ชนชั้นปกครองของสยามยุครัชกาลที่ ๔-๕ เคยประทับใจกับความเจริญก้าวหน้าของฝรั่งยุโรปอย่างยิ่ง ถึงแก่ขนานนามกรุงลอนดอน นครหลวงของจักรวรรดิอังกฤษ ว่าเป็น “เมืองแก้ว” คู่กับ “เมืองสวรรค์” คือกรุงปารีสของฝรั่งเศส ตามสำนวน “เมืองแก้วเมืองสวรรค์” ที่ซึ่งทุกสิ่งสรรพ์น่าตื่นตาตื่นใจ

เมืองแก้ว ของ พระอินทร์ - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 87

แต่อีกนัยหนึ่ง สมญา “เมืองแก้ว” ของกรุงลอนดอน ก็อาจจะมาจากความรู้สึกทึ่งกับการที่สิ่งก่อสร้างต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยกระจก เช่น คริสตัลพาเลซ (Crystal Palace) อาคารจัดงานแสดงสินค้านานาชาติขนาดมหึมา ก็สร้างจากโครงสร้างเหล็กหล่อแล้วกรุด้วยกระจกใสทั้งหลัง

เมื่อครั้งที่หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) เป็นล่ามให้คณะราชทูตกรุงสยามเดินทางไปอังกฤษเมื่อปี ๒๔๐๐ คริสตัลพาเลซของเดิมถูกรื้อถอน ย้ายไปตั้งใหม่ในที่อีกแห่งหนึ่งแล้ว แม้กระนั้น คณะราชทูตสยามก็ยังตื่นตะลึงกับสถานที่แห่งนี้ที่หม่อมราโชทัยแปลเป็นไทยให้ว่า “วังรัตนา” ดังที่พรรณนาไว้ใน “นิราศลอนดอน” ว่า

“ครั้นถึงวังรัตนาพากันจร          เดินยอกย้อนลดเลี้ยวเที่ยวครรไล
ดูวิจิตรพิศดารตระการแก้ว         วับวามแววแสงสว่างกระจ่างใส
ทั้งหลังคาฝาผนังช่างกะไร         ตลอดไปหมดสิ้นล้วนจินดา
สูงตระหง่านยาวกว่าสิบห้าเส้น          เขาทำเปนสี่ชั้นขันหนักหนา
ข้างในนั้นน่าเพลินเจริญตา              ปลูกพฤกษาต่างต่างสล้างราย”

แต่อันที่จริง นอกจากกรุงลอนดอนแล้ว กรุงเทพฯ ก็เป็น “เมืองแก้ว” ด้วยเหมือนกัน

ยุคหนึ่ง ราชธานีของสยามเคยขนานนามตามนครของพระราม ผู้เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ ว่า “กรุงศรีอยุธยา” คือมาจาก “อโยธยา” ตามคำเดิม หากแต่ในสมัยกรุงเทพฯ ราชธานีแต่แรกมีนามว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์” ดังที่เล่าไว้ใน “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์” ว่า ในปี ๒๓๒๘ หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการฉลองพระนคร แล้ว

“จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นพระมหานครที่ดำรงรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นแก้วอย่างดีมีสิริอันประเสริฐ สำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ประดิษฐานกรุงเทพมหานครนี้ ตั้งแต่พระราชทานนามนี้มาบ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขเกษมสมบูรณ์ขึ้น”

สร้อยนาม “รัตนโกสินทร์” นี้ บ่อยครั้งถูกใช้เสมือนเป็นอีกชื่อหนึ่งของราชธานีกรุงเทพฯ คือ “กรุงรัตนโกสินทร์”
ถ้าดูตามความหมาย “รัตนะ” แปลว่าแก้ว ส่วน “โกสินทร์” แปลว่าพระอินทร์ ซึ่งในที่นี้ “แก้วของพระอินทร์” ก็หมายถึงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร “พระแก้วมรกต” อันกล่าวไว้ในคัมภีร์รัตนพิมพวงศ์ ว่าสร้างขึ้นโดยพระอินทร์นั่นเอง
ธรรมเนียมการขนานนามเมืองตามนามพระพุทธรูปสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือเมือง “หลวงพระบาง” ในลาว อันมีนามตามนาม “พระบาง” พระพุทธรูปยืน อันเป็น “ขวัญเมือง” ของอาณาจักรเฉกเช่นเดียวกัน
นอกจากกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแก้วของพระอินทร์แล้ว นามของป้อมปราการรอบพระนคร ส่วนหนึ่งก็สะท้อนคติจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุอย่างชัดเจน
นั่นคือป้อมที่อยู่ทางเหนือสุดของราชธานี มีชื่อว่าป้อมพระสุเมรุ ถัดลงมาด้านหนึ่งคือป้อมพระอาทิตย์ ป้อมพระจันทร์ ฝั่งตรงกันข้ามก็มีป้อมยุคลธร (ยุคันธร) กับอิสินธร
สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ของจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรรอบจักรวาลเสมอแนวเขายุคันธร หนึ่งในทิวเขาสัตตบริภัณฑ์
สองร้อยกว่าปีต่อมา ป้อมเดียวในจำนวนนี้ที่ยังคงเหลืออยู่คือป้อมพระสุเมรุ ตั้งอยู่ในสวนสันติชัยปราการ ของกรุงเทพฯ
ส่วนป้อมพระอาทิตย์ และป้อมพระจันทร์ ถูกรื้อไปจนราบ เหลือแต่ชื่อตกค้างอยู่เป็นชื่อท่าเรือข้ามฟาก คือท่าพระอาทิตย์ และท่าพระจันทร์ บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา