ด้วยบาปอันหนัก คือการประพฤติอนันตริยกรรม ทั้งทำให้พระพุทธองค์ทรงห้อพระโลหิต และกระทำสังฆเภท เถรเทวทัตจึงต้องใช้กรรมอยู่ในอเวจีไปจนตลอดกัป

แล้วกัป (หรือบางทีสะกดว่า “กัลป”) หนึ่งยาวนานแค่ไหน ?

ชั่วกัปชั่วกัลป์ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 71

ระยะเวลา ๑ กัป/กัลป ตามคติพุทธศาสนา เป็นเวลาอันยาวนาน กำหนดประมาณนับไม่ได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เคยทรงอุปมาให้พระสงฆ์สาวกฟัง ถึงภูเขาหินแท่งตัน ทรงลูกบาศก์ กว้างxยาวxสูง ด้านละ ๑ โยชน์ (ราว ๑๖ กิโลเมตร) ทุกๆ ๑๐๐ ปี มีคนเอา “ผ้ากาสี” (ผ้าจากแคว้นกาสีหรือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน เมื่อครั้งพุทธกาลถือว่าเป็นผ้าอย่างดี ราคาแพง เนื้อผ้าบางเบาละเอียดราวควันไฟ และเป็นที่มาของคำ “กาสาวพัสตร์”) มาลูบภูเขาลูกนี้ครั้งหนึ่ง ตราบจนก้อนหินขนาดหนึ่งลูกบาศก์โยชน์นี้ สึกกร่อนราบเรียบลงเสมอพื้น ก็ยังไม่เท่าเวลา ๑ กัป/กัลป

หรือในอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงอุปมาทำนองเดียวกันว่า สมมติให้มีกล่องเหล็กใหญ่ กว้างยาวสูงด้านละ ๑ โยชน์ บรรจุเมล็ดพันธุ์ผักกาดเล็กละเอียดราวเม็ดทรายไว้จนเต็ม แล้วทุกๆ ๑๐๐ ปีมีผู้มาหยิบเมล็ดผักกาดออกไปหนึ่งเมล็ด เมล็ดผักกาดหมดกล่องแล้วก็ยังไม่สิ้นกัป/กัลปอยู่ดี

ความรู้สึกว่า “กัปหนึ่ง” / “กัลปหนึ่ง” เป็นเวลาอันยาวนานเหลือจะประมาณได้ มีตกค้างอยู่ในภาษาไทย เช่นคำว่า “ชั่วกัลปาวสาน” คือตราบจนสิ้นกัป/กัลป และ “ชั่วกัปชั่วกัลป์” (ชั่ว-กับ-ชั่ว-กัน) คือตลอดระยะทั้งกัป/กัลป อันมีความหมายใกล้เคียงกับ forever ในภาษาอังกฤษ

แต่เคยมีพระบวรราชปุจฉาของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ในรัชกาลที่ ๓ ครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมาก

ธรรมเนียมอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์แต่โบราณ คือการมี “พระราชปุจฉา” โดยทรงมีรับสั่งซักถามข้อธรรมที่สงสัยแก่พระสงฆ์ อาจเป็นพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง หรือพระมหาเถระ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชไปจนถึงบรรดาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ให้ประชุมกันตอบข้อสงสัยนั้นๆ เรียกกันว่า “วิสัชนา”

หากพระมหากษัตริย์รัชกาลใดทรงฝักใฝ่ในทางธรรมมากเป็นพิเศษ อาจมีข้อความพระราชปุจฉาจำนวนมาก หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แต่บางที เอกสารก็ตกหล่นกระจัดพลัดพรายไป พบแต่คำถาม ไม่เหลือคำตอบ หรือพบเฉพาะคำถวายวิสัชนา แต่ค้นไม่เจอพระราชปุจฉา ก็มี

ธรรมเนียมนี้มีมาอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นที่เคยพบหลักฐานพระราชปุจฉาของสมเด็จพระเพทราชา

ย้อนกลับมาเข้าเรื่องพระบวรราชปุจฉาของวังหน้าสมัยรัชกาลที่ ๓ อีกครั้งหนึ่ง

ณ วันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๑๘๖ (ราวเดือนตุลาคม ๒๓๖๗) หลังจากทรงสดับพระธรรมเทศนาจบแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงปรารภท่ามกลางหมู่ข้าเฝ้าเหล่าเสนาอำมาตย์ ว่า “สังฆเภทกรรม” คือการทำให้หมู่สงฆ์แตกแยกกันนั้น ถือเป็นกรรมหนักที่สุดคือ “อนันตริยกรรม” หนึ่งในห้าประการที่รวมเรียกว่า “ปัญจานันตริยกรรม” อันได้แก่ มาตุฆาต (ฆ่ามารดา) ปิตุฆาต (ฆ่าบิดา) อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์) โลหิตุปบาท (ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต) และสังฆเภท (ทำให้สงฆ์แตกกัน) ซึ่งเมื่อ “บุคคลกระทำแล้วจะไปบังเกิดในอเวจีมหานรกสิ้นกัลปหนึ่ง”

ดังที่เคยเล่าเรื่องพระเทวทัตไปแล้ว ว่าด้วยเหตุที่ท่านกระทำอนันตริยกรรมถึงสองประการ ทั้งโลหิตุปบาทและสังฆเภท จึงต้องตกนรกอเวจีไปจนตลอดกัป/กัลป

พระราชปุจฉาของกรมพระราชวังบวรฯ คือ “ถ้าวันพรุ่งนี้จะสิ้นกัลป บุคคลได้กระทำสังฆเภทในวันนั้น ก็จะไปทนทุกขเวทนาอยู่ในนรกแต่วันเดียวเท่านั้น”

นั่นคือถึงแม้หากเวลากัลปหนึ่งจะยาวนานเพียงใด แต่ก็ย่อมต้องมีที่สิ้นสุดไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้นหากกระทำสังฆเภทวันนี้จนต้องตกนรกอเวจี บังเอิญว่าวันรุ่งขึ้นสิ้นกัลปพอดี ก็เท่ากับว่าบุคคลนั้นได้ตกนรกชดใช้กรรมแค่เพียงวันเดียว ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าใด

“จึงมีรับสั่งโปรดดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้พระมหาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา นำข้อความพระราชปุจฉานั้นออกไปเผดียงแก่สมเด็จพระสังฆราช ให้ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงพร้อมกันวิสัชนา จึงจะหายความสงสัย”

ส่วนที่ว่าพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ครั้งนั้นท่านมีวิสัชนาว่าอย่างไรนั้น ก็ขอเชื้อเชิญท่านผู้สนใจ ให้ไปค้นคว้าดูต่อในหนังสือชุด “ประชุมพระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๕” เทอญ