ในทางพุทธศาสนายังมีคตินิยมการแสดงภาพพระพุทธเจ้าด้วยการยกย่องในฐานะ “จอมจักรวาล”

จักรวาลใต้ฝ่าพระบาท สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 83

อาจด้วยเหตุที่นับถือกันว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แจ้งแทงตลอด จึงมีการผนวกรวมเอาองค์ประกอบของจักรวาลเข้าเป็นส่วนหนึ่งในลวดลายมงคล ๑๐๘ ประการที่รอยพระพุทธบาทด้วย

เห็นได้ทั้งในรอยพระพุทธบาท และที่พระบาทของพระพุทธรูป เช่นในกรณีของพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน)

ในบทความ “ลายลักษณ์พระบาท” พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ พิมพ์อยู่ในนิตยสาร “วชิรญาณวิเศษ” เมื่อปี ๒๔๓๕ กล่าวว่า “ฝ่าพระบาททั้งสองประกอบด้วยลายลักษณ์กงจักร์ข้างละอัน ในท่ามกลางฝ่าพระบาท จักร์นั้นมีกำพันหนึ่ง ประกอบด้วยกงแลดุมบริบูรณ์ ภายนอกรูปกงจักร์นั้น มีรูปอัฏฐุตตะระสะตะมงคลร้อยแปดประการ”

คัดตัดตอนมาเฉพาะรูปมงคลส่วนซึ่งเป็นองค์ประกอบของจักรวาล ได้แก่

“สมุทโท มหาสมุทร์ ๑ จักกะวาฬะปัพพะโต เขาจักรวาฬ ๑ หิมะวันตะปัพพะโต เขาหิมพานต์ ๑ เมรุปัพพะโต เขาพระเมรุ ๑ สุริยะมัณฑะลัง มณฑลพระอาทิตย์ ๑ จันทะมัณฑะลัง มณฑลพระจันทร์ ๑ นักขัตตะตารา ดาวนักษัตร์ฤกษ์ ๑ สัปปะริวาราจะตุมะหาทีปา ทวีปใหญ่ทั้งสี่กับทั้งบริวาร ๑ สะปะริโสสัตตะระตะนะสะมังคีจักกะวัตติ พระยาจักรพรรดิอันพร้อมไปด้วยแก้วเจ็ดประการ กับทั้งบริษัท ๑…สัตตะมะหาคังคา มหาคงคาทั้งเจ็ด ๑ สัตตะกุละปัพพะตา เขาบริภัณฑ์กุลบรรพตทั้งเจ็ด ๑ สัตตะสีทันตะสาคะรา สีทันดรสาครทั้งเจ็ด ๑…เกลาสะปัพพะโต เขาไกลาส ๑…ฉะเทวะโลกา กามาพจรเทวโลกทั้งหก ๑ โสฬะสะพรัหมะโลกา พรหมโลกสิบหก ๑ สิรินับได้ร้อยแปดด้วยกัน”

โดยนัยนี้ก็คือพระพุทธเจ้าทรงมีบารมีเป็นล้นพ้น ทรงตรัสรู้ในทุกสิ่งอัน ตลอดทั้งจักรวาลและสรรพชีวิตทั้งปวงก็ล้วนอยู่ใต้ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์

อีกลักษณะหนึ่งของคตินี้ เห็นได้จากการเขียนภาพจักรวาลไว้ทางด้านหลังพระประธานในอุโบสถของภาคกลาง

ธรรมเนียมนี้มีหลักฐานปรากฏชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สืบเนื่องมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยนิยมเขียนให้มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง บนยอดเขาคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์

ถัดมาทั้งสองด้าน คือแนวเขาสัตตบริภัณฑ์ ที่แสดงในลักษณะ “ผ่าซีก” แบ่งออกเป็นแนวเขาทรงแท่งทั้งซ้ายขวา สูงลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ โดยมีพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรอยู่รอบเขาพระสุเมรุ

ถัดมาก็เป็นมหาสมุทร ที่ตั้งของทวีปทั้งสี่ ได้แก่ อุตรกุรุทวีป บุพพวิเทหทวีป ชมพูทวีป และอมรโคยานทวีป ซึ่งมักแบ่งไว้ข้างซ้ายขวาของชุดเขาสัตตบริภัณฑ์ ข้างละสอง

ตรงตีนเขาพระสุเมรุมักเขียนให้เป็นส่วนขยายของดินแดนชมพูทวีป เช่นป่าหิมพานต์ สระอโนดาต ปัญจมหานที

หลายแห่งเขียนไปจนถึงนรกที่อยู่ใต้เขาพระสุเมรุลงไปอีกด้วย

น่าสนใจว่า ความหมายของภาพชุดจักรวาลที่เป็นงานจิตรกรรมนี้ จะ “สมบูรณ์” หรือ “ทำงาน” ได้ จะต้องตีความโดยผนวกกับองค์พระพุทธรูปประธานที่เป็นปฏิมากรรม ในความหมายว่าทุกสิ่งที่ปรากฏนี้คือเป็นภพภูมิที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้หยั่งถึงทั่วตลอด

ส่วนในล้านนาโบราณ นิยมนำเสนอคติเดียวกันนี้ ด้วยการสร้าง “สัตตภัณฑ์” หรือรูปจำลองของเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์ ในลักษณะเดียวกับภาพจิตรกรรมของภาคกลาง แต่เป็นไม้สลักประกอบกันขึ้นในรูปลักษณ์เหมือนเชิงเทียน ใช้ตั้งวางไว้หน้าพระพุทธรูปประธาน อันน่าจะมีความหมายดุจเดียวกัน