เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

“พวกเราไม่ได้ปฏิเสธว่าบ้านเมืองจะต้องพัฒนาไปข้างหน้า หากแต่การพัฒนานั้นจะต้องตั้งอยู่บนความถูกชอบธรรม และต้องเคารพวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จึงหวังว่ารัฐบาลจะเปิดใจรับฟังเรียกร้องดังกล่าวซึ่งพวกเราจะอยู่รอรัฐบาล ณ ที่แห่งนี้ด้วยความสงบจนกว่าจะได้รับคำตอบ”

ย่อหน้าสุดท้ายของแถลงการณ์ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นฉบับที่ ๑

เรื่อง ยกเลิกโครงการอุตสาหกรรมจะนะ หยุดสืบทอดมรดกอัปยศยุค คสช.

จากชายทะเลจะนะ ถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ประกอบด้วยกลุ่มชาวบ้านจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พื้นที่ตั้งโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ ราว ๕๐ คน ได้เดินทางมากรุงเทพมหานคร และมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐยับยั้งการผลักดันโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ เนื่องจากทางเครือข่ายเห็นว่าขาดการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้เห็นต่าง ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการ

ในสายตาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะถือเป็นมรดกตกทอดจากยุค คสช. เนื่องจากเป็นโครงการที่ถูกอนุมัติทิ้งทวนการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายในยุคนั้น ทางเครือข่ายมองเห็นถึงความผิดปกติของโครงการมาตั้งแต่ต้น จนเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียุครัฐบาล คสช. กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ ก็เห็นว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะถูกผลักดันอย่างรวดเร็วผิดสังเกต เมินข้อท้วงติงของคนท้องถิ่นที่กังวลว่าจะได้รับผลกระทบ โดยเห็นว่าคณะรัฐมนตรีมีมติต่อเรื่องนี้หลายครั้งเพื่อรวบรัดขั้นตอนดำเนินงาน

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะถือเป็นกิจการของเอกชน ๒ บริษัท คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ผู้นำธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค  ใช้เนื้อที่ติดชายทะเลจะนะประมาณ ๑๖,๗๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ตำบล คือ สะกอม ตลิ่งชัน แลนาทับของอำเภอจะนะ ถือเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้

ทางเครือข่ายและนักวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนในหลายมิติ อาทิ สิ่งแวดล้อม การกัดเซาะชายฝั่ง มลพิษ การสูญเสียแหล่งจับสัตว์น้ำ สูญเสียพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสังคมวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ถ้าหากไม่พิจารณาถึงข้อดีแสะข้อเสียอย่างรอบด้าน

ทางเครือข่ายยังตั้งข้อสงสัยต่อท่าทีของรัฐบาลว่าการผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมินรับฟังเสียงเห็นต่าง ถือเป็นการเอื้อประโยชน์หรือตอบแทนบุญคุณให้กับกลุ่มบริษัทในตระกูล TPIPP หรือไม่ เพราะทราบว่าช่วงเลือกตั้งได้บริจาคเงินทุนให้กับพรรคพลังประชารัฐหลายล้านบาท

ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นเดินหน้าเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเพื่อเกษตรกรรม เป็นสีม่วงเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อที่จะเปิดพื้นที่ให้กับโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม เมื่อต้นปีได้มีการผ่าน EIA ไปแล้ว ๔ ฉบับ

สมบูรณ์ คำแหง หนึ่งในผู้นำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ชี้แจงถึงสาเหตุที่ชาวบ้านต้องเดินทางมาถึงเมืองหลวงว่า “จริงๆ เราควรไปเรียกร้องกับทาง ศอ.บต.ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ แต่เราเห็นว่าที่นั้นไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา ศอ.บต. ที่ใช้อำนาจจนเกินงามและกลายเป็นผู้สร้างปัญหาสร้างความขัดแย้งใหม่ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จึงเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลที่เป็นศูนย์อำนาจส่วนกลาง ที่ผ่านมาทางเครือข่ายก็ได้พยายามยื่นหนังสือผ่านกลไกต่างๆ เพื่อคัดค้านแล้ว แต่ไม่มีผล”

การเดินทางนับพันกิโลเมตรของกลุ่มผู้ประท้วงจากแดนใต้ร่วมห้าสิบคนหยุดชะงักลงตรงกองตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนามที่ถูกขึงปิดเส้นทางสัญจรสู่ทำเนียบรัฐบาลบนเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ทางเครือข่ายจึงตัดสินใจปักหลักพักค้างแรมตรงนั้น ณ ตำแหน่งที่มองเห็นทำเนียบรัฐบาลอยู่ข้างหน้า

ก่อนที่ตัวแทนจะอ่านแถลงการณ์ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นฉบับที่ ๑ เรื่อง ยกเลิกโครงการอุตสาหกรรมจะนะ หยุดสืบทอดมรดกอัปยศยุค คสช. หลังเคารพธงชาติเวลา ๑๘.๐๐ น. มีเนื้อหาดังนี้

***

jana01
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นปักหลักพักค้างบนเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ มีตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนามขึงปิดเส้นทางสัญจรสู่ทำเนียบรัฐบาล (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

แถลงการณ์
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นฉบับที่ ๑
เรื่อง ยกเลิกโครงการอุตสาหกรรมจะนะ หยุดสืบทอดมรดกอัปยศยุค คสช.

โครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” คือมรดกตกทอดจากยุค คสช.ด้วยเป็นโครงการที่ถูกอนุมัติทิ้งทวนการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายในยุคนั้น จึงเห็นถึงความผิดปกติตั้งแต่ต้น จนเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง ภายใต้พรรคพลังประชารัฐ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจึงถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติต่อเรื่องนี้หลายครั้งเพื่อรวบรัดขั้นตอนการดำเนินงานจนผิดปกติยังให้มีข้อพึงสงสัยต่อท่าทีของรัฐบาลว่ากำลังเอื้อประโยชน์ หรือตอบแทนบุญคุณให้กับกลุ่มบริษัทในตระกูล TPIPPหรือไม่ เพราะทราบว่าช่วงการเลือกตั้งได้บริจาคเงินทุนให้กับพรรคพลังประชารัฐหลายล้านบาท ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการดำเนินงานในหลายขั้นตอนของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นไปโดยมิชอบ ตามที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเคยร้องเรียนไปแล้วผ่านกลไกต่างๆ

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นกิจการของเอกชน 2 บริษัท คือ TPIPP. และ IRPC. ต้องใช้เนื้อที่กว่า ๑๖,๗๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๓ ตำบลคือตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ ถือได้ว่าเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชนในพื้นที่ในหลายมิติเช่น ด้านสิ่งแวดล้อม การกัดเซาะชายฝั่งทะเล มลพิษ สูญเสียแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน เสียพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสังคมวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด

ที่ผ่านมา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้พยายามยื่นหนังสือผ่านกลไกต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลได้ทบทวนกระบวนการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมด โดยเฉพาะวิธีการทำงานที่ผิดเพี้ยนไร้ความเป็นมืออาชีพ ของุศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่ใช้อำนาจจนเกินงามและกลายเป็นผู้สร้างปัญหาสร้างความขัดแย้งใหม่ระหว่างประชาชนด้วยกันเองและรวมถึงการดำเนินงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ถูกบีบบังคับให้แก้ไขผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงรองรับโครงการดังกล่าว จนต้องละเลยขั้นตอนสำคัญของกฏหมายที่บัญญัติไว้

ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงการลุแก่อำนาจของรัฐบาลอันเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากยุค คสช. ด้วยหวังจะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ทุกรูปแบบ แม้แต่การปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้อย่างแยบยล รวมถึงการใช้กลไกความมั่นคงชายแดนภาคใต้ อย่าง ศอ.บต. เข้าไปสร้างกลุ่มสนับสนุนโครงการอย่างเป็นระบบ สร้างการสื่อสารเฉพาะด้านจนนำไปสู่ความแตกร้าวของชุมชนอย่างหนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไปจึงเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้

๑.รัฐบาลต้องยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA. ในทันที เพื่อหยุดมรดกอัปยศอันไม่ชอบธรรมที่ส่งต่อมาจากระบอบคสช.

๒. เมื่อยุติการเดินหน้าโครงการแล้ว ให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ต่อไป

พวกเราไม่ได้ปฏิเสธว่าบ้านเมืองจะต้องพัฒนาไปข้างหน้า หากแต่การพัฒนานั้นจะต้องตั้งอยู่บนความถูกชอบธรรม และต้องเคารพวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จึงหวังว่ารัฐบาลจะเปิดใจรับฟังเรียกร้องดังกล่าวซึ่งพวกเราจะอยู่รอรัฐบาล ณ ที่แห่งนี้ด้วยความสงบจนกว่าจะได้รับคำตอบ

แถลง ณ ทำเนียบรัฐบาล

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๓