ปีนี้ต้นละมุดสีดาหน้าบ้านออกลูกดกทีเดียว แต่กิ่งต่ำสุดที่เห็นลูกรี ๆ สีแดง ๆ นั้นก็อยู่สูงไม่ต่ำกว่า ๒ เมตร เลยนำบันไดลิงมากาง ปีนขึ้นไปยืนโน้มกิ่งลงมาเพื่อเด็ดลูก

ต้นไม้ ใบแลบ้าน - จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 431

แต่พอจับกิ่งใบเท่านั้น ผมก็สะดุ้งว่ามันมีฝุ่นจับหนาจนสากมืออย่างคิดไม่ถึง 

กี่วันกี่เดือนกี่ปีมาแล้วที่ใบพุ่มดกของต้นละมุดสีดาต้นนี้คอยดักจับฝุ่นไว้ไม่ให้เข้าไปในบ้าน

ที่ผ่านมาเอาแต่มองชมความงามของทรงพุ่มใบทุกวัน จนลืมนึกไปว่าเธอยังช่วยกรองอากาศบริสุทธิ์ให้เราหายใจ

ทำไมการได้เห็นได้มองต้นไม้แล้วถึงทำให้เรารู้สึกสบายใจ

เคยมีแบบทดสอบให้คนจำนวนหนึ่งมองภาพเมือง เทียบระหว่างภาพเมืองที่มีต้นไม้กับภาพเมืองที่มีแต่ตึก ถามว่าภาพไหนที่รู้สึกสบายใจกว่า แน่นอนแทบไม่ต้องเดาคำตอบว่าคือภาพเมืองที่มีต้นไม้

เช่นเดียวกับอีกหลายการทดสอบที่บอกว่าการมีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ หรืออยู่ในห้อง หรือมีหน้าต่างให้เห็นพื้นที่สีเขียว ช่วยลดความเครียด ลดความล้า รู้สึกมีอิสระ อบอุ่นปลอดภัย และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือแม้แต่คนไข้ก็ฟื้นตัวจากการรักษาได้ไวกว่าคนไข้ที่อยู่ในห้องทึบ

ในแบบทดสอบภาพเมืองยังมีภาพต้นไม้สองแบบให้ดูว่าแบบไหนดูแล้วมีความสุขกว่า ระหว่างต้นที่ทรงพุ่มแผ่กว้างกับต้นทรงสูงแคบ

คำตอบส่วนใหญ่คือต้นไม้ทรงพุ่มแผ่กว้าง

น่าสงสัยว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น และทำไมต้นไม้ถึงส่งผลต่อจิตใจและร่างกายของคนเรา

ทุกคนรู้ดีว่าต้นไม้มีประโยชน์แก่เรามากมายเชิงกายภาพ เนื้อไม้ อาหาร สมุนไพร ก๊าซออกซิเจน ความชุ่มชื้น ฯลฯ แต่คุณค่าเชิงนามธรรมในแง่ความสบายอกสบายใจจะอธิบายอย่างไร

คำอธิบายหนึ่งได้มาจากมุมมองด้านทฤษฎีวิวัฒนาการ

ระยะเวลาที่มนุษย์วิวัฒนาการมาราว ๒ ล้านปี เราใช้ชีวิตเป็นนักล่าและเก็บพืชผลอาหารในธรรมชาติมากกว่า ๙๙.๖ เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด เราเพิ่งจะมาสร้างบ้านแปงเมืองทำเกษตรกรรมจนเป็นเมืองสมัยใหม่เพียงแค่ ๐.๔ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ใน ๙๙.๖ เปอร์เซ็นต์นั้น เราทั้งเดินสองขาไปตามทุ่งหญ้าเพื่อล่าสัตว์และป่ายปีนต้นไม้ขึ้นไปเก็บผลไม้ รวมถึงยังนอนหลับบนต้นไม้ยามค่ำคืนเพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่าอื่น

ในประสบการณ์ของเรา ต้นไม้จึงเป็นเสมือนบ้านชั่วคราว โดยเฉพาะต้นไม้ที่แผ่พุ่มกว้างปีนป่ายง่าย ไม่ได้สูงชะลูดปีนขึ้นยากเกินไปนั้น จึงเป็น “ภาพจำ” ที่เราคุ้นเคย  ประสบการณ์ดี ๆ ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในการทำงานของสมอง และถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมมายาวนานนับล้านปี 

ถึงวันนี้ที่ชีวิตคนเราอยู่ห่างจากธรรมชาติ แต่สมองก็ยังคอยเตือนเราว่าต้นไม้เป็นเสมือนบ้านอันอบอุ่นของเรามาก่อน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ชอบปีนต้นไม้ 

ยังมีการทดสอบที่พบว่า เราจะรู้สึกดีกว่าถ้าได้เห็นพรรณไม้หลากหลายในสวน แทนที่จะเห็นเพียงชนิดเดียว และลวดลายที่ซ้ำ ๆ ในธรรมชาติ แต่ทำมุมแตกแขนงออกไปเล็กน้อย เช่น ลวดลายของกิ่งไม้ ใบไม้ ยังสร้างอารมณ์ดีให้เราด้วย

ช่วงนี้โรคโควิด-๑๙ กลับมาอาละวาดพอดีกับจังหวะฝุ่น PM 2.5 แผลงฤทธิ์ เหมือนเรากำลังโดนเล่นงานยกกำลังสอง

ต้นไม้ใบไม้อาจช่วยเราฝ่าวิกฤตได้