“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่าเมื่อใกล้ถึงกาลอวสานของจักรวาล คนทั้งหลายย่อมก่อกรรมทำบาปนานา ไม่เคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ไม่รู้จักว่าพี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย “แลเห็นกันดั่งกวางแลทราย ดั่งเป็ดแลไก่ ดั่งหมูแลหมา ดั่งช้างแลม้า ย่อมไล่ข้าไล่ฟันกันนั้น”
นี่คือภาวะที่รู้จักกันในนาม “มิคสัญญี” คือเห็นผิดเป็นชอบ เห็นมนุษย์อื่นเหมือน “มิค” / “มฤค” คือกวาง ไล่ล่าฆ่าฟันกันเอง
จากนั้น “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าว่าเกิดมีมหาเมฆเกิดขึ้น แล้วฝนตกใหญ่ทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล มนุษย์ทั้งปวงเห็นฝนมาก็พากันดีอกดีใจ หว่านข้าวทุกนาทุกไร่
แต่ครั้นพอข้าวกล้าขึ้นงามดีได้หน่อยหนึ่ง ฝนกลับทิ้งช่วง เหลือแต่เสียงฟ้าร้อง เห็นเมฆตั้งเค้ามืดมาแล้วก็หายไป
วนเวียนอย่างนี้อยู่นับร้อยปีพันปี จนพืชพันธุ์ล้มตายหมด
กระทั่งต้นไม้ใหญ่ประจำทวีป เช่นต้นหว้าในป่าหิมพานต์ ก็ยังยืนต้นแห้งตาย
“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าต่อไปว่า พอเห็นเช่นนี้ คนที่มีปัญญาก็ยิ่งยึดมั่นในคุณธรรมความดี เมื่อตายแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหมลำดับสูงๆ ส่วนคนชั่วคนเลวที่ยังไม่รู้สำนึก ตายไปแล้วก็ถูก “ส่งต่อ” ไปยังนรกของจักรวาลอื่นๆ ที่จะยังไม่ถูกทำลาย
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” บรรยายความว่า พอเกิดความร้อนแล้งเช่นนี้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำ ทยอยล้มตายลง รวมถึงเทวดาระดับล่างๆ ซึ่ง “มีบุญญานุภาพน้อย หาอาหารทิพย์บริโภคบ่มิได้ เลี้ยงชีวิตด้วยดอกไม้ผลไม้เป็นอาหาร” ก็จุติ (คำนี้แปลว่าตายจากภาวะเทวดา) แล้วพากันไปเกิดบนพรหมโลก
ปุจฉาจึงมีขึ้นว่า เหตุใดสัตว์นานาจึงไปเกิดในพรหมโลกกันได้ง่ายดายมากมายนัก
วิสัชนาว่าเมื่อเวลานั้น มีเทวดาพวกหนึ่ง เรียกว่า “โลกพยุหเทวดา” ซึ่งมาจากสวรรค์ชั้นกามาพจรนี่แหละ เทวดาพวกนี้รู้ล่วงหน้าแล้วว่าถึงกาลที่จักรวาลใกล้ล่มสลายลง เพลิงประลัยโลกกำลังจะมาเยือน เกิดความสังเวชถึงตนเองและสัตว์โลก จึงมีความกรุณาลงมาป่าวประกาศแก่สัตว์โลกให้ได้รับรู้ทั่วกัน เรียกว่า “กัปปโกลาหล” คือมีเสียงประกาศกึกก้องว่าโลกกำลังจะถึงซึ่งความพินาศ
แต่โลกพยุหเทวดาเหล่านั้นมิได้ลงมาในรูปลักษณ์แห่งเทพ แต่กลับมาปรากฏกายด้วยลักษณาการของคนนุ่งผ้าแดง เดินสยายผม พลางร้องไห้โฮๆ
“มีเศียรเกล้าบ่มิได้กระหมวดมุ่นตกแต่งสยองสยายกระจายเกศ ใครได้เห็นก็น่าสังเวชเพทนา…มีแต่ผ้าแดงนุ่งมา จะได้ประดับทิพยอลังการสรรพาภรณ์หาบ่มิได้…ทรงกันแสงไห้มีดวงพักตร์นั้นเศร้าหมอง พระเนตรนองด้วยอัสสุชลธารา พระกรทั้งสองนั้นเช็ดน้ำตาดำเนินพลาง”
บรรดาโลกพยุหเทวดาตระเวนร้องประกาศข่าววันสิ้นโลกในอีกแสนปีข้างหน้าว่า สัตว์ทั้งหลาย วันตายของท่านใกล้เข้ามาแล้ว จงอย่าประมาท เร่งรัดจัดแจงสร้างกุศลกันเถิด จงมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เคารพบิดามารดาผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วท่านจะรอด
ถ้าเป็นสมัยนี้ โลกพยุหเทวดาก็อาจอยู่ตามสี่แยกและริมถนนใหญ่ ยืนถือโทรโข่ง ยกป้าย “วันสิ้นโลกใกล้เข้ามาแล้ว” หรือ “เร่งสร้างกุศลแล้วท่านจะรอด”
บรรดาที่ได้พบเห็นโลกพยุหเทพยดาต่างมุ่งมั่นรักษาศีลกระทำกุศล จึงได้ไปเกิดในเทวโลกกันเป็นอันมาก ตั้งแต่ “ฝูงเปรตแลฝูงอสุรกายแลสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายมีพรรณต่างๆ แต่บรรดาที่อยู่ในน้ำแลบกโดยต่ำจนมดดำมดแดง”
ก่อนหน้าวันงานพระเมรุพระมหากษัตริย์และเจ้านายสยาม มีธรรมเนียมเก่าว่าจะมี “นาฬิวัน” ซึ่งเป็นพราหมณ์พวกหนึ่ง เดินสยายผมตามมาในริ้วกระบวนอัญเชิญพระบรมศพหรือพระศพด้วย ดังเมื่อคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ก็มีทั้งพระมหาราชครูพราหมณ์ และพระครูพราหมณ์ในราชสำนัก เดินสยายผมติดตามในริ้วกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระบรมโกศ
ไม่ปรากฏคำอธิบายแน่ชัดว่าที่มาของเรื่องนี้เป็นเช่นไร แต่บางท่านก็ว่า ภาพพระครูพราหมณ์ที่เดินก้มหน้าสยายผม ชวนให้ระลึกถึงเหล่าโลกพยุหเทวดาที่มาป่าวประกาศจุดจบของจักรวาลอยู่ไม่น้อย
หากตีความตามนั้น รัชสมัยอันล่วงเลยไปแล้วย่อมมีนัยหมายถึงจุดจบแห่งจักรวาลเดิม