เรื่องและภาพ : บุราณี เวียงสิมมา 

ครอบครัว - ปราการ

“เข้ามาก่อนลูก เข้ามาก่อน  แม่เพิ่งผัดเส้นใหญ่เสร็จพอดี กำลังจะทำน้ำราดหน้า แม่ไม่อยากทำไว้ก่อนหนูมาถึง มันไม่ร้อน เดี๋ยวหนูจะไม่อร่อย” คนพูดเบือนหน้ามาบอกเพียงครู่เดียว ก่อนหันไปสาละวนกับการโปรยต้นคะน้าลงในกระทะ ควงตะหลิวผัดหมึก กุ้ง ผักให้เข้ากัน เธอกำลังปรุงราดหน้าให้แก่ผู้มาใหม่ที่ยืนพิงสะโพกกับโต๊ะกินข้าว กอดอก พินิจภาพเคลื่อนไหวตรงหน้าอย่างครุ่นคิด

“หนูเรียกคุณทองทิพย์นะคะ กับแม่ หนูยังเรียกนับครั้งได้ แล้วนี่ไม่ใช่ อย่าแทนตัวเองว่าแม่ให้กระอักกระอ่วนใจทั้งสองฝ่ายเลย” ฉันตรงไปตรงมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ชะตาชีวิตลิขิตเราให้โคจรรอบกันเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หากเธอก็ไม่เคยนำพากับความไม่ญาติดีของฉัน ยังคงแม่อย่างนั้น แม่อย่างนี้ ทุกทีที่พบ

คุณทองทิพย์ เมียของพ่อฉัน เธอไม่ใช่แม่ผู้ให้กำเนิด  ฉัน เด็กผู้หญิงวัยทีน ที่ไม่อาจยอมรับนับถือความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ในพ่อแม่ของตนได้ เมื่อทั้งคู่แยกทางกันและสร้างครอบครัวใหม่ ฉันจึงหันหลังให้พวกเขา โดยอยู่ในความปกครองของปู่กับย่า นับแต่นั้นมาก็นิยามว่า พ่อและแม่ของตนเป็นเพียงพี่น้องร่วมสายเลือด คำเรียกขานพ่อแม่จึงทั้งห่างเหินและเย็นชา  คุณ…ตามด้วยชื่อจริง  แล้วนี่คุณทองทิพย์คิดว่าตนเองเป็นใคร  ถือดีอย่างไรมาแทนตัวว่าแม่

“ไหว้คนนี่มันเสียหายมากไหม  มันต้องเสียเงินหรือไง หือ”  พ่อเสียงเข้ม เมื่อแนะนำให้รู้จักผู้หญิงคนใหม่ในชีวิต แล้วลูกสาวเพียงแค่สบตาด้วย เท่ากับเป็นการประกาศสงครามสายเลือด เราต่างเลือกเฟ้นถ้อยคำจากความเกรี้ยวโกรธทั้งหมดที่มีสาดใส่อีกฝ่ายให้เจ็บเจียนตายเพราะเขาเหน็บให้เจ็บใจ“จะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ ประหารบุตรเจ้าลงกาให้อาสัญ” ต่อให้เจ็บปวดจนแทบหายใจต่อไม่ได้ ก็อย่าได้หมายว่าฉันจะยอมให้ผู้ชายอย่างพ่อเห็นน้ำตาเขาต่างหากที่ต้องร่ำไห้  เขาต่างหากที่ต้องทนพิษบาดแผลไม่ไหว เขาต่างหากที่ต้องยอมรับ ต้องเข้าใจ ว่าความสัมพันธ์พ่อ-ลูกของเราไม่ได้เป็นไปอย่างพ่อ-ลูกคู่อื่นๆ

“พอเถอะนะคะคุณ  หนู พอเถอะลูก อย่าทะเลาะกันอีกเลย”  น้ำตาและเสียงสะอื้นนั่น  ฉันควรต้องสาแก่ใจสิ   แต่ เปล่าเลย  พอมันเกิดขึ้นตรงหน้า ความรู้สึกผิดบาปที่ฉันกลบไว้ลึกสุดใจ มาเคาะประตูเรียกให้ปลดปล่อยมันออกมา ยิ่งทำให้ฉันไม่ญาติดีกับเธอหนักขึ้น  ถือดีอย่างไรมาทำให้ฉันรู้สึกผิด

prakarn02

ตลอด 20 ปีเราต่างโคจรอยู่ในชีวิตของกันแบบพระจันทร์และพระอาทิตย์ ฉันชัดเจนว่าไม่อาจญาติดีกับคนพวกนี้ได้  ทั้งแม่และครอบครัวเธอ พ่อและครอบครัวเขา  ทุกคนมีหน้าที่ต้องยอมรับความชัดเจนของฉัน  ไม่จำเป็นต้องเข้าใจ เพียงต้องยอมรับให้ได้ และไม่ละเมิดสิทธิกัน  ส่วนฉัน ปู่ย่าทำงานหนักมากเพื่อให้ฉันตระหนักเรื่องกตเวทิตา ฉันจึงไปมาหาสู่พวกเขาบ้างบางเทศกาล

สงกรานต์ในฤดูกาลที่โควิด 19 ระบาดระลอกแรกนั้น มหานครเหมือนเมืองร้าง มีระยะห่างระหว่างกันที่เราต้องสร้างให้เป็นวิถีชีวิตใหม่ เพื่อห่างไกลจากการรับเชื้อ ส่งผลให้ผู้คนทั่วไปมีปฏิสัมพันธ์ผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น และนั่นต้องจริตฉันผู้เกลียดการข้องเกี่ยวกับมนุษย์เป็นทุนอยู่แล้ว  

“วันจันทร์นี้ฉันจะไปทำโบท็อกซ์ แกอยากไปกับฉันไหม”  พ่อถามระหว่างเราคุยโทรศัพท์กันในคืนวันศุกร์ที่ 10 เมษายน ปีที่ผ่านมา อาจเพราะฉันเป็นผู้ใหญ่ อาจเพราะเขาแก่ตัวลง หรืออาจเพราะโรคภัยที่เขาเผชิญอยู่ทำให้เรากลับมาวิสาสะ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบได้โดยปะทะกันน้อยลง พ่อเป็นมะเร็งตับอ่อน นับแต่วันที่ตรวจพบ เมื่อรักษาตามระบบ ตามคำแนะนำของหมอมาก็ปาเข้าไปปีที่ 2 แล้ว  อาการป่วยตอบสนองต่อการรักษาแทบทุกวิธีทำให้เขาใช้ชีวิตได้ปรกติ ไปทำงานได้ กำลังใจดีมาก โดยเฉพาะจากคุณทองทิพย์ ผู้อุทิศตัวบริบาลคู่ชีวิตของเธอด้วยหัวใจโดยไร้เงื่อนไขใดๆ 

“มันก็แค่เล็บขบ จะทำอะไรฉันได้” กำลังใจเขาดีถึงเพียงนั้น

ไปทำโบท็อกซ์ของพ่อ คือการทำคีโมเทอราปี (chemotherapy)  ซึ่งคุณทองทิพย์จะอยู่เคียงข้างเสมอ หากคราวนี้พ่ออยากให้ลูกสาวอยู่ตรงนั้น 

“ขอร้องสิ อยากให้หนูไปด้วยน่ะ ขอร้องหรือยัง”

“ต้องขอร้องยังไงนะ คนอย่างแกถึงจะยอมลงให้ ฮึ??? ให้ฉันตายให้ดูเลยไหม” 

ฉันเกลียดเสียงหัวเราะแบบเป็นต่อของเขา 

“เฮ่ย…ตายตอนนี้ไม่ได้นะ ไม่มีวัดไหนยอมเผาให้หรอก”

“ฮ่าฮ่าฮ่า แกไม่รู้เหรอว่า พ่อแกน่ะขวางโลก” 

บทสนทนาที่ดีที่สุดในชีวิตพ่อลูกระหว่างเราจบลงเช่นนั้น

prakarn03

คืนวันเสาร์ที่ 11 เมษายน  2 วันก่อนจะไปโบท็อกซ์ ฉันเพิ่งวางหนังสือที่อ่านลง สอดตัวเข้าใต้ผ้าห่ม และพร้อมจะเข้าสู่ห้วงนิทรา เวลา 4 ทุ่ม 15 นาที เบอร์โทรศัพท์เลขสวยๆ ของพ่อโชว์ที่หน้าจอโทรศัพท์ฉัน  พ่ออาจอยากให้ฉันซื้ออะไรให้ ตอนรับพ่อไปทำโบท็อกซ์  ฉันคิดก่อนกดปุ่มรับสาย

หนู พ่อตายแล้วนะลูก”  เสียงร่ำไห้พร้อมประโยคนั้นดังขึ้นมาจากอีกฝ่ายโดยฉันยังไม่ได้ทักทายด้วยซ้ำ

ความเงียบงันของฉัน  เสียงสะอื้นรำพันของคุณทองทิพย์ โดยมีเครื่องโทรศัพท์แนบไว้แน่นที่หูของแต่ละฝ่าย ผ่านไปเพียงนาทีกว่าเท่านั้น แต่ฉันรู้สึกราวชั่วกัปชั่วกัลป์  ก่อนจะกลั้นใจเอ่ยถามรายละเอียดด้วยน้ำเสียงที่ไม่ห่างเหินแต่ยังคงเย็นชา

“ต้องทำถึงขนาดนี้เลยเหรอวะ  ต้องเอาชนะกันให้ได้เลยใช่ไหม” เคอร์ฟิวส์ทำให้เราต่างอยู่ในที่มั่นของใครของมัน ระหว่างรอรุ่งเช้าเพื่อไปจัดการเรื่องราวที่ต้องทำ ฉันเฝ้าถามคำถามนี้กับอากาศธาตุที่อยู่รอบกายซ้ำไปซ้ำมา

เรา หมายถึงคุณทองทิพย์และฉัน ผู้เป็นหัวแรงหลักในพิธีฌาปนกิจ ในฐานะภรรยาเธอต้องข่มความโศกศัลย์ เพื่อเป็นหลักให้แก่ทุกคนที่เข้ามาขอการตัดสินใจเพื่อให้พิธีกรรมสุดท้ายที่แม้จะรวบรัด หากก็สมเกียรติผู้วายชนม์  และในฐานะลูกสาวคนโตซึ่งโตพอที่จะพึ่งพาได้ ฉันคอยไกด์เธอในทุกเรื่องที่เธอไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ และไม่เชื่อใจใคร   สองกายหัวใจเดียว ความตายของผู้ชายอันเป็นที่รักทำให้เรื่องอัศจรรย์แบบนั้นเกิดขึ้นได้

“ศาลานี้พ่อหนูเพิ่งให้เขาทำเสร็จใหม่ๆ มีเปลญวนผูกไว้ด้วย เขาว่าเอาไว้ให้หนูมาอ่านหนังสือ เวลาหนูมาบ้านนี้”  คุณทองทิพย์ชวนคุยเรื่อยๆ หลังเรากลับจากลอยอังคาร มาที่บ้านใหม่ริมคลองซึ่งพ่อและเธอเพิ่งย้ายมาอยู่ได้ไม่ถึง 5 ปี   “หนูมาเยี่ยมแม่บ่อยๆ นะ  มานอนกับแม่บ้าง บ้านนี้ก็บ้านหนูเหมือนกัน” เมื่อเป็นหยาดน้ำตาจากความอาดูรเดียวกัน  อ้อมกอดจึงสำคัญมากกว่าถ้อยคำปลอบโยน

หลังร้อยวันของพ่อฉันมาบ้านนี้บ่อยขึ้น  แต่ละครั้งที่มาฉันใช้เวลานานขึ้น เพื่อซึมซับร่องรอยของพ่อที่ปรากฏอยู่เต็มบ้านและฉันแทบไม่เคยรู้จักพ่อในมุมเหล่านั้น ที่สำคัญคุณทองทิพย์และฉันเราได้เยียวยากันและกัน  

ราดหน้าทะเลจานใหญ่ที่มีเพียงก้านคะน้า ด้วยรู้ว่าฉันเหม็นเขียวใบ วางลงตรงหน้าฉันบนโต๊ะกินข้าว 

“หนูไม่ปรุงใช่ไหมลูก แม่ไม่ยกเครื่องปรุงมานะ เอ้านี่ โซดามะนาว แม่รู้ว่าหนูชอบ”  ฉันยิ้มอ่อนโยนให้จานราดหน้า

คุณทองทิพย์ช่างจดจำรายละเอียดเฉพาะตัวของฉันตั้งแต่เมื่อไร และเพราะอะไร? เพราะโดยธรรมชาติเธอเป็นคนช่างเอาใจใส่ เพราะใครคนนั้นสำคัญพอที่เธอจะต้องเอาใจใส่ หรือเพราะอะไรกัน?  

ฉันยังคงยิ้มอ่อนโยนอยู่ ขณะเงยหน้าสบตาเธอ

“ขอบคุณค่ะ แม่”