และบุรพวิเทหทวีป

ในยุคแรก พระกุมารทั้งสี่ก็ยังเหาะมาเฝ้าแหนพ่อทุกวัน จนเมื่อพระบิดาสวรรคต พระกุมารทั้งสี่พระองค์ “ก็ต่างองค์ต่างอยู่” แต่ก็ยัง ไปมาหาสู่กันบ้างนานๆ ครั้ง

ท้ายที่สุดนานวันเข้า ทางพระราชไมตรีสัมพันธญาติ “ก็ค่อยขาดสูญไปตราบเท่าทุกวันนี้
แต่เรื่องนี้ก็ยังน่าสงสัย เพราะชาวทวีปแต่ละทวีปย่อมมีรูปหน้าต่างกันอย่างที่เล่ามาแล้ว ดังนั้น หากราชาของทุกทวีปล้วนสืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน วงพระพักตร์ก็น่าจะต่างไปจากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เคยพบว่าท่านไปอธิบายไว้ตรงไหนอย่างไร

อีกวาระหนึ่งที่บรรดาทวีปต่างๆ จะอยู่ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน คือรัชสมัยแห่งพระจักรพรรดิราช

เมื่อเกิดจักรแก้วคู่บารมีพระเจ้าจักรพรรดิราชแห่งชมพูทวีปขึ้นแล้ว พระองค์ก็เสด็จโดยสารจักรแก้วไปพร้อมกับเสนาข้าทหารเป็นกองทัพ เมื่อจักรแก้วเคลื่อนไปในทิศใด กษัตริย์ทางทิศนั้นๆ ก็จะออกมาถวายบังคมชื่นชมพระบารมี ชวนกันสดับรับฟังพระราโชวาทอันเป็นคติธรรมสอนใจ พระบารมีของพระองค์จึงแผ่ไพศาลไปไกลเกินขอบเขตของชมพูทวีป นั่นคือทรงปราบได้ “ตลอดทั้งสี่ทวีป”

ดังนั้น จึงอาจมีบางครั้งบางหนที่ทั้งสี่ทวีปกลับกลายเป็นสหพันธรัฐ อยู่ภายใต้ศูนย์อำนาจเดียวกันคือราชธานี ณ ชมพูทวีป