เรื่องและภาพ : ปิยรัตน์ แซ่อึ้ง

จุนบิ : โรงเรียนสอนเทควันโดที่อยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

ถ้าแทบมองไม่เห็นกำไร ใครจะอยากลงทุน?

“ก็เป็นครูไง ไม่ใช่นักธุรกิจ ถ้าเป็นนักธุรกิจกำไรไปแล้ว” นี่อาจเป็นคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น

หรือไม่ เขาก็อาจตีความคำว่า “กำไร” ต่างจากนักธุรกิจคนอื่น

จุนบิ” แปลว่า การเตรียมตัว

“Junbi Taekwondo Studio” คือชื่อโรงเรียนสอนเทควันโดย่านช่องนนทรี โรงเรียนนี้ริเริ่มจากพี่น้องสองคน หนึ่งในนั้นคือ “เต้” ชายหนุ่มผู้มีปริญญาสาขาวิชาภาษาไทยสองใบ แต่กลับตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนเทควันโดในวัย 20 กว่าปี ด้วยเหตุผลที่แสนเรียบง่ายคือ “มองว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้”

เต้ใช้ประสบการณ์และวุฒิจากการเรียนเทควันโดกว่า 5 ปีในช่วงมัธยมฯ มาทำธุรกิจ เขาเห็นว่าเทควันโดเปลี่ยนแปลงให้เขาเติบโตขึ้นในทางที่ดี กล่าวคือ นอกจากจะได้อยู่ในสังคมที่ดีแล้ว ยังทำให้เขาได้รับการพัฒนา EF (executive function) ด้วย

“ตอนนี้มันเรียกว่า EF แต่ตอนนั้นคือ…ชีวิตที่ลำบากได้ โดนแดด โดนน้ำ โดนฝน เจ็บได้ ไม่อ่อนไหวง่าย โดนดุ เจอเรื่องหนักใจก็ตั้งหลักรับได้ ได้ลงสนามแข่ง เจอคู่ต่อสู้ เจอภาวะทางอารมณ์หลายแบบ พอโตขึ้น เราพบว่าได้ตรงนั้นมาโดยไม่รู้ตัว”

ช่วง 3 ปีแรกของการเปิดโรงเรียนสอนเทควันโด เขาวางตัวเองเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ เดิมตั้งใจอยากสอนเด็กมัธยมฯ ปลาย เมื่อมีแต่เด็กเล็กมาสมัครเรียน จึงไม่ได้สอนในแบบที่อยากสอน แต่กลับได้ใช้เทควันโดเป็นเครื่องมือเรียนรู้โลกของเด็กเล็ก ในช่วงนี้ผู้ปกครองบางคนยังไม่ค่อยเชื่อถือสถาบันนัก อาจเพราะเจ้าของกิจการดูเป็นวัยรุ่น แต่เต้ก็หวังแค่รายได้เล็กๆ น้อยๆ แลกกับการเรียนรู้เรื่องการบริหารธุรกิจ

taekwando02
taekwando03

เมื่อผ่านบันไดขั้นแรก จุนบิเริ่มมีลูกค้ามากขึ้น นั่นก็หมายถึงความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จุนบิเปิดสอนรอบนักกีฬา ครูไปอบรมเพิ่มเติมจากสมาคมฯ จนสามารถสร้างทีมนักกีฬาได้ และมีเด็กคนหนึ่งได้เป็นแชมป์ระดับประเทศ

“บรรยากาศช่วงทำทีมต่างจาก 3 ปีแรกโดยสิ้นเชิง จากเดิมเด็กซ้อมและเล่นกับครูได้อย่างสนิทใจ กลายเป็นเคร่งครัดและเคร่งเครียด เด็กต้องยอมซ้อมหนัก ปิดเทอมก็ต้องตื่นตี 5 มาวิ่ง แล้วซ้อมเทควันโดอีกทั้งวัน รวม 6 วันต่อสัปดาห์ ครูก็ลงไปเตะกับเด็ก ทำโทษถ้าผิดวินัย เด็กบางคนได้รับบาดเจ็บขณะต่อสู้เราก็ยังต้อง push up เด็กให้สู้ต่อ เพราะในสนามจริงเจ็บก็ต้องสู้ต่อ ต้องทำให้เด็กคุ้นชินกับสภาวะกดดัน ใช้ระบบคล้ายๆ ทหาร”

เต้บอกว่า 3 ปีนั้นเด็กมองเขาเป็น “ครูผู้น่ากลัวโหดร้าย” ข้อดีคือ ง่ายต่อการควบคุมดูแล และครูหนึ่งคนสามารถสอนเด็กจำนวนมากได้โดยไม่มีใครแตกแถว แต่ข้อดีและความสำเร็จที่ได้มากลับไม่ได้ทำให้เต้รู้สึกประสบความสำเร็จ…อย่างน้อยก็ในฐานะครู

“ทำมาสักพักเริ่มรู้สึกว่าครูกับเด็กไม่ touch หรือไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันเลย”

ครั้งหนึ่งเต้เชิญเพื่อนมาทำกิจกรรมให้เด็กที่โรงเรียน คำพูดประโยคเดียวของเพื่อนกระทบใจ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนแนวคิดของเต้รวมทั้งแนวทางของจุนบิ

“เขาบอกว่า เด็กที่อยู่กับเรากลัวเรามากเกินไป”

taekwando04
taekwando05

เพื่อนของเต้ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนเต้อยู่กับไม่อยู่ เด็กจะแสดงกิริยาต่างกัน ซึ่งเป็นมุมที่เต้ไม่เคยเห็น หลังจากเพื่อนทัก เต้ก็เริ่มสังเกตเด็ก ทบทวนสิ่งที่ทำมาว่าส่งผลอะไรต่อเด็กบ้าง สุดท้ายก็คิดได้ว่า “ต้องมีบางอย่างผิดพลาดแน่ๆ” หลังจากนั้นเต้ก็เริ่มหาข้อมูลเรื่องการศึกษา

“เคยมองว่าการสอนเด็กแต่ละวัยไม่ต่างกันมาก จนมาตั้งหลักใหม่ว่า ‘อยากเรียนรู้เด็ก’ ก็เลยพยายามหาข้อมูล คุยกับเด็ก คุยกับผู้รู้ จึงพบว่า เด็ก 3-18 ปีต่างกันมากนะ 3 ขวบเป็นตัวของตัวเอง ไม่ฟังเรา สื่อสารยาก แต่ไม่ซับซ้อน วัยรุ่นตั้งแต่ 13 จะซับซ้อน มีส่วนที่พูด ส่วนที่เป็น ส่วนที่แสดงออก ซึ่งอาจไม่ตรงกัน ต้องอาศัยความไว้ใจมากๆ กว่าจะสื่อสารตรงกับที่คิด”

จุนบิย่างเข้าสู่ปีที่ 7 พร้อมตั้งเป้าหมายใหม่ของธุรกิจ ประกอบกับการหาข้อมูลอย่างบ้าคลั่ง เต้และทีมจึงตัดสินใจเดินทางไปประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก…ฟินแลนด์

“มันคาใจ…รู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำมันไม่ใช่ ทนทำต่อไม่ได้ แต่ก็อยากจะทำต่อ ซึ่งต้องเปลี่ยนวิธีทำ ถ้าจะเปลี่ยนอ่านหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ แล้วตอนนั้นต้องบอกว่า ระบบการศึกษาเมืองไทยไม่ใช่บรรยากาศที่เราอยากไปรู้จัก เพราะมันอยู่ในระบบที่ครูเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และเด็กเกรงกลัวครูด้วยสถานะบางอย่าง เลยรู้สึกว่าการศึกษาเมืองไทยไม่ตอบโจทย์ที่เราเจอ ตอนนั้นเขาบอกว่าฟินแลนด์ดีที่สุด จึงอยากไปดูให้เห็นกับตา”

แม้จะต้องใช้ต้นทุนมหาศาล แต่ทำให้เต้รู้สึกว่า “ได้กลับมาเยอะกว่าที่ลงทุนไปมโหฬาร” และเขายังคิดว่าถ้าจำเป็นต้องลงทุนเพื่อไปดูการศึกษาที่ไหนอีก ก็จะยังตัดสินใจแบบเดิม

จุนบิ” ความหมายที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ตอนอ่านข้อมูลเรื่องระบบการศึกษาของฟินแลนด์ เต้พบหลักการ แนวคิด ที่มาที่ไปของการปฏิรูปการศึกษา จนเมื่อไปเห็นด้วยตาตัวเอง เต้รู้สึกว่าน่าประทับใจยิ่งกว่าภาพในหนังสือ

“ไปมาสามโรงเรียน อนุบาล ประถมฯ มัธยมฯ ไปนั่งสังเกตการณ์อยู่ 4 วัน ที่ประทับใจคือโครงสร้าง เช่น เรียนเลิกไม่เกินเที่ยง การบ้านไม่เยอะ เกณฑ์การประเมินผลก็ไม่สูง เห็นเทคนิค วิธีปฏิบัติจริง มันน่าทึ่งมาก อย่างบ้านเราพูดเรื่อง Child Center มานานตั้งแต่เราเด็กๆ ไปดูที่โน่นมันคนละเรื่อง ทำให้เห็นภาพชัดว่า Child Center จริงๆ เป็นยังไง แล้วเขาก็ไปไกลกว่านั้นแล้ว”

ห้องเรียนที่เต้เห็นที่ฟินแลนด์มีนักเรียน 20-30 คนต่อครู 3 คน ในแต่ละห้องจะมี helper เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเด็กที่ไม่เข้าใจ ครูใช้เวลาบรรยายไม่นาน จากนั้นปล่อยให้เด็กทำงาน ถ้าเด็กสงสัยก็เดินไปถามครูหรือ helper ได้ บางวิชาเป็นการทำกิจกรรมหรือเล่นเกม แล้วครูสรุปบทเรียนตอนท้ายคาบ

“เด็กเรียนไปสนุกไป เป็นการเรียนรู้ที่มีพลังมาก”

เต้ตกผลึกคำว่า “วิธีจัดการศึกษา” จากการไปประเทศฟินแลนด์และนำมาปรับกับงานตัวเอง ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของจุนบิ จากโรงเรียนสอนเทควันโดกลายเป็น “พื้นที่การเรียนรู้” (learning space)

“จากที่เด็กเข้ามาเพื่อเรียนเทควันโดอย่างเดียว เราพบว่าที่ต่างประเทศใช้กีฬาเพิ่มทักษะทางร่างกายของเด็กและเพิ่ม social skill ให้เด็ก เขาเอาเด็กเป็นตัวตั้งแล้วนำกีฬามาเสริม ไม่ใช่กีฬาแบบบ้านเราที่เน้นเรียน content แล้วก็เอา content ไปสอบ ที่นั่นเรียนกีฬาเป็นวิชาคลายเครียด เราก็ปรับ goal ใหม่ ร่างกายมีพลังจากกีฬาแล้ว เราก็เป็นสะพานนำเขาไปสู่ความรู้อื่นๆ ด้วย บวกกับเอกลักษณ์ของทีมกีฬาต่างจากความสัมพันธ์ในโรงเรียนหรือสถาบันกวดวิชาทั่วไป เราสามารถพาเขาผจญภัยได้ เพราะร่างกายเขาแข็งแรง เขาพร้อมจะเดินป่า พร้อมใช้ร่างกายหนักๆ กลายเป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง เขาก็จะได้เข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้หลายพื้นที่ แค่เราต้องทำงานหนักขึ้นอีกนิดหน่อย”

ปัจจุบันจุนบิแบ่งพื้นที่การเรียนรู้เป็นสองส่วนคือ “JUNBI TAEKWONDO” ที่สอนเทควันโดพร้อมกับพัฒนา EF และ “JUNBI Playducation” เป็นส่วนที่จัดกิจกรรม “บทเรียนผจญภัย” ซึ่งเต้นิยามสั้นๆ ว่า “เรียน ลุย สร้าง” หมายถึง “เรียนในห้อง” “ลุยเจอประสบการณ์ตรง” และ“สร้างโปรเจกต์” กิจกรรมที่จัดมาแล้ว เช่น จัด workshop ทำอาหาร, พาเด็กไปทัศนศึกษา, ฝึกให้เด็กเป็นมัคคุเทศก์ พื้นที่การเรียนรู้ทั้งสองส่วนเชื่อมโยงกันภายใต้แนวคิด “ร่างกายแข็งแรงเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ เราจึงมุ่งพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย สมาธิ ความคิด และทักษะชีวิต”

การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายจากการสร้าง “นักกีฬา” เป็นสร้าง “นักเรียน (รู้)” ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปกครองทุกคนพร้อมจะเข้าใจ จึงทำให้จุนบิสูญเสียนักเรียนส่วนหนึ่งไป แต่เต้ก็ยืนหยัดในหลักการของตัวเอง เพราะได้ทดลองจนแน่ใจแล้วว่าสิ่งที่คิดสามารถทำได้และพัฒนาเด็กได้จริง พร้อมทั้งวางโครงสร้างของโรงเรียนอย่างชัดเจน

taekwando06
taekwando07

แต่ในปีที่ 9 เต้เจอโจทย์ใหม่ที่ท้าทายยิ่งคือการระบาดของโควิด จุนบิประสบปัญหาเช่นหลายธุรกิจ แต่เต้ก็เลือกใช้เวลาช่วงนั้นเตรียมเครื่องมือให้พร้อม และสื่อสารภาพของโรงเรียนให้ชัด ขณะกำลังรอจะใช้เครื่องมือต่างๆ ให้เต็มประสิทธิภาพก็เกิดโควิดรอบสอง

“โควิดรอบแรกทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกอีกยุคหนึ่ง สมัยเด็กเราไม่เคยสัมผัสการเรียนออนไลน์ ตอนนี้โลกอยู่ในจุดที่เราต้องปรับตัว ตอนที่โดนโควิดครั้งแรก เราพยายามหาทุกช่องทางเพื่ออยู่รอด โชคดีสิ่งที่คิดชัดเจนแล้ว ก็เลยสื่อสารใหม่และทำสถาบันใหม่ ลงทุนเป็นล้านช่วงโควิด เพราะเราเชื่อว่าเป็นจังหวะที่ควรสื่อสารภาพให้ชัดที่สุด พอแก้ปัญหารอบที่แล้วได้ ก็เจอโควิดรอบสอง รอบนี้…มันอาจจะยากเกินไป”

“การศึกษาไทย…น่าเป็นห่วง จริงๆ อยากใช้คำแรงกว่านี้นะ (หัวเราะ)”

นี่คือมุมมองของคนที่เคยเป็นครูในระบบการศึกษาตามวุฒิที่จบมา แล้วตัดสินใจก้าวออกจากระบบที่เขานิยามว่า “อึดอัดและไม่น่าสนใจ”

ปัจจุบันเต้มองว่าการสอนให้รู้จักโลกใบใหญ่สำคัญกว่าการสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาค้นพบจากการเปิดโรงเรียนของตัวเอง ทดลอง เรียนรู้ และเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งกลายเป็นจุนบิ (โฉมใหม่) ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10

“ระบบการศึกษาไทยเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังทำสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะจุนบิจะไม่มีค่าเลยถ้าระบบการศึกษาไทยแข็งแกร่ง เราแค่อาศัยช่องว่างนั้นทำมาหากิน”

เต้ย้ำว่าไม่เคยรู้สึกสิ้นหวังในงานที่ทำ แม้จะผิดหวังบ้างในมุมของธุรกิจที่ต้องทำกำไรเพื่ออยู่รอด แต่อาจเพราะความฝันที่ยิ่งใหญ่ของเขาคือ “การสร้าง club สำหรับชุมชน ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้อิสระของเด็กโดยไม่อยู่ในกรอบวิชาหรือการประเมินผลที่น่าอึดอัดใจ” ทำให้เขายังคงยืนหยัดเป็นคนเล็กๆ ที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ท่ามกลางคนเล็กๆ อีกหลายคนบนโลกนี้ที่กำลังพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน

“ถ้าคนไม่หยุดคิดก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสิ่งที่คนทำไม่มีอะไร perfect คนก็ยังคงคิด ตั้งคำถาม แล้วก็เรียนรู้เพื่อทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จบ เป็นเสน่ห์ของมนุษย์ที่มีพลังในการเรียนรู้แบบที่สปีชีส์อื่นไม่มี”