ใน “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ไตรภูมิกถา” เล่าว่า นรกก็มี “ระบบการปกครอง” ของตนเอง โดยมี “พระยายมราช” เป็นประมุข

พิภพมัจจุราช - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 69

“พระยายมราชนั้นทรงธรรมนักหนา พิจารณาถ้อยความอันใดด้วยอันซื่อแลชอบธรรมทุกอันทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปไหว้พระยายมราชก่อน”

พระยายมราชนั้นมิได้สถิตอยู่ ณ นรกขุมใดขุมหนึ่ง หากแต่มีมหานครของตนเองอยู่ต่างหาก เมื่อมนุษย์ล่วงลับไป ดวงวิญญาณผู้ตายย่อมถูกเบิกตัวเข้าเฝ้า พระยายมราชก็จะซักถามว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ได้ทำบุญทำบาปอย่างไรมาบ้าง ขอให้สารภาพมาเสียดีๆ

ในการนี้จึงมีกลุ่มเทวดาผู้ตรวจสอบบัญชี คอยไล่เช็คซ้ำคำให้การของผู้ตายอีกชั้นหนึ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นบุญหรือบาปก็ดี เทวดาจะจดบันทึกเป็นหลักฐานไว้ทั้งหมด หากเป็นกุศลกรรมย่อมจารึกในแผ่นทอง ส่วนบาปกรรมจะถูกจดจารลงบน “แผ่นหนังหมา” เมื่อผู้ตายพรรณนาบาปบุญคุณโทษอย่างใดมา เทวดาผู้รักษาบัญชีก็จะเรียกข้อมูลกิจกรรมย้อนหลังมาดูว่าจริงเท็จอย่างไร

หากเป็นคนดี สั่งสมบุญบารมีมาจริง พระยายมราชก็จะเชื้อเชิญให้เดินทางต่อไปยังสวรรค์

ตรงกันข้าม ผู้ใดทำบาปไว้ ถึงหากปากแข็งไม่รับสารภาพ แต่เมื่อตรวจพบข้อมูลในบัญชีหนังหมา ก็จะส่งวิญญาณลงไปยังนรกทันที

แต่แน่นอนว่า บุคคลโดยทั่วไปย่อมมีอาการคือ “บุญก็ได้กระทำ บาปก็ได้กระทำ” เทวดาก็ต้องมาชั่งน้ำหนักดูอีกทีว่าระหว่างบุญกับบาป หากมีบุญมากกว่าก็จะปล่อยตัวให้ขึ้นสวรรค์ไปก่อน แล้วค่อยย้อนมารับโทษทัณฑ์ในนรก หรือหากบาปหนักกว่าก็จะตกนรกหมกไหม้ก่อน แล้วจึงค่อยส่งขึ้นสวรรค์ทีหลัง

แล้วถ้าหากบังเอิญมีใครที่ทำทั้งบุญทั้งบาปเท่ากันพอดีเป๊ะล่ะ?

ตรงนี้คัมภีร์ชี้ช่องทางออกให้ นั่นคือส่งไปเป็น “ยมบาล” ผู้คุมการลงทัณฑ์ในนรก

“อันว่าคนผู้กระทำบุญ กระทำบาปเสมอกันดังนั้นไส้ พระยายมราชแลเทพดาถือบาญชีนั้น บังคับให้เป็นยมพะบาล ๑๕ วัน มีสมบัติทิพย์ดุจเทพดา แลตกนรก ๑๕ วัน ต่อสิ้นบาปมันนั้นแล”

แต่ในคัมภีร์บางฉบับเล่าไว้ต่างออกไป อาจเพราะรู้สึกว่ามีปริมาณสัตว์นรกมากมายนับไม่ถ้วน ถ้าหากมีพระยายมราชแค่องค์เดียว อาจพิพากษาวิญญาณได้ไม่ทัน งานน่าจะคั่งค้างมาก จึงเสนอทางเลือกให้ว่าอย่างนั้นคงต้องมีผู้รับผิดชอบมากกว่าหนึ่ง “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” จึงกล่าวว่าผู้ดำรงตำแหน่งพระยายมราช/พญายมราชนั้นมีมากมาย

“นรกใหญ่แต่ละขุมๆ นั้นมีพญายมราชถึง ๔ องค์ๆ อยู่ในทิศทั้ง ๔ แห่งนรกใหญ่ๆ ทั้ง ๔ ขุมนั้น พญายมราชแต่ละองค์ๆ นั้นมีสิริคุตตะอำมาตย์ละคนๆ สำหรับได้อ่านบัญชีอันกำหนดกฎหมายบาปกรรมแห่งสัตว์นรกทั้งปวง”

ในภาพจิตรกรรมฝาผนังและสมุดข่อยต่างๆ เมื่อเขียนภาพ “พระยายมราช” มักวาดให้เป็นเทพบุรุษ สวมเครื่องแต่งกายแบบละครไทย คือสวมชฎาตามปรกติ แต่จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ เมื่อบริษัทรัชฟิล์มทีวีสร้าง “พิภพมัจจุราช” เป็นภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ยุคทศวรรษ ๒๕๑๐ มีการดีไซน์เครื่องแต่งกายของ “ยมบาล” (แสดงโดยคุณสิงห์ มิลินทราศัย) เสียใหม่ โดยให้สวมศิราภรณ์คล้ายกับนักรบไวกิ้ง เป็นหมวกทรงครึ่งวงกลม ด้านบนมีเขางอโค้งอยู่สองข้าง

แล้วเลยกลายเป็นว่าเครื่องแต่งกายแบบนี้จึงตกค้างมาใน “วัฒนธรรมพ็อพ” ของไทย คือนับแต่นั้นมา เมื่อใดที่ต้องการแสดงให้คนดูหรือผู้อ่านรับรู้ว่านี่คือ “ยมบาล” ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโชว์หรือวาดรูปการ์ตูน ก็ต้องสวมหมวกมีเขาเช่นนั้นเสมอ

เช่นเดียวกับเพลงไตเติ้ลของ “พิภพมัจจุราช” ซึ่งยังเป็นที่รู้จัก มีคนร้องตามได้มาถึงปัจจุบัน

“พิภพมัจจุราช                    ใครถึงฆาตดับชีวี
'สุวรรณตรวจดูบัญชี            ถ้าทำดีให้ไปสวรรค์ทำชั่ว 
พระยมว่าไง?                      ก็ส่งไปนรกโลกันต์น่ะสิ
ต้นงิ้วกระทะทองแดง         เอาหอกแหลมแทงทุกวันทุกวัน
พญายม (หัวเราะ)             สุวาน (หัวเราะ) สุวรรณ
สามแรงแข็งขันทำดี ทำดี (หัวเราะ)
โจ๊ะทิงเท่งทิง โจ๊ะทิง!      โจ๊ะทิงเท่งทิง โจ๊ะทิง!”