พอกินง้วนดินกันมากเข้าๆ กายของบรรดาสัตว์เหล่านั้นก็หยาบกระด้างไปทุกที

เมื่อ “ง้วนดิน” หมด ก็เกิดมี “เครือดิน” หรือ “เถาปทาลดาวัลย์” มาแทนที่

คัมภีร์ว่ามีรูปร่างเหมือนดอกผักบุ้ง แต่มีสีกลิ่นรสอย่างเดียวกับง้วนดิน ร่างกายของสัตว์ที่กินเครือดิน เริ่มมีเรี่ยวแรงมากยิ่งขึ้น ทว่าก็หยาบกระด้างลงไปอีก

กำเนิดกษัตริย์ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 80

เมื่ออ่านดูถึงตรงนี้แล้วก็คงรู้สึกได้ว่าท่านผู้แต่งคัมภีร์นี้มีรสนิยม “ดึกดำบรรพ์” อย่างยิ่ง

นั่นคือสิ่งที่ถือว่ารสเลิศอร่อยล้ำจนนำมาเทียบเคียงรสชาติของรสแผ่นดิน ง้วนดิน และเครือดิน ให้ผู้อ่านรับรู้ ได้แก่นม เนย และน้ำผึ้ง ซึ่งน่าจะเป็นอาหารจากธรรมชาติอย่างวิเศษสุดของยุคโบราณ

ฝรั่งเองจึงมีสำนวน land of milk and honey (ดินแดนแห่งนมและน้ำผึ้ง) อันมีรากเหง้าดึกดำบรรพ์จากยุคพระคัมภีร์เก่าตามคติฮีบรู ว่าหมายถึง“ดินแดนแห่งพันธสัญญา” (promised land) ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าจะประทานให้แก่คนบางหมู่บางเหล่า ต่อมาเลยขยายความครอบคลุมว่าใช้หมายถึงถิ่นฐานที่อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่ขาดแคลนก็ได้

กลับมาที่ “อัญคัญสูตร” อีกครั้ง

สุดท้าย “เครือดิน” หายไปอีก เกิดมีข้าวสาลีที่ขึ้นเองโดยไม่ต้องไถหว่าน และ “สำเร็จรูป” สุดๆ คือสามารถนำมาบริโภคได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีขัดสี เพราะไม่มีแกลบ ไม่มีรำ และไม่ต้องหุง

ที่สำคัญคือดูเหมือนจะไม่มีวันหมดสิ้น

พอวันนี้ไปเก็บมากินแล้ว วันรุ่งขึ้นก็กลับงอกใหม่ขึ้นมาบริบูรณ์เหมือนเก่าอีก

อยู่ไปอยู่มา เกิดมีพวกขี้เกียจ คิดว่าเรื่องอะไรเราจะต้องไปเก็บข้าวทุกวัน วันละสองรอบ เช้าเย็น ทำไมไม่เอามามากๆ ให้พอกินไปได้นานๆ เล่า พอต่างคนต่างคิดแบบนี้ จึงเริ่มสะสมข้าวสาลีเป็นทรัพย์สินส่วนตัวมากขึ้นๆ

ลงท้ายเหมือนเดิมคือความเสื่อมถอยของสรรพสิ่ง

ข้าวสาลีไม่ขึ้นงอกงามเองอีกต่อไป แถมยังกลายเป็นข้าวเปลือกมีแกลบมีรำให้ต้องขัดสี

นำไปสู่การหวงแหนที่ดินในฐานะปัจจัยการผลิต ซึ่งลงเอยด้วยการริเริ่มปักปันเขตแดนกัน

แต่แล้วเกิดการลักขโมยขึ้นตามมา เริ่มมีคำโกหก การด่าทอ จนถึงขั้นลงไม้ลงมือทุบตีทำร้ายกัน

ในที่สุดก็ได้ข้อยุติว่าทั้งหมดต้องมาประชุมกันเพื่อคัดเลือก (หรือ “สมมติ”) ตัวแทน หรือ “หัวหน้า” คนหนึ่งขึ้นมาให้เป็นผู้ปกครอง คอยรับผิดชอบเรื่องต่างๆ เช่น ตำหนิผู้ควรตำหนิ เนรเทศผู้ควรถูกเนรเทศ

โดยทุกคนตกลงยินยอมปันส่วนข้าวในความครอบครอง ให้เป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้

“ลิลิตโองการแช่งน้ำ” บรรยายฉากนี้ไว้ว่า

๏ เลือกผู้ยิ่งยศเปนราชาอะคร้าว

เรียกนามสมมติราชเจ้า จึ่งตั้งท้าวเจ้าแผ่นดิน ฯ

(เลือกผู้มีอำนาจมากให้เป็นราชา เรียกนามว่า “สมมติราช”) 

นับแต่นั้นจึงเกิดผู้ที่เป็น “มหาสมมติ” ขึ้น ก็เพราะมหาชนได้แต่งตั้งขึ้นมา (“มหาชนสมมติ”)

และโดยเหตุที่เป็นเจ้าแห่งนาทั้งหลาย จึงเรียกคนผู้นั้นอีกอย่างหนึ่งว่า “กษัตริย์” เพราะเป็นผู้เป็นใหญ่ในหมู่เกษตรกร บ้างก็เรียกว่า “ราชา” เพราะเป็นผู้ทำให้คนเหล่าอื่นรักใคร่ดีใจโดยความชอบธรรม

แต่นั้นมาจึงเกิดชนวรรณะต่างๆ ขึ้น ถัดจากกษัตริย์ ก็คือพราหมณ์ แพศย์ ศูทร

อีกนัยหนึ่ง นี่ก็คือการอธิบายต้นกำเนิดของสังคมอินเดียโบราณนั่นเอง