ในทางสัญลักษณ์หรือพิธีกรรม กษัตริย์สยามโบราณทรงมีสถานะหลากหลายตามคติความเชื่อที่ปะปนทับถมกันมาตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์

พระอินทร์บนโลกมนุษย์ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 82

ในแง่หนึ่งทรงเป็น “กษัตริย์” คือเจ้าแห่งที่นา ดังนั้นจึงทรงเป็นผู้แจกจ่ายยศศักดิ์ให้แก่ข้าราชการระดับชั้นต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า “ศักดินา”

นอกจากนั้นยังทรงเป็นประดุจเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ทั้งพระอิศวร (พระศิวะ) และพระนารายณ์ (พระวิษณุ) โดยเฉพาะในความหมายเมื่อพระนารายณ์ทรงอวตารลงมาเป็นพระราม เช่นพระปรมาภิไธย “รามาธิบดี” หรือการขนานนามราชธานีว่า “อยุธยา” ตามนามกรุงอโยธยาของพระราม

หรือถ้าว่าโดยฝ่ายพุทธศาสนาบ้าง กษัตริย์ก็ทรงเป็น “หน่อพุทธางกูร” คือเปรียบประดุจพระโพธิสัตว์ที่ลงมาบำเพ็ญบารมีเพื่อเตรียมตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในภายภาคหน้า คตินี้ยังเห็นได้จากคำกราบบังคมทูลที่ผู้พูดต้องเรียกตัวเองว่าเป็น “ข้าพระพุทธเจ้า” และในคำร้องขึ้นต้นเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ที่ว่า “ข้าวรพุทธเจ้า”

พร้อมกันนั้น หนึ่งในสุดยอดปรารถนาของกษัตริย์ชาวพุทธก็คือสถานะพระเจ้าจักรพรรดิ หรือ “มหาจักรพรรดิราช” ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีป ผสมผสานไปกับอีกสถานะความเป็นพระอินทร์ ราชาแห่งเทพ ในบริบทของคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุของพุทธศาสนาเถรวาท

เราจึงมีอาคารพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง ทั้งที่มีนามว่า “ไพศาลทักษิณ” (กว้างใหญ่ในทิศใต้ คือชมพูทวีป) กับ “อมรินทรวินิจฉัย” (พระอินทร์ผู้ตัดสิน) อันใช้เป็นมณฑลพิธีของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

และเมื่อทรงเป็นเทพบนโลกมนุษย์ ดังนั้นเมื่อพระองค์ล่วงลับไปจึงต้องเรียกว่า “เสด็จสวรรคต” คือกลับไปสู่สวรรค์ พร้อมกับตั้งการพิธียกเขาพระสุเมรุขึ้นกลางเมือง เรียกกันว่า “พระเมรุมาศ” (เมรุทอง)

แต่คัมภีร์ก็ระบุไว้ด้วยว่า พระอินทร์เป็นเพียงตำแหน่ง เหมือนกับสรรพสิ่งทั้งหมดในจักรวาล คือมีเสื่อมถอยไปได้ตามกาล ดังประวัติของมฆะมาณพ ผู้รวมตัวกับเพื่อน จัดตั้ง “คณะสามสิบสาม” (คสส.) เป็นกลุ่มจิตอาสาประกอบคุณงามความดีต่างๆ จนเมื่อตายไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์กันยกแก๊ง แล้วเลยไปก่อรัฐประหาร จับพวกเทวดาเจ้าถิ่นเดิมเหวี่ยงลงจากยอดเขาพระสุเมรุ แล้วยึดอำนาจประกาศตัวเป็นราชาแห่งเทพแทน

นั่นหมายความว่า มฆะมาณพย่อมยังคงเป็นพระอินทร์อยู่ต่อไปได้ ตราบใดที่ยังมีบุญกุศลหนุนนำ แต่หากวันใดหมดบุญลงก็ย่อมกลับเข้าสู่วงวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด และเมื่อนั้นผู้อื่นที่มีบุญมากกว่าก็จะขึ้นสู่ตำแหน่งพระอินทร์ เริ่มต้น “อินทรกาล” (เลียนแบบคำ “รัชกาล”) ใหม่ต่อไป

โดยนัยนี้ก็เท่ากับว่าคัมภีร์ได้ “ชี้ช่อง” หรือตั้งทฤษฎีให้ไว้แล้วว่า หากผู้ใดประกอบกรรมดีถึงขนาดก็ย่อมได้รับผลตอบแทน ซึ่งวาสนาบารมีก็คือส่วนหนึ่งของการตอบสนองแห่งความดีนั้น แม้แต่สถานะพระอินทร์ ราชาแห่งเทพ ก็มิได้เป็นสิ่งยั่งยืน เพราะยังต้องขึ้นกับผลแห่งความดีของตน เข้าทำนอง “ใครดีใครได้”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงอุทิศเรือนเดิมที่เคยเป็นที่ประทับตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรีให้เป็นหอพระไตรปิฎกของวัดระฆังโฆษิตาราม

ในหอไตรหลังนี้ โปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพบนฝาผนังเป็นเรื่องประวัติมฆะมาณพ

น่าคิดว่าภาพชุดนี้อาจมีความนัยเกี่ยวเนื่องเป็นเสมือน “คำอธิบาย” การปราบดาภิเษกก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ว่าทรงเปรียบพระองค์ประดุจมฆะมาณพ พร้อมด้วยทแกล้วทหารทั้งปวง อันเป็นเสมือนพลพรรค คสส. ผู้ได้บำเพ็ญบารมีสั่งสมมา กระทั่งกุศลผลบุญเกื้อหนุนให้ได้เป็นราชา ดุจเดียวกับพระอินทร์ผู้เป็นราชาแห่งเทพ