เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
สัมภาษณ์และถ่ายภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์

เหตุเกิดที่นาทราย จากน้ำท่วมอันตรายถึงมหันตภัยบ่อขยะ
nasai02

“มีกลิ่น เหม็นมาก คันด้วย ตอนนี้ลำบากมาก” นาวแข ชะวังวงศ์ เกษตรกรผู้ปลูกผักเล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนต่อต้นธันวาคมในพื้นที่ตำบลนาทราย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

“คัน ตอนนี้ก็ยังคัน ต้องใส่ยา” คนปักษ์ใต้วัยเจ็ดสิบปีกว่าว่าพลางยกมือให้ดู

หลังมือของเขามีแผลพอง ผิวหลังลอก เหมือนคนเป็นโรคผิวหนัง

นอกจากปัญหาน้ำท่วมขังในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลนาทรายดูจะได้รับผลกระทบรุนแรงและแตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจาก“น้ำที่ไหลมามีกลิ่น เหมือนเหม็นเปรี้ยว”

นาวแขชี้แจงว่าน้ำท่วมขังแต่ละปีนั้นแตกต่างกัน บางปีน้ำน้อย บางปีน้ำมาก บางปีน้ำมาช้า บางปีน้ำมากะทันหันแบบไม่ทันตั้งตัว–“แต่ถ้าเรื่องน้ำมีกลิ่นเหม็นนี้เป็นเหมือนกันทุกปี”

“เวลาน้ำมาหญ้านี่ตาย ผักที่ปลูกไว้ก็ตาย”

เสียงอุทธรณ์ของชายชราที่ต้องการสื่อสารความเดือนร้อนของตนและพวกพ้องให้สังคมภายนอกได้รับรู้สอดคล้องกับ เกสร สุภาโรด ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป

หญิงวัยกว่าสี่สิบฉายภาพน้ำท่วมว่า “พื้นที่ตรงนี้น้ำท่วมตลอด แต่ปีนี้หนักกว่าปีไหนๆ คืนเดียวสูงสองเมตร พอน้ำลดก็เริ่มเป็นสีดำและแดง พอตัวเราโดนน้ำแล้วจะคันมาก”

ต้นตอของปัญหา บรรดาผู้ได้รับผลกระทบลงความเห็นตรงกันว่า คือ บ่อขยะซึ่งตั้งอยู่ติดกับชุมชน ยามฝนตกหนัก “น้ำชะขยะ” จะไหลจากบ่อขยะมาร่วมกับน้ำส่วนอื่นๆ ที่กำลังท่วมขังภายในหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านในตำบลท่าทรายต่างประสบปัญหาเดียวกันมานานหลายสิบปี ส่งผลต่อเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งผู้ที่ทำการเพาะปลูกและประมง จนชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่กล้ากินปลาเนื่องจากกังวลเรื่องสิ่งสกปรกและสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำชะขยะ

และพวกเขายังบอกว่าถึงแม้น้ำจะแห้งแล้วแต่กลิ่นขยะ—กลิ่นแห่งหายนะก็ยังไม่สิ้นไป

“มีกลิ่นตลอด ยิ่งแดดออกยิ่งมีกลิ่น สมมุตว่าน้ำแห้งปุ๊บจะมีกลิ่นแรงมากกว่านี้”

“ไม่อยากให้มีบ่อขยะตรงนี้เลยเพราะทำให้ชาวบ้านรอบข้างทั้งสี่ตำบลเดือดร้อน ถ้าไม่มีกองขยะ น้ำก็คงจะไม่เสียและไม่มีกลิ่นเหม็น อยากให้ใครก็ได้เข้ามาจัดการกองขยะ จัดการไม่ให้น้ำจากกองขยะไหลลงมาถึงนี่ มันกวนชาวบ้าน

“แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เห็นมาช่วยอะไร ร้องเรียนไปแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล ไม่มีการตอบรับอะไร อย่างมากก็มีแค่อนามัยเอายามาให้ทา”

nasai03
nasai04

ปลายปี ๒๕๖๓ พื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดอาทิ สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง สงขลาฯลฯ ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ชาวประมงตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้ฤดูกาลผิดเพี้ยนไป จากปกติเดือนธันวาคมแทบไม่ค่อยมีฝนตกในพื้นที่

จังหวัดนครศรีธรรมราชถือว่าประสบเหตุรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ในรอบสิบปี

นอกจากน้ำจะท่วมขังอาคาร บ้านเรือน เส้นทางสัญจรแทบทุกอำเภอ น้ำยังท่วมและไหลผ่านบ่อขยะ

หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ภาพถ่ายทางอากาศในพื้นที่ตำบลนาทราย เผยให้เห็นภูเขาขยะกลางท้องทุ่ง คั่นด้วยป่าละเมาะเป็นหย่อมๆ และบ่อน้ำ

มีบ่อน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งคาดว่าจะเป็นบ่อกุ้งหรือบ่อปลาอย่างน้อยๆ ก็ ๓-๔ บ่อตั้งอยู่ในละแวกเดียวกัน

เจาะภาพเข้าไปจะเห็นวัวตัวหนึ่งเดินอยู่กลางกองขยะ

น้ำสีคล้ำสะท้อนภาพของกองขยะสูงเป็นภูเขาเลากาและก้อนเมฆบนท้องฟ้า

nasai05
nasai06

รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี ๒๕๖๒ โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่าปี ๒๕๖๒ ทั่วประเทศมีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ ๒๘.๗๑ ล้านตัน หรือประมาณ ๗๘,๖๖๕ ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๑ ร้อยละ ๓

ปริมาณขยะมูลฝอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของประชากร รวมทั้งประชากรแฝง ทั้งแรงงานและนักท่องเที่ยวจากการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจ พฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่นิยมความรวมเร็วและสะดวกสบาย การขยายตัวของธุรกิจสินค้าออนไลน์ทำให้มีขยะพลาสติกถูกส่งถึงมือผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณขยะมูลฝอยจะเพิ่มขึ้น แต่รายงานข้างต้นระบุว่าการจัดการขยะมูลฝอยในปี ๒๕๖๒ มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีขยะมูลฝอยชุมชนถูกคัดแยก ณ ต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ ๑๒.๕๒ ล้านตัน หรือร้อยละ ๔๔ ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ขยะมูลฝอยที่เหลือจากการคัดแยกและนำไปใช้ประโยชน์แล้วถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ๙.๘๑ ล้านตัน หรือร้อยละ ๓๔ จะมีก็แต่เพียงปริมาณขยะมูลฝอยที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องมีแนวโน้มลดลง คือมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องประมาณ ๖.๓๘ ล้านตัน หรือร้อยละ ๒๒ เนื่องจากสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยหลายแห่งใช้งานเกือบเต็มประสิทธิภาพ บางแห่งขาดการดูแลและเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัด ทำให้สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนหลายแห่งยังดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง

มีรายงานว่าเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช มีขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้น ๑,๖๑๗.๐๔ ตันต่อวัน ในจำนวนนี้มีขยะมูลฝอยชุมชนที่กําจัดถูกต้องเพียง ๔๒.๓๙ ตันต่อวัน ขยะมูลฝอยชุมชนที่นํากลับมาใช้ประโยชน์ ๑,๒๐๙.๗๑ ตันต่อวัน และขยะมูลฝอยชุมชนที่กําจัดไม่ถูกต้อง ๓๖๔.๙๔ ตันต่อวัน

nasai07
nasai08

ปัญหาบ่อขยะไม่ได้เกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรกและแห่งเดียว อีกทั้งไม่ได้มีแต่กรณีน้ำชะขยะปนเปื้อน ยกตัวอย่างวันที่ ๑๖-๒๒ มีนาคม ๒๕๕๗ เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ นานติดต่อกันนับสัปดาห์ บนเนื้อที่กว่า ๑๕๐ ไร่ นับเป็นเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะที่รุนแรงและส่งผลกระทบมากที่สุดครั้งหนึ่ง กลุ่มควันพิษปกคลุมเขตชุมชน หมู่บ้านจัดสรรโดยรอบ ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับพันครอบครัวจนต้องอพยพประชาชน และประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน

ในปีเดียวกันยังมีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะอีกอย่างน้อย ๑๕ ครั้ง อาทิ บ่อขยะเทศบาลตำบลช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่, บ่อขยะของเทศบาลตำบลบึงกาฬขนาด ๓๒ ไร่, บ่อขยะของเทศบาลเมืองอรัญประเทศขนาดหลายร้อยไร่, บ่อขยะเก่าใน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ปิดมานานกว่า ๒ ปี

หรือย้อนกลับไปในปี ๒๕๖๐ ประชาชนในพื้นที่บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เคยร้องเรียนไปยังองค์กรบริหารส่วนตำบล ว่าบ่อขยะของเอกชนแห่งหนึ่งส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาขยะอื่นๆ อีกทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏเป็นข่าว เช่น น้ำจากบ่อขยะไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะ การลักลอบทิ้งขยะในที่ดินสาธารณะทั้งขยะทั่วไปและกากขยะอุตสาหกรรม

nasai09
nasai10

ปัญหาขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี แผนแม่บทการบริหารจัดการมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๔) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าเป็นผลเนื่องจากการขาดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ และขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งไม่มีพื้นที่สำหรับใช้กำจัดขยะมูลฝอย เกิดการคัดค้านโครงการจากประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งจึงกำจัดขยะมูลฝอยด้วยการนำไปเทกองกลางแจ้ง (Open Dump) หรือเผากลางแจ้ง (Open Burning) ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยตามมา เช่น กลิ่นเหม็น น้ำเสียจากน้ำชะขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เกิดมลพิษทางอากาศ

การจัดการขยะมูลฝอยแบบฝังกลบที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลยังก่อให้เกิดปัญหาไฟไหม้ การขาดองค์ความรู้และจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาและการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้นทุกปี

เหตุการณ์น้ำชะขยะที่นาทรายเป็นเพียงกรณีตัวอย่างของปัญหาที่ชุมชนทั่วทั้งประเทศกำลังเผชิญหน้า และทีมีท่าว่าจะไม่ได้รับการสนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

nasai11

ขอขอบคุณ Environmental Justice Foundation Thailand