นอกจาก “พระมหาสมมติ” (ในบางคัมภีร์อธิบายว่าคือองค์พระโพธิสัตว์) ที่มหาชนทั้งหลายลงมติเลือกให้เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองแต่เมื่อแรกปฐมกัปแล้ว อีกหลายที่หลายแห่งในคัมภีร์โลกศาสตร์ก็ตอกย้ำนำเสนอความคิดที่ว่า “ผู้นำ” หรือ “ราชา” ต้องมาจาก “การเลือกตั้ง” เอาไว้ อย่างเช่นในสมุดภาพไตรภูมิกรุงธนบุรี (เลขที่ ๑๐/ก) มีระบุตอนหนึ่งว่า

“ผู้นำ” ต้องมาจากการเลือกตั้ง - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 81

“เมื่อแรกประถมกลับสัตว ๔ เท้าทังหลายตังสิงหะราชเปนพญา”

(เมื่อแรกปฐมกัป สัตว์สี่เท้าทั้งหลายตั้งสิงหราชเป็นพญา)

เช่นเดียวกับหมู่ปลาในมหาสมุทรที่ตกลงโหวตเลือกอานนท์ เช่นที่ปรากฏในสมุดไตรภูมิฯ เล่มเดียวกันว่า

“เมิ่อแรกปถํมกลับปลาทังหลายชุมนุมกันตังปลาอานํนเปนพยาแก่ปลาทังหลาย”

(เมื่อแรกปฐมกัป ปลาทั้งหลายชุมนุมกันตั้งปลาอานนท์เป็นพญาแก่ปลาทั้งหลาย)

แต่ในบางครั้งบางหน คัมภีร์ก็บอกเราด้วยว่าระหว่างการลงมติคัดเลือก อาจมีผู้คัดค้านจนบานปลายกลายเป็นเหตุวิวาท ดังที่อีกหน้าหนึ่งในสมุดภาพเล่มเดิม มีข้อความว่า

“เมิ่อแรกประถมกลับนกทังหลายปรชุมกันจตังพญากาแลนกเคาชิงกันเปนพญากไลจิกกันบินไปยนกทังหลายจึงตังหงษเปนพญา” (เมื่อแรกปฐมกัป นกทั้งหลายประชุมกันจะตั้งพญา กาและนกเค้าชิงกันเป็นพญา ก็ไล่จิกกันบินไป นกทั้งหลายจึงตั้งหงส์เป็นพญา)

เรื่องตรงนี้ต้องขยายความเพิ่มเติมนิดหน่อย คนแต่โบราณคงสังเกตเห็นว่ากากับนกเค้า (นกฮูก) เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันในธรรมชาติ จึงมีนิทานอธิบายเรื่องนี้แทรกใน “อุลูกชาดก” ว่าแต่แรกเมื่อปฐมกัป หลังจากมนุษย์ตกลงประชุมคัดเลือกบุรุษผู้หนึ่งให้เป็นราชา ส่วนสัตว์สี่เท้าตั้งราชสีห์เป็นพญา และพวกปลาก็ลงคะแนนให้อานนท์เป็นหัวหน้าแล้ว พวกนกจึงจัดการประชุมขึ้นบ้าง ณ เนินหินในป่าหิมพานต์ ตั้งประเด็นปรึกษากันว่าใครๆ เขาก็มีราชากันหมดแล้ว พวกเรายังไม่มีเลย จากนั้นจึงมีนกตัวหนึ่งยกปีกเสนอชื่อ “นกเค้า” แล้วว่าจะขานชื่อนกเค้าสามครั้งเพื่อหยั่งเสียงสนับสนุน

ปรากฏว่าประกาศไปได้แค่สองครั้ง กาตัวหนึ่งก็ออกมาคัดค้าน ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการที่จะแต่งตั้งนกเค้าเป็นราชา อ้างว่าขอให้ลองดูหน้าตาเขาสิ ขนาดตอนยังไม่โกรธยังน่าเกลียดขนาดนี้ นี่ถ้าเมื่อใดโกรธใครขึ้นมาคงยิ่งดูไม่ได้ ว่าแล้วก็บินขึ้นบนอากาศ ส่งเสียงร้องว่า “ไม่เอา! ไม่เอา!” (แขกคงได้ยินเสียงอีการ้องคำนั้น) ฝ่ายนกเค้าได้ยินเข้าก็เลยโกรธจริง บินไล่จิกตีกันจนหายลับตาไป

องค์ประชุมที่เหลือ (ท่าทางคงจะ “งงๆ”) เลยต้องเริ่มต้นกระบวนการสรรหากันใหม่ สุดท้ายจึงตกลงเลือกหงส์ทอง

จากข้อมูลประวัติศาสตร์ แม้ว่าในทางปฏิบัติมีบ่อยครั้งที่กษัตริย์สยามเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยการก่อรัฐประหาร “ปราบดาภิเษก” กำจัดกษัตริย์องค์เดิมหรือคู่แข่ง แต่จดหมายเหตุก็มักนิยมนำเสนอไว้ในเชิง “ยอพระเกียรติ” ว่าทรงเป็น “ผู้ที่ถูกเลือกสรร” โดยอาณาประชาราษฎร เช่นความตอนหนึ่งใน “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา”

“ในทันใดนั้นจึ่งท้าวพระยามุขมนตรีกระวีชาติ, แลราษฎรทั้งหลาย, ก็พร้อมกันกราบทูลวิงวอนอัญเชิญ…,ขึ้นครองพิภพเสวยสวรรยาธิปัตยถวัลย์ราชดำรงแผ่นดินสืบไป. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีภาพ…”

ลักษณะเช่นนี้มีคำเรียกตามภาษาบาลี/สันสกฤตว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” แปลว่าการตกลงยินยอมของหมู่ชนเป็นอันมากที่มาชุมนุมกัน ดังนั้นคำนี้เองจึงไปปรากฏเป็นสร้อยพระปรมาภิไธยกษัตริย์สยามในอดีตอีกด้วย